คำนิยม หนังสือ “พุทธวิทยาศาสตร์แห่งชีวิต ภาคต้น ชีวิต พระพุทธศาสนา และ วิทยาศาสตร์”


หลักการพัฒนาชีวิตมนุษย์ หรือหลักการศึกษา ระบุไว้ชัดเจนมานานแล้ว ว่าต้องเน้นพัฒนาให้เป็นคนเต็มคน มีพัฒนาการทั้งด้านนอกและด้านใน คือไม่เฉพาะมีความรู้ความเข้าใจ ธรรมชาติและโลกภายนอกตัวเท่านั้น ยังต้องเข้าใจชีวิตจิตใจภายในตนเองด้วย

คำนิยม หนังสือ “พุทธวิทยาศาสตร์แห่งชีวิต ภาคต้น ชีวิต พระพุทธศาสนา และ วิทยาศาสตร์”

 

 

คำนิยม

 

หนังสือ พุทธวิทยาศาสตร์แห่งชีวิต ภาคต้น  ชีวิต พระพุทธศาสนา และ วิทยาศาสตร์

 

วิจารณ์ พานิช

 

………………

 

ชื่อ พุทธวิทยาศาสตร์แห่งชีวิต ของหนังสือชุดนี้ (ซึ่งมี ๓ เล่ม) บอกชัดเจนว่า เป็นหนังสือตีความชีวิต ของมนุษย์ ด้วยหลักการของพุทธศาสนา และด้วยวิทยาศาสตร์   หรือเป็นหนังสือที่เชื่อมโยงพุทธศาสนา วิทยาศาตร์ และชีวิต เข้าด้วยกัน   เขียนโดยวิศวกรที่มีใจฝักใฝ่ในพุทธศาสนามาเป็นเวลานาน   และเป็นผู้ค้นคว้ามาก ทั้งในด้านวิทยาศาสตร์ และในด้านพุทธศาสนา

ผมเข้าใจว่า หนังสือชุดนี้เป็นการริเริ่มครั้งแรกในประเทศไทย    ในเล่มแรก ชีวิต พระพุทธศาสนา และ วิทยาศาสตร์ เป็นการรวบรวม ตีความ และเขียนเผยแพร่ ความเชื่อมโยงระหว่างพุทธศาสนา วิทยาศาสตร์ และชีวิต อย่างรอบด้านครบถ้วน   โดย จะถือว่าเป็น หนังสือวิทยาศาสตร์ก็ได้ เพราะค่อนเล่มเป็นข้อความรวบรวมและตีความความรู้ความก้าวหน้า ทางวิทยาศาสตร์     จะถือเป็นหนังสือพุทธศาสนาก็ได้ เพราะมีการอ้างอิงตีความหัวใจของพุทธศาสนา จากมุมมองของปราชญ์ หลากหลายสาขา รวมทั้งปราชญ์ในพระพุทธศาสนายุคปัจจุบันของไทย   แต่ผมมองว่า หัวใจของหนังสือเล่มนี้อยู่ที่การทำความเข้าใจชีวิตของมนุษย์   ทำความเข้าใจจากมุมมองของพระพุทธศาสนา และจากมุมมองของวิทยาศาสตร์ ประกอบกัน หรือมองอย่างบูรณาการ

หนังสือเล่มนี้ ชี้ให้เห็นว่า ยิ่งความรู้ทางวิทยาศาสตร์ก้าวหน้าเพียงไร ก็ยิ่งใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ อธิบายหลักการของพุทธศาสนาอย่างเป็นรูปธรรมได้มากขึ้นเพียงนั้น   และยิ่งยืนยันหลักการของพุทธศาสนา ว่าเป็นแนวทางดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง และเป็นไปตามหลักธรรมชาติ   ดังข้อสรุปในหน้า ๒๔๘ ของหนังสือว่า “ความสำคัญในการเรียนรู้ตามแนวทางพระพุทธศาสนา คือ การเรียนรู้ความจริงของธรรมชาติและชีวิต”   ซึ่งควรเป็นไปตามข้อความในหน้าสุดท้ายของหนังสือ ที่กล่าวว่า “แม้ธรรมชาติจะมีการกำหนดรูปแบบของชีวิต ไว้พอสมควร    แต่ชีวิตปัจจุบันและอนาคตจะเป็นอย่างไร    ก็อยู่ที่ตัวเราเองเป็นผู้ตัดสินใจ    ดังนั้น  การกระทำในปัจจุบัน จึงมีความสำคัญ    ซึ่งเราควรมีสติรู้ตัวในปัจจุบันอยู่ตลอดเวลา”

หากได้รวบรวมและสรุปองค์ความรู้ด้านประสาทวิทยาศาสตร์ (Neuroscience) ที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว   จะเข้าใจเรื่องกลไกการรับรู้และเรียนรู้ ที่เป็นปรากฏการณ์ในสมอง    ที่ทำให้การปฏิบัติฝึกฝนนำไปสู่ การเปลี่ยนแปลงการเชื่อมโยงเครือข่ายใยประสาทในสมอง   เชื่อมโยงวิทยาศาสตร์ของมิติด้านการพัฒนาโลก ภายนอก กับมิติด้านการพัฒนาธรรมภายใน ตามรูปที่ ๗ หน้า ๒๓๐     “พุทธวิทยาศาสตร์แห่งชีวิต” ก็จะชัดเจนยิ่งขึ้น   และเป็นหลักฐานสนับสนุนข้อความในหน้า ๑๘๔ ว่า “จิตเป็นเพียงสังขตธรรม หรือเรียกทางวิทยาศาสตร์ว่า เป็นเพียงปรากฏการณ์ของธรรมชาติ ที่เกิดขึ้นจากการถูกปรุงแต่ง ขึ้นมาตามเหตุปัจจัย”  และ “โลกที่เรารับรู้ว่าจริงนั้น แท้จริงเป็นเพียงมายาของข้อมูลที่ถูกรับรู้   และถูกสมมติสร้างเป็นการรับรู้ว่าเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้” (หน้า ๑๖๑)    องค์ความรู้ด้านประสาทวิทยาศาสตร์นี้ ส่วนหนึ่งจะอยู่ในหนังสือเล่มที่สองของชุด ธรรมชาติของร่างกาย และ จิต  

อ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว ผมสรุปกับตนเองว่า    โลกเรา หรืออย่างน้อยสังคมไทย ในปัจจุบัน ดำเนินการเชื่อมโยงระหว่างศาสนา กับชีวิตผู้คน ไปในทางที่ผิด    โดยเราแยกการพัฒนาด้านจิตใจ หรือด้านศาสนา   ออกจากการพัฒนาความรู้ความสามารถในการประกอบสัมมาชีพ และการดำรงชีวิตที่ดี   การพัฒนาคนแบบแยกส่วน ระหว่างพัฒนาการในทางธรรม (ศาสนา) หรือพัฒนาการด้านใน   กับการพัฒนาความรู้และทักษะในทางโลก หรือพัฒนาการด้านนอก   เป็นความผิดพลาดที่สำคัญยิ่งของการศึกษาไทย   และการศึกษาของประเทศต่างๆ ทั่วโลก   เป็นความผิดพลาดที่นำพาอารยธรรมมนุษย์ไปในทางมิจฉาทิฏฐิแห่งความโลภ ความเห็นแก่ตัวจัด  และความรุนแรง   อย่างที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน

ที่จริง หลักการพัฒนาชีวิตมนุษย์ หรือหลักการศึกษา ระบุไว้ชัดเจนมานานแล้ว    ว่าต้องเน้นพัฒนาให้เป็นคนเต็มคน    มีพัฒนาการทั้งด้านนอกและด้านใน    คือไม่เฉพาะมีความรู้ความเข้าใจ ธรรมชาติและโลกภายนอกตัวเท่านั้น    ยังต้องเข้าใจชีวิตจิตใจภายในตนเองด้วย    นักวิทยาศาสตร์ร่วมสมัยที่ศึกษา (เน้นที่การฝึกปฏิบัติ) และเผยแพร่แนวคิดนี้อย่างกว้างขวางท่านหนึ่งคือ ศาสตราจารย์ อาเธอร์ ซาย้องค์ (Arthur Zajonc) นักฟิสิกส์ที่ฝักใฝ่การพัฒนาจิต   และเวลานี้เป็น president ของ Mind and Life Institute

แต่ระบบการศึกษาไทยในปัจจุบัน ได้แยกเอาการเรียนรู้เพื่อฝึกฝนจิตใจในทางธรรมออกไป   เหลือเฉพาะการเรียนวิชาทางโลกอยู่ในหลักสูตร   มีผลทำให้คนไทยมีความอ่อนแอทางจิตใจ กระแสวัตถุนิยมเข้าครอบงำโดยง่าย    ท่านพุทธทาสจึงเรียกการศึกษาไทยในปัจจุบัน ว่า “การศึกษาหมาหางด้วน”

ผมขอแสดงความชื่นชม ต่อผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ คือ ดร. รุ่งเรือง ลิ้มชูปฏิภาณ์ (ผู้ที่ผมยังไม่เคยรู้จักเป็นการส่วนตัว) ที่มีฉันทะและวิริยะในการค้นคว้าและเขียนหนังสือชุดนี้ออกเผยแพร่แก่สังคมไทย   และขอขอบคุณมูลนิธิพัฒนาการเรียนรู้เด็กไทย และบริษัท ซัม ซิสเท็ม จำกัด ที่จัดพิมพ์เผยแพร่หนังสือชุดที่มีคุณค่ายิ่งนี้    ขอให้ทุกท่านที่เกี่ยวข้อง ได้มีความสุขจากกุศลกรรมอันยิ่งใหญ่นี้เทอญ

 

วิจารณ์ พานิช

๓๐ ตุลาคม ๒๕๕๖

 

 

หมายเลขบันทึก: 552385เขียนเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2013 12:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2013 12:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท