สร้างโอกาสการเรียนรู้ สร้างเยาวชนคุณภาพ สร้างสังคมคุณภาพ
มูลนิธิสยามกัมมาจล สร้างโอกาสการเรียนรู้ สร้างเยาวชนคุณภาพ สร้างสังคมคุณภาพ มูลนิธิสยามกัมมาจล

ลด ละ เลิก การทำงานแบบไฟไหม้ฟาง


                   ในช่วงที่การเมืองกำลังร้อนแรงอยู่ในขณะนี้ จะเห็นว่าพลังประชาชนจากหลายฝ่ายต่างลุกขึ้นมาแสดงจุดยืนของตัวเองเป็นพลังมวลชนที่มีความยิ่งใหญ่ ด้วยเชื่อมั่นว่าว่าจะสามารถเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ชาติให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้  แต่ในวันนี้ผู้เขียนอยากจะนำกิจกรรมดีๆ ในอีกแง่มุมหนึ่ง ที่คนในชุมชนลุกขึ้นมาเพื่อการพัฒนาสังคมในระดับเล็กๆ ตั้งแต่ตัวเอง ครอบครัว ไปจนถึงชุมชนในระดับตำบล ซึ่งเป็นผลผลิตหนึ่งในโครงการนักถักทอชุมชน มูลนิธิสยามกัมมาจลมาเล่าสู่กันฟัง

                จุดประสงค์หลักของโครงการนักถักทอฯ นี้ เป็นโครงการเพื่อการ ‘พัฒนาคน’ โดยเริ่มที่บุคลากรของราชการในองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ที่จะต้องเข้าไปทำงานประสานความร่วมมือกับชุมชน ซึ่งที่ผ่านมาภาพคนทำงานในระบบราชการมักจะหนีไม่พ้น การทำงานแบบ "สุกเอาเผากิน"  "ผักชีโรยหน้า" "เอาหน้า" "เช้าชามเย็นชาม" หรือแบบไฟไหม้ฟาง ที่หมายความว่า เป็นการทำงานตามคำสั่ง ตามนโยบายแบบผิวเผิน ไม่ต่อเนื่อง ไม่มีความเข้าใจในข้อมูลปัญหาเชิงลึกเท่าที่ควร ทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างทั่วถึง ต่อเนื่อง และตรงจุด

                สำหรับตัวอย่างการ ลด ละ เลิก การทำงานแบบไฟไหม้ฟาง ที่มี‘ข้าราชการไทย’ กลุ่มหนึ่งในโครงการนักถักทอฯ จาก บุลากรองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ไผ่กองดิน อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี ที่ลุกขึ้นมาทำงานกับชุมชนอย่างจริงจัง ตั้งแต่ขั้นตอนการเรียนรู้ ศึกษาปัญหาในชุมชน และวางแผนกิจกรรมแก้ไขปัญหาอย่างละเอียด เพื่อขับเคลื่อนกลไกพัฒนาเด็ก เยาวชน ครอบครัว ให้เกิดภาพความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่หมู่บ้านนำร่อง หมู่ 8 บ้านหนองแขยง ในทิศทางที่ดีขึ้น ด้วยการทำโครงการ “ตลาดนัดครอบครัว” เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน จากกิจกรรมที่สนุก และมีสาระความรู้สอดคล้องกับวิถีชีวิตในชุมชน เป็นการลดช่องว่างระหว่างกัน ทั้งในระดับครอบครัว และชุมชน


           ทั้งนี้นักถักทอชุมชน จะเป็นส่วนสำคัญหนึ่งในโครงการคือ 1.เป็นผู้จัดกระบวนการให้เกิดคณะทำงานในระดับหมูบ้าน ประกอบด้วย คณะกรรมการบริหาร ครูใหญ่ ผู้จัดการ ผู้ประสานงานหลัก และทีมงาน ผู้ใหญ่ใจดีประจำหมู่บ้าน แกนนำครอบครัว และแกนนำเยาวชน 2.เป็นพี่เลี้ยงคณะทำงานหมู่บ้าน เพื่อให้แต่ละคนได้รู้บทบาท เป้าหมายในการทำงาน อีกทั้งยังได้มีความรู้ความเข้าใจ ต่อสถานการณ์ปัญหา และสาเหตุของปัญหาเด็ก เยาวชน ครอบครัว นำไปสู่การร่วมกันแก้ปัญหาอย่างมีส่วนร่วมในชุมชน

            นางกานต์พิชชา ทำสวน หัวหน้าสำนักงานปลัด ตัวแทนคณะนักถักทอฯ อบต.ไผ่กองดิน อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี เล่าถึงที่มาและความสำคัญของโครงการตลาดนัดครอบครัวว่า “คณะทำงานใน อบต.ได้เล็งเห็นสภาพปัญหาของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ ต.ไผ่กองดิน ยังอยู่ในสภาวะที่น่าเป็นห่วง คือ พบปัญหาเด็กติดเกม ติดยาเสพติด ก้าวร้าว ซึ่งจากการศึกษาข้อมูลเชิงลึกพบว่าสาเหตุสำคัญมาจากพฤติกรรมของผู้ปกครองในการอบรม เลี้ยงดูบุตรหลาน ดังนั้นโครงการนี้จะเป็นโครงการเพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจในการเลี้ยงดูบุตรหลานในแต่ละช่วงวัยอย่างเหมาะสม ทำให้เด็กมีทักษะชีวิตที่ดี มีภูมิคุ้มกันต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง และสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข”

              นางนิตย์ภา พรวิวัฒน์ธาดา หรือครูเล็ก ครูผู้ดูแลเด็ก ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก บ้านหนองแขยง หมู่ที่ 8 ต.ไผ่กองดิน อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี ตัวแทนคณะนักถักทอ เล่าถึงกิจกรรมในโครงการตลาดนัดครอบครัวในเดือนที่ผ่านมาว่า "โครงการมีผลตอบรับออกมาดีมาก มีคนในพื้นที่เข้ามาพูดคุยกับครูมาก ในฐานะที่เป็นเจ้าของพื้นที่ โดยก่อนโครงการเราก็จะมีการวางแผนประชุมย่อยอยู่ตลอด ว่าจะต้องเตรียมการอะไรบ้าง ก็จะเตรียมจัดเตรียมขนของ ซื้อผัก โดยจะซื้อเฉพาะผักที่ไม่มีในชุมชน เช่น มะนาว ส่วนผักอันไหนที่มีในชุมชน ก็จะให้แต่ละบ้านช่วยกันนำมา อุปกรณ์ก็จะได้รับการสนับสนุนจากคนในชุมชน หรือจากชุมชนใกล้เคียง

             ในวันกิจกรรม จะมี 5 ครอบครัว สมัครเข้ามาทำกิจกรรมที่สอดแทรกทั้งสาระและความสนุกสนาน เช่น กิจกรรมทำอาหาร ได้นำความรู้จากการอบรมมาต่อยอดในเรื่องรักการอ่าน รวมถึงประโยชน์ของผักแต่ละชนิดและการดูแลสุขภาพ โดยคุณหมอจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเข้ามาให้คำแนะนำ หรือกิจกรรมการสันทนาการที่ช่วยละลายพฤติกรรมของเด็กและผู้ปกครอง จากที่ไม่ค่อยมีส่วนร่วมในชุมชน จากที่ดูไม่กล้าแสดงออก ก็สามารถมาร่วมเล่นสันทนาการร่วมกับนักถักทออย่างสนุกสนาน ทำให้มีความสนิทสนมกันระหว่างครอบครัว และชุมชนมากขึ้นด้วย

 

            กิจกรรมเดือนต่อไปเราก็วางแผนไว้คร่าวๆ ว่าจะทำในเรื่องของการส่งเสริมอาชีพ จากวัตถุดิบที่มีมากในชุมชน นั่นคือ ผักตบชวา เอามาทำเป็นเครื่องจักรสาน ซึ่งในตำบลไผ่กองดิน ก็จะมีกลุ่มคนที่ทำเรื่องการจักรสานอยู่แล้ว มีทั้งวัตถุดิบ อุปกรณ์ และผู้รู้ แต่กลุ่มของเขายังไม่เข้มแข็งมาก เพราะว่าขาดความต่อเนื่อง และเพื่อไม่ให้อาชีพนี้หายไป ก็จะมีการนำกลับมาพัฒนาอีกครั้งในกิจกรรมร่วมกันระหว่างผู้ปกครองและบุตรหลานในโครงการครั้งต่อไป ที่จะสามารถดึงให้เด็กและครอบครัวเข้ามามีส่วนร่วมต่อกันได้มากขึ้น สามารถนำกลับไปทำที่บ้าน สร้างรายได้อีกทางหนึ่ง"

            นางกัญญาพัชญ์ บัวมี รองปลัด อบต.ไผ่กองดิน จ.สุพรรณบุรี ได้เล่าถึงการนำความรู้ที่ได้จากการอบรมมาปรับใช้กับการทำงาน ทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด ก่อนเข้ารับการอบรมตนเองคิดว่าการทำงานของ อบต.ยังไม่ตรงกับความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง ทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ซึ่งจากการอบรมทำให้มีโอกาสเข้าไปทำงานกับชุมชนได้มากขึ้น โดยส่วนตัวทำให้ตนเองรู้จักการรับฟังคนอื่นมากขึ้น กับครอบครัวก็สามารถแบ่งเวลาเลี้ยงลูกได้ดีขึ้น หรือสิ่งที่เห็นชัดคือด้านทักษะการพูด ทำให้มีความมั่นใจที่จะพูดมากขึ้น เพราะสามารถเรียบเรียงถ้อยคำออกมาฟังแล้วเข้าใจ ได้ดีกว่าเดิม ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการประเมินตนเอง กับเพื่อนในทีม ทำให้มีความสัมพันธ์กับองค์กรและคณะทำงานดีมากขึ้นด้วย

           ล่าสุดเพิ่งได้รับการอบรมเรื่อง การติดตามและประเมินผลการทำงาน ซึ่งจริงๆ ก็มีอยู่ในระเบียบการทำงานอยู่แล้ว อยู่ที่เราไม่เคยนำมาใช้อย่างจริงจัง ส่วนหนึ่งเพราะไม่รู้จักวิธีใช้อย่างชัดเจนและถูกต้อง และเมื่อได้มาฟัง ทำให้รู้ว่าการติดตามต้องทำอย่างไรบ้าง ทำช่วงไหน ใช้อะไรเป็นเครื่องมือ ต้องมีการวางแผนก่อนการติดตาม ซึ่งที่ผ่านมาทำโครงการแบบไม่ได้ประเมินจึงเป็นแค่การทำงานแบบผ่านๆ ไป แต่ในปัจจุบันมีการทำงานแบบวางแผนและมีส่วนร่วมมากขึ้น ซึ่งทำให้ทำงานสนุก และมีความสุขมากขึ้น

          ผลิตผลความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากโครงการฯ ทั้งต่อตัวนักถักทอ เยาวชน ครอบครัว รวมถึงชุมชนเอง อาจจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากคนในชุมชน หรือในครอบครัว ยังไม่สามารถลดช่องว่างระหว่างกัน และหันมาดูแลกันได้ ซึ่งตัวอย่างความร่วมมือนี้ จะเป็นตัวอย่างที่ดีของการมีส่วนร่วมในชุมชน เปรียบเสมือนยาขนานดีหนึ่งที่มีความสำคัญ สามารถป้องกันและรักษาปัญหาของเด็ก เยาวชน และครอบครัวให้ทุเลาลง เป็นกระบวนการ ‘ปลูกจิตสำนึก’ และ ‘สร้างคน’ ที่มีคุณภาพอย่างแท้จริง

หากมีโอกาสได้เข้าไปเรียนรู้กิจกรรมต่างๆ ที่มีมุมมองน่าสนใจ ผู้เขียนจะทยอยนำเรื่องราวดีๆ มาแบ่งปันผู้อ่านกันอีกเรื่อยๆ หากท่านใดสนใจสามารถรอติดตามกันต่อได้ในบล็อกมูลนิธิสยามกัมมาจลนี้ หรือในเว็บไซต์มูลนิธิฯ(http://www.scbfoundation.com) และในเฟซบุ๊กมูลนิธิฯ (https://www.facebook.com/SCBFOUNDATION)

หมายเลขบันทึก: 553152เขียนเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2013 14:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2013 14:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

กิจกรรมดี ๆ ควรส่งเสริม ส่วนที่กิจกวรรมเลว ๆ ควรไล่ส่งอย่างนักการเมืองที่คิดจะให้มี พ.ร.บ. นิรโทษกรรม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท