๑๗๖. ใบบัวแห้ง..การเดินทางข้ามฤดูกาล


                               

                               

                                                             

Subject / Title : ใบบัวแห้ง..การเดินทางข้ามฤดูกาล    
Dimension :       ๐.๗๕ x ๑ เมตร
Technique :       วาดเส้นแรเงาดินสอ ถ่ายทอดบรรยากาศจากสถานการณ์และสิ่งแวดล้อมจริง 
                        (Environmental Drawing)
Artist :              วิรัตน์ คำศรีจันทร์
Location :         สระบัวในบ้าน บ้านสังคมศิลป์ บ้านห้วยส้ม สันป่าตอง เชียงใหม่
Date :               ๕ มกราคม ๒๕๕๗

Insigth and Inspiration 

ใบบัวในสระกำลังแห้งกรอบทั้งสระ ดอกบัวและฝักบัวก็แห้ง ที่ใต้กอมีใบบัวสีเขียวงอกขึ้นใหม่ปริ่มผิวน้ำ แต่เป็นใบเล็กๆ กระจัดกระจาย ในช่วงหน้าแล้ง บัวแทบจะหายไปหมด อาจจะเหลือใบเขียวเพียงเล็กน้อย เล็กกระจิริดอย่างกับใบผักแว่นหรือจอกแหน เรี่ยติดดิน หากร้อนแล้งต่อไปอีก บัวก็จะดำรงชีพไว้เพียงเหลือแต่รากและเหง้าใต้ดิน เมื่อถึงฤดูฝนและน้ำหลากมาอีกครั้งจึงจะเริ่มงอก พลังการเปลี่ยนแปลง เติบโต งอกงาม รวมทั้งสลายตนเองลง หมุนเวียนกลับไปกลับมาอย่างนี้ มีขนาดความแตกต่าง ๓-๔ ร้อยเท่า น่าอัศจรรย์มาก 

ใบบัวและกอบัวที่กำลังแห้งลง จึงบ่งบอกถึงการเตรียมตัวเองโดยธรรมชาติของบัว เพื่อเดินทางไกลผ่านห้วงฤดูกาลจากฤดูหนาวผ่านเข้าสู่ฤดูร้อนแล้ง กินเวลาอีก ๕-๖ เดือน เลยจะวาดรูปกระบวนการเปลี่ยนผ่านของฤดูกาลที่สะท้อนอยู่ในบัวนี้ไว้สักรูป เสร็จแล้วก็จะเกี่ยวและเก็บบัวแห้งออกทั้งสระ 

การนั่งวาดรูปธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจากแม่แบบของจริง เป็นการอยู่กับการเพ่งพิจารณา ศึกษาใคร่ครวญ สื่อสาร ทบทวน ทำงานความคิด ทำความเห็นแจ้ง ทั้งภายในตนเองและปรากฏการณ์ภายนอก ที่ดีอย่างหนึ่ง กระบวนการต่างๆจะสามารถถ่ายทอดลงบนรูปเขียน

Lessons Learned and Learning Reflection : 

๑. กระบวนการเรียนรู้ในศิลปะ มิติสุนทรียปัญญา และสุนทรียวิจัย

ใบบัวที่แห้งแล้ว จะคงสภาพอยู่นาน ส่วนใบบัวที่เริ่มเหี่ยวแห้ง ยังมีสีน้ำตาลไม่มาก และใบบัวที่เปียกน้ำค้างมาก จะมีการเปลี่ยนรูปทรงจนเห็นความแตกต่างได้อย่างชัดเจนในระยะ ๑ ชั่วโมง บางครั้งถึงกับไม่เหลือสภาพแบบเดิม ทำให้รูปทรง แสงเงา และองค์ประกอบต่างๆเปลี่ยนแปลงไปทั้งหมด ทำให้ได้เรียนรู้ว่า เมื่อได้สังเกตอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง ก็จะพบว่าสิ่งต่างๆที่เราเห็นหยุดนิ่งนั้น แท้จริงแล้วมีความเคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา รวมทั้งให้องค์ประกอบและโครงสร้างต่างๆที่เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกัน  ก็เปลี่ยนแปลงไปด้วยกันทั้งหมดด้วย บทเรียนและการเรียนรู้ดังกล่าว ทำให้ได้แนวทางในการใช้กระบวนการทางศิลปะ สำหรับบูรณาการกับกระบวนการศึกษาเรียนรู้ การสังเกตอย่างลึกซึ้งและการบันทึกปรากฏการณ์ที่สนใจ โดยเฉพาะในเชิงสุนทรียะ

๒. กระบวนการศิลปะในการสร้างกรอบและบทสรุปภาพรวม (Theme and Conceptualization)

การเขียนภาพใบบัวจากสภาพจริงในธรรมชาติ นอกจากแสงเงาจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างเป็นปรกติแล้ว การเหี่ยวและเปลี่ยนรูปทรงของใบบัวในธรรมชาติ ก็ร่วมกันทำให้สิ่งต่างๆ เกิดความเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ดังนั้น จึงต้องให้น้ำหนักกับกระบวนการพิจารณาศึกษาภาพรวม เดินสำรวจ จากนั้นจึงร่างภาพ กั้นแสงเงา และลงน้ำหนักกลางคลุมบรรยากาศภาพรวมทั้งหมดของภาพไว้ก่อน  แล้วจึงทำงานในรายละเอียด ทำให้โครงสร้างและองค์ประกอบต่างๆของภาพทั้งภาพ มีความกลมกลืนเป็นชุดเดียวกัน บทเรียนและการเรียนรู้ดังกล่าว ทำให้ได้ตรวจสอบแนวทางในการใช้กระบวนการทางศิลปะ สำหรับสื่อสาร แสดง และอธิบายการเขียนกระบวนการคิด ชุดความคิด ระบบวิธีคิดเชิงนามธรรม ให้เป็นนภาพเขียน ภาพกราฟิค หรือวิธีเขียนความคิดให้เห็นการสรุปภาพรวมได้ด้วยภาพ (Visualizationed) ให้แม่นยำและชัดเจนมากยิ่งๆขึ้น 

หมายเลขบันทึก: 558319เขียนเมื่อ 5 มกราคม 2014 22:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มกราคม 2014 08:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

วาดได้สวยมากเลยครับ

ผมพยายามสอนนักเรียนวาดเหมือนกันครับ

ผักอาจารย์ขึ้นไหมครับ

เอาผักมาอวดครับ

ยังไม่ได้ปลูกเลยครับอาจารย์ขจิตครับ
รอจังหวะเหมาะๆอยู่ครับ ผักอาจารย์น่ากินจริงๆ

ขอบคุณมากครับคุณมะเดื่อครับ
ดูรูปเพลินๆและขอให้ได้ความบันดาลใจดีๆนะครับ มีความสุขครับผม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท