ปริญญาเถื่อน ปริญญาเอกด้อยคุณภาพกับวิกฤติการศึกษาในประเทศไทย (ตอนที่ 1)


    ในยุคที่สังคมและเศรษฐกิจขับเคลื่อนด้วยองค์ความรู้ ผู้คนกระตือรือร้นในการหาความรู้ให้กับตนเองอย่างเช่นในปัจจุบันนี้ ดูเหมือนว่าจะทำให้คนในสังคมจำนวนไม่น้อยต่างคิดว่าความรู้แค่ปริญญาตรีคงไม่เพียงพอสำหรับการทำงานให้เติบโตและก้าวหน้าได้ ทำให้การศึกษาหลังปริญญาตรีหรือที่เรียกกันว่าระดับบัณฑิตศึกษาซึ่งส่วนใหญ่คือปริญญาโทและปริญญาเอก มีการขยายตัวเป็นอย่างมาก สถาบันการศึกษาต่างๆ พากันเปิดสอนหลักสูตรปริญญาโทและเอกเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้เรียนมากมาย ทั้งนี้แรงจูงใจหนึ่งที่ทำให้คนต้องการเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นนั้นจะมีเรื่องของแรงจูงใจทางสังคมคือความต้องการมีเกียรติ ชื่อเสียง และเป็นที่ยอมรับ กับแรงจูงใจทางหน้าที่การงานคือต้องการนำความรู้มาพัฒนาตนเอง และยังได้วุฒิการศึกษาเพื่อนำไปอัพเงินเดือนรวมถึงความก้าวหน้าของตำแหน่งในหน้าที่การงาน

    ย้อนกลับไปเมื่อ 10-15 ปีก่อน ปริญญาโทโดยเฉพาะหลักสูตรทางด้านบริหารธุรกิจ (Business administration) หลักสูตรที่เกี่ยวข้องทางด้านการศึกษา (Education) และหลักสูตรทางด้านรัฐศาสตร์ (Political science หรือ Public administration) สาขาต่างๆนั้น ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก มีผู้สมัครเข้าเรียนกันอย่างล้นหลาม แต่สถาบันที่เปิดสอนหลักสูตรดังกล่าวในขณะนั้นยังมีน้อย บางหลักสูตรทางบริหารธุรกิจ เช่น Master of Business Administration หรือ MBA นั้น เมื่อ 20 กว่าปีก่อนมีเพียงแค่ จุฬาฯ ธรรมศาสตร์และสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เท่านั้นที่เปิดสอนทางด้านนี้ ซึ่งไม่สามารถรองรับความต้องการของผู้เรียนได้ทั้งหมด บางแห่งเปิดสอนเพียงแค่หลักสูตรปกติหรือหลักสูตรที่สอนในเวลาราชการ จึงยังไม่ตอบสนองต่อผู้ที่ต้องการเรียนในขณะนั้นซึ่งส่วนมากมักเป็นวัยทำงานที่ไม่ต้องการลาออกจากการทำงานเพื่อมาเรียนเพียงอย่างเดียว ดังนั้นสถาบันต่างๆจึงมีการเปิดหลักสูตรพิเศษคือหลักสูตรที่มีการเรียนการสอนนอกเวลาราชการ เช่น มีการเรียนการสอนในช่วงเวลาเย็นของวันธรรมดา ที่คนทำงานเลิกงานเพื่อมาเรียนได้ หรือช่วงเวลาเสาร์-อาทิตย์ เพื่อให้คนที่ต้องการทำงานสามารถทำงานควบคู่ไปกับการเรียนได้ ถึงกระนั้น หลักสูตรที่มีในขณะนั้นก็ยังไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ที่ต้องการเรียน ซึ่งมีจำนวนมากเกินกว่าที่สถาบันที่มีอยู่จะรับไหว เนื่องจากหากรับนักศึกษามากไป จะมีผลกระทบต่อคุณภาพของการเรียนการสอน อีกทั้งบางแห่งมีการคัดเลือกผู้เรียน ทำให้มีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่ผ่านเงื่อนไขในการรับเข้าเรียนของหลักสูตร ในขณะเดียวกันก็มีผู้ที่ต้องการเรียนจำนวนไม่น้อยไม่อยากสอบเข้าเรียน เพราะไม่มีเวลาในการเตรียมตัวสอบ หรือเห็นว่ามีความยุ่งยากในการคัดเลือกเข้าเรียน จึงทำให้มีผู้ที่ต้องการเรียนต่อแต่ไม่มีที่เรียนเป็นจำนวนมาก ทำให้บางสถาบันมองเห็นช่องว่างและโอกาสในการเปิดหลักสูตรเพื่อรองรับคนเหล่านี้

    ในช่วงหนึ่งถึงสองทศวรรษที่ผ่านมา จึงมีสถาบันการศึกษาเป็นจำนวนมากที่เปิดหลักสูตรปริญญาโท โดยเฉพาะหลักสูตรสายสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ หลักสูตรที่มีผู้ต้องการเรียนเป็นจำนวนมากอย่างหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต หรือ Master of Business Administration หรือที่เรียกติดปากกันว่า MBA กลายเป็นหลักสูตรที่แทบทุกสถาบันต้องเปิดสอน และถือเป็นหลักสูตรที่สร้างรายได้ให้แก่แต่ละสถาบันได้ดีกว่าหลักสูตรอื่นๆเนื่องจากกำลังเป็นที่นิยม บางสถาบันที่มีที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ๆมีสถาบันหลายแห่งเปิดหลักสูตร โดยเฉพาะในกรุงเทพที่เรียกได้ว่ามหาวิทยาลัยแทบทุกแห่งพากันทยอยเปิดหลักสูตรกันอย่างมากมาย ทำให้บางแห่งจำนวนผู้เรียนมีไม่มากพอที่จะคุ้มกับการเปิดสอน ก็ปรับตัวด้วยการออกไปเปิดสอนนอกที่ตั้ง ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักออกไปตั้งอยู่ตามจังหวัดใหญ่ๆ หรือไปเปิดการเรียนการสอนบริเวณที่มีคนไปใช้ชีวิตทำงานเป็นจำนวนมาก เช่น นิคมอุตสาหกรรม บางแห่งเป็นต้น นอกจากนี้ยังมีสถาบันบางแห่งที่มีที่ตั้งไม่เหมาะสม เพราะอยู่ไกล ทำให้ผู้เรียนไปเดินทางลำบาก หรืออยู่ในเขตที่มีจำนวนประชากรน้อย จึงมีผู้ต้องการเรียนน้อยเกินไป สถาบันเหล่านี้จึงต้องปรับตัวด้วยการไปตั้งสถานที่เรียนใกล้กับเขตเศรษฐกิจหรือเขตที่มีอาคารสำนักงานหนาแน่น เดินทางสะดวกเพื่อเป็นแรงดึงดูดให้ผู้เรียนที่ไม่ต้องการเสียเวลาในการเดินทางไปเรียนได้ตัดสินใจเลือก ไม่เว้นแม้กระทั่งมหาวิทยาลัยต่างจังหวัดหลายแห่งก็ขยายเข้ามาเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนในเขตกรุงเทพ หรือ ใกล้ๆกับกรุงเทพ นอกจากเรื่องของที่ตั้งแล้วบางหลักสูตรยังดึงดูดผู้เรียนด้วยการลดเงื่อนไขในการเข้าเรียน โดยอาจเหลือเพียงแค่การสอบสัมภาษณ์เพื่อเข้าเรียนเท่านั้นซึ่งก็มักจะรับเข้าเรียนแทบทั้งหมด ดังนั้นคนที่ไม่ชอบความยุ่งยากในการสอบเข้าเรียนจึงนิยมมาเรียนหลักสูตรเหล่านี้

    การศึกษาในปัจจุบันจึงกลายเป็นธุรกิจไปโดยปริยาย เพราะมีอุปสงค์ (Demand) จากคนที่แสวงหาปริญญาและความรู้ ในขณะที่มีหลักสูตรและสถานที่เปิดสอนไม่เพียงพอ ทางสถาบันการศึกษาจึงมองเห็นโอกาส (Opportunity) ในการสร้างหลักสูตรมาตอบสนองความต้องการ (Supply) เมื่อมีหลายสถาบันเปิดหลักสูตรที่ซ้ำๆคล้ายๆกันมากขึ้น ย่อมมีคู่แข่ง (Competitor) เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก แต่ละสถาบันจึงต้องงัดกลยุทธ์นำหลักส่วนประสมทางการตลาดกับการสร้างแบรนด์มาใช้ในการทำหลักสูตร กล่าวคือ ชื่อเสียงสถาบันเป็นเหมือนตรายี่ห้อ (Brand) หลักสูตรเปรียบเหมือนสินค้า (Product) ค่าเทอมของหลักสูตรคือราคา (Price) มีสถานที่เรียนที่ตั้งตามที่ต่างๆเปรียบเหมือนสถานที่แลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้า (Place) ซึ่งก็คือปริญญา (Degree) และความรู้ (Knowledge) รวมทั้งยังมีโปรโมชั่น (Promotion) ต่างๆมาล่อใจผู้เรียน เช่น

- ไม่มีการสอบเข้า พิจารณาจากประสบการณ์และการสัมภาษณ์

- การศึกษาดูงานซึ่งมีทั้งในประเทศและต่างประเทศ

- อาจารย์พิเศษที่มาจากหลักสูตรเดียวกับมหาวิทยาลัยที่ดังๆ หรือ บุคคลที่มีชื่อเสียงประสบความสำเร็จเป็นที่ยอมรับ

- เลือกได้ทั้งการทำวิทยานิพนธ์ (Thesis) หรือเอกัตถศึกษา (Independent Study)

- เป็นหลักสูตรที่กระชับ จบได้เร็วกว่าหลักสูตรของที่อื่น - ค่าเทอมถูกกว่า ผ่อนจ่ายเป็นงวดได้

- มีเวลาให้เลือกเรียนได้หลากหลาย - มีหลักสูตรที่สอนเป็นภาษาอังกฤษหรือหลักสูตรนานาชาติ

- มีสาขาแยกย่อยให้เลือกเรียน เช่น หลักสูตร MBA สาขา การเป็นผู้ประกอบการ การตลาด การจัดการ การเงิน การบริหาร ฯ

- มีสถานที่เรียนที่สามารถเดนทางไปเรียนได้สะดวก เป็นต้น

    นอกจากนี้ยังมีการประชาสัมพันธ์หลักสูตรผ่านสื่อต่างๆ และมีการนำเอาศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียงที่จบจากหลักสูตร หรือการเอาศิษย์ปัจจุบันที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก เช่น ศิลปินดารา นักการเมือง นักธุรกิจ เซเลบริตี้ นักกีฬา มาช่วยในการประชาสัมพันธ์เพื่อเป็นจุดขาย

    ผ่านไปเกือบสองทศวรรษ มีจำนวนมหาบัณฑิตโดยเฉพาะสายสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์จบออกมามากมายหลายแสนคน เรียกได้ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมานี้ประเทศไทยผลิตมหาบัณฑิตออกมาค่อนข้างเฟ้อ คนในวัยทำงานส่วนมากที่อายุระหว่าง 25 – 50 ในปัจจุบันของแทบทุกองค์กรมักพ่วงดีกรีปริญญาโทสาขาต่างๆ หากเป็นองค์กรเอกชน สาขาที่คนของแต่ละองค์กรจบมามากที่สุดคงหนีไม่พ้น MBA ส่วนหน่วยงานราชการหรือองค์กรของรัฐก็มักเป็น MPA หรือรัฐประศาสนศาสตร์ และแน่นอนหากเป็นสายครูหรือสายการศึกษาก็ต้องเป็นบริหารการศึกษา (Education administration)

    หากมองที่แรงจูงใจของคนที่อยากศึกษาต่อ โดยเฉพาะแรงจูงใจในด้านการอยากมีเกียรติ มีชื่อเสียง การได้รับการยอมรับยกย่องจากสังคม และต้องการความก้าวหน้าในอาชีพการงานแล้วนับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมากในยุคที่คนจบปริญญาโทเดินชนกันให้เกลื่อนในสังคมปัจจุบัน เพราะนั่นเท่ากับว่าคนที่ต้องการเรียนจบโทมาด้วยแรงจูงใจดังกล่าวนั้นแทบจะหมดความรู้สึกภูมิใจกับเกียรติดังกล่าว เมื่อก่อนคนที่จบปริญญาโทอาจได้รับการยอมรับนับถือจากคนรอบข้างและสังคมทั่วไปเนื่องจากถือว่าการจะเรียนต่อจนกระทั่งจบโทไม่ใช้เรื่องง่าย ต้องทุ่มเทเวลาในการศึกษาและต้องมีเงิน แต่ในปัจจุบันเมื่อมีมหาบัณฑิตออกมาเดินชนกันมากมาย จนทำให้ปริญญาโทกลายเป็นสิ่งธรรมดาที่ใครๆต่างก็เรียนกัน ทั้งนี้พอพบว่าใครๆก็จบโทเหมือนๆกับตัวเอง จึงรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้ดีเด่นหรือมีอะไรที่แตกต่างจากคนจบโททั่วๆไป เหมือนกับที่คนจำนวนไม่น้อยที่เลือกจะเรียนต่อปริญญาโทด้วยแรงจูงใจที่ว่าหากจบโทย่อมมีเครดิตดีกว่าคนเรียนจบแค่ปริญญาตรี เพราะในสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยองค์ความรู้ ซึ่งคนเป็นจำนวนมากจบปริญญาตรีแทบทั้งสิ้น คนจำนวนไม่น้อยที่คิดว่าคนที่เรียนจบมาในระดับการศึกษาที่สูงกว่าย่อมดูดีกว่าคนที่จบในระดับการศึกษาที่ต่ำกว่า นั่นก็เลยโยงไปอีกด้วยว่าคนที่จบสูงกว่าย่อมเป็นที่ยอมรับ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรีมากกว่าคนที่จบการศึกษาในระดับต่ำ คืออยากมีอะไรที่ทำให้ตัวเองดูเด่นหรือแตกต่างจากคนอื่นในสังคมใกล้ตัวต้องการเป็นที่ยอมรับยกย่องจากคนในสังคมใกล้ตัวไปจนถึงสังคมที่ไกลตัว ดังนั้นเมื่อคนในสังคมใกล้ตัวต่างก็พากันจบโท จึงคิดว่าตัวเองไม่ได้แตกต่างจากคนเหล่านี้อีกต่อไป การมีดีกรีปริญญาโทพ่วงท้ายกลายเป็นเรื่องธรรมดาปกติ จึงต้องสร้างความแตกต่างให้กับตัวเองด้วยการเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นกว่าเดิมหรือไม่ก็เรียนให้ได้ปริญญาเพิ่มอีกใบไม่ว่าจะเป็นปริญญาตรี โทหรือเอกอีกใบก็ตาม

    คนจำนวนไม่น้อยที่จบปริญญาโทมาแล้วจึงต้องการเรียนต่อในระดับปริญญาเอกด้วยแรงจูงใจที่ไม่ต่างจากตอนแรกคือต้องการการยอมรับจากสังคม การมีเกียรติ มีชื่อเสียง รวมทั้งความก้าวหน้าในอาชีพการงาน สิ่งหนึ่งที่เป็นอุปสรรคในการเรียนต่อระดับปริญญาเอกเมื่อก่อนคือสถาบันที่เปิดสอนปริญญาเอกยังมีน้อย เนื่องจากขาดแคลนอาจารย์ที่มีคุณวุฒิตามข้อกำหนดของการเปิดหลักสูตรและแทบทั้งหมดเปิดสอนเพียงแค่ในเวลาราชการ บางหลักสูตรที่มีคนต้องการเรียนเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดการแข่งขันสูงและเงื่อนไขในการรับผู้เข้าเรียนยังเป็นสิ่งสำคัญ เพราะการคัดเลือกผู้เรียนเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกนั้นมีเงื่อนไขที่สูงกกว่าปริญญาโท เนื่องจากผู้เรียนจะต้องใช้ความขยันอดทนและความพยายามสูงกว่าการเรียนในระดับปริญญาโทและใช้ระยะเวลาในการเรียนและการทำวิจัยที่นานกว่า อีกทั้งยังต้องการทักษะในด้านอื่นๆที่สูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของภาษาอังกฤษ เนื่องจากผู้เรียนจะต้องค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมจากเอกสารต่างประเทศเพื่อนำมาใช้ในการทำวิจัยเพื่อเขียนวิทยานิพนธ์

    อุปสรรคเหล่านี้กลายเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ที่ต้องการเรียนต่อในระดับปริญญาเอกหลายคนไม่มีที่เรียนต่อเนื่องจากขาดคุณสมบัติบางประการ จึงเป็นโอกาสของบางสถาบันในการเปิดหลักสูตรมาตอบสนองความต้องการของคนกลุ่มนี้ และเป็นโอกาสที่แสนงามในการสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้กับสถาบันและผู้สอน เนื่องจากค่าธรรมเนียมในระดับปริญญาเอกนั้นค่อนข้างสูงมาก

    ธุรกิจการศึกษาจึงลามมาถึงในระดับปริญญาเอกกล่าวคือมีสถาบันหลายแห่งเปิดหลักสูตรระดับปริญญาเอกโดยที่ใช้หลักธุรกิจการตลาดมาใช้ไม่แตกต่างจากการเปิดสอนปริญญาโท เริ่มตั้งแต่ การเปิดหลักสูตรที่มีทั้งในเวลาราชการและนอกเวลาราชการ ส่วนเงื่อนไขในการรับสมัครก็ลดลงเหลือเพียงแค่การดูจากประสบการณ์และสอบสัมภาษณ์เท่านั้น ค่าเทอมเป็นแบบเหมาจ่าย และสามารถแบ่งจ่ายเป็นงวดๆ เชิญอาจารย์จากสถาบันที่มีชื่อเสียงหรือเคยสอนในสถาบันที่มีชื่อเสียงแต่อาจจะเกษียณหรือเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงประสบความสำเร็จเป็นที่ยองรับทั่วไปในสังคมมาเป็นอาจารย์พิเศษให้กับหลักสูตร ส่วนภาษาอังกฤษนั้นหากผู้สมัครยังไม่ได้สอบหรือสอบแล้วแต่ยังไม่ผ่านเกณฑ์การรับเข้าเรียน ทางหลักสูตรก็ยังสามารถรับเข้าเรียนก่อนได้ แต่จะจัดให้มีการเรียนการสอนเพิ่มเติมในภายหลัง การสอบวัดด้านอื่น เช่น ระเบียบวิธีวิจัยและสถิติต่างๆ หลายหลักสูตรแทบไม่ได้นำมาใช้คัดเลือกผู้สมัคร นอกจากนี้ปริญญาเอกบางหลักสูตรยังเปิดรับผู้ที่จบโทสาขาใดก็ได้ ไม่จำเป็นต้องจบโทที่เป็นสาขาที่ตรงหรือใกล้เคียงกับสาขาที่จะเรียนในปริญญาเอก ทั้งนี้เพราะวัตถุประสงค์คือต้องการรับผู้เรียนให้ได้มากที่สุดเพื่อให้คุ้มค่ากับการเปิดหลักสูตรและการสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้กับสถาบันและผู้สอน

    ข้อเสียที่เกิดขึ้นคือ ผู้เรียนมีพื้นฐานไม่เพียงพอที่จะใช้คิดวิเคราะห์และการสังเคราะห์ในการเรียนละการทำวิจัย ไม่สามารถทบทวนความรู้จากเอกสารต่างประเทศที่เผยแพร่เป็นภาษาอังกฤษได้อย่างดีพอ จึงมีผลโดยตรงต่อคุณภาพของผู้เรียนและผลงานวิทยานิพนธ์ นอกจากนี้บางหลักสูตรที่รับผู้เรียนจำนวนมาก ปริมาณนักศึกษาต่ออาจารย์ที่ปรึกษาสูงเกินไป อาจารย์ที่ปรึกษาแต่ละคนต้องดูแลให้คำปรึกษาในการเรียนและการทำวิจัยให้แก่นักศึกษาจำนวนมาก ทำให้ดูแลได้ไม่ทั่วถึงและมีเวลาดูแลไม่เพียงพอ เป็นผลให้นักศึกษาบางคนต้องเสียเวลาในการเรียนและการทำวิจัยค่อนข้างนานกว่าจะจบ หรือไม่ก็ขาดความเข้มข้นในเนื้อหาสาระของการเรียนและการทำวิจัย งานวิจัยในระดับปริญญาเอกส่วนใหญ่ของบางหลักสูตร จึงแทบไม่มีความแตกต่างไปจากการทำวิทยานิพนธ์หรือเอกัตถศึกษาในระดับปริญญาโท หัวข้อวิจัย ระเบียบวิธีวิจัยและหลักสถิติที่ใช้ก็แทบไม่แตกต่างจากที่เคยทำในระดับปริญญาโท บางคนเพียงแค่เปลี่ยนกลุ่มตัวอย่างหรือเพิ่มขนาดกลุ่มตัวอย่างให้มากขึ้น หรือศึกษาในแง่มุมใหม่โดยใช้กลุ่มตัวอย่างเดิม ทำให้ผู้ที่จบมาในปริญญาเอกจากหลักสูตรเหล่านี้ไม่สามารถสร้างงานวิจัยที่มีคุณภาพสูงและผลกระทบ (Impact) ต่อวงการวิชาการหรือสร้างองค์ความรู้ใหม่ได้ ไม่เพียงเท่านั้นผู้ที่จบมาจากหลักสูตรดังกล่าวยังมีทักษะภาษาอังกฤษที่ไม่ดีพออีกด้วย ดังนั้นจึงไม่สามารถสร้างผลงานวิจัยหรืองานวิชาการที่สามารถนำเสนอหรือมีคุณภาพในระดับนานาชาติได้ กลายเป็นจุดด้อยของคนที่จบปริญญาเอกเหล่านี้

    นอกจากนี้เงื่อนไขในการจบปริญญาเอกของแต่ละแห่งที่กำหนดไว้เหมือนกันคือต้องมีการนำเสนอผลงานวิจัยที่เป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ในการประชุมวิชาการแบบ Conference หรือ Proceeding หรือเผยแพร่ในวารสารวิชาการ ซึ่งการประชุมวิชาการส่วนใหญ่กลายเป็นที่ปล่อยของสำหรับผู้ที่เรียนปริญญาเอกหลักสูตรเหล่านี้ เพื่อให้ได้ชื่อว่าผลงานวิจัยได้เผยแพร่หรือนำเสนอตามเกณฑ์ของหลักสูตรแล้ว ส่วนวารสารที่ผู้เรียนปริญญาเอกเผยแพร่ผลงานวิจัยก็อาจจะเป็นวารสารของทางสถาบันเอง หรือวารสารของสถาบันอื่นๆที่ขาดความเข้มงวดในการคัดกรองผลงานในการเผยแพร่ บางวารสารก็แค่เชิญให้มีจำนวนผู้ตรวจทานชิ้นงาน (Peer review) ตามเกณฑ์ที่กำหนดของวารสารที่มีคุณภาพเท่านั้น แต่ไม่ได้จัดให้มีการตรวจทานผลงานที่จะลงเผยแพร่อย่างดีพอ อีกทั้งบางวารสารนั้นแทบไม่มีใครส่งผลงานมาลงตีพิมพ์ หรือจำนวนผลงานที่จะตีพิมพ์ในแต่ละฉบับมีไม่เพียงพอ จึงต้องยอมให้ผลงานด้อยคุณภาพลงเผยแพร่ได้ จึงมักพบว่า ผลงานที่เผยแพร่ในวารสารเหล่านี้จึงมักเป็นผลงานของคนที่เรียนหลักสูตรปริญญาเอกที่ด้อยคุณภาพ (หรือผู้ที่เรียนปริญญาโทรวมทั้งผลงานวิชาการของนักวิชาการที่ด้อยคุณภาพ) แต่ต้องมีงานเผยแพร่ตามข้อกำหนดของหลักสูตร จึงแทบจะเรียกได้ว่าผู้ที่เรียนจบจากหลักสูตรปริญญาเอกที่มีลักษณะกล่าวมาข้างต้นนั้นคุณภาพแทบไม่ได้แตกต่างจากคนจบปริญญาโท คือเรียนปริญญาเอกแต่การทำวิจัยและการเรียนเหมือนปริญญาโท

    ที่น่าเสียดายคือคนที่จบมาจากหลักสูตรเหล่านี้ส่วนใหญ่มักไม่ได้รับการยอมรับจากหน่วยงานหรือองค์กรที่ต้องการคัดคนที่มีคุณภาพเข้าทำงาน หรือมีกระบวนการคัดเลือกคนเข้าทำงานที่มีเงื่อนไขสูง ที่แย่ไปกว่านั้นหลักสูตรของบางแห่งนั้นยังไม่ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และทางสำนักงานข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ก็ไม่รับรองคุณวุฒิให้ ทำให้ผู้ที่จบจากหลักสูตรดังกล่าวไม่สามารถนำวุฒิปริญญาเอกไม่สมัครงานหรือยื่นขอปรับเงินเดือนได้ นอกจากนี้การที่จะไปสมัครเป็นอาจารย์สอนตามสถาบันการศึกษาบางแห่งก็อาจไม่ผ่านเงื่อนไขหรือไม่ได้รับการยอมรับจากสถาบันการศึกษาที่เปิดรับสมัครอาจารย์ แต่ถึงกระนั้นบางคนอาจไม่ได้สนใจหรือใส่ใจกับประเด็นเหล่านั้น เพราะวัตถุประสงค์คือขอแค่ให้ได้คำว่า ด๊อกเตอร์ (ดร.) นำหน้าก็พอ ด๊อกเตอร์ส่วนใหญ่ที่จบมาจากหลักสูตรปริญญาเอกที่ด้อยคุณภาพจึงมักไม่ได้บอกหรือระบุสถาบันที่จบมา เพราะจะทำให้เกียรติหรือศักดิ์ศรีนั้นด้อยลงไป ที่ผ่านมาจึงมีคนจำนวนไม่น้อยที่มักพูดว่าจบปริญญาเอก เมื่อได้เป็น ด๊อกเตอร์แล้ว ไม่ค่อยมีใครมานั่งถามหรอกว่าจบจากที่ไหน มามีจำนวนไม่น้อยที่ใช้คำนำหน้าตัวเองว่า ด๊อกเตอร์ แต่ไม่สามารถค้นหาข้อมูลสถาบันที่จบได้ แต่คนเหล่ากลับนำคำว่า ด๊อกเตอร์ เพื่อสร้างความโดดเต่น แตกต่างให้ตนเองเป็นที่ยอมรับและดูมีคุณค่า ถึงแม้ว่าลึกๆแล้วตนเองนั้นรู้อยู่เต็มอกว่าปริญญาเอกที่ตนร่ำเรียนมาเพื่อให้ได้คำว่า ด๊อกเตอร์ นั้น คุณภาพมากแค่ไหน

 

คำสำคัญ (Tags):
หมายเลขบันทึก: 554612เขียนเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2013 15:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มกราคม 2014 21:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

บทความนี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาหลายๆอย่างที่เกิดขึ้นในยุคปัจจุบันของสังคมไทยริงๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท