เขารักกัน จนตายแทนกันได้เชียวหรือ


ผมได้รับมอบหมายให้ต้อนรับนักศึกษาแพทย์ปี ๓ ขึ้นวอร์ด

นักเรียนปี ๓ เราเรียกว่าเด็กชั้นพรีคลินิก เขาต้องเรียนหนังสือในชั้นเรียน ไม่ต้องขึ้นวอร์ดเพื่อดูคนไข้ ชุดนักศึกษาก็เป็นแบบฟอร์มของมหาวิทยาลัย ดูแล้วไม่รู้หรอกว่าใครอยู่คณะไหน แต่เมื่อขึ้นเทอม ๒ ทุกคนจะเฝ้ารอวันที่ได้สวมเสื้อกาว์นสีขาว คาดแถบเขียวที่กระเป๋าเสื้อ ปักชื่อที่หน้าอกขึ้นต้นว่า "นศพ." คราวนี้มองดูเป็นหมอกับเขาบ้างเสียที และก็ในคราวเดียวกันกับเสื้อกาว์น เขาจึงต้องขึ้นมาเดินในวอร์ด

 

ถ้าเป็นสมัยผม พ.ศ.๒๕๓๕ ก็จะได้จับต้องเนื้อตัวคนไข้จริงๆ ได้พกหูฟังติดตัว อยากฟังเสียงหัวใจ อยากฟังเสียงปอด อยากฟังเสียงร้องจ๊อกๆ ผมยังจำวันที่ขึ้นวอร์ดครั้งแรกในชีวิตได้ ท่านอาจารย์ธาดาได้เชิญคนไข้โรคหัวใจของท่านมาให้พวกเราฝึกตรวจ ได้ดูมือดูเล็บคนไข้ เริ่มเห็นว่านิ้วปุ้มเป็นเช่นไร ได้เอามือวางนาบบนผนังหน้าอกคนไข้เพื่อรับรู้การเต้นของหัวใจ ความสั่นสะเทือนของผนังหน้าอกในกรณี thrill ดูหลอดเลือดข้างต้นคอที่พองขึ้นตามการบีบตัวของหัวใจ ยังจำและระลึกถึงบรรยากาศในวันนั้นได้จนบัดนี้

 

๒๗ ธันวาคม ๒๕๕๖ ในฐานะที่เป็นอาจารย์แพทย์ วันนี้ผมจึงต้องทำหน้าที่เหมือนกับที่อาจารย์ในอดีตต้องสอนพวกผมในวันศุกร์บ่าย เพียงแต่ครั้งนี้ นศพ.ขึ้นมาเพียงฝึกซักประวัติ

นักเรียนแพทย์ต้องฝึกการซักประวัติตามแบบแผน นั่นคือ อาการที่นำคนไข้มาโรงพยาบาล ประวัติที่เกี่ยวข้องกับอาการนำ ประวัติอดีต ประวัติครอบครัว และอื่นๆตามที่พวกเขาเคยร่ำเรียนและฝึกปฏิบัติกับผู้ป่วยจำลองมาก่อน

ผมมีนักเรียนอยู่ ๔ คน พวกเขาเหล่านั้นมาพบผมที่คลินิกนรีเวช ผมเพิ่งเสร็จจากการดูแลคนไข้ที่จะมาทำแท้ง จึงขออนุญาตนั่งพัก เลยได้คุยกันเล่นๆก่อนเดินขึ้นวอร์ดไปพร้อมกัน ได้โอกาสคุยเรื่องทำแท้ง แล้วพูดคุยเรื่องเหตุผลและความจำเป็นของการทำแท้ง กฎหมายว่าอย่างไร คนไข้คิดเรื่องท้องอย่างไร และนักเรียนของผมคิดอย่างไร พอหอมปากหอมคอ จากนั้นจึงเริ่มนำเข้าสู่กิจกรรมสัมภาษณ์ผู้ป่วยของวันนี้

ผมถามพวกเขาไปว่าตื่นเต้นไหม คำตอบก็คือ "ใช่" ผมก็ถามว่าทำไม เขาก็ตอบว่า "ไม่รู้จะถามอะไร " จึงเข้าทางผมทันที

ผมบอกนักเรียนไปว่า ยังไงเสีย เราคงไม่มีทางซักประวัติคนไข้ได้เก่งจริงๆภายในวันนี้หรอก แต่ขอให้ระลึกว่าเรากำลังคุยกับคนสักคนหนึ่ง เราอยากรู้จักว่าเขาคือใคร ทำไมจึงต้องมาโรงพยาบาล ปัญหาหลักของเขาคืออะไร ความเจ็บป่วยนั้นได้รับการเยียวยาอย่างไร ปัญหาอื่นๆมีหรือไม่ และอื่นๆ

 

คนแรก ได้สัมภาษณ์ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งปากมดลูก คนไข้รายนี้น่ารัก เธอส่งยิ้มให้และบอกว่า "ได้สิคะ" ในทันทีที่เราเดินเข้าไปขออนุญาต แต่นักเรียนแพทย์ของผมยังเกิดอาการประหม่า ถามไปถามมาก็ตัน ไม่รู้จะคุยอะไรอีก

เมื่อจบการสนทนาก็ให้เพื่อนๆสะท้อนกลับ ผลก็คือ "ทำได้ดีค่ะ" ผมก็ได้แต่หัวเราะ บอกเขาไปว่า เวลาสะท้อนกลับอย่าได้แต่ชื่นชมกันจนลืมประเด็นที่ต้องช่วยเขาพัฒนา คนไข้รายนี้เรารู้ไหมว่าเขารับรู้หรือไม่ว่าเป็นอะไร เขารู้สึกอย่างไรที่ทราบว่าเป็นมะเร็ง เขามีลูกกี่คน แล้วขณะนี้ที่ตัวเองต้องนอนในโรงพยาบาลนั้น ใครดูแลลูก รายได้เท่าไหร่ ตอนนี้ใครออกค่าใช้จ่ายให้ เขากังวลใจเรื่องอะไรบ้าง และอีกมากมาย

บทสรุปส่งท้ายสำหรับรายนี้ก็คือ อย่าลืมว่าเรากำลังคุยกับคนที่นั่งตรงหน้า มิใช่คุยกับคนไข้โรคมะเร็ง ดังนั้น มิติของคนไม่ใช่แค่การเป็นโรคนะจ๊ะ

 

คนที่สอง เป็นคนไข้ที่เป็นโรคมะเร็งปากมดลูก คนไข้รายนี้ก็น่ารัก เธอยิ้มทักทายนักเรียนแพทย์อย่างจริงใจ ลูกศิษย์ผมผ่อนคลายลงมาก และการสนทนาก็เป็นไปตามแบบแผน เกือบครบถ้วน และที่สำคัญเราได้ทราบประเด็นท่ีขาดหายไปจากรายแรกกลับมาได้มากมาย น่าชื่นใจ

 

คนที่สามเป็นคนไข้ที่เป็นโรคเนื้องอกมดลูก รายนี้เข้าถึงยากในตอนแรก เพราะดูเหมือนเธอไม่อยากให้นักเรียนของผมเข้ามาคุยด้วย จนผมทำท่าจะขอตัวออกไป เธอก็บอกว่า "เอาสิคะ" ด้วยเสียงที่เบาจนต้องอ่านดูจากปาก นักเรียนของผมต้องยืนโก้งโค้งฟังจนตัวโก่ง กระนั้นก็ยังคุยกันไม่ค่อยได้ยิน จนผมต้องบอกว่าลองนั่งคุยกับคนไข้ดูมั้ย

รายนี้เริ่มต้นดูเหมือนจะคุยกันไม่ค่อยรู้เรื่อง คนไข้พูดภาษาใต้ นักเรียนผมพูดกรุงเทพฯ บางครั้งก็เข้าใจสิ่งที่คนไข้เล่าผิดไป จนในที่สุด คนไข้จึงบอกว่า "ฉันพูดภาษากลางกับหมอก็ได้" แล้วเมื่อนั้นการสนทนาก็ลื่นไหลขึ้น

ผมรู้สึกสนุก เพราะรายนี้ทำเอาลูกศิษย์ผมเกร็ง แต่นี่คือชีวิตจริง พวกเราจะได้เจอการสนทนากับคนไข้หลายรูปแบบครับ

คนไข้คนนี้เริ่มพูดคุยกับเราคล่องขึ้น นักเรียนได้สอบถามถึงการมาโรงพยาบาล เราก็ได้ทราบว่า เธอได้รับการดูแลโดยพี่สองคน เขาทั้งสองพาเธอมาและเฝ้าเธอที่โรงพยาบาล คนหนึ่งนอนพักที่วัดโคกนาว คนหนึ่งจะนอนที่หน้าห้องทำบัตรของโรงพยาบาล แต่เพียงแวบหนึ่ง ผมสักเกตุเห็นรอยยิ้มและแววตาลุกโชนขึ้นมาเมื่อคนไข้พูดถึงพี่ของเธอทั้งสอง สีหน้าท่าทางและอารมณ์เปลี่ยนไป เธอกำลังยิ้มออกมาจากใจจริงๆ

เสร็จสิ้นการสนทนา ผมถามเด็กๆว่า คนไข้รู้สึกดีที่สุดเมื่อเราคุยถึงเรื่องอะไร ไม่มีใครตอบได้ ไม่มีใครเห็นออร่าของคนไข้เมื่อเธอเล่าเรื่องพี่ของเธอให้เราฟัง ผมจึงกระตุ้นเตือนไปอีกครั้งว่า "เรากำลังคุยกับคนจริงๆนะครับ ไม่ใช่คุยกันใน line อย่าเพิ่งสนใจใน content มากเกินไปจนลืมใส่ใจในความเป็นไปรอบตัวระหว่างการสนทนา คนมีอารมณ์ มีสีหน้าท่าทางแสดงออกมาระหว่างการพูดคุย แต่ line มีอักษรสื่อสาร เราคงไม่รู้หรอกว่าคนอีกด้านหนึ่งรู้สึกอย่างไร" (แหม ถ้าคนแสดงอารมณ์ออกมาเป็น line sticker ได้ นักเรียนผมอาจจะเข้าใจนิ)

 

รายสุดท้ายเป็นคนไข้อายุ ๕๙ ปี เธอเป็นมะเร็งปากมดลูกที่มีอาการติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ คนไข้คนนี้เป็นคนที่พูดไม่หยุด ลีลาท่าทางการพูดสนุกสนาน แต่ก็นั่นแหละ ลูกศิษย์ผมแทบจะหาช่องเริ่มคุยต่อไม่ได้เลย

แกเป็นโรคนี้มานานกว่า ๒๐ ปีแล้ว เจอหมอในม.อ.มามากมาย เลยรู้สึกคุ้นเคยกับพวกเรา ทั้งที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน

น่าสนุกดีครับ กลายเป็นว่า เด็กของผมต้องยืนฟัง ถามไปหนึ่ง ตอบมาหก

มีช่วงหนึ่งที่ลูกศิษย์ถามถึงสมาชิกในบ้าน

"สามีของป้า แกชิงหักคอตายไปนานแล้วลูกเอ๋ย" ป้าแกตอบออกมา

"หา ว่าไงนะครับ สามีของป้าฆ่าตัวตายเหรอครับ" ผมกลับเป็นคนที่หลุดปากถามออกไป เพราะเชื่อว่าฟังไม่ผิด

"หักคอตาย"

"ไม่ได้ฆ่าตัวตายหรอกหมอ แกเป็นลมตายไปเอง แกชิงตายไปก่อนป้า แกให้ชีิวิตป้า แกตายเพื่อให้ป้าซึ่งเป็นมะเร็งได้มีชีวิตอยู่ต่อ ป้าเลยเรียกเล่นๆว่า หักคอตายเอง"

ผมรู้สึกจุกแน่นเล็กน้อยเมื่อทราบความหมาย หรือนี่คือสิ่งที่เรียกว่า รักกันจนตายแทนกันได้

 

บทสรุปของการฝึกสัมภาษณ์ผู้ป่วยในวันนี้

คนไข้มีหลายหลาก การคุยและการฟัง ต้องฝึกฝน

คนมีอารมณ์และความรู้สึกแสดงออกได้ด้วยสีหน้าและท่าทาง (และแน่นอน line และ facebook ไม่มี)

ความรักแท้ที่ตายแทนกันได้ มีจริง (ในมุมมองของป้าคนสุดท้าย) และที่สำคัญ มันช่วยต่ออายุให้คนที่เขารักได้ด้วย (ป้าแกเชื่อว่า ที่แกรอดตายจากมะเร็งได้ก็เพราะลุงนั่นแหละที่ยอมตายแทนไปก่อน)

อันสุดท้ายนี่ดีจริงๆนะครับ

เป็นอันว่า จะจริงไม่จริง คนไข้ก็ได้เสริมพลังให้ผมอีกแล้ว

(ปล.ไม่รู้ว่าลูกศิษย์จะรับรู้แบบผมบ้างไหม)

หมายเลขบันทึก: 557595เขียนเมื่อ 28 ธันวาคม 2013 23:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 ธันวาคม 2013 23:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

เรื่องของความเชื่อ...เป็นกำลังใจให้หลายๆคนต่อสู้ ฟันฝ่าอุปสรรคในชีวิตมากมาย แม้กระทั่งความตายนะคะ

อาจารย์อ่านแล้วประทับใจกระบวนการเหล่านี้เรียนรู้คนไข้ทั้งในมุมมองของ illness & suffering ที่มองมากกว่ากระบวนการ disease จริงๆครับอาจารย์ ขออนุญาตนำมาแบ่งปันต่อนะครับผม

"หักคอตาย" เพิ่งเคยได้ยินในความหมายแบบนี้ ขอบคุณเรื่องดี ๆ ที่เล่าสู่กันฟังค่ะ

บอกจริงๆ นะหมอแป๊ะ อ่านแล้วจุกเหมือนกัน

เราลองมาถามตัวเองดู ว่าเรายอมตายแทนเมียได้ไหม

ยังไม่เฉลย

สวัสดีค่ะอาจารย์ หนูติดตามบทความของอาจารย์มาได้สักพักละค่ะ ก็หลังจากหนูไปหาอาจารย์เมื่อวันที่ 27/12/57 หนูต้องขอบพระคุณอาจารย์อีกหลายๆครั้งเลยล่ะค่ะ อาจารย์คงจำหนูได้นะคะ.../สุนทรี

จำได้ครับ สุนทรี

ว่าแต่ ใครอ่ะ ฉันแก่แล้ว

สวัสดีค่ะ สุนทรีเพื่อนกัญเพื่อนโอ๋LR น่ะค่ะอาจารย์ อาจารย์ทำหนูขำอีกแล้ว

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท