หมอเจ๊ คนสวย แซ่เฮ
พ.ญ. ศิริรัตน์ เอกศิลป์ สุวันทโรจน์

ร่วมเรียนรู้ป่า (๑๙)


ตอนถึงงานมีนักเรียนอยู่ในเต๊นท์เยอะเชียว หนูๆกำลังฟังและชมกิจกรรมบนเวที ใกล้กันมีเต๊นท์ทำกิจกรรมสกรีนเสื้อ คนมุงเต็ม อีกด้านมีชาวบ้านนำพุทราสุกแห้ง พุทราดอง และหัวพืชสมุนไพรมาขาย นักเรียนมีเต๊นท์นอนอยู่อีกซีกของงาน ทางเดินไปสู่เต๊นท์มีป้ายประกาศเขียนไว้ว่า "หลักสูตรท้องถิ่นเสือโคร่งศึกษา เพื่อการอนุรักษ์ผืนป่ามรดกโลกห้วยขาแข้ง"

บรรยากาศในเต๊นท์กิจกรรม

"การจัดการระบบภูมินิเวศท้องถิ่น" เป็นคำใหม่ที่เพิ่งได้ยิน เมื่อเดินชมนิทรรศการ นับภาพเห็ดกินได้ที่นำมาติดไว้จนตาลาย รู้สึกประหลาดใจ ป่าอะไรมีเห็ดมากขนาดนี้ แล้วเดินไปรู้สึกไปว่ากำลังเรียนวิชาชีววิทยาเกี่ยวกับเห็ด อยากรู้จัก "บ้านเห็ด" แห่งนี้ขึ้นมาทันใด รู้สึกว่านี่แหละห้องเรียน "Habitat" ของจริง

เรื่องป่าก็มีคำใหม่ๆที่เพิ่งได้ยิน ดูเหมือนชื่อของป่าจะมาจากภูมิวัฒนธรรมที่ชาวบ้านมีชีวิตร่วมกับป่า ป่าตามภูมิปัญญาอีสานเป็นป่าที่แตกต่างกัน ๖ ป่า : ป่าภู ป่าดง ป่าทำเล ป่าโคก ป่าบุ่ง ป่าทาม เป็นป่าที่ต่างกันตรงชนิดต้นไม้เด่น ต้นไม้รอง สภาพพื้นที่ (ที่สูง ที่ราบ ที่เนิน ที่น้ำท่วม)และการใช้ประโยชน์   ป่าภู ป่าดง ป่าโคก มีไม้รังเป็นไม้เด่นคล้ายๆกัน

ขอบคุณครูดีที่ให้เด็กๆได้สัมผัสห้องเรียนเปิด

สมทบเงินทำบุญทอดผ้าป่าร่วมกัน มีพ่อครูเป็นตัวแทนมอบให้พี่ขาใหญ่ ต่างคนต่างแวะดูสิ่งที่สนใจ ได้เวลาพี่บู๊ดก็เชิญ ๓ หนุ่ม และ ๒ สาวขึ้นเวที ส่วนสายตาก็มองหาชายหนุ่มหัวโต เจอตัวจึงเชิญขึ้นเวทีไปอีก ๑ หนุ่ม ป้าหวานกับอุ๊ยฟังไปด้วย ช่วยกันเคลียร์รายชื่อผู้ที่สั่งข้าวให้เรียบร้อยไปด้วย  คนอื่นๆหาที่เหมาะนั่งฟังไปพลาง อัดเสียงไปพลาง คิดตามไปพลาง ทำอะไรที่สนใจส่วนตัวไปพลาง

เห็ดที่ป่าให้หลากหลายพันธุ์

ตั้งใจมาที่นี่ด้วยอยากเห็นห่วงโซ่อาหารที่เชื่อมคนกับป่า นิทรรศการช่วยเติมเต็มให้เห็นภาพชัดขึ้น นึกไปถึงเรื่องของ EHIA ว่านอกเหนือจากผลกระทบต่อสุขภาพจิตแล้ว มีอะไรที่กล่าวถึงไว้บ้างเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพอื่นๆ

เท่าที่รู้มาป่าที่นี่มีสัตว์นำโรคก็จริง แต่สัตว์เหล่านั้นมีป่าเป็นบ้าน และเป็นบ้านที่สงบ หากมนุษย์ไม่รุกเข้าไปถึงบ้านสัตว์ โรคก็มาไม่ถึงตัว ตอนรับรู้ว่าป่าแม่วงก์มีนกมากมายก็ดีใจว่าจะได้เห็นนกแปลกๆเป็นกำไรชีวิต เห็นนกพิราบที่เขื่อนทับเสลาก็หวาดเสียวที่นกใกล้คนมาก (โอกาสนกใกล้คนมีทีเผลอทำให้คนป่วยเป็นไข้หวัดนกได้)

เห็นภาพพื้นที่สร้างเขื่อนแล้วก็นึกถึงเขื่อนทับเสลากับนกที่เห็นบินว่อน คนเข้าไปเที่ยวไปพักนอน ไปหาปลาเพื่ออะไรก็แล้วแต่ คนใกล้นกเข้าไปอีกหน่อย ถ้ามีเขื่อนขึ้นอีกแห่งนกมันจะอพยพมาอยู่ตามสายไฟฟ้าแบบนกเมืองน่านก็ได้ใครจะรู้ (ที่กระบี่เดี๋ยวนี้มีเขตเทศบาล ๒ แห่งแล้วที่มีนกแบบน่านให้ดูโดยไม่ต้องจ่ายเงินไปดูถึงน่าน จากการผุดเป็นดอกเห็ดของโครงการบ้านจัดสรร) 

ผลกระทบด้านสุขภาพจากโรคที่สัตว์ปีกนำนั้นน่ากลัว แพร่เมื่อไรหืดขึ้นคอจนตามแก้ไม่ไหว มีตัวอย่างหืดขึ้นคอมาหลายสมัยที่กำแพงเพชรเกี่ยวกับการตามเฝ้าสตว์ปีกเคลื่อนย้ายเพื่อไม่ให้เกิดไข้หวัดนกระบาดไปทั่วไทย เรื่องอย่างนี้ไม่รู้ในรายงาน EHIA มีว่าอย่างไรเมื่อเกิดเขื่อนใหม่ที่แม่วงก์

ชนิดเห็ดสะท้อนบอกว่า เมื่อป่าน้ำท่วม พันธุ์เห็ดกินได้มากมายเหล่านี้จะหายไปหมด ถึงเวลานั้นชาวบ้านที่ยังชีพอิงธรรมชาติเกื้อกูลจะอยู่อย่างไร คืนผืนดินที่อยู่ให้รัฐไปหาที่ใหม่ จะมีอะไรเติมเต็มให้บ้าง

ผลกระทบด้านรายได้ ผลกระทบด้านสุขภาพจิตและสิ่งอื่นๆที่ตามมาของชาวบ้านทั้ง ๒ ฝั่ง (เขาสบกก เขาชนกัน) เป็นอย่างไร เป็นเรื่องสำคัญที่มิอาจใช้การศึกษาด้วยระบบสุ่มตัวอย่างมาเป็นคำตอบได้เลย

เห็นพื้นที่จริง รับรู้เรื่องตลอดทริปแล้วไม่สบายใจกับเรื่อง HIA ที่ได้ยินแว่วๆว่าจะมีการประสานกับสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขและกรมควบคุมโรคจัดทำมาตรการป้องกันแก้ไขผลกระทบทั้งหมดในด้านสุขภาพของประชาชน ทั้งกายภาพ ชีวภาพ เคมีหรือสุขภาพจิตหากมีการก่อสร้างโครงการฯ อีกทั้งจะมอบงานติดตามตรวจสอบการทำงานของโครงการให้ด้วย

เขื่อน

จะเขาสบกกหรือเขาชนกันก็กระทบชาวบ้าน เลือกเขาสบกกเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาทางสังคมก็ไม่น่าใช่ทางเลือกลงตัว

หมายเหตุ

- การศึกษาสภาพทางภูมินิเวศ คือ การศึกษาถิ่นที่อยู่อาศัย (Habitat) ที่มีอิทธิพลต่อรูปแบบวิถีชีวิต เป็นแหล่งกำเนิดของภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์จากพืช พรรณที่ปรากฎอยู่ในพื้นที่ ทำให้เข้าใจถึงความสัมพันธ์ของมนุษย์กับระบบนิเวศในฐานะที่เป็นผู้มีบทบาท หน้าที่ในส่วนหนึ่งของกระบวนการในระบบนิเวศและเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการ รักษาความสมดุลและคงามยั่งยืนของธรรมชาติ ในขณะที่ผลจากการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ สังคม วัฒนธรรมและเศรษฐกิจนับจากอดีต จะช่วยให้เข้าใจสภาพเงื่อนไขสำคัญที่ส่งผลต่อการปรับตัวภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งจะทำให้มองเห็นร่องรอยและแนวโน้มความสัมพันธ์ของชุมชนกับการใช้ประโยชน์ จากพืชพรรณที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตต่อไปได้ ทำให้เข้าใจความหลากหลายของสังคมมนุษย์และวัฒนธรรมซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่มี ผลต่อการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติ เป็นการศึกษาที่มีประโยชน์ต่อการประคองระบบความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับ ธรรมชาติมิให้สูญเสียไป

- แนวคิดของภูมิปัญญาท้องถิ่น คือ การใช้สติปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมในพื้นที่ที่อาศัยอยู่ เมื่อนำมาประกอบกับหลักคิดแบบวิทยาศาสตร์ทางนิเวศวิทยาที่ว่าความพยายามแยก สิ่งมีชีวิตออกจากสิ่งแวดล้อมที่ตนอาศัยอยู่ของสิ่งมีชีวิตนั้นๆเป็นจริงไม่ ได้ ส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจสภาพความสัมพันธ์ของคน ทรัพยากร และสิ่งแวดล้อม โดยผสานมุมมองในทางข้อเท็จจริงที่ปรากฏแก่สายตาและในเชิงคุณค่าของสังคมที่ ร่วมใช้ประโยชน์ มีส่วนช่วยในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และทำให้เกิดการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับ สภาวะที่สมดุลและยั่งยืน

หมายเลขบันทึก: 557688เขียนเมื่อ 30 ธันวาคม 2013 11:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 ธันวาคม 2013 22:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท