วิจารณ์การเขียน "เหตุผลที่ขอรับการประเมินเป็นศูนย์การเรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา"


ช่วงนี้ผมกำลังง่วนอยู่กับการอ่านแบบคัดกรองของโรงเรียนต่างๆ ที่กำลังเตรียมตัวเพื่อขอรับการประเมินเป็นโรงเรียนศูนย์การเรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา หลังจากที่ได้ขับเคลื่อนฯ มาอย่างต่อเนื่องหลายปี

ในหัวข้อ "เหตุผลในการขอรับการประเมินฯ" ผมคิดเอาเองว่า หากผมเป็นกรรมการประเมินฯ การเขียนที่ดีน่าจะทำให้ "เห็น" สิ่งสำคัญต่อไปนี้หลังจากได้อ่าน

  • เห็นความพร้อม  หมายถึง ภาพรวมของความพร้อมตามแนวทางของเกณฑ์ก้าวหน้า (โดยเฉพาะที่โดดเด่น) และที่สำคัญคือ เห็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นต่อนักเรียน ได้ขยายผลสู่โรงเรียนอื่นแล้วหรือยัง เป็นต้น..... ขณะที่อ่าน ผมคิดไปถึงว่า .... ทำไมไม่บอกเลยว่า มีเด็กแกนนำที่รู้เข้าใจนำไปปฏิบัติกับตนเองจนเกิดความภาคภูมิใจในการบอกต่อขยายผลต่อเพื่อนๆ เท่าไหร่ อย่างไร....
  • เห็นความมั่นใจและแรงบันดาลใจ....  การจะเขียนให้ผู้อ่านเห็นความมั่นใจนั้น จะต้องเป็นการเขียนจากความมั่นใจ เขียนจากความจริงที่ผ่านการประเมินด้วยตนเอง เขียนในสิ่งที่โรงเรียนภาคภูมิใจจริงๆ 
  • เห็นเหตุเห็นผล หมายถึง นอกจากจะเขียนให้เห็น "เหตุ" ที่ต้องประเมินฯ ก็คือ "ความพร้อม" ตามข้อแรก ควรจะเห็น "ผล" อันเป็นคุณประโยชน์จากการประเมินฯด้วย .....  การเขียนเหตุและผลนี้ควรเขียนให้ถึงระดับ "คุณค่า" "ความหมาย" ไม่เพียงสนองนโยบายหรือคำสั่ง แต่เพราะสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของนโยบายหรือคำสั่งนั้นๆ ...

๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘

เพื่อจะสื่อสารให้เข้าใจ "ความคิด" ของผมมากขึ้น ลองอ่าน "เหตุผลที่ขอรับการประเมิน" ต่อไปนี้ครับ....

....เพื่อให้เป็นไปตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง แนวทางการพัฒนาและประเมินสถานศึกษาพอเพียงให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา ประกาศไว้เมื่อ วันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ โดย นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยกระทรวง ศึกษาธิการมีนโยบายมุ่งพัฒนาสถานศึกษาทุกแห่ง ให้สามารถจัดกระบวนการเรียนการสอนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเพื่อให้การพัฒนาเป็นไปอย่างมีคุณภาพด้วยความยั่งยืน จึงต้องมีการพัฒนาสถานศึกษาพอเพียงให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษาเพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการขยายผลการขับเคลื่อนสถานศึกษาพอเพียงให้มีการยกระดับการพัฒนาตนเองจาก สถานศึกษาพอเพียงให้เป็น ศูนย์การเรียนรู้ฯ และxxxxxxxxxxxxxxxx ก็มีความปรารถนาให้มีการพัฒนาและยกระดับการดำเนินที่สนองนโยบายที่สอดคล้องกับ ประกาศของกระทรวงศึกษาธิการในเรื่องดังกล่าว
 

โรงเรียนxxxxxxxxxxxxxตระหนักและเห็นความสำคัญในการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการจัดการศึกษา ดังที่ กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดไว้เป็นนโยบายสำคัญคือ เร่งรัดปฏิรูปการศึกษาโดยยึดมั่นในหลักคุณธรรมนำความรู้ ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวทางในการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาทุกระดับ และเป็นการเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษา สถาบันครอบครัว ชุมชน  สถาบันทางศาสนา ให้มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาเพื่อให้ผู้เรียนเกิดความรู้ ทักษะ เจตคติ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างสมดุลและยั่งยืน การนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาบูรณาการและประยุกต์ใช้ในโรงเรียนได้ในทุกๆด้าน ทั้งทางด้านการบริหารจัดการสถานศึกษา ด้านหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอน  ด้านการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน และด้านการพัฒนาบุคลากร เพื่อให้ความยั่งยืน สมดุล มั่นคง พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในยุคโลกาภิวัตน์ .....

คำวิจารณ์

  • ไม่เห็นความพร้อม ไม่เห็นผลลัพธ์  เห็นเพียงเจตนารมณ์ของโรงเรียนที่จะสนองนโยบายของกระทรวงฯ
  • เห็นความมุ่งมั่นในการดำเนินการให้สอดคล้องกับเจตนารมร์ของกระทรวงฯ แต่ไม่เห็นแรงบันดาลใจที่จะปลูกฝังอุปนิสัย "พอเพียง" ไม่เห็นความภาคภูมิใจที่ได้ขับเคลื่อนจนเกิดผล.....
  • เห็น "เหตุ" ที่ต้องประเมินฯ แต่เป็น"เหตุ" เพราะต้องการสนองนโยบาย ไม่ถึงระดับ "คุณค่า ความหมาย" .... เห็น "ผล" คือ เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการขยายผลการขับเคลื่อน.... แต่ไม่ถึงประโยชน์ของการขับเคลื่อน....

 ๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘

อีกสักหนึ่งตัวอย่างครับ....


....โรงเรียนxxxxxxxxxxxxxxx ได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาบริหารจัดการสถานศึกษา  พร้อมทั้งจัดกระบวนการการเรียนรู้บูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อให้ผู้เรียนเกิดอุปนิสัย “พอเพียง” จนเป็นที่ชื่นชมและยอมรับของผู้ปกครองตลอดจนชุมชนในการเปลี่ยนแปลงด้านอุปนิสัย  คณะกรรมการสถานศึกษา  ผู้ปกครอง  ครู  นักเรียน  และชุมชนมีความเห็นร่วมกันว่า  หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักที่จะนำไปสู่ความอยู่รอดของประเทศ  เพื่อเป็นการสรรเสริญพระบารมีและถวายพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  จึงขอรับการประเมินเป็นศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อที่จะสานต่อ เผยแพร่  สร้างเครือข่ายความร่วมมือ  แก่โรงเรียนอื่นและหน่วยงานภายนอกเพื่อพัฒนาโรงเรียนเป็น  “สถานศึกษาพอเพียง”  และ  “ศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ในการพัฒนานักเรียนและประชาชนทุกคนในชาติให้เกิดอุปนิสัย  “พอเพียง”.... 

คำวิจารณ์

  • เห็นผลลัพธ์ ว่า มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของนักเรียน.... และเห็น "การยอมรับ" จากผู้ปกครองและชุมชน .... จะให้ดีควรระบุพฤติกรรมที่เด่นๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป หรือระบุเหตุผลให้ชัดขึ้นว่าทำไมถึงได้ยอมรับ และได้ชื่นชมตรงไหน.... 
  • เห็น "คุณค่า"ที่เป็นแรงบันดาลใจในการขับเคลื่อน ปศพพ. ว่าเป็นทางรอดของประเทศไทย...(อ่านแล้วชอบมากครับ)...แต่ใช้คำว่า "มีความเห็น" จึงทำให้ไม่มีพลังความมั่นใจหรือภูมิใจในผลสำเร็จของตนมากนัก...
  • เห็นทั้ง "เหตุ" และ "ผล" ของการประเมินฯ ...แต่อ่านแล้วก็ยังไม่ชัดว่า จะทำให้ประเทศอยู่รอดได้อย่างไร.....

๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘

เป็นเพียงความคิดเห็นนะครับ......  เผื่อจะมีประโยชน์ในการเรียนรู้ร่วมกันต่อไป......

ด้วยความจริงใจ
อ.ต๋อย
๒๘ ธันวาคม ๒๕๕๖

หมายเลขบันทึก: 557532เขียนเมื่อ 28 ธันวาคม 2013 02:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 ธันวาคม 2013 03:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท