หมอเจ๊ คนสวย แซ่เฮ
พ.ญ. ศิริรัตน์ เอกศิลป์ สุวันทโรจน์

ร่วมเรียนรู้ป่า (๑๕)


บนเส้นทางที่นำพาไปสู่ลานนกยูงผ่านหมู่บ้าน ได้เห็นความแตกต่างของถนนที่ใช้สัญจร เส้นทางถนนหลวงสำหรับชาวบ้านเป็นถนนลูกรัง เวลารถวิ่งผ่านฝุ่นคลุ้ง ความกว้างของถนนเท่ากับถนน ๒ เลนยุคหลัง ต่างกันลิบลับกับถนนไร้ฝุ่นมียางปิดผิวในเขตอุทยานแห่งชาติ

เห็นถนนก็เกิดคำถาม ชาวบ้านจะสามารถทนความยั่วยวนของจิตรักสบายได้นานแค่ไหนกับเงื่อนไขของการคลุกอยู่กับถนนฝุ่นแบบนี้  เป็นไปได้มากว่าเมื่อเงื่อนไขแลกเปลี่ยนที่ตรงจริตถูกส่งมาเมื่อนั้นการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นในทันใด  เห็นสภาพระหว่างทางก็เห็นความยากของการทำงานเพื่อให้ชาวบ้านร่วมดูแลป่าของคุณผัดไท ทีมอนุรักษ์สัตว์ป่าอย่างมูลนิธิสืบ และทีมอุทยานแห่งชาติแม่วงก์

เดิมในโปรแกรมพี่บู๊ดกะว่าจะพาขึ้นชมช่องเย็น พื้นที่แม่น้ำตัวแม่ของแม่น้ำสะแกกรัง ที่ลือชื่อเรื่องจุดชื่นชมทิวทัศน์ยามพระอาทิตย์ขึ้นและตก มีความหลากหลายของพันธุ์ไม้ที่ชอบความชุ่มชื้นอย่างเช่น กล้วยไม้ เฟิร์นมหัสดำ (Treefern) และนก

อีกเรื่องที่เป็นความเฉพาะของช่องเย็น คือเรื่องคนกับแมลง แมลงที่ว่าเป็นพวกแมลงดูดกินเลือดคนเรียกว่า "ริ้นดำ" ชาวบ้านเรียกว่า "คุ่น" (มีชื่ออื่นๆอีก เช่น  ผะบอ คะซู ก่อก๊อบ เกลอะ) ตัวคุ่นบางพันธุ์นำพยาธิที่ทำให้คนตาบอดมาให้คน โชคดีที่ยังไม่เคยพบคนป่วยโรคนี้ในเมืองไทย  นี่ก็เป็นความหลากหลายของแมลงอีกด้านหนึ่งที่เจอที่อุทยานฯนี้

ถ้าจำไม่ผิด ดูเหมือนว่าแมลงตัวนี้เคยสร้างชื่อฮือฮาให้หมอไทยรู้จักเมื่อปี ๕๓ ในตอนนั้นมีรพ.แห่งหนึ่งในภาคเหนือเจอผู้ป่วยที่มีแมลงโผล่ออกมาจากผิวหนังให้เห็นจะจะตา 

บ้านเรามีผู้เชี่ยวชาญชั้นครูเกี่ยวกับริ้นดำในระดับที่มหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่นยอมรับอยู่ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชื่อ ศ.ดร.เวช ชูโชติ ความรู้ข้างบนก็ได้จากอาจารย์นี่แหละ

วันนี้รอบๆที่ทำการอุทยานฯเต็มไปด้วยเต๊นท์ รถ และคน การขึ้นช่องเย็นไม่น่าจะลงตัวกับเวลาที่มี จึงเห็นชอบด้วยกันว่า ฝากไว้ก่อนเถอะโอฬาร ขอไปต่อห้วยเรวาเหอะ

โปรแกรมเปลี่ยนสมาชิกในทีมเฮฮาศาสตร์บางคนที่อ่อนไหวกับการแพ้จึงไม่ต้องเผชิญตัวคุ่นซึ่งในฤดูนี้น่าจะเยอะจัด 

คุ่น เก  กด ตัวคุ่นคล้ายแมลงหวี่และผลจากมันกัด

ลานนกยูงเป็นชื่อที่ได้มาด้วยเหตุว่าที่นี่เป็นพื้นที่ที่มีนกยูงอยู่เยอะ เป็นแหล่งที่ฝูงนกยูงแพร่พันธุ์ของมันได้ลงตัวตามธรรมชาติ จุดที่ตั้งของลานนี้ อยู่ที่บ้านแม่เรวา อ.แม่วงก์ จ.นครสวรรค์  เป็นพื้นที่รอยต่อ ๒ จังหวัด นครสวรรค์-กำแพงเพชร บริเวณป่าของที่นี่มีลำห้วยชื่อห้วยเรวา น้ำในห้วยไหลมาจากยอดเขาสูงที่สุดของผืนป่าตะวันตก ชื่อ เขาโมโกจู

ได้ยินก่อนมาว่าลำน้ำที่นี่มีปลาน้ำจืดดุชื่อไม่คุ้นหูอาศัยอยู่ (ปลากระสูบ ปลาบัว) ชนิดปลาในน้ำมีไม่ต่ำกว่า ๑๐ ชนิด มีนากด้วย เวลามีน้อยเลยอดเห็นทั้งปลา นกยูง นาก

จุดที่รถจอดให้ลงชมมีต้นไม้หลายขนาดขึ้นหนาแน่น มีร่องรอยไม้ใหญ่โดนตัด มีไม้ปลูกซ่อมทดแทนเป็นระยะในพื้นที่โดยรอบป้ายชื่อลาน หาไม้ใหญ่ขนาดที่ต้องใช้คนโอบหลายคนไม่เจอ ส่วนใหญ่ที่เห็นมีขนาดหนาพอๆกับตัวคน เห็นต้นไม้แล้วก็พอเข้าใจกับมุมต่างของการใช้คำว่าป่าเสื่อมโทรมของคนทั่วไปกับที่กฎหมายไทยใช้

มีต้นไม้แบบนี้เป็นป่าเสื่อมโทรมรึเปล่า

ระหว่างแอบหนีไปดูต้นไม้ตามลำพัง ก็นึกไปว่าป่าที่นี่เป็นส่วนไหนของป่ามรดกโลกแล้วงง จนมีคนเฉลยว่าพื้นที่ที่เป็นมรดกโลกคือพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ๓ พื้นที่เท่านั้น (ทุ่งใหญ่นเรศวรตะวันออก-ตะวันตก และห้วยขาแข้ง) ที่นี่อยู่ในฐานะเพียงอุทยานแห่งชาติ

หก

ตอไม้ที่เหลือประปรายและขนาดต้นไม้ที่เห็นเป็นหลักฐานแสดงว่าที่นี่เคยเป็นป่าเสื่อมโทรมแล้วรัฐจึงตัดสินใจอนุรักษ์เพื่อฟื้นฟูให้กลับมาเป็นป่าสมบูรณ์

ตอไม้ที่มีการตัดเห็นประปราย ต้นไม้ปลูกซ่อมโตตามที่เห็น

ดูเหมือนจะยังไม่มีการสรุปว่าวันนี้ป่านี้สมบูรณ์แล้วยัง ปลดสถานะป่าเสื่อมโทรมได้หรือยัง ได้ยินแต่เพียงว่าป่านี้สำคัญกับสัตว์ในแง่แหล่งน้ำ แหล่งอาหาร พื้นที่ราบต่ำสุดที่กว้างขวางเพียงพอให้สัตว์ผ่านมาใช้ชีวิตด้วยกัน เป็นป่าผืนใหญ่ที่อยู่ตรงรอยต่อกับเขตป่าชั้นในที่เป็นแหล่งต้นน้ำ

อืม เข้าใจแล้ว ป่านี้เป็นรั้วขนาดใหญ่ที่กั้นป่าห้วยขาแข้งและผืนป่าตะวันตกบางส่วนเอาไว้นี่เอง

มาได้ยินจากครั้งนี้เช่นกันว่ามีผู้ดำริจะถอดถอนสถานะอุทยานแห่งชาติของป่าแม่วงก์ ถอดถอนเพื่ออะไร เปลี่ยนให้เป็นอะไรไม่มีข้อมูลที่สามารถนำมาแบ่งปัน 

ในส่วนตัวรู้ว่าพื้นที่ที่ไม่ใช่อุทยานแห่งชาติใช้กฎหมายคนละฉบับดูแลเกี่ยวกับการถือครองที่ดินและการจัดการที่ดินป่า ต่อไปหากมีการปลดสถานะอุทยานฯ คงมีเรื่องยุ่งๆตามมาอีกมากมายให้ทีมอนุรักษ์ทั้งหลายตามคลี่คลายเพื่อดำรงป่ามรดกโลกและบ้านใหญ่ผืนนี้ของสัตว์ป่าเอาไว้ให้ลูกหลานเหลน

 ๘ ธันวาคม ๒๕๕๖

หมายเหตุ

- สนใจความสำคัญของริ้นดำทางการแพทย์สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่

- สนใจแมลงที่เป็นปัญหาสาธารณสุขของบ้านเราสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่

 

 

หมายเลขบันทึก: 557552เขียนเมื่อ 28 ธันวาคม 2013 11:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 ธันวาคม 2013 16:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ป่าเมืองหนาวก็มีอันตรายที่แตกต่าง...แต่อย่างไรก็ตามผู้ที่จะเดินป่าก็ต้องศึกษาอันตรายจากทั้งพืช สัตว์ ภัยธรรมชาติ และลักษณะภูมิประเทศของป่านั้นๆ...เพื่อความปลอดภัยนะคะ

Yes it is an interesting question "มีต้นไม้แบบนี้เป็นป่าเสื่อมโทรมรึเปล่า"

I don't know enough about the official definition of "forest degradation" in Thailand's laws and regulations. But I looked up a more "international definition" and found that there are "no single definition" for degraded forests in any country. Even FAO has 3 definitions (see

http://www.fao.org/docrep/009/j9345e/j9345e08.htm ).

This makes it difficult to defend any forest. Truly Independent (non-stakeholder) assessment is hard to come by. Sigh!

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท