นวนิยาย...ร้ายสาระ


การบันทึกประวัติศาสตร์ของทางการนั้น เป็นแต่เพียงการบันทึกเรื่องราว เหตุการณ์สำคัญ และบุคคลสำคัญ โดยมักจะไม่ปรากฏเรื่องของคนธรรมดาๆ ที่ถูกกระทบจากเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์นั้นๆ ไม่มีรายละเอียดปลีกย่อย ไม่มีทั้งอารมณ์ความรู้สึกของคนในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์แห่งยุคสมัย แต่สิ่งเหล่านี้ปรากฏอยู่ในวรรณกรรม

นวนิยาย..ร้ายสาระ

เกศินี จุฑาวิจิตร

ชุมชน 100 เล่มเกวียนเปลี่ยนชีวิต

 

          ฉันนั่งประมวลบันทึกที่ใช้คำว่า "หนังสือเปลี่ยนชีวิต" และ "หนังสือนี้เพื่อเธอ" ในรอบสองเดือนที่ผ่านมา แล้วก็พบว่าแต่ละบันทึกล้วนมีคุณค่าในแง่มุมที่แตกต่างกันไป แต่ทุกบันทึกได้จุดประกาย เชิญชวนและเร่งเร้าให้ฉันอยากเดินเข้าไปใน "สวนอักษร" เหล่านั้นเสียจริงๆ

          บันทึกส่วนใหญ่ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการพัฒนาตัวตน ชีวิตด้านในและจิตวิญญาณประกอบกับการใช้ “พุทธธรรม” เป็นเครื่องนำทาง  อีกส่วนหนึ่งเป็นหนังสือที่เหมาะสำหรับเด็กทั้งในด้านการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม และการสร้างเสริมจินตนาการ

          แต่ในขณะเดียวกัน ฉันก็พบว่าบางสิ่งบางอย่างหายไป   นั่นดูเหมือนจะเป็นหนังสือประเภทนวนิยายและเรื่องสั้น

           ... ฤาหนังสือประเภทนี้ คงจะไร้สาระเกินไป

          สำหรับฉัน...แม้ว่านวนิยายและเรื่องสั้นจะเป็น "เรื่องแต่ง" ที่แฝงไว้ด้วย “จินตนาการ”  หากก็ไม่ได้หมายความว่า นั่นเป็นเรื่องเล่าที่ไร้สาระและโกหก หลอกลวงหรือไม่จริงอย่างสิ้นเชิง เพราะนักเขียนแต่ละคนต่างก็เป็นสมาชิกคนหนึ่งของสังคม  จินตนาการของเขา คือ การเล่นกับความเป็นจริงของสังคมด้วยการตั้งคำถามประเภท What if.. หรือ If only..

          และตัวละครของพวกเขาก็คือ คนตัวเล็กๆ คนหนึ่งซึ่งมีวิถีชีวิตแบบธรรมดา ๆ เรื่องราวของคนเหล่านี้ไม่เคยถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ของทางการ    เพราะการบันทึกประวัติศาสตร์ของทางการนั้น เป็นแต่เพียงการบันทึกเรื่องราว เหตุการณ์สำคัญ และบุคคลสำคัญ โดยมักจะไม่ปรากฏเรื่องของคนธรรมดาๆ ที่ถูกกระทบจากเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์นั้นๆ ไม่มีรายละเอียดปลีกย่อย ไม่มีทั้งอารมณ์ความรู้สึกของคนในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์แห่งยุคสมัย แต่สิ่งเหล่านี้ปรากฏอยู่ในวรรณกรรม

          ดังนั้นในแง่มุมที่สำคัญแง่มุมหนึ่ง นักเขียนนวนิยายและเรื่องสั้น จึงเป็นผู้บันทึกเหตุการณ์ ชีวิตและความเป็นไปในสังคม

          ส่วน บทบาทของนักเขียน ก็คือ การบันทึกประวัติศาสตร์ที่ว่าด้วยวิถีชีวิตและความรู้สึกนึกคิดของบุคคลนั่นเอง

          ด้วยความที่นวนิยายและเรื่องสั้นเป็นเรื่องสมมติหรือเรื่องที่มาจากจินตนาการของผู้เขียนเป็นสำคัญ จึงทำให้ในสายตาของคนทั่วไป นวนิยายและเรื่องสั้นเป็นเพียงงานเขียนที่ไม่ได้มีคุณค่าใดๆ มากไปกว่าการสร้างความเพลิดเพลินให้แก่ผู้อ่าน  แต่ถ้าศึกษาย้อนอดีตโดยพิจารณาร่วมกับบริบททางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองแล้ว จะพบว่างานเขียนประเภทนี้ “ซ่อน” สิ่งต่างๆ ไว้มากมาย จนกล่าวได้ว่านอกจากคุณค่าในด้านความบันเทิงแล้ว นวนิยายและเรื่องสั้นยังมีคุณค่าต่อสังคมในด้าการบันทึกความทรงจำอีกด้วย

         นวนิยายและเรื่องสั้น เปรียบได้กับ “กระจกเงา” ที่สะท้อนภาพสังคมจากสายตาและมุมมองของนักเขียน อันหมายความว่า ภาพสะท้อนที่ได้จากกระจกนี้มีทั้งส่วนที่เป็น “ข้อเท็จจริง”และส่วนที่เป็น “การตีความ” ของผู้เขียนเอง  ในการอ่านนวนิยายหรือเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งๆ เราจะเห็นเรื่องราวต่างๆ มากมายทั้งวิถีการดำเนินชีวิต อาชีพ กิจกรรม เทคโนโลยี ความเชื่อ ระบบคุณค่าที่บุคคลยึดถือ ที่อยู่อาศัย สุขภาพ สถานภาพทางเพศของผู้หญิง ฯลฯ  และเมื่อวันหนึ่งที่วิถีชีวิตและความคิดของบุคคลเปลี่ยนแปลงและผันแปรไปตามกาลเวลา  อดีตของมนุษยชาติก็ยังคงอยู่จากการที่ถูกบันทึกไว้อย่างไม่เป็นทางการนี้เอง 

         เช่น ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจของประเทศไทยครั้งแรก เมื่อประมาณทศวรรษ 2470   ศรีอิสรา ได้เขียนเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งที่ชื่อว่า วิธีดุลยภาพ ซึ่งเป็นเรื่องที่มีแก่นเรื่องเกี่ยวกับความเดือดร้อนของข้าราชการและประชาชนทั่วไปจากนโยบายดุลยภาพของรัฐบาล    โดยใช้ท่วงทำนองการเขียนแบบเสียดสี เย้ยหยันและชวนหัว แต่ก็ชี้ให้เห็นปัญหาที่ชัดเจน

        อันนับได้ว่าเป็นตัวอย่างหนึ่งของคุณค่าของวรรณกรรม ในฐานะที่เป็น “ผลผลิตทางสังคมและวัฒนธรรม”   ซึ่งถ้าอ่านอย่างพินิจและวิเคราะห์ ก็จะพบว่า

         .... นวนิยายและเรื่องสั้น นอกจากจะไม่ได้ไร้สาระแล้ว แต่ยังแฝงไว้ด้วย "สาระอย่างร้ายกาจ" เลยทีเดียว ... เนื่องจากเป็นสาระที่ถูก “ซ่อน” ไว้อย่างบรรจง

         ใครมีนวนิยายหรือเรื่องสั้นในดวงใจ อย่าลืม "บันทึก" มาแลกเปลี่ยนกันด้วยนะคะ และอย่าลืมคำสำคัญ "หนังสือเปลี่ยนชีวิต" ด้วยค่ะ 

                

      

หมายเลขบันทึก: 557382เขียนเมื่อ 26 ธันวาคม 2013 07:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 ธันวาคม 2013 15:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ชอบอ่านทั้งเรื่องสั้นและนวนิยาย

สวัสดีปีใหม่ครับอาจารย์

ปกติจะชอบเรื่องสั้นมากกว่านวนิยาย ด้วยความที่ใช้เวลาน้อยกว่าแต่จินตนาการมากกว่า

หลังๆมาชอบอ่านนวนิยายมากขึ้น เพราะชอบรายละเอียดที่มีมากกว่าเรื่องสั้นครับ

ชอบครับผม ถ้าเป็นนักเขียนไทยจะชอบอ่านเรื่องสั้นเป็นพิเศษ มือเรื่องสั้นที่เก่งคนหนึ่งของเมืองไทยคือ กนกพงษ์ แห่งหุบเขาฝนโปรยไพร่ ครับ ซึ่งตอนนี้เหลือแต่หุบเขากับสายฝน ส่วนกนกพงษ์ ไม่อยู่แล้วครับ ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท