ผู้มีดนตรีเป็นชีพโอสถ


 

 

ผู้มีดนตรีเป็นชีพโอสถ 

ครูสำนักงานอย่างผม เวลาจะทำงานปี (โครงการ) ต้องท่องคาถาประจำตัวไว้ว่า “ต้องวางแผนแตกหลักคิดทฤษฏีสู่ตัวปฏิบัติที่ง่าย ชัด ตรง ต้องวางระบบการนิเทศติดตามระบบเครือข่ายกับผู้บริหาร ขับเคลื่อนโดยครูประจำการ ครูภูมิปัญญา และกิจกรรมปฏิบัติถึงนักเรียน มีกระบวนการทำงานแนวระนาบบนพื้นฐานความร่วมมือ ร่วมใจ ใส่ใจ วางใจ ผลงานที่ออกมาต้องคุ้มค่า ต้องครอบคลุมเป้าหมาย และต้องแปลกใหม่พอที่จะให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และชื่นชมผลสำเร็จร่วมกัน” และไม่ลืมว่า “ทุกอย่างต้องยืดหยุ่นได้ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง” 

โครงการมหกรรมดนตรีไทย เมื่อครั้งปลายโครงการไทยเข้มแข็ง เป็นสะพานให้ผมพบกับ “ครูประเทือง” ครูภูมิปัญญาผู้เชี่ยวชาญการสอนดนตรีไทย มีพรสวรรค์ทางเครื่องสายไม่ว่าจะเป็นซอด้วง ซออู้ หรือดนตรีตะวันตกอย่างไวโอลิน เป็นที่ยกย่องของศิษย์ถึงความลึกล้ำในศาสตร์แขนงนี้ เบื้องแรกผมเชิญครูประเทืองมาวิพากษ์การประลองวงดนตรีไทยของเด็กทั้งเขตพื้นที่ โดยคัดมาเป็นต้นแบบเครือข่ายละวง แต่ถึงเวลาจริงส่งวงดนตรีไทยมาได้ 15 เครือข่าย อีก 5 เครือข่ายขอส่งนาฏศิลป์ไทยมาแทน อ้างว่าหากเป็นวงโปงลางไม่เกี่ยง  ผมจึงจัดเวทีดนตรีไทยให้ประลองวันละ 5 วง แล้วให้ครูประเทืองเต็มเติมให้ แล้วมอบเงินรางวัล   

...เด็กๆ มากันวงละ 30 คนตามที่ตกลง รวมครูและผู้ช่วยก็ตกวงละ 40 คน หลังพิธีเปิด ครูประเทืองสุ่มเอา 2 วงขึ้นไปบรรเลงบนเวทีก่อน แล้ววิพากษ์แบบเสริมแรง พอช่วงพักก็เรียกผมเข้าไปใกล้ๆ แล้วบอกว่า “ผมว่าประลองเพื่อพัฒนาดีกว่าแข่งขันเอารางวัลนะ เด็กหลายคนมีแวว ถ้าส่งเสริมเขาให้ถูกต้องถูกทาง เราก็มีโอกาสเห็นเด็กอีสานขึ้นเวทีระดับชาติประลองดนตรีไทยกับเด็กภาคกลาง” ช่างเป็นคำพูดที่ดลใจผมจริงๆ 

          ....แล้วผมก็เปลี่ยนแผน อำนวยความสะดวกให้ครูประเทืองทำหน้าที่ครูใหญ่ตั้งแต่บัดเดี๋ยวนั้น ครูและผู้ช่วยที่ควบคุมเด็กมาทำหน้าที่เป็นครูน้อย เหมือนกับเป็นหนึ่งโรงเรียนเดียวกัน ร่วมกันฝึกสอนเด็กทุกวงอย่างเป็นระบบขั้นตอนในสถานที่หอประชุมใหญ่ บรรยากาศเปลี่ยนไปทันที จากความกดดันเป็นความสนุก ทั้งครูและนักเรียนมีความสุข มีรอยยิ้มกระเซ้าเย้าแหย่ระหว่างเพื่อนต่างโรงเรียน.... วันนั้น วงดนตรีไทยผสมวงใหญ่ก็ต่อเพลงโหมโรงปฐมดุสิตได้อย่างง่ายดาย แถมไพเราะนุ่มนวล อีกต่างหาก 

          เมื่อจุดเริ่มต้นดี วันต่อไปก็ฉลุยเป็นไปตามแผน....วันสุดท้าย ครูทุกคนพร้อมกันรวมวงใหญ่ คัดเอาเด็กที่มีฝีมือถึงขั้นจำนวน 200 คน บรรเลงเพลงลาวดวงเดือน บนเวทีกลางแจ้งยาว 45 เมตร จากซ้อมใหญ่เป็นการแสดงจริงในวันที่ 12 สิงหาคม ถือเป็นการถวายพระพรในวันเฉลิมพระชนมพรรษาหลังพิธีจุดเทียนชัย ท่ามกลางความชื่นชมของผู้ปกครอง ทุกคนที่มาร่วมพิธีในวันอันเป็นมงคลนั้น....

            หลังจากวันนั้น...ถึงวันนี้

          ดนตรีไทยเป็นกิจกรรมเด่นของหลายโรงเรียน....โรงเรียนจัดหาเครื่องดนตรีไทยที่มีคุณภาพเพิ่มเติม ....เกิดเครือข่ายครูสอนดนตรีไทย....ครูประเทืองกลายเป็นครูใหญ่ตลอดกาล มาช่วยเหลือแนะนำโรงเรียนทุกครั้งที่ได้รับเชิญ...เกิดการแลกเปลี่ยนรู้ในเครือข่ายต่อเนื่องสม่ำเสมอ...สุดท้ายกิจกรรมดนตรีไทยก็ติดอันดับการแข่งขันงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ระดับภาคอีสาน...จนผ่านขึ้นเวทีระดับชาติได้สมใจ...ปีนี้ก็เช่นเดียวกัน 

บทสรุปของบันทึกนี้  เสียงดนตรีย่อมมีคุณ เป็นยาอายุวัฒนะขนานเอกหากเข้าถึง ดูแต่ “ครูประเทือง” พระเอกของเรื่องนี้ แม้วัยจะล่วงเลยถึง 74 ปี ทุกวันนี้ก็ยังคงกระฉับกระเฉงว่องไว มีความสุข อิ่มเอิบสดใส อ่อนกว่าวัย อย่างไม่น่าเชื่อ

          ผมเชื่อว่า รสละมุนของ “ดนตรี” นี่เอง ทำให้จิตใจงดงาม พิสุทธิ์ หล่อเลี้ยงชีวิตชีวาให้ยั่งยืน

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 560307เขียนเมื่อ 28 มกราคม 2014 08:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 มกราคม 2014 11:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท