ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับหน่วยงานในกระทรวงการต่างประเทศของประเทศไทย


ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับหน่วยงานในกระทรวงการต่างประเทศของประเทศไทย

โดย นายธนภัทร ชาตินักรบ

 

บทความเพื่อการถอดบทเรียนวิชาน.๗๔๙ ปัญหากฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยการทูตและการกงสุล ตามหลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต สาขากฎหมายระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เขียนเมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๖ เวลา ๐๓.๑๐ น.

แก้ไขเพิ่มเติมเมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๗ เวลา ๒๐.๔๘ น.

http://www.gotoknow.org/posts/554846

https://www.facebook.com/notes/thanapat-chatinakrob/ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับหน่วยงานในกระทรวงการต่างประเทศของประเทศไทย/773951175963700

----------------------------------------------------------------------

 

--------------------------------------

๑. บทนำ

--------------------------------------

 

          เพื่อทำความเข้าใจให้ทราบถึงงานระหว่างประเทศในสายตาของภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย มีหน่วยงานที่ดำเนินการในทางระหว่างประเทศมากมาย ไม่เพียงแต่กระทรวงการต่างประเทศซึ่งมีกรม กองจำนวนมากแล้วนั้น ยังมีกระทรวงอื่นที่เกี่ยวข้องและดำเนินงานระหว่างประเทศด้วยเช่นกัน ผู้เขียนในฐานะผู้ศึกษารายวิชา น.๗๔๙ กฎหมายว่าด้วยการทูตและการกงสุล ในหลักสูตรการศึกษาระดับชั้นปริญญาโท สาขากฎหมายระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงขอนำเสนอข้อมูลเบื้องต้นในส่วนของงานระหว่างประเทศในสายตาของภาครัฐเฉพาะในส่วนของกระทรวงการต่างประเทศ (ในส่วนของภาครัฐอันประกอบด้วยกระทรวง กรม กองอื่นนอกเหนือจากกระทรวงต่างประเทศ ผู้อ่านสามารถศึกษาได้จากบทความของนางสาวนฤตรา ประเสริฐศิลป์ ผู้ร่วมศึกษาวิชานี้ร่วมกับผู้เขียน ในบทความเรื่อง “หน่วยงานของรัฐที่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการต่างประเทศ[๑]

--------------------------------------

๒. หน่วยงานภายในกระทรวงการต่างประเทศของประเทศไทย[๒]

--------------------------------------

 

๒.๑ สำนักงานรัฐมนตรี

          ตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงการต่างประเทศ พ.ศ.๒๕๔๕ ได้ให้อำนาจของสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงการต่างประเทศ ให้มีภารกิจเกี่ยวกับราชการทางการเมืองเพื่อสนับสนุนภารกิจของรัฐมนตรี ประสานนโยบายระหว่างกระทรวง โดยได้แบ่งส่วนของสำนักงานรัฐมนตรี ออกเป็น ๓ ส่วน กล่าวคือ

          (๑) งานบริหารทั่วไป มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับงานเลขานุการและงานการประชุมของรัฐมนตรี งานบริหารทั่วไป และช่วยอำนวยการของสำนักงานรัฐมนตรี ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย

          (๒) กลุ่มประสานการเมือง มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการประสานนโยบายระหว่างกระทรวงและประสานกับรัฐสภาตามที่รัฐมนตรีมอบหมาย การประชาสัมพันธ์ ชี้แจงทำความเข้าใจและให้ข้อมูลแก่สื่อมวลชน รับเรื่องราวร้องทุกข์ของประชาชน และงานรับข้อร้องเรียนหรือร้องขอความช่วยเหลือต่อรัฐมนตรี ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือได้รับมอบหมาย

          (๓) กลุ่มสนับสนุนวิชาการ มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการประสานงาน วิเคราะห์ กลั่นกรอง และให้ความเห็นแก่รัฐมนตรีเกี่ยวกับการปฏิบัติภารกิจของรัฐมนตรี ศึกษาและวิเคราะห์สถานการณ์ ติดตามความเคลื่อนไหวทางการเมือง และรายงานเพื่อการวินิจฉัยสั่งการของรัฐมนตรีปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย

 

๒.๒ สำนักงานปลัดกระทรวง

          ตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการต่างประเทศ พ.ศ.๒๕๕๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยฉบับที่ ๒ พ.ศ.๒๕๕๒ และฉบับที่ ๓ พ.ศ.๒๕๕๖ ได้ให้อำนาจสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการต่างประเทศ มีภารกิจเกี่ยวกับการพัฒนายุทธศาสตร์และแปลงนโยบายของกระทรวงเป็นแผนปฏิบัติ จัดสรรทรัพยากรและบริหารราชการประจำทั่วไปของกระทรวง เพื่อการบรรลุเป้าหมายและเกิดผลสัมฤทธิ์ตามภารกิจของกระทรวง

          โดยได้แบ่งส่วนของสำนักงานปลัดกระทรวง ออกเป็น ๑๑ ส่วน กล่าวคือ (๑) กองกลาง (๒) กองบรรณสารและห้องสมุด (๓) ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (๔) สถาบันการต่างประเทศเทวะวงศ์ วโรปการ (๕) สำนักจัดหาและบริการทรัพย์สิน (๖) สำนักนโยบายและแผน (๗) สำนักบริหารการคลัง (๘) สำนักบริหารบุคคล (๙) คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด (๙/๑) คณะผู้แทนถาวรไทยประจำอาเซียน ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด (๑๐) สถานเอกอัครราชทูต ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด และ (๑๑) สถานกงสุลใหญ่ ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

 

๒.๓ กรมพิธีการทูต

          ตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมพิธีการทูต กระทรวงการต่างประเทศ พ.ศ.๒๕๔๕ ได้ให้อำนาจกรมพิธีการทูต กระทรวงการต่างประเทศ มีภารกิจเกี่ยวกับพิธีการ ระเบียบแบบแผนและประเพณีปฏิบัติทางการทูต การให้การรับรองการเยือนของแขกสำคัญต่างประเทศในทุกระดับและการกำกับ ดูแลเอกสิทธิ์และความคุ้มกันทางการทูตเพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อคนไทยและประเทศไทย

          โดยได้แบ่งส่วนของกรมพิธีการทูต ออกเป็น ๔ ส่วน กล่าวคือ (๑) สำนักเลขานุการกรม (๒) กองแบบพิธี (๓) กองรับรอง และ (๔) กองเอกสิทธิ์และความคุ้มกันทางการทูต

 

๒.๔ กรมยุโรป

          ตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมยุโรป กระทรวงการต่างประเทศ พ.ศ.๒๕๔๕ ได้ให้อำนาจกรมยุโรป กระทรวงการต่างประเทศ มีภารกิจเกี่ยวกับการเสนอแนะนโยบายและดำเนินการเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทวิภาคีและพหุภาคีกับประเทศ กลุ่มประเทศในภูมิภาคยุโรป และองค์การระหว่างประเทศของภูมิภาคยุโรป โดยการวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ทุกด้านในภูมิภาคยุโรปเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือทวิภาคีและพหุภาคี และปกป้องรักษาผลประโยชน์แห่งชาติ

          โดยได้แบ่งส่วนของกรมยุโรป ออกเป็น ๔ ส่วน กล่าวคือ (๑) สำนักงานเลขานุการกรม (๒) กองยุโรป ๑ (๓) กองยุโรป ๒ และ (๔) กองยุโรป ๓

 

๒.๕ กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

          ตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ พ.ศ.๒๕๔๕ ได้ให้อำนาจกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ มีภารกิจเกี่ยวกับการเสนอแนะแนวทางในการกำหนดและดำเนินนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เพื่อส่งเสริมและรักษาผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจของประเทศและเป็นหน่วยประสานงานกลางของรัฐบาลในการดำเนินความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับรัฐบาลต่างประเทศและองค์การระหว่างประเทศ ในกรอบความร่วมมือระดับอนุภูมิภาค ภูมิภาค และพหุภาคี

          โดยได้แบ่งส่วนของกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ออกเป็น ๔ ส่วน กล่าวคือ (๑) สำนักงานเลขานุการกรม (๒) กองสนเทศเศรษฐกิจ (๓) กองนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และ (๔) กองส่งเสริมเศรษฐสัมพันธ์และความร่วมมือ

 

๒.๖ กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย

          ตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ พ.ศ.๒๕๔๕ ได้ให้อำนาจกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ มีภารกิจเกี่ยวกับปัญหากฎหมายระหว่างประเทศ กฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง สนธิสัญญา และเรื่องเขตแดนของประเทศ รวมทั้งประมวลศึกษา วิจัย ติดตาม วิเคราะห์แนวโน้มและพัฒนาการของกฎหมายระหว่างประเทศในกรอบขององค์การสหประชาชาติ และองค์การระหว่างประเทศ

          โดยได้แบ่งส่วนของกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ออกเป็น ๕ ส่วน กล่าวคือ (๑) สำนักงานเลขานุการกรม (๒) กองกฎหมาย (๓) กองเขตแดน (๔) กองพัฒนากฎหมายระหว่างประเทศ และ (๕) กองสนธิสัญญา

 

๒.๗ กรมสารนิเทศ

          ตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ พ.ศ.๒๕๔๕ ได้ให้อำนาจกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ มีภารกิจเกี่ยวกับงานสารนิเทศและการทูตเชิงวัฒนธรรม โดยการประชาสัมพันธ์ สร้างเครือข่ายกับสื่อมวลชนต่างประเทศและระหว่างสื่อมวลชนท้องถิ่นกับสื่อมวลชนต่างประเทศในไทย และส่งเสริมกิจกรรมทางวัฒนธรรมรวมทั้งแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรมกับนานาประเทศ เพื่อเผยแพร่ภาพพจน์ที่ดีของประเทศไทยและปกป้องรักษาผลประโยชน์ของชาติ ตลอดจนสร้างเสริมภาพลักษณ์ของประเทศในทุกๆด้าน

          โดยได้แบ่งส่วนของกรมสารนิเทศ ออกเป็น ๕ ส่วน กล่าวคือ (๑) สำนักงานเลขานุการกรม (๒) กองการสื่อมวลชน (๓) กองประมวลและวิเคราะห์ข่าว (๔) กองวัฒนธรรมสัมพันธ์ และ (๕) กองวิทยุกระจายเสียง

 

๒.๘ กรมองค์การระหว่างประเทศ

          ตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ พ.ศ.๒๕๔๕ ได้ให้อำนาจกรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ มีภารกิจเกี่ยวกับการดำเนินการให้ความร่วมมือกับประชาคมระหว่างประเทศ ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่จะมีผลกระทบต่อเสถียรภาพความมั่นคงในภูมิภาคและสังคมโลก โดยการมีบทบาทอย่างแข็งขันในเวทีระหว่างประเทศ รักษาพันธกรณีของไทยภายใต้กฎบัตรสหประชาชาติและสนธิสัญญาต่างๆ ที่ไทยเป็นภาคี เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของไทยในเวทีระหว่างประเทศ และหาแนวทางในการใช้ประโยชน์จากการเป็นภาคีสนธิสัญญาและอนุสัญญาให้เกิดประโยชน์สูงสุด

          โดยได้แบ่งส่วนของกรมองค์การระหว่างประเทศ ออกเป็น ๕ ส่วน กล่าวคือ (๑) สำนักงานเลขานุการกรม (๒) กองการสังคม (๓) กองกิจการเพื่อการพัฒนา (๔) กองงานบริหารองค์การระหว่างประเทศ และ (๕) กองสันติภาพ ความมั่นคงและการลดอาวุธ

 

๒.๙ กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้

          ตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ กระทรวงการต่างประเทศ พ.ศ.๒๕๔๕ ได้ให้อำนาจกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ กระทรวงการต่างประเทศ มีภารกิจเกี่ยวกับการเสนอแนะนโยบายและดำเนินการเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทวิภาคีและพหุภาคีกับประเทศกลุ่มประเทศในภูมิภาคอเมริกาและแปซิฟิกใต้ และองค์การระหว่างประเทศของภูมิภาคอเมริกาและแปซิฟิกใต้ โดยการวิเคราะห์ ประเมินสถานการณ์ทุกด้านในภูมิภาคอเมริกาและแปซิฟิกใต้ เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือทวิภาคีและพหุภาคี และปกป้อง รักษาผลประโยชน์แห่งชาติ

          โดยได้แบ่งส่วนของกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ กระทรวงการต่างประเทศ ออกเป็น ๔ ส่วน คือ (๑) สำนักงานเลขานุการกรม (๒) กองอเมริกาเหนือ (๓) กองลาตินอเมริกา และ (๔) กองแปซิฟิกใต้

 

๒.๑๐ กรมอาเซียน

          ตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ พ.ศ.๒๕๕๖ ได้ให้อำนาจกรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ มีภารกิจเกี่ยวกับการดำเนินงานและการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนในฐานะสำนักเลขาธิการอาเซียนแห่งชาติ เพื่อดำเนินงานความร่วมมือของอาเซียนให้สำเร็จและบรรลุผลตามมติที่ประชุมสุดยอดและเป้าหมายของการจัดตั้งอาเซียน ตลอดจนกฎบัตรอาเซียน และเสริมสร้างความเข้มแข็งและขีดความสามารถในการแข่งจันของอาเซียนในเวทีระหว่างประเทศ ตลอดจนเพิ่มอำนาจต่อรองของประเทศไทยในกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ

          โดยได้แบ่งส่วนของกรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ ออกเป็น ๖ ส่วน กล่าวคือ (๑) สำนักงานเลขานุการกรม (๒) กองยุทธศาสตร์และความร่วมมืออาเซียน (๓) กองการเมืองและความมั่นคง (๔) กองเศรษฐกิจ (๕) กองสังคมและวัฒนธรรม และ (๖) กองความสัมพันธ์กับคู่เจรจาและองค์การระหว่างประเทศ

 

๒.๑๑ กรมเอเชียตะวันออก

          ตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมเอเชียตะวันออก กระทรวงการต่างประเทศ พ.ศ.๒๕๔๕ ได้ให้อำนาจกรมเอเชียตะวันออก กระทรวงการต่างประเทศ มีภารกิจเกี่ยวกับการเสนอแนะนโยบายและยุทธศาสตร์ในการดำเนินความสัมพันธ์ทวิภาคีและพหุภาคีกับประเทศ กลุ่มประเทศและดินแดนอื่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออก และองค์การระหว่างประเทศของภูมิภาคเอเชียตะวันออก ยกเว้นสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยการวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ทุกด้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออก เพื่อสร้างเสริมความร่วมมือทวิภาคีและพหุภาคี และปกป้อง รักษาผลประโยชน์แห่งชาติ

          โดยได้แบ่งส่วนของกรมเอเชียตะวันออก กระทรวงการต่างประเทศ ออกเป็น ๕ ส่วน กล่าวคือ (๑) สำนักงานเลขานุการกรม (๒) กองเอเชียตะวันออก ๑ (๓) กองเอเชียตะวันออก ๒ (๔) กองเอเชียตะวันออก ๓ และ (๕) กองเอเชียตะวันออก ๔

 

๒.๑๒ กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา

          ตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา กระทรวงการต่างประเทศ พ.ศ.๒๕๔๕ ได้ให้อำนาจกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา มีภารกิจเกี่ยวกับการเสนอแนะนโยบายและดำเนินความสัมพันธ์ทวิภาคีและพหุภาคีกับประเทศ กลุ่มประเทศขบวนการทางการเมืองในภูมิภาคเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา โดยการวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ทุกด้านในภูมิภาคเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือทวิภาคีและพหุภาคี และปกป้อง รักษาผลประโยชน์แห่งชาติ

          โดยได้แบ่งส่วนของกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา กระทรวงการต่างประเทศ ออกเป็น ๔ ส่วน กล่าวคือ (๑) สำนักงานเลขานุการกรม (๒) กองเอเชียใต้ (๓) กองตะวันออกกลาง และ (๔) กองแอฟริกา

 

๒.๑๓ กรมการกงสุล

          ตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ พ.ศ.๒๕๔๕ ได้ให้อำนาจกรมการกงสุล มีภารกิจเกี่ยวกับการดำเนินการด้านการกงสุล โดยการเสนอความเห็นเกี่ยวกับนโยบายและแผนงานด้านการกงสุล กำหนดระเบียบด้านการกงสุลประสาน สนับสนุนการทำงานของสถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุลใหญ่ และสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ของไทยในต่างประเทศ เพื่อปกป้อง คุ้มครอง ดูแลและช่วยเหลือคนไทยและผลประโยชน์ของคนไทยในต่างประเทศให้ทั่วถึง

          โดยได้แบ่งส่วนของกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ออกเป็น ๕ ส่วน กล่าวคือ (๑) สำนักงานเลขานุการกรม (๒) กรมคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ (๓) กองตรวจลงตราและเอกสารเดินทางคนต่างด้าว (๔) กองสัญชาติและนิติกรณ์ และ (๕) กองหนังสือเดินทาง

 

๒.๑๔ สำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ

          ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ พ.ศ.๒๕๔๗ ได้ให้อำนาจสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (โดยยุบกรมวิเทศสหการ กระทรวงการต่างประเทศ) มีภาระหน้าที่ในการปฏิบัติราชการที่เกี่ยวกับการบริหารความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม วิชาการ ตลอดจนการส่งเสริมการวิจัย การเผยแพร่ และการฝึกอบรม โดยร่วมมือกับต่างประเทศหรืองค์กรต่างประเทศเพื่อให้เกิดการพัฒนาทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ

 

--------------------------------------

๓. สรุป

--------------------------------------

 

          โดยที่กรม กอง และสำนักงานต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น เป็นหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงการต่างประเทศ มีหน้าที่โดยตรงในงานระหว่างประเทศในสายตาของภาครัฐ เพื่อให้ผู้อ่านได้ทราบถึงข้อเท็จจริงพื้นฐานของอำนาจหน้าที่ และโครงสร้างของกรม กอง และสำนักงานต่างๆในเบื้องต้นเท่านั้น หากผู้อ่านประสงค์จะศึกษาถึงข้อมูลในเชิงลึกของแต่ละหน่วยงาน ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ www.mfa.go.th เพื่อความทันสมัยของข้อมูลและความละเอียดที่มากขึ้น หากมีข้อผิดพลาดในเนื้อหาส่วนใด ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยครับ

          ขอบคุณข้อมูลจากกระทรวงการต่างประเทศ

 

[๑] นฤตรา ประเสริฐศิลป์, หน่วยงานของรัฐที่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการต่างประเทศ, สืบค้นเมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๖, จากhttps://www.facebook.com/notes/natchez-creamfudge/หน่วยงานของรัฐที่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการต่างประเทศ/10152043679622660.

[๒] กระทรวงการต่างประเทศ, หน่วยงานภายในกระทรวงการต่างประเทศของประเทศไทย, สืบค้นเมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๖, จาก http://www.mfa.go.th/main/th/organize/107.  

 

หมายเลขบันทึก: 554846เขียนเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2013 03:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มีนาคม 2014 23:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท