วิจารณ์การเขียนถึง "แหล่งเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" (๑)


ตามแบบฟอร์มการเขียนแบบคัดกรองเพื่อประกอบการประเมินเป็นศูนย์การเรียนรู้ ปศพพ. ด้านการศึกษา มีหัวข้อที่ต้องเขียนอธิบายถึงแหล่งเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอยู่ ๓ หัวข้อ.... เป็นเหตุให้มีหลายท่านสับสนว่าจะต้องเขียนอย่างไร และตั้งเป็นคำถามในเวทีแลกเปลี่ยนวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๕๖ ที่ผ่านมา

ผมตอบว่า....    ผมไม่ใช่กรรมการประเมิน และอีกทั้งไม่เคยเข้ารับการอบรมการเป็นกรรมการประเมินใดๆ แต่หากให้ผมวิเคราะห์ ผมคิดว่า ไม่น่าจะเขียนซ้ำกัน แต่ควรจะเขียนให้เห็นจุดเน้นที่สอดคล้องกับเกณฑ์ก้าวหน้า และเชื่อมโยงกันระหว่าง ๓ หัวข้อนั้นๆ ในแบบคัดกรองฯ มีส่วนที่ถูกกำหนดให้เขียน ๓ ส่วน ดังนี้

  • อยู่ในส่วนข้อมูลทั่วไป........... คงอยากทราบ "บริบท" และทรัพยากรที่มี
  • อยู่ในส่วนข้อมูลแนวทางขับเคลื่อน คือ บริหารจัดการ การจัดการเรียนการสอน และกิจกรรมเสริม ..... น่าจะเป็นการเขียนให้เห็นวิธีคิดในการใช้ และวิธีการสรร้างหรือพัฒนาแหล่งเรียนรู้ ....
  • อยู่ในส่วนของการการแบ่งหัวข้อตามเกณฑ์ก้าวหน้า คือ ตามเกณฑ์ด้านอาคารสถานที่และแหล่งเรียนรู้....  ควรจะเขียนให้เห็นความ "เอื้อ" ต่อการปลูกฝังอุปนิสัยพอเพียงแก่เด็กๆ ....

๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙ 

สำหรับส่วนข้อมูลทั่วไป

ผมเสนอว่าควรเขียนให้เห็นภาพรวม โดยระลึกว่าผู้อ่านจะได้คำตอบของคำถามว่า ฐานอะไร เพื่ออะไร อยู่ตำแหน่ง/สถานที่ใด/ขนาดเท่าใด มีองค์ประกอบสำคัญอะไร/วิธีการใช้ฐานคร่าวๆ (ถ้าจำเป็น) เชื่อมโยงกับการจัดการเรียนรู้ในห้องเรียนและการดำเนินชีวิตอย่างไร (ถ้ามี) และเห็นผลลัพธ์ที่ผ่านมาได้ผลหรือไม่อย่างไร 

ลองมาดูตัวอย่างการเขียนในส่วนข้อมูลทั่วไปของโรงเรียนแห่งหนึ่งครับ

 
๒.๕.๒  ธนาคารออมทรัพย์เยาวชน
          แหล่งเรียนรู้เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนเห็นคุณค่าของการออมในรูปแบบของธนาคารออมทรัพย์เยาวชน  มุ่งให้ผู้เรียนเรียนรู้การเก็บออมและการวางแผนทางการเงินเพื่ออนาคต  รวมถึงฝึกให้ผู้เรียนที่เป็นเจ้าหน้าที่ธนาคาร  มีความรอบคอบ  ซื่อสัตย์และมีจิตสาธารณะในด้านบริการ เปิดบริการรับฝากเงินในภาคเช้าก่อนเข้าแถวเคารพธงชาติ  ให้บริการทั้งนักเรียน  ครู  และผู้ปกครอง 
 

 คำวิจารณ์
เห็นวัตถุประสงค์ของการมีฐานการเรียนรู้ชัดครับ ....แต่ไม่เห็น "บริบท" และภาพรวมของฐานการเรียนรู้ .... ผมคิดว่าการเขียนในส่วนข้อมูลทั่วไปนี้ ควรเขียนให้เห็นภาพรวมของฐานการเรียนรู้นั้นใน ๓ ประเด็น ได้แก่

  • เหตุผลหรือวัตถุประสงค์ของฐานฯ.... ตัวอย่างนี้ทำได้ดีครับ  เห็นวิธีคิดพอสมควร
  • เห็น "บริบท" ในภาพรวมของฐานฯ เช่น สถานที่ คน(การมีส่วนร่วม) และการสนับสนุนหรือบทบาทของโรงเรียน ..... ที่เขียนในตัวอย่างนี้ มีบางประโยคบ่งบอกว่าเด็กมีส่วนร่วมแต่ไม่ชัดเจน เช่น ....ผู้เรียนเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคาร... 
  • เขียนไม่เห็นภาพรวม แต่บางประโยคกลับลงลึกในรายละเอียด...เช่น รับฝากเงินในภาคเช้าก่อนเข้าแถวเคารพธงชาติ.... ฯลฯ

ถ้าเขียนตามวิธีที่ผมแนะนำ อาจจะได้ดังนี้ครับ

    ..... ฐานการเรียนรู้ธนาคารออมทรัพย์เยาวชนเป็นการจำลองเหตุการณ์และสถานการณ์ของธนาคารอาคารออมทรัพย์มาไว้ในโรงเรียน โดยปรับใช้ห้องเรียนเดิมที่ไม่ได้ใช้แล้วห้องเป็นสำนักงานของธนาคาร โดยกำหนดให้ครูและนักเรียนทุกคนจะต้องเข้าร่วมเป็นสมาชิก และบริหารจัดการโดยคณะกรรมการนักเรียนโดยมีครูผู้รับผิดชอบเป็นผู้แนะนำและดูแล วัตถุประสงสำคัญของฐานการเรียนรู้นี้คือการปลูกฝังอุปนิสัย "พอเพียง" ด้านการอดออมและวางแผนการเงินของแต่ละคน ส่งเสริมการเรียนรู้การทำบัญชีรายรับรายจ่ายผ่านกิจกรรมการออมทรัพย์ และเป็นการสร้างสถานการณ์เพื่อให้นักเรียนนได้ฝึกทักษะการคิดเชิงตัวเลขและปลูกฝังคุณธรรม โดยเฉพาะ "ความซื่อสัตย์" ผ่านการปฏิบัติงานในบทบาทสมมติสำหรับคณะกรรมการนักเรียน  ผลการใช้ฐานการเรียนรู้ที่ผ่านมา ๒ ปีการศึกษาพบว่า นักเรียนส่วนใหญ่มีพฤติกรรมการใช้จ่ายเปลี่ยนไป เห็นคุณค่าและความสำคัญของการวางแผนการเงินเพื่ออนาคตของตนเองโดยเฉพาะคณะกรรมการนักเรียนที่นอกจากจะมีความรู้เรื่องธนาคารออมทรัพย์แล้ว ยังเห็นประโยชน์ของการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ในชั้นเรียนด้วย.....

อีกสักหนึ่งตัวอย่างครับ

 
                     ๒.๕.๓  ธนาคารขยะรีไซเคิล
          แหล่งเรียนรู้เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนเห็นคุณค่าของวัสดุเหลือใช้และมีจิตสาธารณะที่จะช่วยกันรักษาความสะอาด  ตลอดจนการเพิ่มมูลค่าให้กับวัสดุเหลือใช้โดยบูรณาการกับกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่างๆ เช่น  การผลิตดอกไม้จากขวดพลาสติกสามารถบูรณาการกับกลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ  การประดิฐษ์กระเป๋าจากถุงนมซึ่งบูรณาการกับกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี  ส่งผลให้นักเรียนเห็นคุณค่าของวัสดุเหลือใช้และมีรายได้เก็บออมจากการคัดแยกขยะเพื่อจำหน่าย  ตลอดจนได้รับความสนใจจากผู้ปกครองนำวัสดุเหลือใช้มาจำหน่ายกับทางโรงเรียน


คำวิจารณ์   

  • ตัวอย่างนี้เขียนได้ดีครับ ...ดีตรงที่เห็นวัตถุประสงค์ เห็นการเชื่อมโยงกับรายวิชา และมีการกล่าวถึงผลลัพธ์.... แต่ว่า..
  • เป็นวัตถุประสงค์ที่มุ่งเน้นไปทางด้านคุณธรรมและผลผลิต (ซึ่งความจริงฐานการเรียนรู้ส่วนใหญ่ไปในแนวทางนี้เกือบทั้งหมด) มากกว่าการปลูกฝังอุปนิสัย "พอเพียง" ด้านหลักคิด เช่น หลักคิดแบบพอเพียง หรือ การใช้ของอย่างเห็นคุณค่า การไม่สร้างขยะ  หรือส่งเสริมการคิดสร้างสรรค์ในการประดิษฐ์ เป็นต้น 
  • เป็นการเขียนที่ยังไม่เห็นภาพ ไม่เห็นองค์ประกอบด้านคน คือ ไม่เห็นบทบาทของครูและนักเรียน....

๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙



อย่าลืมนะครับ.... นี่เป็นเพียงความเห็นผม... โปรดอย่าเชื่อก่อนได้ใช้พิจารณาญาณ
อ.ต๋อย
สวัสดีปีใหม่ครับ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๕๖

บันทึกต่อไปค่อยมาว่าเรื่อง การเขียนในส่วนแนวทางการขับเคลื่อนฯ ครับ

หมายเลขบันทึก: 557621เขียนเมื่อ 29 ธันวาคม 2013 12:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 ธันวาคม 2013 20:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท