...ข้อคิดจากเพื่อน..คำเตือนจากพี่..


ก่อนที่เธอจะเดินทางไปแข่งขันในระดับภาค..ในวันศุกร์ที่ ๑๓ ธันวาคม ผมแนะนำเธอเรื่องข้อมูลการนำเสนอ ต้องกระชับ มีความชัดเจน การพูดต่อหน้าคณะกรรมการ ต้องพูดจากสิ่งที่กระทำจริงๆ ที่ใช้กระบวนการแบบมีส่วนร่วม เกิดผลดีต่อนักเรียน ไม่ยึดติดทฤษฎีมากนักและนิทรรศการที่จัดต้องคัดสรรเท่าที่สำคัญและจำเป็น...

"..อุ้ย..ขอให้อาจารย์ตุ๋ย..ประสบความสำเร็จในการเรียนและมีความสุขมากๆก็แล้วกัน" ตามด้วยข้อความ..."ความรุ่งโรจน์ที่สุดของเรา..มิใช่อยู่ที่การไม่รู้จักตกต่ำ..แต่อยู่ที่เรา..กลับลุกขึ้นมาได้ทุกครั้ง ที่..เรานั้นตกต่ำ..แล้วก็เป็นคนดี..ที่ดีที่สุด..ตลอดไป.."

 

ผมเพิ่งค้นเจอสมุดบันทึก ที่มีข้อความข้างต้นเมื่อไม่กี่วันมานี้ เป็นสมุดบันทึกที่ได้รับเป็นที่ระลึกจากเพื่อนครูคนหนึ่ง ในโอกาสที่ผมสอบเรียนต่อ ป.โท มศว.ประสานมิตรเมื่อปี ๒๕๓๑

 

เป็นสมุดบันทึกเล่มแรกและเล่มเดียวที่ผมให้ความสำคัญ..และบันทึกได้หมดทุกหน้า พอเรียนจบ กลับไปใช้ทุนที่โรงเรียนเดิม ครูใหญ่บอกว่าเธอ..ผู้มอบสมุดบันทึกให้ผมได้ย้ายกลับบ้านที่จังหวัดตากและแต่งงานมีครอบครัวไปแล้วกับผู้บริหารโรงเรียน

 

๒๕ ปีผ่านไป..กันยายน ๒๕๕๖..ณ บ้านหนองผือ ผมรับโทรศัพท์จากผู้หญิงคนหนึ่ง..."ผอ.ชยันต์...ใช่ไหมคะ"   "ใช่ครับ...มีอะไรให้รับใช้ครับ"

"นี่..อุ้ยเอง นะ..."    "เอ้อ...ขอโทษ..นะครับ...อุ้ยไหนครับ"

"อุ้ย  อัญชัญ บ้านไพรพะยอมไง จำไม่ได้เหรอ"     "อ๋อ...จำได้แล้ว"

อุ้ย..หรือ ผอ.อัญชัญ ครุฑแก้ว(หมื่นศิษย์) ผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนบ้านป่ามะม่วง อำเภอเมือง สพป.ตากเขต๑ ค้นหาในเว๊บไซต์ เพื่อดูข้อมูลโรงเรียนขนาดเล็ก รางวัลบริหารจัดการยอดเยี่ยม ระดับประเทศ(Obec Award) จึงพบโรงเรียนบ้านหนองผือ และมีเบอร์โทรศัพท์ของผม..

 

อุ้ย..เป็นเพื่อนรุ่นน้อง สมัยที่เป็นครูด้วยกัน เธอขยันมาก ทั้งในด้านการเตรียมการ สอน จัดบรรยากาศห้องเรียนและพัฒนาห้องสมุด ตลอดจนจัดรายการเสียงตามสายของชุมชน(ดีเจหมู่บ้าน) ไม่แปลกใจเลย..ที่วันนี้เธอก้าวสู่ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาอย่างสง่างาม....

 

และมีความตั้งใจจะส่งผลงานผู้บริหาร รางวัลโอเบค ของสพฐ. ในด้าน"บริหารจัดการ"โรงเรียนขนาดเล็ก เมื่อผ่านระดับสำนักงานเขตแล้ว..จะได้ไปสู่ระดับภาค ที่จังหวัดเพชรบูรณ์ต่อไป

 

ผมพอจะมีประสบการณ์ด้านนี้อยู่บ้าง ก็ให้คำแนะนำเธอไป ขณะเดียวกันก็พอจะเข้าใจได้ว่า เธอคงจะไม่ค่อยได้เขียนอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน จึงแนะนำให้เธอเป็นสมาชิกโกทูโนว์..จากนั้นเธอก็เขียนเรื่อยมา อย่างภาคภูมิใจและมีความสุขมาก ซึ่งท่านผู้อ่านหลายท่านก็ได้ติดตามและชื่นชอบผลงานของเธอแล้ว

 

ผอ.อุ้ย ผ่านการประเมินในระดับเขต แบบไม่ยากเย็นนัก เพราะเธอเป็นผู้บริหารโรงเรียนขนาดเล็ก มีเด็กไม่ถึง ๑๒๐ คน แต่ปริมาณและคุณภาพภายในโรงเรียนไม่เล็กเลย เห็นได้จาก การประเมินให้เป็นโรงเรียนดีศรีตำบล เป็นสถานศึกษาพอเพียง เป็นโรงเรียนต้นแบบเรียนรวม และมีเด็กพิเศษเรียนร่วม ครูและนักเรียนได้รับรางวัลศิลปหัตถกรรมระดับชาติ หลายรายการ...ที่สำคัญ ผลสัมฤทธิ์ ป.๖ โอเน็ต ทุกสาระวิชาคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าระดับประเทศ...นี่เป็นเพียงคุณภาพบางส่วนที่ผอ.อุ้ยกับคณะครูร่วมกันสร้างสรรค์...แต่กระนั้นก็มิได้ทำให้ผมตกใจหรือแปลกใจอันใด..

 

เพราะผมไม่ได้สนใจอะไรทั้งสิ้น นอกจากแปลงเกษตรหลังโรงเรียนของเธอ ช่างอลังการงานสร้าง เป็นระบบ สวยงาม ปลูกผักอย่างจริงจัง รูปแบบการเตรียมดินและการปลูกผักที่ถูกวิธีเป็นเรื่องที่ผมกำลังเรียนรู้จากเธอ เพื่อนำมาปรับใช้ที่หนองผือ.เกษตรอินทรีย์แบบนี้ต่างหากที่ผมอยากรู้อยากเห็น

 

สิ่งที่น่าทึ่งอีกอย่างหนึ่งของผอ.อุ้ย เป็นความสามารถ ที่ผมต้องขอมาปรับใช้บ้าง นั่นคือ เธอคิด "Twins Model" ในการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก ได้อย่างลงตัวและเกิดผลดี เป็นรูปแบบง่ายๆและทำได้จริง ผมแนะนำให้เธอปรับกรอบแนวคิดเป็นบทความสั้นๆ เข้าใจง่ายขึ้นและเผยแพร่ในโกทูโนว์แล้วเพื่อให้เกิดประโยชน์ในวงกว้าง

 

ก่อนที่เธอจะเดินทางไปแข่งขันในระดับภาค..ในวันศุกร์ที่ ๑๓ ธันวาคม ผมแนะนำเธอเรื่องข้อมูลการนำเสนอ ต้องกระชับ มีความชัดเจน การพูดต่อหน้าคณะกรรมการ ต้องพูดจากสิ่งที่กระทำจริงๆ ที่ใช้กระบวนการแบบมีส่วนร่วม เกิดผลดีต่อนักเรียน ไม่ยึดติดทฤษฎีมากนักและนิทรรศการที่จัดต้องคัดสรรเท่าที่สำคัญและจำเป็น...

 

วันแข่งขัน..ผอ.อุ้ยบอก ต้องนำเสนอเป็นคนที่ ๑๔ และเป็นคนสุดท้าย แต่ละโรงเรียนนำผลงานมาเป็นคันรถ..ผลงานของผอ.อุ้ยที่ว่ามากแล้ว เล็กลงไปทันที ผมเลยบอกไปว่า..ไม่แน่หรอก วันนี้อาจมีรายการล้มช้าง..ขอเพียงเธอต้องนิ่ง มีสมาธิ และต้องสู้ โอกาสของผู้กล้า ศรัทธาแล้วต้องไม่ท้อ..เล็กใหญ่ไม่สำคัญ..มันอยู่ที่ใจ..

 

วันนี้..ประกาศผลแล้ว...ผอ.อัญชัญ ครุฑแก้ว ผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนบ้านป่ามะม่วง บริหารจัดการ รางวัลชนะเลิศยอดเยี่ยมระดับภาค.ได้ไปต่อที่เมืองทองแล้ว

 

                                                                 ชยันต์ เพชรศรีจันทร์

                                                                 ๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๖

 

 

    

    

 

 

    

                                                                  

 

หมายเลขบันทึก: 556482เขียนเมื่อ 15 ธันวาคม 2013 21:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 ธันวาคม 2013 22:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

อีเรียม...ขอขอบคุณด้วยใจ.......ในมิตรภาพอันดีงาม... และน้ำใจที่มากล้น ...ปละ จะไปเลี้ยงฉลอง ที่โรงเรียนบ้านหนองผือ ....สั่งมาเล๊ย อีเรียมจะเป็นเจ้าภาพ

ขอบคุณบันทึกงดงามของมิตรภาพ และยินดีด้วยกับท่าน ผอ.อัญชัญนะคะ

ว่าแต่....ส้มตำจานนี้ขาปูรายรอบด๊องแด๊งเลยค่ะ ท่าทางเผ็ดจัด จัดเผ็ดเลยค่ะ บอกตรงรู้สึกหิวค่ะ

แต่เอาพริกกะขาปูตัวปูออกก่อนค่ะ ...

ยินดี และดีใจกับ ผอ.อัญชัญคนขยัน ผ่านบันทึกของ ผอ.คนเก่ง ด้วยนะจ้ะ

ยินดีกับ ผอ. อัญชัญด้วยค่ะ

ดิฉันเกิดความคิดขึ้นมาว่าการบริหารโรงเรียนไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนเล็กหรือใหญ่ ดังนั้นการบริหารจนประสบผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์จึงควรเผยแพร่โดยเฉพาะให้ผู้แก่ผู้ที่กำลังศึกษาทฤษฎีอยู่ในมหาวิทยาลัยได้ศึกษาการแปลงทฤษฎีสู่การปฏิบัติให้ได้ผล ถ้า ผอ.ชยันต์และ ผอ. อัญชัญ จะเขียนลงที่นี่เป็นซีรีย์ตามสไตล์ของตนเองที่อ่านง่าย ไม่แห้งแล้ง ชวนติดตาม นอกจากจะเผยแพร่ที่นี่แล้ว ดิฉันจะหาทางส่งต่อสู่กลุ่มเป้าหมายให้ถึงห้องเรียน ป.ตรี- ป.เอก และวารสารถ้าท่านเห็นสมควร

ขอบคุณทุกท่าน..ขอบคุณท่านดร.กัลยา ที่เคารพอย่างสูง เวที..โกทูโนว์..ช่วยเสริมประสบการณ์ และทำให้ความคิดแก่กล้าขึ้นทุกวัน อาจมีแนวคิดเชิง "บ่น"และ"ไร้สาระ"บ้าง เป็นเรื่องปกติของงานเขียนแบบปกิณกะ แต่เนื้อแท้อยากบอกเล่าเรื่องราวที่มีอยู่จริง "ยิ่งกว่าละคร" คิดกระทั่งว่าบางเรื่องราว อยากให้มวลมหาประชาชน คนทำงานการศึกษาช่วยกันคิดดังๆ ให้คนในกระทรวง และคนในมหาลัยให้รับรู้บ้าง ว่าคิดอย่าง ทำอย่าง ...เลิกกันเสียที เสียเงิน เสียเวลาและทำให้การศึกษาด้อยคุณภาพ ไปต่อไม่ได้...เมื่อวัตถุดิบมีความจำกัด..ลูกค้า(นักเรียน)ไม่มีคุณภาพ ทฤษฎีก็ไม่จำเป็นต้องใช้ทั้งหมด ในระดับรากหญ้า หัวจิตหัวใจและการปฏิบัติที่เข้าใจ เข้าถึงและพัฒนา..ต้องอยู่ในมันสมองของคน สพฐ.และสพป.ให้มากกว่านี้...ครับ ผมจะพยายามใช้แนวทางที่พอมีอยู่ เดินหน้าต่อไป..ไม่คาดหวังมากนัก แต่ถ้ามีใครสนใจ จะได้บูญและอาจใช้เป็นต้นทุนทำงานต่อไป ทั้งในส่วนของการเรียนรู้และการบริหารการประถมฯ ครับ ดร.


...... เด็กๆ เก่งจังค่ะ .... ท่านผอ.ชยันต์ และคณะครู ออกแบบ เก่งค่ะ

ขอแสดงความยินดีกับท่านผอ.ด้วยนะค้ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท