ฮักนะเชียงยืน 18


การสร้างละครบนฐานความเชื่อของชาวบ้านจึงเป็นทุนที่สำคัญที่จะช่วยให้สามารถเข้าถึงชาวบ้านได้

ค่ายละครสะท้อนปัญญา

         เมื่อเดินมาในระยะเริ่มต้น ก็เดินมาพบพานกับทุนที่สำคัญ ซึ่งเป็นเครื่องมือในการสื่อสารที่สำคัญ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานของฮักนะเชียงยืนรุ่น ๒ โดยเป็นค่าย "ละครเร่" ที่สะท้อนมุมมองให้ชาวบ้านเห็นให้ชาวบ้านได้เข้าใจผ่านการเเสดงละครเป็นกลุ่มซึ่งเมื่อวันที่ 22 - 24 พฤศจิกายน 2556 ที่ผ่านมาฮักนะเชียงยืนได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการเยาวชนนักการละครสะท้อนปัญญา ที่เป็นค่ายการพัฒนาโดยการละคร ซึ่งการละครนี้เป็นกระบวนการกลุ่มที่เน้นการสื่อสารโดยตรงกับชุมชนกับผู้อื่นให้ได้เข้าใจโดยสร้างความสนใจให้ผู้ดูให้คล้อยตามเเล้วย้อนมองตนเอง... "ละครเร่เป็นสิ่งที่ยากแต่สนุก" ความยากของละครเร่นั้น คือ การทำงานเป็นทีมที่ต้องสื่อสารให้เข้าใจด้วยการเห็นภาพเพราะการที่เราจะสามารถจดจำได้ร่วมกันนั้นต้องเห็นภาพก่อนจะให้ให้สามารถจดจำได้ง่าย หรือ "จินตนาการสำคัญกว่าความรู้" นั่นเอง  จากกระบวนการต่างๆนานาได้ถูกถ่ายทอดผ่านเครื่องมือเเละมีพี่คอยส่งเสริมอยู่ตลอดเวลาทำให้สามารถเข้าถึงละครอย่างเข้าใจได้ง่ายขึ้น ละครเร่เป็นละครที่สะท้อนให้ผู้คนเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นในวิถีชีวิตของทุกๆคน จากการเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้มีเป้าหมายกับตนเอง คือ การนำทักษะของละครเร่มาพัฒนางานของฮักนะเชียงยืนต่อไป เเค่ต้องมาปรับใช้ตามความเหมาะสมที่ได้จากการคิดใคร่ครวญเป็นอย่างดีด้วยกระบวนการกลุ่มอีกครั้ง...

          กิจกรรมเเรกๆที่เข้ามาเป็นการทดสอบจินตนาการโดยกิจกรรมที่เรียกว่า "ท่าใหญ" เป็นการเดินทางจังหวะเสียงเเล้วหยุดเป็นท่วงท่าเเล้วหยุดนิ่งที่เป็นการเน้นประกายความคิดเเละจินตนาการให้เกิดภายในตัวทุกคนโดยทุกคนมีความคิดอย่างอิสระที่จะเป็นสิ่งใดก็ได้ตามประเภทของสิ่งนั้นจากคำสั่งเสียง เเล้วทุกคนมีความเป็นตัวของตัวเองที่จะถ่ายทอดท่ายากนั้นออกไปสู่ภายนอกให้ผู้อื่นได้เข้าใจ ซึ่งเป็นการเน้นย้ำจินตนาการที่ต้องมีในละคร...จากกิจกรรมนี้สิ่งที่ได้เรียนรู้ คือ จินตนาการเป็นสิ่งที่สามารถทำให้เกิดภาพให้ผู้อื่นได้เข้าในที่ถูกถ่ายทอดจากภายในออกมาสู่ภายนอก...

          กิจกรรมต่อมาเปรียบเหมือนการสร้างความเชื่อให้กับนักการละครฝึกหัดทุกๆคนที่ต้องมีความเชื่อซึ่งความเชื่อนี้เองเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดของการเเสดงละครเพราะหากเราไม่เชื่อในบทบาทที่เราถ่ายทอดไปเเล้วนั้นย่อมส่งผลให้ผู้ชมย่อมไม่สามารถเข้าถึงเเละไม่เชื่อเช่นเดียวกัน "การที่เราจะถ่ายทอดให้ผู้ชมได้อินไปกับเรา  เราต้องอินกับสิ่งนั้นๆก่อน" ซึ่งการที่เราจะ "อิน" ได้นั้นเราต้องมีความเชื่อเป็นหลักสำคัญ..การที่เราจะมีความเชื่อได้ดีที่สุด คือ ความเชื่อนั้นได้ถูกสั่งสมมาจากประสบการณ์ของเราเอง หรือ เราเคยผ่านเรื่องนั้นๆมาก่อนทำให้เรารับรู้ได้ว่า ความรู้สึกเช่นนั้นเป็นอย่างไร ที่อยู่ในฉากละครนี้เป็นบริบทที่คล้ายๆกัน ทำให้เราถ่ายทอดเรื่องนั้นออกมาอย่าง "อิน" หรือเราสามารถเชื่อได้ง่ายเพราะเราเห็นภาพนั้นมาจากภายในตัวตน  ความเชื่อจึงเป็นสิ่งสำคัญมากในการเเสดงละคร  ซึ่งกิจกรรมนี้ชื่อว่า "ดินน้ำมัน" โดยเป็นก้อนอากาศให้ทุกคนเชื่อว่าดินน้ำมันที่เป็นก้อนอากศนี้เป็นดินน้ำมันจริงๆเเล้วสามารถปั้นเเล้วเล่นกับสิ่งนั้นได้โดยที่เราจะปั้นอะไรก็ได้เเต่สื่อเป็นท่าทางหรือ อวัจนะภาษา ให้คนเห็นเเล้วคนเข้าใจในสิ่งที่เราปั้นโดยไม่มีการสื่อสารด้วยการพูดใดใด จึงเป็นภาษากายในการสื่อสาร...จากกิจกรรมนี้สิ่งที่ได้เรียนรู้ คือ ความเชื่อเมื่อเรามีความเชื่อเเล้วเราเเสดงความเชื่อนั้นออกมาจะทำให้ผู้รับสารรู้สึกเข้าถึงหรือรู้สึกอินร่วมกับตัวละครด้วย..

         สมาธิเป็นสิ่งสำคัญของการสื่อสารออกไปให้ผู้ชมได้เข้าใจ ซึ่งนอกจากที่เราจะสื่อสารกับตนเอง แล้วอยู่ในบทของตนเองแล้ว เรายังต้องสื่อสารให้คนอื่นได้เข้าใจอย่างมีสมาธิ ซึ่งกิจจกรรมนี้ชื่อว่า “มองตา” เป็นการรวบรวมสมาธิของการเล่นละครโดยการจับคู่แล้วมองตา  เมื่อได้ตาเพื่อนได้สักพักจะรู้สึกขำ เมื่อรู้สึกขำครั้งใดให้คนนั้นหลับตาลงแล้วรวบรวมสมาธิใหม่ แล้วพยายามอ่านสายตาเพื่อนให้ได้ว่าตอนนี้เพื่อนอยากจะให้เรารับรู้อะไร แล้วในขณะเดียวกันเราต้องสื่อสารด้วยสายตาส่งไปให้เพื่อนได้เข้าใจว่าเรากำลังสื่ออะไร  ซึ่งอาจยากในขั้นเริ่มต้น กว่าจะทำให้ตนเองไม่ขำ  กว่าจะทำให้ตนเองมีสมาธิ  และ กว่าจะทำให้ตนเองคาดเดาสายตาเพื่อนออกนั้น “ยากมาก”  จากกิจกรรมนี้สิ่งที่รับ คือ สมาธิของการเล่นละคร โดยการเล่นละครนั้นสมาธิเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะทำให้เราจดจ้องที่บทบาทของเราที่ได้รับ แล้วต้องสื่อสารทางภาษาตาให้คนอื่นได้เข้าใจ ซึ่งยังต้องฝึกหัดอีกมากเพื่อความเข้าถึงการสื่อสารด้วยตามากยิ่งขึ้น

การสร้างละครเร่ผู้เล่นจะต้องมีสิ่งที่อยู่ภายใน ดังนี้

1.จินตนาการ – เป็นความคิดที่ออกมาจากภายในที่สร้างสรรค์มีประโยชน์ต่อการละคร คือ การใช้ความคิด ใช้จินตนาการ ในการจดจำและการมองเห็นภาพของละครจะทำให้สามารถถ่ายทอดละครออกมาอย่างเข้าถึงละครมากยิ่งขึ้น

2.ความเชื่อ – เป็นสิ่งสำคัญของการละครเร่ ที่ต้องอาศัยความเชื่อ เพราะถ้าผู้แสดงมีความเชื่อมั่นในบทบาทนั้นๆของตัวละครจะสามารถถ่ายทอดออกมาได้อย่างเป็นธรรมชาติ  การที่เราจะถ่ายทอดจากความเชื่อได้ออกมาอย่างเข้าใจ  เราต้องรู้สึก หรือเคยรู้สึกอย่างที่ตัวละครนั้นเป็นมาก่อนจะทำให้เราเข้าถึงตัวละครได้เปรียบดุจตัวตนที่แท้จริง

3.สมาธิ – เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เราจดจ้องอยู่ในบทบาทที่ตนเองได้รับโดยหลุดน้อยที่สุด สมาธิจึงต้องฝึกอยู่เป็นประจำ  ยิ่งฝึกมากยิ่งสามารถจดจ้องกับบทได้มาก

จินตนาการ  ความเชื่อ  และสมาธิ เป็นสิ่งที่ถือว่าไม่ง่ายสำหรับนักแสดงฝึกหัดที่ต้องฝึกอยู่เป็นประจำจะทำให้สามารถเข้าถึงบทละครนั้นๆได้มากเท่านั้น  ในการเร่ละคร สิ่งแรกๆที่ต้องมี คือ ความคิดและจินตนาการ แล้วจะทำให้เราเชื่อความคิดและจินตนาการนั้นๆแล้วเมื่อได้จินตนาการได้เชื่อในสิ่งนั้นๆเราจะถ่ายทอดออกมาอย่างมีสมาธิ ได้เปรียบดุจตัวตนที่แท้จริง

        จากกระบวนการต่างๆนานาของละครเร่นำมารวมกันเป็นละครหนึ่งเรื่อง การที่เราจะถ่ายทอดให้ผู้รับสารรู้สึกอินได้เราจำต้องอินก่อน แต่การ “อิน” นี้ยากมากจำต้องมีเครื่องมือต่างๆเข้าช่วย การเล่นละครไม่ใช่เพียงเล่นแล้วเสร็จไป แต่แก่นกระบวนการของละครจริงๆเป็นวงจรที่ไม่มีวันสิ้นสุด คือ การสร้างบท  ซ้อมขัดเกลา  แสดง  การประเมิน และการปรับปรุง วนเวียนอยู่เช่นนี้กลายเป็นวงจรของกระบวนการทางละครขึ้นมาที่เปรียบเหมือนกับหลักคิดของ “วงจรเดมิ่ง” หรือ PDCA สิ่งที่นักแสดงจำต้องยอมรับแล้วนำไปปรับใช้อยู่ตลอดเวลา คือ คำแนะนำแล้วนำคำแนะนำนั้นไปปรับปรุงตามศักยภาพ

        องค์ประกอบละครเร่มีอยู่ 3 องค์ประกอบด้วยกัน คือ บท  แสดง  และการกำกับ ซึ่งสิ่งที่ยากที่สุด คือ การแสดงที่จะสื่อออกมาใช้ผู้รับสารได้เข้าใจจากการชมภายนอกสะท้อนเข้ามาสู่ภายใน ซึ่งจากได้เข้าร่วมโครงการนี้ทัศนะของข้าพเจ้าได้ชัดขึ้นในการทำละครเพื่อสะท้อนปัญหาโดยเป็นประสร้างละครอยู่บนความเชื่อและวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวบ้านจะทำให้ชาวบ้านรู้สึกเข้าถึงสิ่งที่อยากจะสื่อและมีความรู้สึกมีส่วนร่วมในทิศทางของการแสดง  ได้สังเคราะห์ออกมาเป็นวงจรการแสดงละครที่น่ามีมีคุณภาพโดยเน้นหลักที่การสื่อด้วยภาพ  เปลี่ยนฉากด้วยจุดเด่น  เน้น Eye contact    Act จากสิ่งที่ได้เรียนรู้  เปล่งออกมาสู่โปรเจคเสียง  โดยเทียบเคียงความเป็นจริง  สิ่งสำคัญอิงความเชื่อ  ตัวจางเจือเป็นลูกเล่น ที่เป็นคีย์เวิร์ดสำคัญของการเล่นละครให้มีคุณภาพและสามารถเข้าถึงผู้รับสารได้ง่าย

สื่อด้วยภาพ – เป็นการเน้นการใช้ร่างกายหรืออวัจนะภาษาที่สามารถทำให้ผู้รับสารสามารภรับรู้ได้ง่ายและเข้าใจมากกว่าประโยคคำพูดหลายๆคำ แล้วยังสามารถสะท้อนภาพของปัญหาออกมาได้อย่างชัดเจน โดยการสื่อด้วยภาพนี้เป็นการใช้การจัดบล็อกของผู้แสดงให้มีความ smooth ในภาพมากยิ่งขึ้นรวมทั้งการจัดฉากและการแสดงให้เห็นภาพที่เป็นรูปธรรม

เปลี่ยนฉากด้วยจุดเด่น – การเปลี่ยนฉากด้วยจุดเด่นนี้เปรียบเหมือนการใช้วิธีการเปลี่ยนฉากที่แนบเนียนโดยไม่ต้องใช้คำพูดหรือการปรบมือ เช่นการใช้ฉากเดิมมาเปลี่ยนกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจนสามารถเปลี่ยนฉากได้  การเปลียนฉากด้วยเพลง  ด้วยการหมุน  ด้วยกิริยาอาการ  ด้วยการพูดย้ำเตือน  ด้วยการเลียนแบบเสียงสิ่งรอบข้าง เป็นต้น

เน้นEye contact – เป็นการสื่อสารด้วยสายตาเป็นการสื่อสารที่สามารถสื่อให้ผู้รับสารได้เข้าใจ และสามารถรู้สึกถึงอารมณ์ของตัวละครได้เป็นอย่างดี โดยเป็นการถ่ายทอดอารมณ์ของผู้แสดงออกมาทางสายตาแล้วสื่อสารออกไปทางสายตา

ACT จากสิ่งที่ได้เรียนรู้– การแสดงจากประสบการณ์และความรู้สึกที่ผู้แสดงเคยประสบกับเหตุการณ์และความรู้สึกนั้นๆมาก่อนแล้วในบทละครอาจตกอยู่ในภวังค์เดียวกัน จะทำให้ผู้แสดงสามารถดึงอารมณ์ออกมาได้ง่าย และแสดงกิริยาอาการนั้นๆออกมาได้ง่ายเพราะผ่านการเห็นภาพมาจากภายใน

เปล่งออกมาสู่โปรเจคเสียง – การใช้เสียงในระดับที่เหมาะสมต่อการแสดงแล้วต้องอาศัยของเสียงในการแสดงเพราะการแสดงจริงไม่มีเครื่องช่วยขยายเสียงผู้เสียงต้องใช้ร่างกายของตน เสียงที่เปล่งออกมานั้นเป็นเสียงที่ออกมาจากท้องซึ่งจะเสียงดังหนักแน่นและผู้รับสารได้ยินชัดเจน (ไม่ใช่การตะคอก)

โดยเทียบเคียงความเป็นจริง – การเทียบเคียงความเป็นจริงเป็นการสมมติว่าตัวละครนี้เปรียบเหมือนอะไร เหตุการณ์นี้เปรียบเหมือนสิ่งใดใด จะสามารถทำให้เราเข้าใจในบทบาทได้ง่ายแล้วสื่อออกไปตามสารที่ผู้ส่งสารอยากจะสื่อสาร เช่น คนนี้เปรียบเหมือนบุคคลใด  เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเหมือนกับเรื่องราวใด ฯ แล้วยังเป็นเครื่องมือการคิดที่ยึดเหนี่ยวเราอยู่ตลอดเวลาไม่ให้เราหลุกประเด็น

สิ่งสำคัญอิงความเชื่อ – ความเชื่อเป็นสิ่งสำคัญของนักแสดง โดยที่แค่เพียงนักแสดงมีความเชื่อจะสามารถแสดงออกไปอย่างเชื่อมั่นแล้วจะส่งผลให้ผู้ชมเชื่อตาม ความเชื่อนี้ถ้าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงกับตัวละครดังกล่าวจะสามารถดึงอารมณ์ออกมาได้ง่ายเพราะได้มองเห็นภาพนั้นมาก่อน  ความเชื่อเป็นหลักสำคัญในการแสดงละครถ้าขาดความเชื่อไปแล้วนั้นผู้รับสารจะสามารถเข้าถึงละครได้ยาก

ตัวจางเจือเป็นลูกเล่น – ลูกเล่นในการแสดงถือเป็นเครื่องมือที่ช่วยนักแสดงให้สื่อสารออกมาได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น อาทิ พูดพร้อมกัน  พูดซ้ำ  จังหวะ slow/speed เป็นต้น ที่จะคอยเสริมละครเราให้มีจุดสนใจแล้วดึงผู้ชมเข้ามารับชมได้มากยิ่งขึ้น และลูกเล่นนี้ยังรวมไปถึง ภาษา  และ วัฒนธรรม ที่ใช้เพื่อเน้นการเข้าถึงชาวบ้านเป็นหลักสำคัญ

การสร้างละครในชุมชน 

          การทำละครในชุมชนเพื่อพัฒนาชุมชนเป็นสิ่งที่ถือว่ามีควงามยากพอสมควรที่จะสื่อสารกับชาวบ้านได้อย่างเข้าใจ เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัย  และวันรุ่น  และเด็ก ซึ่งทั้งสามช่วงอายุนี้สนใจละครที่ไม่เหมือนกัน วัยเด็กจะสนใจการ์ตูนและหนังซุปเปอร์ฮีโร่ต่างๆเป็นส่วนใหญ่  วัยรุ่นจะสนใจหนังรักๆ ซึ้งๆ และละครตอนดึก เป็นส่วนใหญ่  ส่วนวัยผู้ใหญ่หรือวัยผู้สูงวัยจะมักไม่ค่อยดูละครเพราะอยู่ในวัยทำงานหรือไม่ดูเลย  ทั้งสามช่วงวัยมีความต่างกันออกไปแล้วสามารถเข้าถึงละครที่ต่างกันออกไปแต่ถ้าเราสะท้อนวิถีชีวิตที่ทั้งสามวัยดำรงอยู่ในชุมชนเดียวกันจะสามารถช่วยให้เข้าถึงได้ การสะท้อนวิถีชีวิต  สะท้อนวัฒนธรรม  สะท้อนความเชื่อที่เขาทั้งสามช่วงอายุรู้ดีว่าสิ่งนั้นเป็นอย่างไร ซึ่งถ้าเรานำประเด็นเหล่านี้มาเป็นหัวข้อในการเล่นละครเร่ จะทำให้เขามีความสนใจมากขึ้นที่อยากจะมาชมการแสดงของเรา

 คำสำคัญของการสร้างละครสะท้อนปัญหาในชุมชน คือ ปัญญา กับ ปัญหา

ปัญญา – ภูมิปัญญาดั้งเดิม   วัฒนธรรม   ความเชื่อ  วิถีชีวิต  ผู้คนในชุมชน  อาชีพในชุมชน

ปัญหา – ปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนนี้

         การสร้างละครบนฐานความเชื่อของชาวบ้านจึงเป็นทุนที่สำคัญที่จะช่วยให้สามารถเข้าถึงชาวบ้านได้เเละชาวบ้านทั้งสามช่วงวัยมีความเข้าใจในวิถีนั้นๆ... สิ่งใกล้ตัวๆสามารถเป็นสิ่งสำคัญที่จะคอยดึงดูดให้ชาวบ้านได้รู้สึกว่าตนเองได้เข้าไปมีร่วมร่วมมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะสิ่งที่เป็นอยู่ในทุกๆวัน วิถีชีวิต อาชีพ วัฒนธรรม ซึ่งสามารถปรับตามความเหมาะสม ได้ตามทัศนะของเราทุกๆคน ฮักนะเชียงยืนยังต้องฝึกทักษะการละครอีกมาก... จากที่เเกนนำได้อบรมมานี้ จำต้องมีการถ่ายทอดสู่น้องๆฮักนะเชียงยืน ณ "บ้านหลังคาเเดง"

 

 

คำสำคัญ (Tags): #ฮักนะเชียงยืน 18
หมายเลขบันทึก: 558582เขียนเมื่อ 8 มกราคม 2014 19:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มกราคม 2014 19:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท