Praepattra
ผู้ช่วยศาตราจารย์ Praepattra Kiaochaoum

การวิเคราะห์คุณค่าของงานฉลองพุทธชยันตี 2600 ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าในประเทศไทย (1)


พ.ศ.2556 นำเสนอผลงานวิจัยเรื่อง “การวิเคราะห์คุณค่าของงานฉลองพุทธชยันตี 2600 ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าในประเทศไทย”. ในการประชุมวิชาการแห่งชาติ ครั้งที่ 10 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน วันที่ 6-7 ธันวาคม 2556 จังหวัดนครปฐม.

พระพุทธศาสนาถือเป็นศาสนาประจำชาติของไทย เนื่องจากประชาชนชาวไทยถึงร้อยละ 95 นับถือพระพุทธศาสนาโดยมีหลักฐานคือ ประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศไทยนับถือพระพุทธศาสนาโดยมีการนับถือสืบต่อมาจากบรรพบุรุษแสดงว่าพุทธศาสนาได้วางรากฐานฝังลึกในดินแดนไทยอย่างมาก ซึ่งพระพุทธศาสนาเป็นที่มาของวัฒนธรรมไทย วิถีการดำเนินชีวิตของคนไทยในเกือบทุกด้านมีความผูกพันกับคำสอนของพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้งตั้งแต่ ค่านิยม ความเชื่อ และพิธีกรรมต่างๆ เป็นต้น โดยพระมหากษัตริย์ของไทยทุกพระองค์นับตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน นับถือพระพุทธศาสนาถือหลักทศพิธราชธรรมในการปกครองประเทศ และที่สำคัญพุทธศาสนาเป็นภูมิปัญญาสูงสุดของมนุษย์ ประเทศไทยมีพระพุทธศาสนาเป็นสมบัติของชาติ ซึ่งถือเป็นทรัพยากรอันทรงคุณค่ายิ่ง (ประเวศ, 2546)

            คำว่า “ชยันตี” แปลความหมายตรง ๆ ว่า “ชัยชนะ” ก็ได้ และว่า “เกิด” ก็ได้ ซึ่งเมื่อแปลว่าชัยชนะ ก็หมายถึง 1) ได้ชัยชนะเหนือกิเลสและมารทั้งปวง 2) ได้ชัยชนะเหนือความไม่รู้คืออวิชชาอย่างเด็ดขาด 3) ได้ชัยชนะที่ทรงใช้ความเพียรพยายามค้นหาคำตอบเรื่องความทุกข์ได้อย่างครบสมบูรณ์ เมื่อค้นพบก็ถือว่าได้ชัยชนะ แต่คนไทยเราคงจะคุ้นคำนี้ว่า “ชะยันโต” มากกว่า “ชะยันตี” เพราะเราคุ้นเคยกับภาษาบาลีมากกว่าภาษาฮินดี ส่วน ที่แปลว่า “เกิด” ซึ่งมีความหมายตรงกับคำว่า ชนยนฺตี, ชเนตฺตี, อุปฺปาโท, อุปปชฺชนํ, อุปปตฺติ, ซึ่งทุกคำแปลว่าเกิด หรือพุทธภาษิตที่ว่า ปิยโต ชายเต โสโก ความโศกย่อมเกิดจากสิ่งที่รักเป็นต้น แต่เนื่องจากทางประเทศศรีลังกาและอินเดียเขาเริ่มใช้เป็นชื่องานฉลองโอกาสพิเศษแห่งพระพุทธศาสนามาก่อนและเขานิยมใช้คำว่า “ชะยันตี” เป็นภาษาฮินดี ไทยเราจึงใช้ตามเขาเพื่อแสดงความเป็นเอกภาพและง่ายในการประชาสัมพันธ์ในระดับนานาชาติด้วย ในคราวประชุมหมาเถรสมาคมเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2555 จึงมีมติเห็นชอบให้ใช้ชื่องานฉลองพระพุทธศาสนาอุบัติขึ้นในโลกครบ 2600 ปีครั้งนี้ว่า “งานฉลองพุทธชยันตี 2600 ปีแห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า”(พระเทพวิสุทธิกวี, 2555)

“พุทธชยันตี” เป็นคำที่ประเทศอินเดียและศรีลังกาประกาศใช้เมื่อ พ.ศ. 2499 ซึ่งตรงกับ พ.ศ. 2500 ในประเทศไทย ในสมัยนั้นประเทศไทยได้จัดงาน “ฉลอง 25 พุทธศตวรรษ” เป็นพิธีใหญ่มากที่ท้องสนามหลวง ในสมัยที่ จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ประเทศไทยใช้ชื่องานว่า “งานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ” (ศ.พิเศษ จำนงค์, 2555)

            ในปี พ.ศ. 2555 นี้ นอกจากจะเป็นปีที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ครบรอบ 2,600 ปีบริบูรณ์แล้ว และยังเป็นปีมหามงคลของปวงชนชาวไทย เพราะเป็นปีที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษาและเป็นปีที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเจริญพระชนมายุ 60 พรรษา ดังนั้น ในโอกาสอันเป็นอภิมหามงคลสมัยที่สำคัญ รัฐบาลจึงรับเป็นเจ้าภาพจัดงานเฉลิมฉลอง โดยกำหนดจัดงานเฉลิมฉลองให้ยิ่งใหญ่และพร้อมกันทั่วประเทศ เพื่อให้มีการจัดงานเฉลิมฉลองให้มีความยิ่งใหญ่ตลอดปีพ.ศ. 2555 โดยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนของสังคมและมีการสร้างพุทธานุสรณ์ เพื่อเป็นการระลึกถึงวันสำคัญดังกล่าว และเพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาโลกอย่างแท้จริงอันเป็นการสร้างความภาคภูมิใจให้กับคนไทยและประเทศไทย

            จากการทบทวนงานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับการวิเคราะห์คุณค่าในประเทศไทยพบว่า มีงานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับพุทธศาสนา มีจำนวน 4 เรื่อง คือ งานวิจัยของ พระปลัดประเสริฐ อานนฺโท (ชูศรี) (2553) วิชัย นนทการ (2552) พระจรัส ฤทธิ์ธา(2548) และ พระอุบล กตปุญโญ (แก้ววงศ์ล้อม) (2536) ซึ่งงานวิจัยเหล่านี้นั้นศึกษาคุณค่าของพุทธศาสนาในแง่มุมต่างๆ

ดังนั้น ผู้วิจัยจึงสนใจศึกษาวิเคราะห์คุณค่าของงานฉลองพุทธชยันตี 2600 ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ในประเทศไทย เพื่อเป็นประโยชน์ในด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว และการอนุรักษ์วัฒนธรรมและประเพณีไทย และเพื่อเป็นแนวทางในการศึกษาวิจัยในด้านพุทธศาสนาต่อไป

 

วัตถุประสงค์การวิจัย

1. เพื่อศึกษางานฉลองพุทธชยันตี 2600 ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าในประเทศไทย

2. เพื่อวิเคราะห์คุณค่าของงานฉลองพุทธชยันตี 2600 ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ในประเทศไทย

 

ระเบียบวิธีวิจัย

การวิจัยนี้เป็นการวิจัยคุณภาพ (Qualitative Research) ศึกษาด้วยวิธีการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) ส่วนประชากรในการศึกษาครั้งนี้ผู้วิจัยเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง (Purposive Sampling) คือ ศึกษาเฉพาะงานฉลองพุทธชยันตี 2600 ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ในประเทศไทย ตั้งแต่พ.ศ. 2554 จนถึงปัจจุบัน จากหนังสือ เอกสาร สิ่งพิมพ์ งานวิจัยและสื่อออนไลน์ โดยรวบรวมเอกสารทั้งหมดในเดือนเมษายน พ.ศ. 2556 นำเสนอแบบพรรณนาวิเคราะห์ (Descriptive Analysis)

 

สรุปผลการวิจัยและอภิปรายผล

            จากผลการศึกษาวิจัย ผู้วิจัยขอสรุปคุณค่าของพุทธศาสนาจากงานฉลองพุทธยันตี 2,600 ปีแห่งการตรัสรู้ ดังนี้

1.คุณค่าด้านการจัดงานฉลองพุทธยันตี 2,600 ปีแห่งการตรัสรู้

            คำว่า “พุทธชยันตี” หมายถึง ชัยชนะของพระพุทธเจ้า เป็นคำที่มุ่งหมายถึงการเฉลิมฉลองเพื่อเป็นพุทธบูชาในโอกาสสำคัญทางพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะเมื่อคราว พ.ศ.2500 ซึ่งถือว่าเป็นยุคกึ่งพุทธกาลนั้น เป็นครั้งแรกของการจัดการเฉลิมฉลองครั้งยิ่งใหญ่ในประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาทั้งหลายในชื่องาน “พุทธชยันตี” จนมาถึงปีนี้ คือ ปี พ.ศ.2555 เป็นอีกวาระหนึ่งที่หลายประเทศได้มีการเฉลิมฉลองวาระมหามงคลซึ่งบางประเทศได้มีการจัดงานมาตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว การเฉลิมฉลองนั้นเน้นการปฏิบัติธรรมเป็นหลัก ส่วนการแสดงก็เน้นการแสดงที่มุ่งบูชาคุณพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในฐานะที่ทรงเป็นพระบรมครูของโลก

จากการศึกษาประวัติศาสตร์ของการจัดงานฉลองพุทธชยันตี พบว่า การจัดกิจกรรมในวันสัมพุทธชยันตี เริ่มขึ้นครั้งแรกในประเทศศรีลังกา ช่วงก่อนปี พ.ศ. 2500 โดย นายอู ถั่น ชาวพุทธพม่า ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ได้มีดำริให้ชาวพุทธทั่วโลกร่วมกันบูรณะลุมพินีวัน ที่ตั้งอยู่ในประเทศเนปาล ให้เป็นพุทธอุทยานประวัติศาสตร์ของโลก โดยเรียกว่า การฉลองพุทธชยันตี 25 พุทธศตวรรษ โดยนำคำว่า พุทธชยันตี ซึ่งเป็นคำเรียกของชาวอินเดีย และเนปาลมาใช้ เพื่อให้เกียรติประเทศซึ่งเป็นที่ตั้งของพุทธสังเวชนียสถาน และมีการรณรงค์ให้ประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาต่าง ๆ จัดกิจกรรมเฉลิมฉลองในปีนั้น

สันนิษฐานว่ามีการเริ่มต้นงานเฉลิมฉลอง ภายหลังประเทศศรีลังกาได้รับเอกราชจากประเทศอังกฤษในปีพ.ศ. 2491 และจากการที่ ดร.อัมเบดการ์ ได้ฟื้นฟูพุทธศาสนาในประเทศอินเดีย โดยชาวอินเดียประมาณ 200,000 คน ปฏิญาณตนเป็นชาวพุทธ เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2499 เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองพุทธชยันตี 25 พุทธศตวรรษ นอกจากนี้ รัฐบาลประเทศอินเดียยังได้สร้างสวนสาธารณะพุทธชยันตีไว้ที่กรุงนิวเดลี เพื่อเป็นอนุสรณ์สถาน ในส่วนของรัฐบาลพม่าได้จัดให้มีการทำสังคายนา ครั้งที่ 6 เรียกว่า “ฉัฎฐสังคีติ” จัดพิมพ์พระไตรปิฎกภาษาบาลีและคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาจำนวนมาก

ประเทศไทยในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีได้ร่วมเฉลิมฉลองพุทธชยันตี 25 พุทธศตวรรษ ซึ่งถือกันว่าเป็นปีกึ่งพุทธกาล โดยมีการพระราชอาณาจักร รณรงค์ให้ประชาชนถือศีล 5 หรือศีล 8 ตามศรัทธาตลอดเวลา 7 วัน จัดให้มีการอุปสมบทพระภิกษุสงฆ์ จำนวน 2,500 รูป ประชาชนงดการฆ่าสัตว์และงดการดื่มสุรา ตั้งแต่วันที่ 12-14 พฤษภาคม 2500 รวม 3 วัน จัดภัตตาหารถวายพระภิกษุสงฆ์ วันละ 2,500 รูป ตั้งโรงทานเลี้ยงอาหารแก่ประชาชน วันละ 200,000 คน เป็นเวลา 3 วัน บัญญัติข้อกฎหมายห้ามฆ่าสัตว์และจับสัตว์ในบริเวณวัด จัดให้มีการปฏิบัติธรรมเป็นกรณีพิเศษในวันวิสาขบูชา ปี พ.ศ. 2500 อย่างยิ่งใหญ่ พร้อมเพรียงกันทั่วประเทศ

การฉลองพุทธชยันตี ถูกกำหนดขึ้นเพื่อน้อมระลึกถึงเหตุการณ์ที่สำคัญเกี่ยวกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เช่น วันประสูติ ตรัสรู้ และ ปรินิพพานซึ่งตรงกับวันวิสาขบูชา หรือ ใช้เรียกการจัดกิจกรรม ในปีที่ครบรอบวาระสำคัญทางพระพุทธศาสนา เช่น ฉลองครบรอบ 25 พุทธศตวรรษ หรือ ฉลองครบรอบ 26 พุทธศตวรรษ วันฉลองที่สำคัญนี้เรียกตามสากลว่า SambuddhaJayanti 2600ตรงกับภาษาไทย ว่า “สัมพุทธชยันตี 2600 ปี โดยอาจใช้ชื่อต่างกันไปบ้าง ในแต่ละประเทศ เช่น ศรีสัมพุทธชยันตี สัมพุทธชยันตี พุทธชยันตี เฉพาะประเทศไทย มหาเถรสมาคม ได้มีมติให้ เรียกงานฉลองนี้ว่า พุทธชยันตี 2600 ปีแห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ให้เสนอเรื่องไปยังรัฐบาลเป็นเจ้าภาพ ในการดำเนินการจัดงาน พร้อมทั้งให้มีการตั้งคณะกรรมการอำนวยการ โดยมีมหาเถรสมาคม เป็นที่ปรึกษา มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นกรรมการและเลขานุการ และให้ของบประมาณในการดำเนินการสนับสนุนจากรัฐบาล (พระวิจิตรธรรมาภรณ์, 2555)

รัฐบาลกำหนดจัดงานเฉลิมฉลองให้ยิ่งใหญ่ทั่ว และมอบหมายให้ 3 หน่วยงาน ได้แก่ กรมการศาสนา สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.)เป็นหน่วยงานหลัก และให้ขอความร่วมมือจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชน ได้มีส่วนร่วมในการจัดงานในครั้งนี้ด้วย ซึ่งถือเป็นเรื่องสอดคล้องกับความศรัทธาและความตั้งใจของชาวพุทธทั่วโลกที่ถือว่าในปี พ.ศ. 2555 นี้เป็นวาระสำคัญที่จะต้องจัดให้มีการเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ เพื่อให้ชาวพุทธทั่วโลกเกิดความทรงจำและเรียนรู้ถึงคุณค่าของพระพุทธศาสนาที่มีต่อมวลมนุษย์โลก (For the well-being of Humanity) โดยประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาและมีพุทธศาสนิกชนที่มีความเข้มแข็งหลายประเทศ เช่น ประเทศศรีลังกา เมียนมาร์ (พม่า) และอินเดีย ได้จัดงานเฉลิมฉลองในโอกาสดังกล่าวอย่างยิ่งใหญ่ไปแล้วก่อนประเทศไทย 1 ปี เนื่องจากประเทศดังกล่าวเริ่มนับปีพุทธศักราชก่อนประเทศไทย 1 ปี

เพราะฉะนั้น การฉลองครั้งนี้จึงหมายถึงการฉลอง 1) ความเกิดขึ้นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อพระชนมายุ 35 พรรษา 2) ฉลองความเกิดขึ้นในโลกของพระพุทธศาสนา 3) ฉลองความปรากฏขึ้นในโลกของสัจธรรมที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน 4) ฉลองความที่พระพุทธศาสนาอุบัติขึ้นในโลกมาครบ 2600 ปี (พระเทพวิสุทธิกวี, 2555)

 

2. คุณค่าด้านการจัดกิจกรรมฉลองพุทธยันตี 2,600 ปีแห่งการตรัสรู้ในประเทศไทย

การจัดกิจกรรมในปีที่ครบรอบวาระเหตุการณ์ที่สำคัญขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา เมื่อวาระสำคัญเวียนมาบรรจบอีกพุทธศตวรรษหนึ่ง คือวันที่พระบรมศาสดาตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเวียนมาบรรจบครบรอบ 26 พุทธศตวรรษ 2600 ปี กำหนดให้เป็นวันฉลองพุทธชยันตี ประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนา จึงจัดเฉลิมฉลองกันอย่างยิ่งใหญ่

            ในปี พ.ศ. 2555 ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพในการจัดงานเฉลิมฉลองพุทธชยันตี 2600 ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าในช่วงเทศกาลสัปดาห์วันวิสาขบูชา โดยเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2555 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จราชดำเนินไปประกอบพิธีเททองหล่อพระพุทธปฏิมา และทรงบำเพ็ญพระราชกุศลสมโภชพุทธชยันตี 2600 ปี แห่งการตรัสรู้สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง ทำให้ชาวพุทธในเมืองไทย เกิดความตื่นตัวมากขึ้นด้วย มีองค์กรต่างๆ ร่วมกันขับเคลื่อนกิจกรรม โดยเชิญแขกของรัฐบาล และผู้นำชาวพุทธนานาชาติเข้าร่วมงาน ขอความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนให้มีส่วนร่วมในการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ ใช้สถานที่ที่เป็นสัญลักษณ์ โดยกำหนดให้พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม เป็นศูนย์กลางการจัดงาน และสถานที่จัดงานอื่นๆ เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้ร่วมกิจกรรมอย่างเป็นพร้อมเพรียง โดยใช้งบประมาณจากรัฐบาลและในส่วนของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ใช้งบประมาณจัดงานและประชาสัมพันธ์ จำนวน 130 ล้านบาท

รูปแบบของการจัดงาน 3 ด้าน ประกอบด้วย

           1) การจัดกิจกรรมปฏิบัติบูชา สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบดำเนินการจัดกิจกรรมส่งเสริมการศึกษา ปฏิบัติ และเผยแผ่พระพุทธศาสนา โดยให้มีการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการปฏิบัติธรรมสาหรับพุทธศาสนิกชน และมุ่งให้มีการฟื้นฟูวิถีชาวพุทธตั้งแต่ระดับครอบครัวและชุมชนอย่างจริงจัง และให้เกิดการสืบต่ออย่างต่อเนื่องและยั่งยืนเป็นวิถีชีวิตอย่างแท้จริง อันจะเป็นการเสริมสร้างความรักและสามัคคี เกิดการปฏิบัติ เพื่อส่งเสริมและประกาศเกียรติคุณของพระพุทธเจ้า

2) ด้านการจัดประชุมสัมมนาวิชาการ   มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นหน่วยงานหลักในการจัดประชุมสัมมนาวิชาการทั้งนานาชาติ และการประชุมสัมมนาวิชาการภาคภาษาไทย โดยให้ประสานความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยที่มีการเรียนการสอนสาขา พระพุทธศาสนา เช่น มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นต้น ในการสัมมนาทางวิชาการ (ภาคภาษาไทย) โดยหัวข้อการสัมมนา เป็นเรื่องราวพระพุทธศาสนากับศาสตร์ต่างๆ เช่น พระพุทธศาสนากับสันติภาพ พระพุทธศาสนากับสิ่งแวดล้อม พระพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์ เป็นต้น หรือเป็นการบรรยายธรรมสัญจร โดยมีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเป็นหน่วยงานหลักในการจัดการประชุมทางวิชาการ ทั้งนี้ ให้มีการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อมวลชนทุกแขนง และใช้ช่องทางการสื่อสารทุกช่องทางให้เกิดประโยชน์ ซึ่งเริ่มการจัดการสัมมนาทางวิชาการ

3) การจัดกิจกรรมเชิงพุทธศิลปวัฒนธรรม   ให้กระทรวงวัฒนธรรม รับเป็นเจ้าภาพในการจัดหาการแสดงทางศิลปวัฒนธรรม และการแสดงภาพยนตร์เพื่อเป็นแนวทางส่งเสริมกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นการแสดงอันบ่งบอกถึงการส่งเสริมและประกาศสรรเสริญพระคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาพระพุทธเจ้า เป็นการสร้างชื่อเสียงให้ประเทศบนเวทีนานาชาติ ให้เกิดความยิ่งใหญ่ในการจัดงานวิสาขบูชาโลก สืบสานการจัดงานให้คงอยู่สืบไป โดยการจัดงานให้มีการจัดทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค และควรขยายกิจกรรมการจัดการประกวดบรรยายธรรม และการประกวดสวดมนต์หมู่ให้แพร่หลายทั่วประเทศ พร้อมทั้งประสานกรุงเทพมหานครจัดขบวนรถประดับด้วยดอกไม้ (รถบุปผชาติ) ประดับไฟ และประชาชนร่วมกันประดับธงชาติ ธงสัญลักษณ์ตามบ้านเรือน และสถานที่สำคัญ ให้มีความยิ่งใหญ่ และสวยงาม เพื่อให้ประชาชนเกิดความตื่นตัวและให้เกิดความรับรู้ของสังคม (สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ,2555)

รัฐบาลได้มอบธงตราสัญลักษณ์ ที่ผ่านความเห็นชอบจากมหาเถรสมาคม ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานพระพุทธศาสนาทุกจังหวัด รวมทั้งวัดต่าง ๆ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ นำไปประดับในสถานที่สำคัญ โดยรูปแบบของการจัดงานนั้นจะให้ความสำคัญ 3 ด้าน ประกอบด้วย

            1.ด้านการศึกษา ได้แก่ การจัดกิจกรรมทางการศึกษา เพื่อเผยแผ่เกี่ยวกับการปฏิบัติบูชา รวมทั้งการให้ความรู้เกี่ยวกับพุทธชยันตี เพื่อก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมขององค์กรทุกภาคส่วน และประชาชน โดยมีสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบดำเนินการจัดกิจกรรม

            2.ด้านวิชาการ ได้มีการจัดกิจกรรมประชุมสัมมนาทางวิชาการเกี่ยวกับพุทธประวัติ หลักธรรมคำสอนโดยมีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย เป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ในการจัดประชุมสัมมนาวิชาการทั้งนานาชาติ และการประชุมสัมมนาวิชาการภาคภาษาไทย

            3.ด้านกิจกรรมเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม โดยมีกระทรวงวัฒนธรรม เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับเครือข่าย เช่น มูลนิธิ หอจดหมายเหตุ จัดหาการแสดงทางศิลปวัฒนธรรม และการแสดงภาพยนตร์เพื่อเป็นแนวทางส่งเสริมกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา

            นอกจากนี้ รัฐบาลได้มอบหมายให้แต่ละจังหวัดจัดกิจกรรมทางพุทธศาสนา ตลอดปี 2555 เช่น การทำบุญตักบาตร การปฏิบัติธรรม การรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนแต่งกายชุดขาว และ ลด ละ เลิกอบายมุข ในช่วงเทศกาลวันวิสาขบูชา หรือจัดพิธีอุปสมบทหมู่ เป็นต้น

การจัดงานเฉลิมในครั้งนี้ มีคุณค่าต่อการดำรงไว้ซึ่งพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่งพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่จำเป็นสำหรับคนในโลกปัจจุบันและอนาคต เพราะแม้จะเป็นศาสนาที่เกิดขึ้นมานานกว่า 2,500 ปีแล้วก็ตาม แต่คำสอนขององค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า พระผู้ทรงสถาปนาพระพุทธศาสนายังคงใช้ได้ดีในยุคปัจจุบันเหมาะสมสำหรับประชาชนทุกเพศทุกวัยไม่ว่าเชื้อชาติใด ภาษาใด ทั้งนี้เพราะพระพุทธศาสนาสอนคนให้รู้ความจริงของสิ่งต่าง ๆ ตามที่เป็นจริง คือ เกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป รู้หลักกรรม ที่ว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว บุคคลทำกรรมเช่นใด ย่อมได้รับผลเช่นนั้น และสอนให้ทำแต่ความดี ละเว้นความชั่วและทำใจให้บริสุทธิ์ หลักคำสอนเหล่านี้สามารถเป็นที่พึ่งให้กับมนุษย์ได้ ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของพุทธศาสนิกชนรักษาพระพุทธศาสนาให้ดำรงอยู่คู่โลก โดยร่วมเฉลิมฉลองงานและร่วมสร้างพุทธานุสรณ์ให้กับคนรุ่นหลังได้ระลึกถึงคุณค่าและประโยชน์ที่ได้รับจากพระพุทธศาสนาอย่างเต็มที่

 

3.คุณค่าด้านการประชาสัมพันธ์งานพุทธศาสนา

การประชาสัมพันธ์ มีความสำคัญกับงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่งเพราะช่วยให้กระบวนการเผยแพร่ข่าวสาร ความรู้สู่กลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธผลมากยิ่งขึ้นในปัจจุบันเทคโนโลยีสารสนเทศและอินเตอร์เน็ตได้เข้ามามีบทบาทอย่างสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของทุกคนในสังคม หลายหน่วยงาน หลายองค์กร ต่างหันมาใช้สื่ออินเตอร์เน็ต เพื่อการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์และเพื่อการสื่อสารระหว่างกันมากขึ้น ดังนั้น เพื่อให้สาธารณะชนมีความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง ทำให้เกิดทัศนคติที่ดีและมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆของงาน คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ การจัดงานฉลองพุทธชยันตี 2600 ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า กรมประชาสัมพันธ์ 9 ได้จัดทำเว็บไซต์ http://www.buddhajayanti.net ทั้งภาคภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เพื่อเผยแพร่ความรู้ ข้อมูล ข่าวสารที่เป็นจริงเกี่ยวกับงานฉลองพุทธชยันตี 2600 ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า อย่างทันสมัย รวดเร็ว ทั่วถึง โดยผู้สนใจสามารถอ่านและดาวน์โหลดข้อมูลข่าวสาร จากเว็บไซต์ ได้แก่ ข่าวสาร หนังสือ วารสาร บทความ ป้ายนิทรรศการ รูปภาพ คลิปวีดีโอ คลิปเสียง เป็นต้น

สื่อประชาสัมพันธ์งานจากเว็บไซต์พุทธชยันตีhttp://www.buddhajayanti.net มีดังนี้ (กรมประชาสัมพันธ์ 9,2556)

หมายเลขบันทึก: 559825เขียนเมื่อ 22 มกราคม 2014 15:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มกราคม 2014 15:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท