หมอเจ๊ คนสวย แซ่เฮ
พ.ญ. ศิริรัตน์ เอกศิลป์ สุวันทโรจน์

ร่วมเรียนรู้ป่า (๘)


ออกจากป่าพุ่งเข้าเมืองไปกันต่อ ที่หมายข้างหน้าเป็นวัด ถึงหน้าวัดรถคับคั่งไปหมด แถวลานวัดมีรูปปั้นอดีตมหากษัตริย์อยู่หลายรูป รอกัน คุยกัน พากันเดินเข้าไปชมวิหารแก้ว ลานตากับความแพรวพราวของแสงไฟสะท้อนกระจกผสมเงาร่างผู้คนที่เดินไปมา คนแน่นขนัดชนิดเผลอมองอะไรขวับหันมาอีกทีเพื่อนหายเข้าไปท่ามกลางผู้คนประมาณนั้น วัดพลุกพล่านขึ้นเยอะ

 ทาง   แผนที่เส้นทางห้วยขาแข้ง-วัดท่าซุง

  บรรยากาศลานวัด

วัดนี้กว้างขวางมาก ความที่มีที่ดินเป็นร้อยไร่ จึงทำให้ต้องจัดการรถพ่วงมาให้บริการแก่บรรดาโยมที่เดินไม่ไหว หลวงพ่อที่คนนับถือของที่นี่เป็นผู้นำบทลิขิตคำทำนายอนาคตของประเทศไทยมาเผยแพร่ไว้เมื่อกว่า ๓๐ กว่าปีก่อน ใครมีวารสารขวัญเรือนฉบับเก่าๆประมาณช่วงปีพ.ศ. ๒๕๐๕-๒๕๒๐ ลองค้นดู มีบทกลอนคำทำนายการเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองในคอลัมน์สัมภาษณ์หลวงพ่อฤาษีลิงดำตีพิมพ์เผยแพร่ไว้ในวารสารที่วางแผงในช่วงนี้ หรือจะตามไปอ่านที่นี่ก็ได้ค่ะ

ณ เวลานั้น ผู้คนกำลังร่าเริงกับการมีอิสระทางสังคมและทางการเมือง ไม่ได้สนใจคำทำนายชุดนี้ เพิ่งไม่นานมานี้เองที่มีคนรื้อมาเผยแพร่ใหม่จนฮือฮากัน ถ้าจำไม่ผิด หลวงพ่อเป็นพระสายหลวงปู่มั่น ฉายาฤาษีมีที่มาจากการเป็นผู้ฌานแก่กล้า ส่วนลิงดำเป็นคำเปรียบเทียบที่พระอาจารย์ของท่านตั้งให้ ดำมาจากผิวสีที่คล้ำแดด ลิงมาจากบุคลิกแบบไฮเปอร์ของท่าน

อารมณ์คนรอเข้าวัด

ความไฮเปอร์ของท่านนี่แหละสรรสร้างให้เกิดวัดที่อลังการงานสร้างอย่างที่ได้เห็น ก่อนที่สิ่งก่อสร้างอันอลังการนี้จะเกิดขึ้น วัดเหลือพื้นที่อยู่เพียง ๖ ไร่เศษ จากพื้นที่เดิมกว่า ๓๗๐ ไร่  หลวงพ่อทำยังไงจึงได้พื้นที่วัดกลับมาเป็นร้อยไร่

ครั้งที่อุทัยธานีมีการจัดการป่าไม้ ซุงจากการตัดฟันไม้ถูกผูกและปล่อยล่องลงมาตามลำน้ำแสะแกกรัง วัดยังไม่สร้าง จนมีพระธุดงค์องค์แรกผ่านมาปักกลด ชาวบ้านจึงดำริห์เรื่องสร้างวัด และนิมนต์ท่านเป็นเจ้าอาวาสองค์แรกจึงเกิดวัด ศรัทธาชาวบ้านแรงขนาดนี้ จึงไม่แปลกใจเมื่อรู้ว่าวัดมีพื้นที่เดิมกว่า ๓๗๐ ไร่ และชื่อ "วัดท่าซุง"

น่าสนใจเหตุการณ์ที่วัดมีพื้นที่หดลงเหลือแค่ ๖ ไร่เศษ และได้พื้นที่กลับมาถึง ๒๘๙ ไร่ เรื่องยากๆประมาณนี้ หลวงพ่อมีเทคนิคจัดการพื้นที่กันชนยังไง สร้างความมีส่วนร่วมของชาวบ้านยังไง เสียดายที่หลวงพ่อละสังขารไปแล้ว ถ้าคนยุคเดียวกันซึ่งรู้เรื่องที่ท่านทำยังมีชีวิตอยู่ น่าสนใจไปขอให้เล่าเรื่องให้ฟังนิ

  สอน สังขารหลวงพ่อยังอยู่เพื่อสอน

สุขาของวัดมีเป็นร้อยห้อง ไม่แยกห้องหญิง-ชาย พร้อมบริการคนชรา มีกฎให้ผู้เข้าใช้ลงกลอนประตูกันน้องหมาเข้าไปใช้ร่วม หญิงวัยกลางคนเป็นผู้ดูแล เธอน่ารัก อารมณ์ดี เจรจาไพเราะ คอยทำความสะอาดและให้ข้อมูลเรื่องปิดประตูลงกลอน สังเกตว่าเมื่อรู้เหตุผล ทุกคนทำตามที่คุณผู้หญิงขอโหม๊ด  กราบพระพุทธชินราชจำลองแล้วก็มารอกันด้านนอก รวมกลุ่มไปทัวร์อีกวัดต่อ

แถววัดนี้มีลำคลอง เป็นลำคลองที่ผู้คนใช้สัญจรไปมาในช่วงเวลาก่อนสร้างกรุงศรีอยุธยา ๓๐ ปี เชื่อหรือไม่ว่ามีคนมาอยู่ที่เมืองอุทัยธานีเมื่อ ๓ พันปีที่แล้ว คลองที่ว่าเป็นส่วนของแม่น้ำสะแกกรังที่ไหลผ่านอ.เมืองอุทัยธานี แต่ก่อนวัดใช้น้ำจากแม่น้ำ ไม่รู้ว่าเดี๋ยวนี้ยังใช้อยู่มั๊ย

เดินไม่ทั่วจึงไม่เห็นคลอง ส่วนที่ได้ชมเป็นวัดใหม่ วัดเก่ามีโบสถ์เล็กๆหลังวัดเก่ามีภาพจิตรกรรมฝาผนังฝีมือช่างพื้นบ้านเขียนไว้  มีธรรมาสน์โบราณ สร้างขึ้นโดยเจ้าอาวาสองค์แรกอยู่ อยากไปเห็นภาพพุทธประวัติที่เล่ากันว่ามีการต่อเติมจนผิดส่วน แต่แป่ว เวลาไม่พอมีโปรแกรมต้องไปต่อ

  วิหารแก้ว-ปราสาททองงามมั๊ย

เดินทางสู่ลานสาธารณะริมแม่น้ำสะแกกรัง ข้ามสะพานไม้ไปวัดโบสถ์ มีภาพวาดบนผนังให้ชม แวะกุฏิเจ้าอาวาสทำบุญ เห็นหัวกวางแขวนที่เสากุฏิ ๒-๓ หัว มีตู้เก็บตำราโบราณ ตะเกียงเจ้าพายุ ตะเกียงน้ำมันรุ่นต่างๆวางไว้ให้ดู  สะพานไม้เข้ากับบรรยากาศชนบท เหนือน้ำมีหมู่บ้านบนแพคล้ายที่พิษณุโลก

ชาวบ้านใช้จักรยานยนต์บ้าง จักรยานบ้างวิ่งขึ้นสะพานไปอีกฝั่ง พวกเราเดิน-ขึ้นลงสะพานออกกำลังขา พักถ่ายภาพทิวทัศน์น้ำ-ฟ้า-บ้านด้วยกัน อากาศริมน้ำอุ่นกำลังดี   วัดโบสถ์ เป็นชื่อชาวบ้านเรียก ชื่อเต็มๆของวัดนี้ คือ "วัดอุโปสถาราม"  อายุวัดนี้แก่กว่าวัดท่าซุง ๑ ชั่วคน (๗๓ ปี) สร้างขึ้นในรัชสมัย ร.๕

๗ ธันวาคม ๒๕๕๖

หมายเลขบันทึก: 556797เขียนเมื่อ 19 ธันวาคม 2013 00:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 ธันวาคม 2013 21:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ได้อ่านบันทึกคุณหมอแล้ว

เหมือนได้เดินเข้าไปในบันทึกด้วยค่ะ

ขอบคุณบันทึกงดงามค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท