สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล


การที่หลักสูตรต่างๆ เน้นการศึกษาวิจัยภาคสนามถือว่าเป็นจุดเด่นประการหนึ่งของสถาบันฯ เพราะทำให้นักศึกษาเกิดกระบวนการเรียนรู้อย่างแท้จริง เมื่อสำเร็จการศึกษาไปแล้วสามารถจะไปสร้างงานวิจัยได้เองหรือสอนผู้อื่นต่อไปได้อย่างมั่นใจและมีประสิทธิภาพ

สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท
มหาวิทยาลัยมหิดล

         อีกสถาบันหนึ่งที่สภามหาวิทยาลัยมหิดล จะไปเยี่ยมชื่นชมในวันนี้ คือสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท      ผมเคยนึกชื่นชมผู้ก่อตั้งสถาบันนี้ขึ้นในมหาวิทยาลัยมหิดล ว่าคิดได้ไง     เป็นความคิดที่แหวกแนว และเกิดประโยชน์ต่อสังคมอย่างยิ่ง     ต่อมาพอมาทำงานด้านการจัดการความรู้ จึงยิ่งเห็นว่าภาษาและการสื่อสาร มีความสำคัญต่อการพัฒนาท้องถิ่นหรือบ้านเมืองอย่างลึกซึ้ง      จึงยิ่งเห็นความสำคัญของการค้นคว้าวิจัยด้านภาษา

แนะนำสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท     มหาวิทยาลัยมหิดล

       ภาษาและวัฒนธรรมเป็นปัจจัยสำคัญในการแก้ปัญหาและพัฒนาสังคม คือ ปรัชญาที่สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท ยึดถือเป็นหลักในการดำเนินงานนำพาสถาบันไปสู่ความเป็นเลิศด้านการวิจัยและพัฒนา ภาษา วัฒนธรรมและกลุ่มชาติพันธุ์แห่งเอเชีย โดยกำหนดพันธกิจออกเป็น ๔ ด้าน คือ การศึกษาวิจัย การเรียนการสอน การบริการวิชาการ และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม และมีเป้าประสงค์โดยรวมเพื่อสร้างองค์ความรู้ทางภาษาและวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาประเทศ
       ยุทธศาสตร์การดำเนินงานเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ เริ่มต้นจากการศึกษาวิจัยภาษาและวัฒนธรรมแล้วนำเอาองค์ความรู้ ประสบการณ์และบทเรียนต่างๆ ที่ได้มาจัดหลักสูตรการเรียนการสอนในระดับบัณฑิตศึกษา พร้อมทั้งจัดการเผยแพร่และบริการความรู้สู่สังคมควบคู่กันไป
       เริ่มแรก สถาบันฯ ได้ศึกษาวิจัยภาษาและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในพื้นที่สูงประเทศไทย ซึ่งมีมากกว่า ๖๐ กลุ่ม แล้วนำองค์ความรู้ที่ได้มาจัดการเรียนการสอนหลักสูตรปริญญาโทสาขาภาษาศาสตร์ มีการวิเคราะห์ภาษาแล้วจัดทำเป็นพจนานุกรมเชื่อมโยงกับงานด้านสาธารณสุข เช่น บทสนทนาสาธารณสุขภาษาไทย-ภาษาอีก้อ ภาษาไทย-ภาษากะเหรี่ยง ภาษาไทย-ภาษามลายู เป็นต้น เพื่อให้บุคลากรด้านการแพทย์ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับชนกลุ่มบางกลุ่ม สามารถนำไปเป็นเครื่องมือในการติดต่อสื่อสารเบื้องต้นได้ ต่อมาได้ขยายขอบเขตการศึกษาวิจัยภาษาและกลุ่มชาติพันธุ์ไปสู่พื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศไทย รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านด้วย ได้ศึกษาวิจัยสร้างองค์ความรู้ออกเผยแพร่ได้หลากหลายมากขึ้น เช่น พจนานุกรมภาษาพม่า ภาษาลาว ภาษาเวียดนาม ภาษามาลายู วัฒนธรรมสาธารณสุข พิพิธภัณฑ์ วัฒนธรรมดนตรี วัฒนธรรมข้าว วัฒนธรรมการสื่อสาร การแปล การวิจัยเพื่อท้องถิ่น การวิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่น การพัฒนาชนบท เป็นต้น
        นอกจากนี้ ยังได้มีการจัดทำแผนที่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศขึ้นเพื่อใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงจำนวนประชากรและที่ตั้งของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ซึ่งเป็นฐานสำคัญที่นำไปสู่งานวิจัยแบบบูรณาการระหว่างภาษาศาสตร์กับการศึกษา เช่น โครงการฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมในภาวะวิกฤติ: ภาษาชอง มีการจัดทำหลักสูตรท้องถิ่นการสอนภาษาชองให้กับนักเรียนในชั้นประถม หรือการจัดการเรียนการสอนแบบสองภาษาให้กับกลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่ม ซึ่งได้มีความพยายามที่จะผลักดันให้เป็นนโยบายชาติต่อไป เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการบูรณาการงานแผนที่กับงานวิจัยวัฒนธรรมท้องถิ่น เช่น แผนที่วัฒนธรรม เป็นต้น
        ผลจากการดำเนินงานวิจัย ทำให้สถาบันฯ สั่งสมองค์ความรู้ ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญแก่บุคลากรได้มากขึ้น ดังนั้นหลังจากปีการศึกษา ๒๕๓๐ เป็นต้นมา สถาบันฯจึงได้เปิดหลักสูตรบัณฑิตศึกษาสาขาวิชาอื่นๆ เพิ่มขึ้น คือ
๑) หลักสูตรวัฒนธรรมศึกษา ซึ่งมีอยู่ ๓ สาขาวิชา คือ สาขาวิชาวัฒนธรรมสาธารณสุข สาขาวิชาวัฒนธรรมการดนตรี สาขาวิชาวัฒนธรรมพิพิธภัณฑ์
๒) หลักสูตรภาษาและวัฒนธรรมเพื่อการสื่อสารและการพัฒนา
๓) หลักสูตรพัฒนาชนบทศึกษา
       โดยกระบวนศึกษาวิจัยและการเรียนการสอนงานของสถาบันฯ เน้นการศึกษาและทำวิจัยภาคสนาม นำนักศึกษาออกศึกษาภาคสนามปฏิบัติจริง เพื่อให้ได้ข้อมูลจริง เรียนรู้และรู้จักชุมชนทุกสาขาวิชา
       นอกจากนี้ สถาบันฯ ได้ร่วมทำงานวิจัยและงานอื่นๆ กับองค์กรอื่นๆ ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยมหิดล เช่น
๑) ร่วมทำงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น งานวิจัยเพื่อการสื่อสารชุมชน งานวิจัยสาธารณสุข กับแหล่งสนับสนุนทุนวิจัยต่างๆ เช่น สำนักงานสนับสนุนกองทุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และแหล่งทุนอื่นๆ ทั้งในบทบาทช่วยสร้างนักวิจัยท้องถิ่น ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงชาวบ้าน เป็นผู้ประสานงานเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของเครือข่าย และประสานความร่วมมือกับเครือข่ายต่างๆ เป็นต้น
๒) ร่วมทำงานวิจัยกับคณะและสถาบันต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยมหิดล เช่น โครงการวิจัยบูรณาการลุ่มน้ำแม่กลองท่าจีน โครงการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นลุ่มน้ำนครชัยศรี โครงการศึกษาผู้สูงอายุ เป็นต้น
๓) ร่วมศึกษาวิจัยและจัดบริการทางวิชาการกับองค์กรต่างๆ ในต่างประเทศ เช่น ร่วมมือกับ SIL International ประเทศสหรัฐอเมริกา ผลิตวารสารวิชาการนานาชาติชื่อ Mon-Khmer Studies: A Journal of Southeast Asian Languages and Cultures ทำให้สถาบันฯ มีองค์ความรู้ทางด้านภาษาในกลุ่มมอญ-เขมร     ที่แข็งแกร่งแห่งเดียวในประเทศไทย และเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ซึ่ง สกว. ให้การยอมรับสำหรับนักศึกษาปริญญาเอกสามารถเสนอผลงานวิจัยเพื่อตีพิมพ์เพื่อเผยแพร่เพื่อขอสำเร็จการศึกษาได้ ผลงานวิชาการโดยเฉพาะอย่างยิ่งงานทางด้านภาษาศาสตร์ของสถาบันฯ ได้เป็นที่รู้จักทั้งในระดับชาติและนานาชาติ  นอกจากนี้ สถาบันฯยังร่วมมือกับคณะ สถาบันอื่นๆ ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยเพื่อทำงานวิจัยแบบบูรณาการร่วมกันอีกด้วย ประสบการณ์และองค์ความรู้ที่ได้จากการวิจัยในสาขาต่างๆ เหล่านี้ สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการเรียนการให้มีความทันสมัยอยู่เสมอ อีกทั้งยังสามารถนำความรู้เหล่านี้ให้บริการวิชาการแก่สังคมในรูปแบบต่างๆ ทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมทั้งในด้านฟื้นฟู อนุรักษ์ และสืบสานให้คงอยู่ต่อไป อาจกล่าวได้ว่าสถาบันฯ ได้ทำภารกิจทั้งสี่ด้านอย่างครบวงจรซึ่งเป็นจุดเด่นประการหนึ่งของสถาบันฯ
        สถาบันฯ เป็นแหล่งขององค์ความรู้ มีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในศาสตร์ต่างๆ อยู่มาก สถาบันฯ ได้ให้ความร่วมมือช่วยเหลืองานวิชาการทั้งภายในมหาวิทยาลัย และภายนอกมหาวิทยาลัยอยู่เสมอ นอกจากนี้ การที่หลักสูตรต่างๆ เน้นการศึกษาวิจัยภาคสนามถือว่าเป็นจุดเด่นประการหนึ่งของสถาบันฯ เพราะทำให้นักศึกษาเกิดกระบวนการเรียนรู้อย่างแท้จริง เมื่อสำเร็จการศึกษาไปแล้วสามารถจะไปสร้างงานวิจัยได้เองหรือสอนผู้อื่นต่อไปได้อย่างมั่นใจและมีประสิทธิภาพซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของหลักสูตรต่างๆ ของสถาบันฯ ในการผลิตบัณฑิตเพื่อไปเป็นนักวิชาการในระดับที่สูงขึ้น
       หากเปรียบเทียบกับหน่วยงานอื่นที่มีความเก่าแก่หรือมีหลักสูตรที่คล้ายคลึงกัน สถาบันฯ มีความชำนาญและจุดเน้นที่เป็นที่ทราบกันดีว่าสถาบันฯ เน้นการศึกษาวิจัยภาษาและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เพื่อการพัฒนา ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นเชื่อมสู่ประเทศเพื่อนบ้าน ในขณะที่ที่อื่นเน้นทฤษฎี และเน้นเฉพาะภาษาไทย หรือสังคมวัฒนธรรมไทยเท่านั้น
        สถาบันฯ แม้จะเป็นหน่วยงานเล็กที่สร้างงานที่มีคุณค่าต่อสังคมที่ไม่อาจวัดหรือตีค่าเป็นมูลค่าได้ก็ตาม แต่ก็มีความภาคภูมิใจที่สามารถมีส่วนช่วยเติมเต็มให้กับมหาวิทยาลัยมหิดลได้

          วันนี้ผมจะไปถามข้อมูลเชิงเปรียบเทียบกับสถาบันอื่นในประเทศไทย  และในต่างประเทศ     รวมทั้งข้อมูลที่เป็นภาพเคลื่อนไหวในช่วง ๑๐ - ๒๐ ปีที่ผ่านมา

วิจารณ์ พานิช
๒๔ ตค. ๔๙

หมายเลขบันทึก: 55443เขียนเมื่อ 24 ตุลาคม 2006 05:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 16:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท