4 กรณีศึกษา-4 ข้อเท็จจริงกับสิทธิที่จะได้รับการจดทะเบียนการเกิด


หนึ่งใน 26 กรณีศึกษาเพื่อการทำความเข้าใจสถานการ์ณ์ปัญหาการเข้าถึงและใช้สิทธิในสถานะบุคคลของประชาชนอาเซียนที่มีจุดเกาะเกี่ยวกับรัฐไทย


สถานการณ์ปัญหาการเข้าถึงและใช้สิทธิในสถานะบุคคลกลุ่มสิทธิขั้นพื้นฐาน (ภายใต้หัวข้อที่ 3.2.1 ของ วิทยานิพนธ์ "แนวคิดทางกฎหมายในการพิสูจน์และพัฒนาสิทธิในสถานะบุคคล)

(1) สิทธิที่จะได้รับการรับรองความเป็นบุคคลตามกฎหมาย
อันประกอบไปด้วยสิทธิที่จะได้รับการจดทะเบียนการเกิด สิทธิที่จะได้รับการบันทึกชื่อและรายการตัวบุคคลในทะเบียนราษฎรหรือทะเบียนประวัติ รวมถึงในทะเบียนคนตาย (มรณบัตร)

 

กรณีศึกษาที่ 1 นางสาวแสงชฎา[1]
บุตรบิดาสัญชาติไทย มารดาแรงงานสัญชาติพม่าเกิดที่โรงพยาบาลแม่สอด มีปัญหาในขั้นตอนจดทะเบียนการเกิด(สูติบัตร)

แสงชฎาเป็นลูกของพ่อผู้มีสัญชาติไทย กับแม่ซึ่งเป็นแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่าซึ่งอยู่ระหว่างกระบวนการพิสูจน์สัญชาติกับประเทศพม่าซึ่งเป็นประเทศต้นทาง แสงชฎาเกิดที่โรงพยาบาลแม่สอดในปีพ.ศ.2540 มีเอกสารรับรองการเกิด (ท.ร.1/1) ซึ่งออกโดยโรงพยาบาลแม่สอด แต่พ่อแม่ไม่ได้แจ้งเกิดแสงชฎา

ในปีพ.ศ. 2555 หรืออีก15 ปีต่อมา พ่อแม่และแสงเห็นความสำคัญของสูติบัตร จึงมาดำเนินการแจ้งการเกิดกับเทศบาลนครแม่สอด เจ้าหน้าที่แจ้งให้ผู้ร้องไปดำเนินการตรวจดีเอ็นเอเพื่อพิสูจน์ความสัมพันธ์ในฐานะพ่อ-แม่-ลูก อย่างไรก็ดี เมื่อมีผลดีเอ็นเอแล้ว เจ้าหน้าที่ยังกำหนดต่อไปว่าให้ผู้ร้องนำ “พยานบุคคลที่เป็นคนสัญชาติไทยและเป็นข้าราชการมายืนยันอีก 2 คน”

และกำหนดวันนัดหมายเพื่อสอบพยานบุคคลทั้งสองคนในเดือนพฤษภาคม 2556 หรืออีก 10 เดือนข้างหน้า

-----------------------------------

กรณีศึกษาที่ 2 เด็กชายซันเมี๊ยะไมทา[2]
บุตรบิดาสัญชาติไทย มารดาเป็นผู้หนีภัยความตายจากประเทศพม่า อาศัยอยู่ในพื้นที่พักพิงชั่วคราวบ้านนุโพ มีปัญหาในขั้นตอนจดทะเบียนการเกิด(สูติบัตร)

ชื่อ ด.ช.ซันเมี๊ยไมทา ไม่ปรากฎชื่อสกุล เกิดเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน ที่ศูนย์พักพิงชั่วคราวบ้านนุโพ ต.แม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก บิดาชื่อ นาย ไนท์ คีรีบุปผา เป็นผู้มีสัญชาติไทย มีเลขประจำตัวสิบสามหลักขึ้นต้นด้วยเลข 5 มารดาชื่อนางซันดา (SAN DA) ไม่ปรากฎชื่อสกุล เป็นผู้หนีภัยความตายจากประเทศพม่า อาศัยอยู่ที่ศูนย์พักพิงชั่วคราวบ้านนุโพได้รับการสำรวจเบื้องต้นโดยการทำงานของกระทรวงมหาดไทยร่วมกับ UNHCR ได้รับการกำหนดหมายเลขประจำตัว PRE504308  (ปรากฎตาม Pre-Screening Registration Document) ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่ NU-Section 15-House.-147

เนื่องจากด.ช.ซันเมี๊ยไมทา คลอดในศูนย์พักพิงชั่วคราว ทำให้ได้รับเอกสารรับรองการเกิดเป็นสูติบัตรบุตรบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน (ท.ร.031) แม้นายไนท์ และนางซันดาจะมิได้จดทะเบียนสมรสกัน แต่จากข้อเท็จจริงที่ว่าด.ช.ซันเมี๊ยไมทาเป็นบุตรของนายไนท์ ดังนั้น ด.ช.ซันเมี๊ยไมทาจึงเป็นบุตรของบิดาผู้มีสัญชาติไทยตามมาตรา 7 แห่งพ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2508 และมาตรา 21 แห่งพ.ร.บ.สัญชาติ ฉบับที่ 4 พ.ศ.2551 จึงจำเป็นที่จะต้องดำเนินการให้เกิดการแก้ไขเอกสารรับรองการเกิดให้ถูกต้อง กล่าวคือ ด.ช.ซันเมี๊ยไมทา ควรได้รับการแก้ไขเอกสารรับรองการเกิดที่ระบุว่าเป็นบุตรของผู้มีสัญชาติไทย และได้รับการเพิ่มชื่อเข้าในทะเบียนราษฎรประเภทท.ร.14 ตามบิดาต่อไป

อย่างไรก็ดี แม้จะมีผลการตรวจพิสูจน์หมู่เลือดและดีเอ็นเอระหว่างนายไนท์ และด.ช.ซันเมี๊ยไมทา ซึ่งออกให้โดยภาควิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อ.เมือง จ. เชียงใหม่ โดยผลการตรวจระบุว่า “เชื่อได้ว่าด.ช.ซันเมี๊ยไมทาเป็นลูกแท้ๆ ของนายไนท์ คีรีบุปผาจริง" แต่จนถึงปัจจุบันอำเภออุ้มผางก็ยังคงไม่ดำเนินการแก้ไขสูติบัตร รวมถึงเพิ่มชื่อด.ช.ซันเมี๊ยไมทาเข้าในทะเบียนบ้านประเภทท.ร.14 ของนายไนท์

---------------------------------------------

กรณีศึกษาที่ 3 ด.ญ.ดาวพระศุกร์ และด.ญ.ฝ้าย
บุตรของบิดาสัญชาติไทย มารดาเป็นผู้อพยพย้ายถิ่นจากประเทศพม่า และเป็นคนไร้รัฐ มีปัญหาในขั้นตอนจดทะเบียนการเกิด(สูติบัตร)

ด.ญ.ดาวพระศุกร์ และด.ญ.ฝ้ายเป็นพี่น้องที่เกิดจากพ่อที่มีสัญชาติไทย แม่เป็นคนพม่าซึ่งเข้ามาอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานานแล้ว (แต่จนถึงปัจจุบันแม่ของดาวพระศุกร์และฝ้ายยังคงไม่มีเอกสารแสดงตนหรือยังคงเป็นคนไร้รัฐ) แม้แม่จะคลอดดาวพระศุกร์ที่โรงพยาบาลอุ้มผาง ในปีพ.ศ.2543 โดยทางโรงพยาบาลได้ออกเอกสารรับรองการเกิด (ท.ร.1/1) ให้ แต่พ่อแม่ของดาวพระศุกร์ไม่เคยนำท.ร.1/1 ไปแจ้งเกิดกับเจ้าหน้าที่ทะเบียนที่อำเภออุ้มผางเพื่อขอรับสูติบัตร ดาวพระศุกร์จึงเติบโตขึ้นในสถานะของคนไร้รัฐ

ต่อมาผู้เป็นพ่อต้องเดินทางไปทำงานกรุงเทพฯ แม่จึงพาดาวพระศุกร์ข้ามมาหาญาติที่ฝั่งพม่า โดยไม่รู้ว่าตัวเองกำลังตั้งท้องที่สอง แม่คลอดด.ญ.ฝ้ายที่ฝั่งพม่าในปีพ.ศ.2546 และเมื่อพ่อของเด็กหญิงทั้งสองคนกลับมายังอุ้มผาง จึงไปรับเมียและลูกกลับจากพม่า และเพิ่งทราบว่าตนเองมีลูกสาวคนที่สอง

เมื่อกลับมาสองสามีภรรยาก็มีลูกชายด้วยกันอีกคนในปีพ.ศ.2552 สำหรับลูกชายคนสุดท้อง ผู้เป็นพ่อได้ดำเนินการแจ้งเกิดทันที ทำให้ลูกชายเป็นเด็กที่มีสัญชาติไทยตามบิดา

ต่อมาเด็กหญิงทั้งสองเข้าโรงเรียน ทางโรงเรียนได้ทำการสำรวจและบันทึกตัวบุคคลในฐานะ “ผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร” ได้รับการกำหนดเลขประจำตัวสิบสามหลักขึ้นต้นด้วยเลข 0

ก่อนหน้าวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2551 “ลูกของพ่อไทย” จะสามารถมีสัญชาติไทยตามหลักสืบสายโลหิตจากบิดาได้ ก็ต่อเมื่อพ่อและแม่ได้จดทะเบียนสมรสโดยถูกต้องตามกฎหมายหรือพ่อที่มีสัญชาติไทยจดทะเบียนรับรองบุตร หรือพ่อจะต้องเป็น “บิดาโดยชอบด้วยกฎหมาย” กระทั่งมีการประกาศใช้พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2508 แก้ไขเพิ่มเติมพ.รบ.สัญชาติ ฉบับที่ 4 พ.ศ.2551 ลูกของบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายก็สามารถมีสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดาในทางข้อเท็จจริงได้ โดยการเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์ความสัมพันธ์ระหว่างบิดากับบุตร หรือพิสูจน์ให้ได้ว่าเป็นพ่อ-ลูกกันจริง[3]

ในเดือนกรกฎาคม 2554 พ่อของด.ญ.ดาวพระศุกร์และด.ญ.ฝ้าย ได้ยื่นคำร้องต่ออำเภออุ้มผางเพื่อแจ้งการเกิด เจ้าหน้าที่แจ้งว่า จำเป็นต้องมีผลดีเอ็นเอเพื่อยืนยันว่าเป็นพ่อ-ลูกกันจริงๆ

หลังจากมีผลดีเอ็นเอ เจ้าหน้าที่ยังคงเรียกให้นำพยานบุคคลที่เป็นข้าราชการจำนวน 2 คน เพื่อให้เจ้าหน้าที่สอบปากคำ โดยไม่ชี้แจงว่าเป็นพยานบุคคลดังกล่าวจะมาให้ถ้อยคำเพื่อพิสูจน์ในประเด็นใด ?

ในแง่ข้อกฎหมาย กฎกระทรวงเรื่องกำหนดวิธีการและค่าธรรมเนียมคำขอพิสูจน์ความเป็นบิดาซึ่งมีสัญชาติไทยของผู้เกิดเพื่อการได้สัญชาติไทยโดยการเกิด พ.ศ.2553 กำหนดพยานบุคคลประกอบไปด้วยคน 2 กลุ่มคือ หนึ่ง-บิดาหรือมารดาของผู้เกิด, และสอง-บุคคลที่น่าเชื่อถือไม่น้อยกว่าสองคนซึ่งสามารถยืนยันความสัมพันธ์ระหว่างบิดากับผู้เกิดได้ อย่างไรก็ดี หากผู้ร้องมีหลักฐานที่ยืนยันความเป็นบิดา-บุตร อาทิ ผลดีเอ็นเอแล้ว ก็สามารถยกเว้นไม่ต้องสอบพยานบุคคลที่น่าเชื่อถือจำนวนสองคนได้[4]

ประมาณกันยายน 2555 คลินิกกฎหมายอุ้มผางเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ทำหนังสือชี้แจงข้อกฎหมายเพื่อการปฏิบัติตามกฎหมายต่ออำเภออุ้มผางถูกดำเนินการ อำเภออุ้มผางรับฟังข้อกฎหมาย เหตุผล ข้อโต้แย้งต่างๆ

กุมภาพันธ์ 2556 อำเภออุ้มผางแจ้งว่าทางอำเภอได้ดำเนินการเพิ่มชื่อของด.ญ.ดาวพระศุกร์เข้าในทะเบียนบ้าน (ท.ร.14) ของบิดาและได้กำหนดเลขประจำตัวสิบสามหลักขึ้นต้นด้วยเลข 3 ให้เรียบร้อยแล้ว นับจากนี้ไปด.ญ.ดาวพระศุกร์คือบุคคลสัญชาติไทย โดยสืบสายโลหิตจากบิดา

ส่วนด.ญ.ฝ้าย ยังคงอยู่ระหว่างดำเนินการ เนื่องจากต้องรอนายอำเภอคนใหม่มารับตำแหน่ง (ข้อมูล ณ ต้นเดือนมีนาคม 2556)

------------------------------------------

กรณีศึกษาที่ 4 กรณีด.ญ.หนึ่ง (นามสมมติ) [5]
บุตรของแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า เกิดที่โรงพยาบาลทุ่งโพธิ์ทะเล มีปัญหาในขั้นตอนการจดทะเบียนการเกิด(สูติบัตร)

เดือนมกราคม 2556 ด.ญ. หนึ่ง ซึ่งเป็นเด็กชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ถูกนายจ้างทำร้าย ทุบตี จนกระทั่งล่าสุดลูกสาวของนายจ้างได้จับด.ญ.หนึ่ง ขังในกรงสุนัข สามีของลูกสาวนายจ้างได้ใช้น้ำร้อนราด และปล่อยทิ้งไว้ทั้งคืน จากนั้นก็ปล่อยให้รักษาเองด้วยการใช้น้ำเกลือทาแผล บางครั้งก็ถูกขังในกรงสุนัข ให้ทานข้าวกับหมา บางครั้งก็โดนด้ามไม้กวาดตี โดยรองเท้าตบจนปากแตก ส่วนที่ศรีษะแตกเพราะถูกจับโขกกับฝาผนัง[6] ต่อมาตำรวจได้สืบสวนสอบสวนพบว่า ลูกสาวและลูกเขยของนายจ้างได้หลบหนีไปแล้ว

ต่อมา ทางมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาได้เข้าให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายคือการฟ้องร้องดำเนินคดีแพ่ง จึงพบว่าด.ญ. หนึ่ง เกิดในประเทศไทย แต่ไม่ปรากฎว่ามีเอกสารแสดงตนใดๆ โดยมารดาของด.ญ.หนึ่ง คลอดด.ญ.หนึ่งที่โรงพยาบาล และได้รับหนังสือรับรองการเกิด (ท.ร.1/1) แต่มารดาของด.ญ.หนึ่ง ทำเอกสารดังกล่าวหาย

ต่อมาสถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ และคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวรได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง

ปัจจุบัน ด.ญ.หนึ่ง อยู่ในความดูแลของบ้านพักเด็กและเยาวชน จังหวัดกำแพงเพชร เพื่อฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจจากการที่ถูกนายจ้างทารุณกรรม และอยู่ในระหว่างการดำเนินคดีแพ่ง ขณะเดียวกันพนักงานสอบสวนได้ตั้งข้อหานายจ้างไว้ทั้งหมด 7 ข้อหา[7] และอัยการได้ฟ้องต่อศาลจังหวัดกำแพงเพชร

ประเด็นปัญหา      อาจกล่าวได้ว่า การจดทะเบียนการเกิดถ้วนหน้าภายใต้พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 และฉบับที่ 2 พ.ศ.2551 เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคล โดยไม่สามารถเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งความแตกต่างของบุคคลในด้านสัญชาติ สถานะบุคคล กล่าวได้ว่า นับจากปีพ.ศ.2551 เป็นต้นมา เจ้าหน้าที่ทะเบียนราษฎรทั่วไปมีความเข้าใจมากขึ้น มักไม่ค่อยปรากฎกรณีการปฏิเสธการรับแจ้งการเกิดเด็กที่เกิดนับจากปีพ.ศ.2551

แต่ปัญหาของการจดทะเบียนการเกิด หรือการแจ้งเกิดที่ยังคงมีข้อจำกัด อุปสรรคมักเกิดขึ้นกับกรณีของการแจ้งเกิดย้อนหลัง โดยเจ้าหน้าที่ทางทะเบียนมักไม่มั่นใจที่จะใช้ดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐาน และมักเรียกพยานหลักฐานเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด

-------------------------------------------------------

[1] เป็นหนึ่งในงานให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายของผู้ศึกษาวิจัย แก่เครือข่ายแรงงานข้ามชาติในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ในนามของสถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ

[2]เป็นหนึ่งในงานให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย แก่คลินิกกฎหมายอุ้มผางเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งผู้ศึกษาวิจัยดำเนินการในนามของสถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ และอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

[3]มาตรา 7 วรรคสอง ประกอบมาตรา 21 พระราชบัญญัติสัญชาติพ.ศ.2508 ซึ่งถูกแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551

มาตรา 7 วรรคสอง  คำว่าบิดาตาม (1) ให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นบิดาของผู้เกิดตามวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง แม้ผู้นั้นจะมิได้จดทะเบียนสมรสกับมารดาของผู้เกิด และมิได้จดทะเบียนรับรองผู้เกิดเป็นบุตรก็ตาม

มาตรา 21  บทบัญญัติวรรคสองของมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 ซึ่งเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ให้มีผลใช้บังคับกับผู้เกิดก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับด้วย

ดูกฎกระทรวงเรื่องกำหนดวิธีการและค่าธรรมเนียมคำขอพิสูจน์ความเป็นบิดาซึ่งมีสัญชาติไทยของผู้เกิดเพื่อการได้สัญชาติไทยโดยการเกิด พ.ศ.2553

[4]ข้อ 3 หนังสือมท.0309.1/ ว6313 ลงวันที่ 15 มีนาคม 2554 เรื่องการพิสูจน์ความเป็นบิดาซึ่งมีสัญชาติไทยของผู้เกิด เพื่อการมีสัญชาติไทยโดยการเกิดตามมาตรา มาตรา 7 วรรคสอง พระราชบัญญัติสัญชาติพ.ศ.2508 ซึ่งถูกแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551

[5] เป็นหนึ่งในกรณีศึกษาที่ผู้ศึกษาวิจัยวิทยานิพนธ์ฉบับนี้สนับสนุนงานให้ความช่วยเหลือของมูลนิธิสิทธิมนุษยชนเพื่อการพัฒนา (นับจากเดือนกรฎกาคม 2556)

[6]หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ, “สลด ! นายจ้างทรมานเด็กกะเหรี่ยง จับยัดกรงหม-น้ำร้อนราด,  สืบค้นเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2556 จาก http://www.thairath.co.th/content/region/326036

หนังสือพิมพ์เดลินิวส์, “เด็กกะเหรี่ยงเหยื่อนายจ้างทารุณผิวหนังพังเกือบถึงกระดูก, สืบค้นเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2556 จาก http://www.dailynews.co.th/crime/184249

[7] ได้แก่ ข้อหาร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสโดยการทราน หรือการกระทำทารุณ โหดร้าย, ร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกหน่วงเหนี่ยวกักขังได้รับอันตรายสาหัส, ร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นและให้ผู้อื่นนั้นกระทำการใดๆ ให้แก่ผู้กระทำหรือบุคคลอื่น, ร่วมกันเอาคนลงเป็นทาสหรือมีฐานะคล้ายทาส, ร่วมกันพามาจากที่ใด หรือหน่วงเหนี่ยวกักขังบุคคลใดถ้าการกระทำเป็นการกระทำต่อเด็กอายุ ไม่เกิน 15 ปี จนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำได้รับอันตรายสาหัส, ร่วมกันพรากเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี และร่วมกันค้ามนุษย์

หมายเลขบันทึก: 554609เขียนเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2013 14:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2013 16:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท