พระบุคลิกภาพของสมเด็จฯ พระบรมราชชนก-ตอนที่ ๒


พระบุคลิกภาพของสมเด็จฯ พระบรมราชชนก *

ตอน ๒ 

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงมีพระบุคลิกลักษณะที่พึงเห็นได้ดังนี้

 อ่าน พระบุคลิกภาพ ตอนที่ ๑

๔.ค่านิยมขะมักเขม้นเคร่งครัดงาน

               การใดก็ตามที่สมเด็จฯ พระบรมราชชนกจะทรงกระทำไม่ว่าจะเป็นการศึกษา หรือการงาน พระองค์จะทรงทำด้วยความตั้งพระทัยอันแน่วแน่ ด้วยความขะมักเขม้นเคร่งครัดและด้วยความเสียสละซึ่งสิ่งที่พระองค์ทรงมี เพื่อให้การนั้นสำเร็จลุล่วงไปด้วยดีและเมื่อพระองค์ทรงยึดถือปฏิบัติพระองค์เช่นนั้น ก็โปรดที่จะทรงเห็นบุคคลอื่นยึดถือปฏิบัติเช่นเดียวกัน   ในกิจการและงานราชการเพื่อประชาชนประเทศชาติ และพระมหากษัตริย์ของพระองค์    ดร.เอลลิส ได้กล่าวถึงว่า สมเด็จฯ พระบรมราชชนกทรงเป็นอริของความไร้ประสิทธิภาพ การทุจริตคิดมิชอบ   ความเกียจคร้าน   ความไม่มีศีลธรรม การสอพลอเล่นเล่ห์เพทุบาย    ตลอดจนการเสแสร้งทั้งปวง และพระองค์ได้ทรงแสดงออกถึงความไม่พอพระทัยกับสิ่งเหล่านี้ ทั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการ

            ในส่วนที่สมเด็จฯ พระบรมราชชนกทรงปฏิบัติพระองค์ อันเป็นการแสดงออกถึงค่านิยมข้อนี้ มีกรณีต่างๆ อยู่มาก เช่นในปี พ.ศ. ๒๔๖๓    ในช่วงเวลาที่เสด็จกลับมากรุงเทพฯ  ดังได้กล่าวถึงแล้วข้างต้นมีปัญหาเรื่องพยาธิในเส้นเลือด พระองค์สนพระทัยและมีพระประสงค์จะทรงศึกษาด้วยพระองค์เอง โดยการตรวจเลือดนักโทษในเรือนจำ   แต่จะต้องตรวจในเวลากลางคืน    เพราะเป็นเวลาที่พยาธิชนิดนี้ปรากฏตัว พระองค์เสด็จไปกับคณะผู้ช่วยและได้ทำการเจาะเลือดผู้ต้องโทษรวม ๑๒๘ คน จนเสร็จ ซึ่งเป็นเวลาหลังเที่ยงคืนแล้ว

              ในกรณีที่ทรงมีงานส่วนพระองค์และงานของประเทศชาติ ที่ทรงปฏิบัติในช่วงเวลาเดียวกัน ก็จะทรงอุทิศพระองค์แก่งานของชาติ     ดังเช่น ในกรณีที่ทรงศึกษาวิชาแพทย์อยู่ที่ฮาร์วาร์ดนั้น เมื่อต้องทรงรับหน้าที่เป็นผู้แทนรัฐบาลเจรจากับมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์เกี่ยวกับความช่วยเหลือปรับปรุงโรงเรียนแพทย์และโรงเรียนพยาบาลศิริราช   จึงทรงอุทิศพระองค์แก่งานเจรจากับมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์เกี่ยวกับความช่วยเหลือปรับปรุงโรงเรียนแพทย์และโรงเรียนพยาบาลศิริราช จึงทรงอุทิศพระองค์แก่งานเจรจากับมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ก่อน เริ่มตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. ๒๔๖๓ เป็นต้นมา       เรื่องที่ต้องเจรจาตกลงกันมีอยู่มาก นับตั้งแต่การจัดทำแผนงาน ภาระกิจที่แต่ละฝ่ายจะพึงรับ และรายละเอียดต่างๆ ทั้งหมด       ซึ่งต่อมาขายรวมถึงการปรับปรุงพัฒนาคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ เพื่อยกระดับการศึกษาวิชาาพื้นฐานที่ให้แก่ผู้จะเข้าศึกษาวิชาแพทย์ที่ศิริราช ตลอดจนการพัฒนาโรงเรียนพยาบาลและผดุงครรภ์ของศิริราชเองด้วย

                ในการนี้ สมเด็จฯ พระบรมราชชนก ต้องทรงเจรจากับบุคคลในระดับตั้งแต่ ประธานของมูลนิธิจนถึงหัวหน้าหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง และเสด็จไปเจรจาที่กรุงลอนลอน กรุงเบอร์น และกรุงปารีส เป็นระยะตามความจำเป็น

               ความลุล่วงสำเร็จผลในการนี้ สืบเนื่องมาจากทางมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ประทับใจในความสนพระทัยอันแรงกล้าในการยกมาตรฐานการศึกษาวิชาแพทย์ พระปรีชาสามารถและความเข้าพระทัยอย่างดีเยี่ยมของพระองค์ในปัญหาการแพทย์และการสาธารณสุขของประเทศ ความสุจริตพระทัยและตรงไปตรงมาของพระองค์ การทรงทุ่มเทสละพระราชทรัพย์ส่วนประองค์แก่โรงเรียนแพทย์และโรงเรียนพยาบาล เหล่านี้ทำให้มูลนิธิฯ เชื่อมั่นว่าการลงทุนให้ความช่วยเหลือตามที่ได้ทรงเจรจาไว้ ย่อมได้ผลสมความมุ่งหมาย

                หลังจากที่ได้ทรงศึกษาสำเร็จตามหลักสูตร และทรงได้รับประกาศนียบัตรสาธารณสุขจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และเสด็จกลับเมืองไทยแล้ว ในช่วงตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. ๒๔๖๗ จนถึงกลางปี พ.ศ. ๒๔๖๘     ทั้งในขณะที่ทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมมหาวิทยาลัยและข้าหลวงตรวจการศึกษาทั่วไป      สมเด็จพระบรมราชชนก ทรงขะมักเขม้นกับกิจการปรับปรุงพัฒนาการศึกษาวิชาพื้นฐานวิชาแพทย์ และวิชาด้านต่างๆ ที่เกี่ยวกับการแพทย์โดยเฉพาะการสาธารณสุข อีกทั้งยังทรงสอนวิชาแก่นักศึกษาเตรียมแพทย์ ทรงควบคุมดูแลการบริหารงานด้านต่างๆ ของโรงเรียนแพทย์และโรงพยาบาล แม้กระทั่งการที่ทรงประสานให้ร่วมมือกันระหว่างโรงเรียนแพทย์กับสภาการแพทย์    ซึ่งจัดตั้งขึ้นใหม่โดยพระราชบัญญัติการแพทย์พุทธศักราช ๒๔๖๖     เพื่อป้องกันมิให้เกิดความขัดแย้งระหว่างบุคคลแต่ละฝ่ายที่จะต้องทำงานร่วมกันเพื่อความก้าวหน้าของการแพทย์

                      ในช่วงระยะเวลาเกือบ ๒ ปีเต็มนี้    สมเด็จพระบรมราชชนกต้องทรงงาน หนักที่สุดและด้วยความยากลำบากที่สุดของพระกรณียกิจทั้งปวง ที่พระองค์ทรงใช้พระวิริยอุตสาหะในการปฏิรูปและพัฒนาการแพทย์และการสาธารณสุขของประเทศให้เจริญก้าวทันเหตุการณ์ และเป็นช่วงระยะเวลาที่โรงเรียนแพทย์และโรงพยาบาลศิริราชเจริญรุดหน้า กระนั้นก็ตาม พระองค์ก็ยังทรงรู้สึกผิดหวังที่กิจการต่างๆ มิได้ก้าวไปเร็วเท่าที่ควร ตามแผนงานของพระองค์ โดยได้ทรงปรารภเรื่องนี้กับ ดร. เอลลิส ด้วยความสลดพระทัย การที่ต้องทรงงานอย่างหนักและความกังวลพระทัยว่ากิจการงานไม่ก้าวหน้าเร็วเท่าที่ควร ย่อมมีผลไม่เป็นคุณแก่พระวรกายและพระอนามัย

              สมเด็จฯ พระบรมราชชนก ทรงมีเหตุอันเป็นปฏิปักต่อพระชนม์ชีพ ของพระองค์อยู่ ๒ อย่างคือ การที่ทรงตรากตรำคร่ำเคร่งอยู่กับพระกรณียกิจ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาหรือกิจการงานก็ตาม กับโรคพระวักกะพิการ ซึ่งพระองค์ทรงทราบดีจากผลการตรวจโดยคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ของฮาร์วาร์ดว่าพระวักกะจะทำงานได้พอควร แต่ถ้ามีเหตุกระทบพระอนามัย แม้กระทั่งเพียงทรงเป็นหวัด พระวักกะพิการจะเริ่มสำแดงเหตุ ดร. เอลลิส เล่าว่า เมื่อสมเด็จฯ พระบรมราชชนก ตรัสถึงเรื่องนี้ก็ไม่ทรงวิตกกังวลให้เห็นแม้แต่น้อย แต่พระองค์ก็คงจะทรงระวังมิให้กิจกรรมที่ทรงปฏิบัติเกิดภาระหนักเกินกว่าที่พระวักกะพิการจะพึงรับได้ พระชนม์ชีพ ของสมเด็จฯ พระบรมราชชนก จึงขึ้นอยู่กับความสมดุลระหว่างการทรงงานของพระองค์อันไม่เป็นการตรากตรำพระวรกาย กับการทำงานของพระวักกะพิการ

                 แต่ตามความเป็นจริงนั้น พระกรณียกิจต่างๆ ที่ได้ทรงตรากตรำคร่ำเคร่งปฏิบัติมาโดยตลอดนั้น บ่งชี้ชัดว่าเป็นภาระอย่างหนักแม้กระทั่งสำหรับบุคคลผู้มีกำลังวังชาอนามัยสมบูรณ์ แต่ก็เป็นสิ่งที่น่าพิศวรเมื่อคำนึงว่าระหว่างเสด็จกลับเมืองไทย ในปี ๒๔๖๖    นายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญคนหนึ่งที่ยุโรปกราบทูลว่าพระองค์จะมีพระชนม์ชีพอยู่ได้อีกไม่เกิน ๒ ปี ครั้นถึงเมืองไทยก็ทรงงานอย่างคร่ำเคร่งดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น โดยมิได้ทรงแสดงความวิตกกังวลพระอนามัยให้ผู้อื่นที่ทรงร่วมงานด้วยได้รับทราบซึ่งมิใช่วิสัยของมนุษย์ปุถุชนที่จะมีความอดทน และกล้าหาญ เช่นนั้น

                   การศึกษาวิชาแพทย์ของพระองค์ที่ฮาร์วาร์ด ยังค้างอยู่อีก ๒ ปีสุดท้าย ด้วยพระปณิธานที่จะทรงศึกษาให้สำเร็จ         สมเด็จฯ พระบรมราชนกจึงเสด็จกลับไปฮาร์วาร์ด ทรงศึกษาอยู่ระหว่างปี ๒๔๖๙ ถึง ๒๔๗๑        ในช่วงนี้ แม้จะทรงคร่ำเคร่งอยู่กับการศึกษา แต่ก็ใส่พระทัยเรื่องโรงเรียนแพทย์และโรงพยาบาลศิริราช รวมทั้งการเจรจากับมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ เกี่ยวกับการร่วมมือให้ความช่วยเหลือสืบต่อไปแก่โรงเรียนพยาบาลโดยพระองค์ทรงรับภาระจ่ายเงินเดือนจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์แก่ครูพยาบาลที่มูลนิธิฯ   จัดส่งมาเช่นเดียวกับที่พระองค์ทรงจ่ายให้แก่ครูพยาบาลสองคนที่ได้มาปฏิบัติการอยู่แล้ว

             ความขะมักเขมันศึกษาของพระองค์ได้ผลดีเยี่ยม ทรงสอบได้ปริญญาแพทยศาสตร์บัณฑิตเกียรตินิยมและทรงได้รับเกียรติเป็นสมาชิก Alpha Omega Alpha       ทั้งนี้ โดยที่พระองค์มิได้ทรงย่อท้อจำนนต่ออุปสรรค โรคพระวักกะอักเสบรุนแรงในตอนกลางปีสุดท้าย ครั้นเมื่อพระอาการดีขึ้น ก็ทรงพระประชวรด้วยพระอาการไส้ติ่งอักเสบในช่วงการสอบไล่ปลายปีอีกด้วย จนถึงกับทางมหาวิทยาลัยถวายสิทธิพิเศษยกเว้นการสอบไล่ แต่ก็ไม่ทรงยินยอม ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วข้างต้น

               พระอนามัยที่ทรุดโทรมลงไปมาก ไม่อำนวยให้สมเด็จฯ พระบรมราชชนกทรงศึกษาต่อเกี่ยวกับโรคเด็กตามพระดำริ จึงเสด็จไปยุโรปเพื่อทรงพักฟื้นก่อนเสด็จนิวัติเมืองไทย แต่ก็ทรงอดมิได้ที่จะทรงงานโดยเสด็จเยี่ยมศึกษากิจการโรงพยาบาลและการแพทย์ และทรงเยี่ยมนักศึกษาของพระองค์ตลอดจนทรงรวบรวมวารสารการแพทย์ที่จะทรงนำกลับมาด้วย และทรงรวบรวมจัดส่งบัญชีรายชื่อวารสารอื่นๆ อีกส่งมากรุงเทพฯ ให้ทางศิริราชตรวจสอบ เพื่อจะมิได้ทรงซื้อหาซ้ำกับของเดิมที่มีอยู่แล้ว

                 กรณีต่างๆ ดังได้ยกขึ้นมากล่าวนี้ เป็นเพียงบางส่วนของพระกรณียกิจอีกมากมายที่สมเด็จฯ พระบรมราชชนกได้ทรงปฏิบัติ ซึ่งแสดงให้เห็นว่างานคือพระชนม์ชีพของพระองค์ งานเพื่อประโยชน์สุขของมนุษยชาติ งานเพื่อการมีชีวิตและสุขภาพอนามัยที่ดีของประชาชนของพระองค์ อันเป็นพระราชภารกิจแห่งพระชนม์ชีพของพระองค์

๕. คุณธรรมอนัตตา

                 การใดก็ตามที่สมเด็จฯ พระบรมราชชนก ทรงปฏิบัติหรือทรงรับเป็นพระราชภาระ พระองค์มิได้ทรงหวังและไม่ทรงยินยอมรับค่าตอบแทนเพื่อพระองค์เอง ไม่ว่าสิ่งตอบแทนนั้นจะเป็นผลประโยชน์ทางวัตถุ หรือลาภ ยศ สรรเสริญ พระองค์ทรงเป็นผู้ให้ ไม่ทรงเป็นผู้รับ พระองค์ไม่ทรงถืออัตหิต ไม่ทรงมีอัตเหตุ และทรงปราศจากอัตตะ

                  ตัวอย่างที่จะยกมากล่าวชี้ให้เห็นข้อนี้มีอยู่มาก แต่ที่ดีที่สุดเห็นจะได้แก่การพระราชทานเงินส่วนพระองค์ในครั้งแรก จำนวน ๒๐๐,๐๐๐ บาท เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๓       เป็นทุนการศึกษาให้แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อใช้ดอกผลส่งนักศึกษาและอาจารย์ไปศึกษาต่างประเทศเป็นเวลา ๔ ปี หรือมากกว่านั้น เพื่อศึกษาวิชาแพทย์ หรือวิชาวิทยาศาสตร์พื้นฐาน คือ วิชาเคมี ฟิสิกส์ และชีววิทยา เมื่อทางมหาวิทยาลัยทราบข่าวอันเป็นที่ปิติยินดีอย่างยิ่งนี้ จึงจัดเตรียมพิธีรับมอบทุนเพื่อแสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ       โดยมี คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนักศึกษามาร่วมในพิธี และมีกำหนดการกราบบังคมทูลรับพระราชทานทุน ซึ่งเป็นแบบธรรมเนียมสากลที่จัดทำกันในโอกาสเช่นนี้ โดยเฉพาะในบ้านเมืองไทย      เมื่อจะได้รับพระมหากรุณาธิคุณเช่นนี้ จากเจ้าฟ้าผู้ทรงฐานันดรศักดิ์สูงเช่นพระองค์    ก็ยิ่งจำเป็นจะต้องจัดให้สมพระเกียรติยศ แต่แล้วก็เป็นที่ตระหนกตกใจ และผิดหวังอย่างสุดซื้งของทุกคนเมื่อทราบว่าพระองค์ทรงมีพระกระแสรับสั่งมาว่าจะไม่เสด็จในงานพิธีนั้น พระองค์ตรัสว่าทรงเสียพระทัยที่ไม่เสด็จไปและต้องทำให้คนผิดหวังกัน เพราะพระองค์จะทรงทำในสิ่งซึ่งพระองค์ทรงสามารถทำเพื่อมหาวิทยาลัย แต่พระองค์จะไม่เสด็จไปในงานพิธีชุมนุมเช่นนี้ เพื่อจะไปฟังคำยกย่องสรรเสริญพระองค์ พิธีรับมอบพระราชทานทุนจึงเป็นอันต้องยกเลิกไป

๖. พระจริยวัตรอันประกอบด้วยพรหมวิหารสี่

++++โปรดติดตามต่อค่ะ++++
* 100 ปี สมเด็จพระบรมราชชนก โดยศาสตราจารย์ ดร. อดุล วิเชียรเจริญ (บทความพิเศษ สารศิริราช ปีที่ 44 ฉบับที่ 1 เดือนมกราคม 2535)
หมายเลขบันทึก: 55208เขียนเมื่อ 20 ตุลาคม 2006 08:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ตอนต่อไปมาเมื่อไหรคับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท