พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ (Puangrat Patomsirirak)
นางสาว พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ (Puangrat Patomsirirak) Cherry ปฐมสิริรักษ์

ดวงตา หม่องภา นักศึกษาไร้สัญชาติ บุตรคนสัญชาติพม่า : กับการทดลองขอเอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลจากสถานทูตพม่า


บันทึกระหว่างการทำงานให้ความช่วยเหลือแก่คนไร้รัฐไร้สัญชาติ ซึ่งเป็นคนที่หนีภัยความตายจากประเทศพม่า และปัจจุบันเป็นราษฎรไทยที่กำลังศึกษาในสถาบันการศึกษาของประเทศไทย

ดวงตา หม่องภา นักศึกษาไร้สัญชาติ บุตรคนสัญชาติพม่า : กับการทดลองขอเอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลจากสถานทูตพม่า

22 กุมภาพันธ์ 2013 เวลา 0:30 น.
เผยแพร่ครั้งแรกทาง https://www.facebook.com/notes/puangrat-patomsirirak/ (วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2556)
  • ก่อนหน้านี้จากความร่วมมือระหว่าง IRC กับโครงการบางกอกคลินิกฯ ในการติดตามเรื่อง “การจัดการสิทธิในสัญชาติพม่า—รวมถึงการออกเอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลให้กับบุตรไร้สัญชาติ ของแรงงานต่างด้าวซึ่งผ่านการพิสูจน์สัญชาติพม่า”  โดยการศึกษาช่องทางทางการทูต (ณ สถานทูตพม่าประจำประเทศไทย) เราทราบว่าช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา ประเทศพม่าก็ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อการแก้ปัญหาดังกล่าว เพราะเราพบว่า ทางสถานทูตพม่าประจำประเทศไทยได้ออกเอกสารฉบับหนึ่งให้กับ บุตรไร้สัญชาติของบิดามารดาที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติพม่าแล้ว โดยผู้มาขอทำเอกสารฉบับนี้มักเป็นนักเรียนนักศึกษาในสถานบันการศึกษาของประเทศไทย  ซึ่งมักอายุไม่เกิน 15 ปี
  • อย่างไรก็ตามแม้ว่าเอกสารดังกล่าวไม่ปรากฏชื่อเอกสารที่ชัดเจน แต่ปรากฏข้อความบนเอกสารว่า the bearer of the certificate is the citizen of Myanmar” (ผู้ถือหนังสือรับรองคือพลเมืองของพม่า) พร้อมทั้งบันทึกชื่อเจ้าของเอกสาร และจุดเกาะเกี่ยวประการอื่นๆ คือ วันเกิด สถานที่เกิด บิดา มารดา และสัญชาติ ของผู้ถือ หากพิจารณานัยของเอกสารฉบับนี้จะเห็นว่าเป็นการออก “เอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลโดยประเทศพม่า” ให้กับคนที่อยู่ในประเทศไทย ซึ่งคงจะมีความหมายไม่ต่างไปจากที่ประเทศไทย (หรือประเทศอื่นๆด้วย) เคยออกเอกสารในชื่อว่า “Certificate of Identity : CI” ให้กับคนของตนเองหรือเชื่อว่ามีสัญชาติของตนเอง ซึ่งไปอยู่ในอีกประเทศหนึ่ง[2]
  • ด้วยเหตุนี้เอง “ดวงตา นักศึกษาไร้สัญชาติ อายุ 21 ปี” บุตรสาวของแรงงานต่างด้าวซึ่งผ่านการพิสูจน์สัญชาติพม่า เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.2555 ตามบันทึกความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลพม่า (MOU) จึงได้ทดลองที่จะขอเอกสารดังกล่าวจะสถานทูตพม่า เพื่อสร้างจุดเกาะเกี่ยวในทางทะเบียนกับประเทศพม่า ซึ่งผู้วิจัยเองเข้าใจว่ากระบวนการกว่าจะได้เอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลที่มีถ้อยคำลักษณะดังกล่าว ก็น่าจะหมายถึงได้ผ่านการพิสูจน์สัญชาติในเบื้องต้นแล้วว่าเป็นคนชาติพม่านั่นเอง
  • ทั้งนี้โปรดสังเกตว่า การที่เธอไม่ได้ตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติพม่า ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ.2556 นั้น เป็นเพราะ “มติคณะรัฐมนตรีฉบับดังกล่าวกำหนดให้ ผู้ที่อายุเกินกว่า 15 ปี เข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติในสถานะของแรงงานต่างด้าวที่ต้องมีนายจ้าง ซึ่งไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงสถานะของดวงตา ที่เป็นนักเรียนนักศึกษามิใช่แรงงาน” ประกอบกับการที่ดวงตามีข้อเท็จจริงเป็นผู้ติดตามแรงงานต่างด้าวด้วยก็ตาม “แต่มติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว ก็กำหนดให้ผู้ที่จะเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติในสถานะผู้ติดตามได้นั้นจะต้องอายุไม่เกิน 15 ปี” จึงอาจเรียกได้ว่ามติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวก็ไม่ครอบคลุมการจัดการสิทธิในสัญชาติของผู้ที่มีข้อเท็จจริงอย่างดวงตา
  • ระหว่างการติดต่อสถานทูตพม่าโดยดวงตา เจ้าของปัญหาที่เข้าใจปัญหาของตนเองและสามารถสื่อสารภาษาพม่าได้นั้น เป็นการเดินเข้าไปอย่างประชาชนธรรมดาเพื่อติดต่อกับเจ้าหน้าที่สถานทูตพม่าซึ่งปฏิบัติหน้าที่เป็นปกติประจำวัน โดยที่เราไม่ได้นัดหมายไว้แต่อย่างใด ทำให้เราทราบข้อเท็จจริงในลักษณะดังนี้
  1. เจ้าหน้าที่ยืนยันว่าสถานทูตพม่าประจำประเทศไทย เคยออกเอกสารที่มีข้อความลักษณะดังกล่าวจริง โดยพิจารณาออกเอกสารดังกล่าวล่าสุดเมื่อช่วงเดือนมกราคม 2556
  2. เอกสารดังกล่าวสถานทูตพม่าจะออกให้กับ บุตรของแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า ซึ่งเป็นนักเรียนนักศึกษาในประเทศไทยที่ไม่ได้มีหนังสือเดินทางชั่วคราวอย่างบิดามารดา เช่นเดียวกับกรณีของดวงตา (ส่วนนี้ผู้วิจัยตั้งข้อสังเกตว่า ทางสถานทูตไม่ได้กำหนดเงื่อนไขเรื่องของอายุของผู้ที่จะขอเอกสารว่าจะต้องต่ำกว่า 15 ปีอย่างที่ผู้วิจัยกังวลในคราวแรก เพราะเจ้าหน้าที่ชี้แจงว่า “เอกสารฉบับนี้ก็ออกให้กับคนอย่างดวงตา”  แต่ประเด็นปัญหากลับอยู่ในข้อถัดไป)
  3. อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่แจ้งว่า ขณะนี้สถานทูตพม่าประจำประเทศไทย ระงับการออกเอกสารดังกล่าวไว้ชั่วคราว เพราะมีปัญหาและเหตุขัดข้อง[3] และเมื่อดวงตาขอคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ว่าควรทำอย่างไรเพราะเธอมีอยู่ในสถานะนักเรียนนักศึกษาที่ไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติรอบนี้ได ก็ได้รับคำแนะนำว่า “รอการเปิดให้ขอเอกสารดังกล่าวอีกครั้ง”

 

  • ทั้งนี้ ถ้ามีการเปิดให้ยื่นขอเอกสารพิสูจน์ตนลักษณะดังกล่าวอีกครั้ง เอกสารสำคัญที่ต้องเตรียมไปคือ หนังสือเดินทาง (Passport) หรือหนังสือเดินทางชั่วคราว (Temporary Passport) ของบิดามารดา เพื่อใช้แสดงว่าตนเองเป็นบุตรของคนสัญชาติพม่าจริง เอกสารอื่นๆ ที่ประเทศพม่าออกให้กับบิดามารดา สูติบัตรผู้ขอ(ถ้ามี) รูปถ่าย
  • ซึ่งกรณีของดวงตานั้น อย่างไรเสียจะยื่นขอเอกสารพิสูจน์ตนดังกล่าวได้ ก็ต้องจัดการแก้ไขปัญหาเรื่องของ หนังสือเดินทางชั่วคราวของบิดา ซึ่งเขียนชื่อผิดไปจากความเป็นจริงเสียก่อน โดยสามารถไปดำเนินการแก้ไขได้ ณ ศูนย์พิสูจน์สัญชาติ ซึ่งตนเองได้เข้าสู่กระบวนการ (ศูนย์เชียงใหม่) เพราะมิฉะนั้นแล้ว ก็จะเกิดปัญหาเรื่องการพิสูจน์ตัว และการบันทึกข้อมูลในเอกสารของดวงตาที่ผิดจากความเป็นจริงต่อเนื่องไป

   ...แล้วดวงตาก็คงจะได้กลับไปสอบถามเพื่อขอออกเอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลดังกล่าวจากสถานทูตพม่าอีกครั้ง

[1] บันทึกของนักวิจัย เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 56 ระหว่างศึกษาวิจัยเรื่องการจัดการสิทธิในสัญชาติ ของบุตรแรงงานต่างด้าวซึ่งผ่านการพิสูจน์สัญชาติ

[2] ยกตัวอย่างของประเทศไทย ซึ่งได้ออกเอกสาร Certificate of Identity โดยกระทรวงการต่างประเทศของประเทศไทย ให้กับนางฟอง เลวัน ซึ่งขณะนั้นอยู่อาศัย ณ ประเทศญี่ปุ่น เพื่อใช้เดินทางกลับเข้าประเทศไทย

[3] ผู้วิจัยทราบมาว่า ปัญหาการระงับการออกเอกสารดังกล่าว มีความเป็นไปได้ที่มีสาเหตุมาจาก มีระบบนายหน้าเข้ามาเกี่ยวข้องและเรียกเก็บเงินกับเจ้าของปัญหาสูงมาก จนเกิดการเข้าใจผิดว่าสถานทูตพม่าเป็นฝ่ายเก็บค่าทำเอกสารพิสูจน์ตนดังกล่าวในราคาสูงสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน

หมายเลขบันทึก: 554611เขียนเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2013 15:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2013 15:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท