ถอดบทเรียนภาษาอังกฤษสำหรับ Ph.D.


ถอดบทเรียนภาษาอังกฤษสำหรับ Ph.D. ตอนที่ 1

จากการสอนมาสองวันเต็มติดต่อกันในหลักสูตรปริญญาเอกสาขาบริหารการศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด ในรายวิชาภาษาอังกฤษ ผมได้จัดการเรียนการสอนด้วยแนวทางต่างๆที่อยากจะนำมาถ่ายทอดบทเรียนให้กับผู้อ่านเพื่อเป็นประโยชน์ต่อไป

ขั้นแรกก่อนที่จะเริ่มการเรียนการสอน ผมได้เปิด Facebook รายวิชาเพื่อเป็นช่องทางการสื่อสารและรับส่งไฟล์ระหว่างครูและนักศึกษา ซึ่งเมื่อผมมีเว็บอะไรที่น่าสนใจจาก YouTube ผมได้ฝากไว้ที่กระดานสื่อสารนี้ไว้ก่อน และแจก file เอกสารหนังสือวารสารวิชาการที่น่าสนใจไว้บน Facebook นั้นไว้ด้วย ซึ่งก็ได้บทความวิชาการจาก Journal of Educational Administration ประมาณ 60-70 เรื่อง

เช้าวันแรกผมเริ่มสำรวจผู้เรียนโดยคร่าวๆ พบว่าพื้นฐานภาษาอังกฤษอยู่ในเกณฑ์พอใช้ ดังนั้นจึงเริ่มปรับพื้นโดยเริ่มที่ทักษะการสื่อสาร communication ก่อนเป็นอันดับแรก ผมมอบหมายให้ผู้เรียนฝึกพูดโดยสร้างคลิปเสียงแนะนำตัวเองแล้วแชร์ในห้องเรียนบน Facebook โดยไฟล์เสียงนั้นอัดไว้ที่เว็บไซต์ www.vocaroo.com เมื่อผู้พูดพอใจในคลิปเสียงแล้ว เว็บไซต์ก็จะสร้างลิงค์สำหรับแปะบน Facebook ได้ครับ นักศึกษาต่างหัวเราขบขันในสำเนียงพูดตัวเองกันใหญ่ ผมให้สร้าง 2 คลิป คือ แนะนำตัวเอง และ แนะนำโครงร่างงานวิจัย โดยแต่ละคนจะเปิดกระทู้ด้วยภาพถ่ายของตนเองและแปะคลิปเสียงแนะนำตัวอีกสองคลิป

กิจกรรมต่อมาผมให้นักศึกษาฝึก Listening โดยการชมคลิปวีดีโอของนักการศึกษาระดับโลก โดยได้มาจาก www.TED.com ซึ่งเป็นเหมือนเวทีพูดแรงบัลดาลใจของต่างประเทศที่มีบุคคลต่างๆมาพูดโดยผมเลือกเอา talk แรกจาก Rita Pierson ครูผู้กล่าวถึงการสร้างเด็กสู่แชมป์เปี้ยนแห่งชีวิต ซึ่งผมให้คลิปทั้งแบบออนไลน์และไฟล์วีดีโอที่อัดไว้ก่อนแล้ว เผื่อว่ามีปัญหาเรื่องความเร็วของอินเตอร์เน็ตก็สามารถเลือกดูอีกคลิปได้ทันที และข้างล่างก็มีคำแปลบรรยายไทยให้ก็ได้ ผู้เรียนสามารถพึ่งคำแปลไปได้พร้อมๆกัน มีนักศึกษาคนหนึ่งมาจากเวียดนาม ผมก็แนะนำว่าสามารถดูคำบรรยายภาษาเวียดนามประกอบเสียงภาษาอังกฤษด้วยก็ไก้ หลังจากชมคลิปแล้วผมได้ให้ชั้นเรียนอภิปรายถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอน ทำให้นักศึกษาได้มีโอกาสและเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกัน และได้ให้เขียนสะท้อนมุมมองลงบน Facebook อีกด้วยเพื่อฝึกการเขียนเชิงวิเคราะห์จากการ listening แล้วเราก็พักเที่ยงกัน

ในภาคบ่ายผมได้เพิ่ม TED Talk อีกชิ้นจากนักการศึกษาชาวอินเดียชื่อ Sugata Mitra ที่ทดลองการใช้นวัตกรรมการเรียนรู้ในเด็กกลุ่มต่างๆทั้งในอินเดีย อัฟริกา และอิตาลี โดยให้เด็กเกิดกระบวนการเรียนรู้โดยตนเองจนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่น่าพอใจ คลิปนี้เป็นการเปิดมุมมองให้นักศึกษาฝึกวิเคราะห์ถึงเทคนิคต่างๆเพื่อบริหารการศึกษาในหน้าที่การงานของแต่ละคน ผมได้ทดลองนวัตกรรมการเรียนรู้ร่วมกันในบ่ายวันนั้น โดยให้ใบงานหนึ่งที่นักศึกษาต้องค้นคว้าหาคำตอบโดยใช้แหล่งความรู้ออนไลน์ คำถามอาทิเช่น รถไฟใต้ดินของลอนดอนสั้นกว่าของปารีสใช่หรือไม่, นักเขียน เจน ออสเตนแต่งหนังสือมากกว่า ชาร์ล ดิกกิ้น ใช่หรือไม่ ฯลฯ ซึ่งการได้มาซึ่งคำตอบผู้เรียนต้อง google หาข้อมูลและมาอ้างอิงกันว่่าจริงหรือไม่ สนุกกันใหญ่ครับ เมื่อใครได้ตัวเลขอะไรมาก็จะตะโกนขึ้นในชั้น แต่ผมก็จะบอกว่าต้องอ้างอิงโดยการส่งลิงค์มาใน Facebook Chat ถึงเพื่อนทุกคนในชั้นเรียนได้พิสูจน์ความถูกต้องของคำตอบ นักศึกษาได้ฝึก reading เชิงวิเคราะห์ในช่วงนี้ครับ

งานชิ้นสุดท้ายของวันนั้น ผมหยิบเอาเทคนิคการค้นข้อมูลวิจัยโดยใช้ Google Scholar มาสอน เพราะว่านักศึกษาจำเป็นจะต้องอ้างอิงงานทางวิชาการในการเขียน dissertation ผมจึงสอนสูตรลับในการค้นงานและอ้างอิงงาน โดยไปที่เว็บ Google Scholar และลองใส่คำหลัก Educational Administration Theory แล้วก็จะได้ผลการค้นหาต่างๆจากวารสารและหนังสือต่างๆ นักศึกษาสนใจประโยคใหนหรือใจความไหนก็หยิบเอามาใช้แปลสรุปในอนาคต และที่นั่นก็จะทำรูปแบบอ้างอิงสำเร็จรูปใว้ให้เสร็จสรรพแล้ว โดยมีทั้ง MLA หรือ APA ซึ่งนักศึกษาก็สะดวกในการทำบรรณานุกรมอ้างอิงอย่างมาก หลายๆคนดีใจใหญ่ บอกว่าทำไมไม่มีใครสอนเทคนิคหาข้อมูลยังงี้มาก่อนเลย ซึ่งติดอกติดใจกันใหญ่ แต่ผมก็บอกนักศึกษาว่าคุณต้องเอาไปสรุปแปลต่อเอาเองเวลาเขียน Literature Review ในบททบทวนวรรณกรรม ถึงค่ำไม่มีใครอยากลุกกลับบ้านเลย นั่งยาวจนถึง 5 โมงเย็นทั้งๆที่ 4:30 เป็นเวลาเลิกเรียนครับ นี่ก็เป็นการถอดบทเรียนในวันแรกวันเดียวครับ    


-------------------------------------------------

ถอดบทเรียนภาษาอังกฤษสำหรับ Ph.D. ตอนที่ 2

วันต่อมาเมื่อผู้เรียนเกิดความคุ้นชินกับการสื่อสารแล้ว ผมได้เสริม communication task เข้าไปอีก ทราบมาว่ากลุ่มนักศึกษาต้องไปอเมริกาในเดือนมีนาคมนี้ เพื่อศึกษาแนวทางการศึกษาวิจัยกับผู้ทรงคุณวุฒิที่ Indiana State University โดยเคยเจอกันที่เมืองไทยก่อนหน้าแล้ว ผมจึงได้ add ศ.ดร. วิลล์ บาร์รัตต์เข้ามาในกลุ่ม Facebook เพื่อได้ติดต่อสื่อสารกับกลุ่มได้ งานต่อมาจึงให้นักศึกษาคุยกับอาจารย์ผ่านทาง social network โดยการสร้างคลิปเสียงเล่าเรื่องราวของตัวเองและงานวิจัยแปะตอบอาจารย์ไป ซึ่งนักศึกษามีความติ่นเต้นเพิ่มขึ้นเพราะว่าต้องพูดส่งไปให้เจ้าของภาษาจริงๆฟัง และในขณะที่ส่งขึ้นไปอาจารย์ก็ได้พิมพ์โต้ตอบมาเป็นระยะๆ ทำให้ผู้เรียนเกิดสมมรรถนะในการสื่อสาร communicative competence เพิ่มขึ้น

หลังจากที่พูดไปพอสมควรแล้ว อาจารย์จึงได้เปลี่ยนไปที่การสอน Writing ในช่วงต่อมา โดยที่ผมได้ส่งใบงานไปไว้ที่ Facebook โดยจะเป็นภาพที่มีคำศัพท์ต่างๆแล้วให้นักศึกษาเขียนประโยคต่างๆขึ้นมาในช่อง comment เมื่อขึ้นมาแล้วทุกๆคนในกลุ่มก็จะเห็นว่าประโยคอะไรขึ้นมา อาจารย์ก็จะถามว่าเขียนอย่างนี้ได้หรือไม่ได้ ถ้าไม่ได้เราต้องแก้อย่างไร เป็นกระบวนการกลุ่มเรียนรู้ร่วมกันครับ ต่อมาผมก็ขึ้นภาพต่อมาเป็นภาพวิธีการทำเครื่องดื่มชงละลายแล้วให้นักศึกษาเขียนอธิบายขั้นตอนภาพครับ ทีนี้เค้าจะได้ฝึกการเขียนประโยคยาวๆจากระดับ sentence เป็น paragraph แล้วครับ ก็จะสนุกขึ้นเมื่อเค้าได้เห็นงานของเพื่อนเด้งขึ้นมาบนหน้าจอ แล้วอาจารย์ก็จะวิจารณ์แก้ไขงานให้ทันทีที่งานขึ้นมา หลังจากนั้นผู้เขียนก็ยังสามารถ edit ใหม่ได้บน Facebook ทันที

หัวข้อสุดท้ายก่อนพักเที่ยงผมสลับไปที่การเก็บข้อมูลวิจัย โดยที่ผมเอาแบบสอบถามเรื่องพฤติกรรมการชมโทรทํศน์สิบข้อโพสต์ขึ้นบน survey แล้วให้นักศึกษาคลิ้กว่าใช่หรือไม่ตามที่ถามมานั้น การแสดงผลการสำรวจเกิดขึ้นแบบ real time ทันที่ที่เลือก และแสดง bar chart ออกมาได้ และผมก็ได้ถามให้นักศึกษาอภิปรายผลการสำรวจว่าเราเห็นแนวโน้มของอะไรบ้าง เป็นทักษะที่สำคัญในการทำ research presentation ครับในเรื่องนี้ และก็หมดเวลาไปครึ่งวันเช้า


พอเข้ามารอบบ่าย ผมก็จะเริ่มเอาทักษะ Listening and Reading มาเล่นอีกครั้ง รอบนี้ผมเลือกเอาคู่มือ TOEIC มาสอนนักศึกษา โดยที่ผมได้ download e-book และ mp3 แจกให้นักศึกษาตั้งแต่วันแรกแล้ว นอกจากนี้ผมก็แจกตำราภาษาอังกฤษเกี่ยวกับการบริหารการศึกษาที่ผมหาได้จากอินเตอร์เน็ตให้พวกเขาไป โดย TOEIC จะเป็นการปูพื้นที่ดีในการพัฒนาผู้เรียนผู้ใหญ่ที่ไม่ได้จับภาษาอังกฤษมานานหลายปี ผมต้องเข้าใจพื้นฐานของคนเรียนด้วยครับว่า แก่แล้ว ไม่ได้จับภาษามานาน เราฝึกการดูภาพจากโจทย์แล้วฟังว่าตัวเลือกประโยคไหนที่อธิบายภาพได้ตรงที่สุด เรียนการฟังคำ homonym หรือคำเสียงเดียวกันแต่มีหลากความหมาย เป็นต้น คนเรียนก็ enjoy กันดี

ใน Reading เป็นการปูพื้นฐานใหม่ในการวิเคราะห์ศัพท์ โดยการพาเรียนเรื่อง prefix, suffix, part of speech ต่างๆ แล้วพาทำแบบทดสอบว่าต้องใช้คำประเภทไหนจึงจะถูกที่สุด รวมถึงรูปศัพท์ต่างๆอันเป็นพื้นฐานจำเป็นในการ reading และ writing ครับ ในส่วนนี้ค่อนข้างหนักครับ ซึ่งตำรา 200 หน้าผมย่อยมาสอนเพียง 2 ชั่วโมงกว่าก็จะต้องหยิบเอาเฉพาะครีมๆมาสอน แล้วให้ผู้เรียนเอาไปพัฒนาต่อยอดเองได้ พอถึงบ่ายๆนักศึกษาเริ่มล้าอย่างเห็นได้ชัด ผมจึงจะปล่อยก่อนสักครึ่งชั่วโมง ในเวลาบ่าย 4 เพราะวันนี้ก็วันอาทิตย์เย็นหลายๆท่านก็ต้องกลับต่างจังหวัดไปทำงานในเช้าวันจันทร์

แต่ผมก็อภิปรายสรุปบทเรียนในช่วงที่ผ่านมาและพูดถึงสื่อต่างๆที่ผมส่งให้ในรูปแบบวีดีโอคลิป อันมีเรื่อง การศึกษานานาชาติในเซียงไฮ้ที่ได้อันดับหนึ่งของโลก, การศึกษาที่ดีที่สุดในโลกที่ Finland,การบรรยายของครูอเมริกันที่กรุงเทพฯ, การจัดการเรียนของ New York เป็นต้น เพื่อให้นักศึกษาได้ไปฟังเองที่บ้าน และสกัดแนวคิดเอาไปใช้ในการปฏิรูปการศึกษาในโรงเรียนของตนเอง และเราก็สนธนาปิดบทเรียนในวันนั้นด้วยการย้อนมาดูสภาพจริงของการเรียนการสอนในโรงเรียนไทยว่ามีอะไรเกิดขึ้น แล้วช่วยกันขบคิดจากข้อมูลที่อาจารย์หาให้ชมจากต่างประเทศครับ

การเรียนการสอนวิชานี้ผมรับผิดชอบสอน 3 ครั้ง ซึ่ง 2 ครั้งก็จบลงไปแล้ว สัปดาห์หน้าเว้นวรรคเปลี่ยนเป็นอีกวิชาหนึ่ง คือ วิชาการศึกษานานาชาติ แล้วจึงจะเปลี่ยนกลับมาที่ภาษาอังกฤษอีกครั้งหนึ่ง หวังว่าการถอดบทเรียนครั้งนี้คงจะมีประโยชน์ต่อผู้อ่านบ้างไม่มากก็น้อยครับ ขอบคุณที่ติดตามอ่าน สวัสดีครับ    





  

คำสำคัญ (Tags): #english
หมายเลขบันทึก: 559663เขียนเมื่อ 20 มกราคม 2014 13:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มกราคม 2014 13:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณที่นำมาแบ่งปันค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท