หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน : เสียงจากนิสิตและชาวบ้าน (พัฒนาระบบบัญชีสำหรับธุรกิจชุมชนฯ)


นิสิตนำพาชุดความรู้การจัดทำบัญชีเพื่อธุรกิจไปถ่ายทอดให้กับชาวบ้าน ผ่านเครื่องไม้เครื่องมือที่มีชื่อว่า “บัตรต้นทุนงาน” ซึ่งช่วยให้ชาวบ้านสามารถจดบันทึกข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับระบบการผลิตผ้าไหมของชาวบ้านว่าใช้ต้นทุนอะไรบ้าง แต่ละอย่างมีราคาค่างวดแค่ไหน หรือผ้าแต่ละผืนใช้เวลายาวนานอย่างไร ฯลฯ สิ่งเหล่านี้คือ “ต้นทุนการผลิต” ที่ต้องนำไปวางแผนเป็น “ราคา” และ “กำไร” ในระบบการตลาด

หากต้องให้ผมนิยามจุดเด่นโครงการ ๑ หลักสูตร ๑ ชุมชน อันเป็นโครงการบริการวิชาการแก่สังคมของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม สารภาพว่าลำบากมิใช่ย่อย เพราะไม่ใช่ว่าไม่มีอะไรดีเด่นพอที่จะนิยามได้ หากแต่มีเยอะแยะเต็มไปหมด จนไม่รู้จะจำกัดนิยามให้สั้นๆ กระชับได้เช่นใดดี

ถึงกระนั้นก็เถอะ ผมก็ยังพอที่จะนิยามจุดเด่นที่ว่านั้นได้บ้าง โดยเฉพาะ (๑) กระบวนการเรียนรู้คู่บริการ อันหมายถึงเรียนรู้ร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชน มิใช่มุ่งถ่ายทอดในแนวดิ่ง หรือสื่อสารทางเดียว โดยปราศจากการแบ่งปัน หรือเรียนรู้ร่วมกัน และ (๒) กระบวนการนำจุดแข็งของหลักสูตรไปสู่การรับใช้สังคม โดยใช้ผู้เรียนและชุมชนเป็นฐานหลักของการจัดการเรียนรู้

กรณีโครงการพัฒนาระบบบัญชีสำหรับธุรกิจชุมชนเพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจเข้มแข็ง (ปีงบประมาณ ๒๕๕๖) ของสาขาการบัญชี คณะการบัญชีและการจัดการก็เช่นเดียวกัน ผมถือว่าเป็นบทสรุปของนิยามข้างต้นได้ชัดเจน ซึ่งมี รศ.นภาภรณ์ พลนิกรกิจ เป็นหัวหน้าโครงการฯ


โครงการพัฒนาระบบบัญชีสำหรับธุรกิจชุมชนเพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจเข้มแข็ง จัดขึ้นร่วมกับกลุ่มทอผ้า ต.กุดรัง อ.กุดรัง จ.มหาสารคาม ซึ่งมีกลุ่มทอผ้าเข้าร่วม 3 กลุ่ม ประกอบด้วยวัตถุประสงค์สำคัญๆ หลายประการ เป็นต้นว่า การสร้างองค์ความรู้เรื่องระบบบัญชีธุรกิจชุมชนให้กับกลุ่มทอผ้า เพื่อให้สามารถวางแผนการทำธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก่อเกิดเป็นกระบวนการพึ่งพาตนเองได้อย่างเข้มแข็งและเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับกระบวนการพัฒนาชุมชนผ่านระบบบัญชีที่ถูกต้องและเหมาะสม

โดยส่วนตัวแล้วผมชื่นชอบโครงการนี้อยู่หลายเรื่อง เริ่มตั้งแต่การเลือกพื้นที่ซึ่งเชื่อมโยงกับอัตลักษณ์และยุทธศาสตร์ของจังหวัดมหาสารคาม กล่าวคือ การเลือกชุมชนที่ “ทอผ้าไหม” ในเขต “อำเภอกุดรัง” นั้นถือว่าสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากอำเภอกุดรังขึ้นชื่อเรื่องการทอผ้าไหมลายสร้อยดอกหมาก และผ้าไหมที่ว่านี้ คือผ้าไหมประจำจังหวัดมหาสารคาม


ดังนั้นโครงการดังกล่าวฯ จึงเป็นการเลือกพื้นที่แห่งการเรียนรู้ที่ชาญฉลาดและน่าจะได้ประโยชน์ร่วมกันอย่างไม่น่ากังขา นิสิตได้เรียนรู้และฝึกปฏิบัติการจริงกับชุมชนที่มีแก่นสารทาง “ภูมิปัญญา” (ผ้าไหมลายสร้อยดอกหมาก) อันเป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดฯ เฉกเช่นกับชุมชนเองก็ได้พัฒนาระบบบัญชีธุรกิจการ “ทอผ้าไหม” ของตนเองอย่างเป็นรูปธรรมร่วมกับนิสิตและอาจารย์จากมหาวิทยาลัยฯ

(วันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๕๖)
จากการที่ผม รวมถึงคณะกรรมการบริหารโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน ร่วมกับศูนย์ส่งเสริมนักวิชาการเพื่องานวิจัยเพื่อชุมชน จังหวัดมหาสารคาม (สกว.ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น)
ได้ลงพื้นที่ประเมินผลการดำเนินงานล่าสุดเมื่อไม่นานมานี้ ทำให้ผมได้รับรู้ หรือแม้แต่การเรียนรู้ถึงผลพวงของการเรียนรู้ในหลากเรื่องราวเชิงสร้างสรรค์ที่เกิดกับนิสิต หรือแม้แต่ชาวบ้าน เป็นต้นว่า –

“... นิสิต ได้นำองค์ความรู้เกี่ยวกับวิชาชีพ (บัญชีบัณฑิต) มาถ่ายทอดให้กับชาวบ้าน ผสมผสานกับการได้เรียนรู้ถึงความรู้เรื่องบัญชีธุรกิจที่ชาวบ้านได้จัดทำขึ้นเองตามประสบการณ์ของชาวบ้าน อีกทั้งยังได้เรียนรู้ขั้นตอนการผลิตผ้าไหมแต่ละผืน อันเป็นศิลปะและวัฒนธรรม หรือภูมิปัญญาท้องถิ่น...”



ครับ, คำบอกเล่าดังกล่าวนั้น เป็นคำบอกเล่าของนิสิตล้วนๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่านิสิตกับชาวบ้านเกิดการเรียนรู้ร่วมกัน (เรียนรู้คู่บริการ) อันหมายถึงนิสิตนำพาชุดความรู้การจัดทำบัญชีเพื่อธุรกิจไปถ่ายทอดให้กับชาวบ้าน ผ่านเครื่องไม้เครื่องมือที่มีชื่อว่า “บัตรต้นทุนงาน” ซึ่งช่วยให้ชาวบ้านสามารถจดบันทึกข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับระบบการผลิตผ้าไหมของชาวบ้านว่าใช้ต้นทุนอะไรบ้าง แต่ละอย่างมีราคาค่างวดแค่ไหน หรือผ้าแต่ละผืนใช้เวลายาวนานอย่างไร ฯลฯ สิ่งเหล่านี้คือ “ต้นทุนการผลิต” ที่ต้องนำไปวางแผนเป็น “ราคา” และ “กำไร” ในระบบการตลาด


ขณะเดียวกัน นิสิตก็ไม่ละเลยที่จะสอบถามและเก็บข้อมูลวิธีการทำบัญชีธุรกิจของกลุ่มทอผ้าไปพร้อมๆ กัน ซึ่งพบว่าเป็นระบบบัญชีที่ทำขึ้นง่ายๆ ปรากฏเฉพาะรายการสำคัญๆ ของการผลิต ทำให้ไม่อาจหยั่งรู้ได้ว่าต้นทุนอันแท้จริงของการผลิตผ้าแต่ละผืนนั้นเป็นเช่นใด

นอกจากนี้แล้ว นิสิตยังได้แลกเปลี่ยนข้อมูลกระบวนการผลิต หรือการทอผ้าของชาวบ้านว่าเริ่มต้นอย่างไร ซึ่งชาวบ้านเองก็ไม่หวงแหนความรู้ มีการบอกเล่าและสาธิตให้นิสิตได้เรียนรู้อย่างเต็มที่ ถือเป็นกระบวนการเรียนรู้แบบ “สอนลูกสอนหลาน” ดีๆ นั่นเอง ส่งผลให้นิสิตได้ค้นพบ “นาฏการณ์” อันแท้จริงของการ “ทอผ้า” ว่ายึดโยงกับความละเมียดละไมแห่งจิตใจแค่ไหน หรือแม้แต่การรับรู้ถึงอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการทอผ้าไหม เช่น กง,อัก, ฮัง,กระสวย,กี่ทอผ้า, ฟืม ซึ่งทุกอย่างล้วนยึดโยงกับ “ต้นทุนการผลิต” ทั้งสิ้น ซึ่งนิสิตบางคนไม่เคยรู้และไม่เคยสัมผัสมาก่อนเลยในชีวิต-


ด้วยเหตุนี้ ผมจึงมองว่า นั่นคือการปรากฏการณ์แห่งการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างนิสิต (มหาวิทยาลัย) กับชุมชนที่ไม่ได้ซับซ้อนด้วยสถานะใดๆ เป็นการเรียนรู้ร่วมกัน –แบ่งปันกันและกันบนฐานคิดของการพึ่งพิงและให้ความเคารพต่อความชำนาญของกันและกันอย่างไม่ผิดเพี้ยน

และเช่นเดียวกันนั้น ผมเองก็มีโอกาสพูดคุยกับชาวบ้านอย่างใกล้ชิดกับผลพวงของการเข้าร่วมกิจกรรมนี้กับทางมหาวิทยาลัยฯ ซึ่งชาวบ้านได้บอกเล่าอย่างตรงไปตรงมาในหลายเรื่อง เช่น

“... บัตรต้นทุนงานที่มหาวิทยาลัยนำมาสอนนั้น ได้ช่วยให้ชาวบ้านสามารถบันทึกข้อมูลการผลิตอย่างละเอียด ช่วยให้รู้ว่าต้นทุนการผลิตจริงๆ มีกี่บาท และควรนำไปคิดราคาขายต่อผืนกี่บาทถึงจะคุ้มทุนและสร้างกำไรให้กับตัวเอง หรือสร้างกำไรให้กับกลุ่มสมาชิก เพื่อให้มีทุนรอนในการทอผ้าและยกระดับคุณภาพของผ้าไหมขึ้นเรื่อยๆ เป็นการสร้างความชอบธรรมและความยุติธรรมให้กับผู้ผลิตและผู้ซื้อไปในตัว...”


นอกจากนี้ ชาวบ้านยังกล่าวในทำนองว่ากิจกรรมโครงการนี้ได้เป็นเสมือนเครื่องมืออันสำคัญในการช่วยให้คนในครอบครัว หรือในครัวเรือนได้ทำกิจกรรมร่วมกัน ดังว่า

“...บัตรต้นทุนงาน หรือบัญชีธุรกิจที่มหาวิทยาลัยนำมาสอน ไม่ได้ทำแต่เฉพาะกลุ่มทอผ้า หรือสมาชิกที่เกี่ยวข้องเท่านั้น แต่ยังสามารถนำกลับไปใช้เป็นกิจกรรมในครัวเรือนได้เป็นอย่างดี ทั้งสามีและลูกๆ ต่างสามารถช่วยบันทึกข้อมูลได้โดยง่าย เป็นการทำกิจกรรมร่วมกัน รับรู้ข้อมูลร่วมกันและ ช่วยสานสัมพันธ์คนในบ้านได้เป็นอย่างดี...

... การทำกิจกรรมของมหาวิทยาลัยฯ ทำให้สมาชิกในกลุ่มตื่นตัวในหลายเรื่อง พอมีระบบบัญชีที่มีมาตรฐานและช่วยให้สามารถวางแผนการตลาดได้ดีขึ้น หลายคนเริ่มหันกลับเข้ามาทอผ้าร่วมกันอีกครั้ง หลังจากวางมือเลิกทอผ้าไปนาน เอาแค่เงินมาฝากไว้เฉยๆ และรอปันผลตอนปลายปี นอกจากนั้นยังมีการทบทวนถึงต้นทุนการผลิตในระยะต้นน้ำของตนเอง เช่น การอยากปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเหมือนในอดีต จะได้ไม่ต้องลงทุนไปซื้อเส้นไหมจากโรงงานหรือนายทุน ซึ่งทำให้ต้นทุนการผลิตของชาวบ้านสูงขึ้น...”

แน่นอนครับ- ถ้าไม่ถือว่าเข้าข้างตนเองนัก เสียงจากนิสิตและชาวบ้านข้างต้น ผมถือว่านั่นคือความสำเร็จที่มองเห็นเป็นรูปธรรมไม่แพ้โครงการอื่นๆ

ความสำเร็จที่ว่านี้ ไม่อาจตีค่าเป็นตัวเลขได้ หากแต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเห็นผลลัพธ์ (outcome) ที่หมายถึงการบูรณาการองค์ความรู้ร่วมกันระหว่าง “มหาวิทยาลัยกับชุมชน” (นิสิต,อาจารย์,ชาวบ้าน) ได้ชัดเจนไม่ใช่ย่อย เห็นกระบวนการเรียนรู้และจัดการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชน โดยใช้นิสิตกับชุมชนเป็นฐานหลัก หรือเป็นหัวใจหลักของการ “เรียนรู้คู่บริการ” หรือแม้แต่นัยยะสำคัญแห่งการ “เรียนรู้” ควบคู่ไปกับการ “พัฒนา”

และนั่นยังไม่รวมถึงกระบวนการเรียนการสอนที่มุ่งให้นิสิตได้เรียนรู้ชุมชน เรียนรู้ผ่านการลงมือทำเพื่อให้เกิดเป็น "ปัญญาปฏิบัติ" และมีจิตสำนึกที่ดีต่อการรับใช้สังคม (จิตอาสา,จิตสำนึกรักษ์ท้องถิ่น)

ส่วนชุมชนนั้น ผมมองเห็นผลกระทบ (Impact) ที่เกิดขึ้นในระยะต้นอย่างเด่นชัดนั่นก็คือชาวบ้านหันกลับมารวมกลุ่มกันเหมือนเดิม รวมถึงชาวบ้านเกิดองค์ความรู้ใหม่เกี่ยวกับการจัดทำบัญชีเพื่อธุรกิจ ทั้งธุรกิจเชิงครัวเรือนและธุรกิจกลุ่มในชุมชน เห็นความสำคัญของการบันทึกข้อมูลการผลิตผ่าน “บัตรต้นทุนงาน” ที่ไม่ใช่แค่ต้นทุนที่เป็นตัวเงินเท่านั้น หากแต่รวมถึงต้นทุนที่เป็นระยะความสั้นยาวของ “เวลา” ในการผลิตผ้าแต่ละผืนที่ต้องนำมาคิดเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนการผลิตด้วยเช่นกัน

  • การเข้าใจและการตระหนักเช่นนี้ ย่อมหมายถึงการ “รู้จริง” เกี่ยวกับ “ต้นทุนการผลิต” ช่วยให้สามารถกำหนดราคาได้อย่างเหมาะสม ให้ความยุติธรรมต่อผู้ผลิตและผู้บริโภคไปพร้อมๆ กัน สามารถหล่อเลี้ยงตนเองได้อย่างไม่ฝืดเคือง และสามารถสืบสานศิลปวัฒนธรรมเกี่ยวกับการ “ทอผ้าไหม” เพื่อส่งต่อเป็น “มรดกทางวัฒนธรรม” ให้ลูกหลานสืบต่อไป

ครับ, ในส่วนข้อเสนอแนะอันเกิดจากประเมิน หรือการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างสิต,อาจารย์,ชาวบ้าน หรือแม้แต่คณะกรรมการที่ลงพื้นที่ในครั้งนั้น ผมถือว่ายังคงต้องหนุนเสริม หรือเรียนรู้ร่วมกันต่อไปอย่างต่อเนื่อง อาทิ

  • การบันทึกข้อมูลเพื่อสร้างฐานข้อมูลกลุ่มผู้บริโภค,
  • การวางแผนการตลาดที่เน้นชุมชนเป็นฐานหลักที่ไม่ใช่ผ่านพ่อค้าคนกลาง หรือรอจำหน่ายแต่เฉพาะงานมหกรรม OTOP ของส่วนราชการ
  • การนำเยาวชนเข้ามาสู่การเรียนรู้
  • การสนับสนุนให้ครัวเรือนในชุมชนที่มีความพร้อมทั้งเรื่องพื้นที่ และเวลาที่จะปลูกต้นหม่อน เพื่อจำหน่ายให้กับสมาชิกกลุ่มทอผ้ากันเอง ซึ่งดีกว่าการต้องจัดซื้อเส้นไหมสำเร็จรูปมาจากโรงงาน
  • การกระตุ้นให้องค์กรท้องถิ่น เช่น อบต. ได้เข้ามามีส่วนร่วมให้มากขึ้น ทั้งในเรื่องงบประมาณ อุปกรณ์ พื้นที่สาธารณะในการปลูก การตลาด
  • ฯลฯ

สิ่งเหล่านี้ ยังคงต้องค่อยๆ ขับเคลื่อน และใช้เวลากันอีกหลายยก ซึ่งต้องจริงใจ จริงจัง และต่อเนื่อง มิใช่วูบวาบแล้วละทิ้งเหมือนไปตามยะถากรรม !



ความเห็น (6)

สบายดีนะก๊าบ ไม่ได้มาทักทายนานเลย

ชอบจังเลยในสิ่งที่ อ.แผ่นดิน คิดและทำอยู่

ชื่นชมกิจกรรมที่ดีมีประโยชน์มากๆนะคะ...หัวใจสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศคือการพัฒนาเศรษฐกิจครัวเรือนให้เข็มแข็ง มีอาชีพ มีรายได้ รู้จักใช้จ่ายเงินให้เกิดประโยชน์ และที่สำคัญคือทุกครัวเรือนมีเงินเก็บออมนะคะ

สวัสดีครับ คุณชลัญธร

ครับ ไม่เจอกันนาน -ผมสบายดี (สุขๆ ดิบๆ เหมือนเคยมาครับ)
โครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน เป็นโครงการต่อยอดและต่อเนื่องจากโครงการหนึ่งคณะหนึ่งหมู่บ้านที่ผมได้ทำไว้เมื่อปี 2553 จากนั้นมหาวิทยาลัยฯ ก็ต่อยอดในชื่อโครงการหนึ่งคณะหนึ่งชุมชนและโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนตามลำดับ

โดยปี 2555 ที่ผ่านมานั้น ยังแปลงโครงการหนึ่งคณะหนึ่งหมู่บ้านเป็นโครงการหนึ่งชมรมหนึ่งหมู่บ้าน ด้วยเหตุนี้จึงเห็นความเชื่อมโยงของกิจกรรมนิสิตและกิจกรรมจากวิชาเรียน/หลักสูตรเชือมร้อยกัน
สิ่งเหล่านี้สัมพันธ์กับความเป็นเอกลักษณ์ของมหาวิทยาลัย (เป็นที่พึ่งของสังคมและชุมชน) อัตลักษณ์นิสิต (ช่วยเหลือสังคมและชุมชน) ครับ

สวัสดครับ ดร. พจนา แย้มนัยนา

เห็นด้วยกับแนวคิดอาจารย์ฯ ทุกประการเลยครับ ทุกอย่างล้วนเริ่มต้นจากครอบครัว
กลุ่มทอผ้าเหล่านี้ มียอดสั่งทำผ้าไหมจำนวนมาก เรียกได้ว่าทอไม่ทันเลยทีเดียว สมาชิกไม่มีระบบการบันทึกข้อมูลการผลิตที่แจ่มชัด ทำให้ไม่สามารถคิดราคาต่อผืนได้อย่างเป็นรูปธรรม แต่พอได้เรียนรู้ร่วมกันกับมหาวิทยาลัยฯ ก็เกิดความเข้าใจและสามารถจัดระบบการตลาดได้เป็นรูปธรรมมากขึ้น

กิจกรรมนี้ในอีกมุมหนึ่งคือการค้นหาต้นทุน ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ลดหนี้สิน เน้นการออมในครัวเรือนและกลุ่มสมาชิกไปในตัวแบบเนียนๆ และสำคัญคือเน้นการทำงานแบบเครือข่าย ดังจะเห็นได้จากมีกลุ่มทอผ้าทั้ง 3 กลุ่มในตำบลฯ มาร่วมเรียนรู้ด้วยกัน และติต่อสื่อสารกันอย่างต่อเนื่องจนถึงบัดนี้

เป็นแนวคิดดีๆที่อยากเห็นการขับเคลื่อนสู่ภาคปฎิบัติอย่างกว้างขวาง ...ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนนะคะ

สวัสดีครับ พี่ใหญ่นงนาท สนธิสุวรรณ

แนวโน้มของปีหน้า สาขาฯ นี้จะยังคงขับเคลื่อนต่อเนื่องในพื้นที่เดิม ขยายกลุ่มให้กว้างขึ้น ซึ่งคณะกรรมการอาจต้องคุยให้ลึกและร่วมวางกรอบการทำร่วมกันให้มากกว่าที่ผ่านมา เพื่อก่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรม...

ขอบพระคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท