มงคลชีวิต 38 ประการ คุณธรรมที่ปฏิบัติตามย่อมเป็นสุข ตอนที่2


มงคลชีวิต 38 ประการ คุณธรรมที่ปฏิบัติตามย่อมเป็นสุข ตอนที่2
 
 
21. ไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย

ธรรมในที่นี้ก็คือหลักปฏิบัติที่ทำแล้วมีผลในทางดีและเป็นจริงที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงโปรดแนะทางไว้

คนที่ประมาทในธรรมนั้นมีลักษณะที่สรุปได้ ดังนี้ 

1. ไม่ทำเหตุดี แต่จะเอาผลดี

2. ทำตัวเลว แต่จะเอาผลดี

3. ทำย่อหย่อน แต่จะเอาผลมาก

สิ่งที่ไม่ควรประมาทได้แก่

1. การประมาทในเวลา คือ การปล่อยให้เวลาล่วงเลยไปโดยไม่ทำอะไรให้เกิดประโยชน์ หรือผลัดวันประกันพรุ่ง เป็นต้น

2. การประมาทในวัย คือ คิดว่าอายุยังน้อย ไม่ต้องทำความเพียรก็ได้เพราะยังต้องมีชีวิตอยู่อีกนาน เป็นต้น

3. การประมาทในความไม่มีโรค คือ คิดว่าตัวเองแข็งแรงไม่ตายง่ายๆ ก็ปล่อยปละละเลย เป็นต้น

4. การประมาทในชีวิต คือ การไม่กำหนดวางแผนถึงอนาคต คิดอยู่แต่ว่ายังมีชีวิตอยู่อีกนาน เป็นต้น

5. การประมาทในการงาน คือ ไม่ขยันตั้งใจทำให้สำเร็จ ปล่อยตามเรื่องตามราว หรือปล่อยให้ดินพอกหางหมู เป็นต้น

6. การประมาทในการศึกษา คือ การไม่คิดศึกษาเล่าเรียนในวัยที่ควรเรียน หรือขาดความเอาใจใส่ที่เพียงพอ

7. การประมาทในการปฏิบัติธรรม คือ การไม่ปฏิบัติสมาธิภาวนาหรือศึกษาหลักธรรมให้ถ่องแท้ เพราะคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว เป็นต้น

22. มีความเคารพ

ท่านได้กล่าวว่าสิ่งที่ควรเคารพมีอยู่ดังนี้

1. พระพุทธเจ้า

2. พระธรรม

3. พระสงฆ์

4. การศึกษา

5. ความไม่ประมาท คือ การดำเนินตามหลักธรรมคำสอนพระพุทธศาสนาอื่น ๆ ด้วยความเคารพ

6. การสนทนาปราศรัย คือ การต้อนรับอาคันตุกะผู้มาเยือนด้วยความเคารพ 

23. มีความถ่อมตน

ความ อ่อนน้อมถ่อมตน คือ การไม่แสดงออกถึงความสามารถที่ตัวเองมีอยู่ให้ผู้อื่นทราบเพื่อข่มผู้อื่น หรือเพื่อโอ้อวด การไม่อวดดี เย่อหยิ่งจองหอง แต่แสดงตนอย่างสงบเสงี่ยม

ท่านว่าไว้ว่าโทษของการอวดดีนั้นมีอยู่ดังนี้

1. ทำให้เสียคน คือ ไม่สามารถกลับมาอยู่ในร่องในรอยได้เหมือนเดิม เสียอนาคต

2. ทำให้เสียมิตร คือ ไม่มีใครคบหาเป็นเพื่อนด้วย ถึงจะมีก็ไม่ใช่เพื่อนแท้

3. ทำให้เสียหมู่คณะ คือ ถ้าต่างคนต่างถือดี ก็ทำให้ไม่สามารถตกลงกันได้ ในที่สุดก็ไม่ถึงจุดหมาย หรือทำให้เป็นที่เบื่อหน่ายของคนอื่น

การทำตัวให้เป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตนนั้นมีหลักดังนี้

1. ต้องคบกัลยาณมิตร คือ เพื่อนที่ดีมีศีลมีธรรม คอยตักเตือนหรือชักนำไปในทางที่ดีที่ถูกที่ควร

2. ต้องรู้จักคิดไตร่ตรอง คือ การรู้จักคิดหาเหตุผลอยู่ตลอดถึงความเป็นไปในธรรมชาติของมนุษย์ ต่างคนย่อมต่างจิดต่างใจ และรวมทั้งหลักธรรมอื่น ๆ

3. ต้องมีความสามัคคี คือ การมีความสามัคคีในหมู่คณะ อลุ่มอล่วยในหลักการ ตักเตือน รับฟังและเคารพความคิดเห็นของผู้อื่นอย่างมีเหตุผล

ท่านว่าลักษณะของคนถ่อมตนนั้นมีดังนี้

1. มีกิริยาที่นอบน้อม

2. มีวาจาที่อ่อนหวาน

3. มีจิตใจที่อ่อนโยน

สรุปแล้วก็คือ สมบูรณ์พร้อมด้วยกาย วาจา และใจนั่นเอง

24. มีความสันโดษ

คำ ว่าสันโดษไม่ได้หมายถึงการอยู่ลำพังคนเดียวอย่างเดียวก็หาไม่ แต่หมายถึงการพอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่ ในของของตัว ซึ่งท่านได้ให้นิยามที่เป็นลักษณะของความสันโดษเป็นดังนี้ 

1. ยถาลาภสันโดษ หมายถึง ความยินดีตามมีตามเกิด คือมีแค่ไหนก็พอใจเท่านั้น เป็นอยู่อย่างไรก็ควรจะพอใจ ไม่คิดน้อยเนื้อต่ำใจในสิ่งที่ตัวเองเป็นอยู่

2. ยถาพลสันโดษ หมายถึง ความยินดีตามกำลัง เรามีกำลังแค่ไหนก็พอใจเท่านั้น ตั้งแต่กำลังกาย กำลังทรัพย์ กำลังบารมี หรือกำลังความสามารถ เป็นต้น

3. ยถาสารูปสันโดษ หมายถึง ความยินดีตามควร ซึ่งโยงใยไปถึงความพอเหมาะพอควรในหลาย ๆ เรื่อง เช่นรูปลักษณ์ของตนเอง และรวมทั้งฐานะที่เราเป็นอยู่

25. มีความกตัญญู

คือการรู้คุณ และตอบแทนท่านผู้นั้น บุญคุณที่ว่านี้มิใช่ว่าตอบแทนกันแล้วก็หายกัน แต่หมายถึงการรำลึกถึงพระคุณที่เคยให้ความอุปการะแก่เราด้วยความเคารพยิ่ง ท่านว่าสิ่งของหรือผู้ที่ควรกตัญญูนั้นมีดังนี้

1. กตัญญูต่อบุคคล บุคคลที่ควรกตัญญูก็คือ ใครก็ตามที่มีบุญคุณควรระลึกถึงและตอบแทนพระคุณ เช่น บิดา มารดา อาจารย์ เป็นต้น

2. กตัญญูต่อสัตว์ ได้แก่ สัตว์ที่มีคุณต่อเราช่วยทำงานให้เรา เราก็ควรเลี้ยงดูให้ดีเช่นช้าง ม้า วัว ควาย หรือสุนัขที่ช่วยเฝ้าบ้าน เป็นต้น

3. กตัญญูต่อสิ่งของ ได้แก่ สิ่งของทุกอย่างที่มีคุณต่อเราเช่น หนังสือที่ให้ความรู้แก่เรา อุปกรณ์ทำมาหากินต่าง ๆ เราไม่ควรทิ้งขว้าง หรือทำลายโดยไม่เห็นคุณค่า

26. การฟังธรรมตามกาล

เมื่อมีโอกาส เวลา หรือตามวันสำคัญต่าง ๆ ก็ควรต้องไปฟังธรรมบ้างเพื่อสดับตรับฟังสิ่งที่เป็นประโยชน์ในหลักธรรมนั้น ๆ และนำมาใช้กับชีวิตเราเพื่อปรับปรุงให้ดีขึ้น ท่านว่าเวลาที่ควรไปฟังธรรมนั้นมีดังนี้ 

1. วันธรรมสวนะ ก็คือวันพระ หรือวันที่สำคัญทางศาสนา

2. เมื่อมีผู้มาแสดงธรรม ก็อย่างเช่น การฟังธรรมตามวิทยุ การที่มีพระมาแสดงธรรมตามสถานที่ต่าง ๆ หรือการอ่านจากสื่อต่าง ๆ

3. เมื่อมีโอกาสอันสมควร เช่น ในวันอาทิตย์เมื่อมีเวลาว่าง หรือในงานมงคล งานบวช งานกฐิน งานวัด เป็นต้น

คุณสมบัติของผู้ฟังธรรมที่ดีควรต้องมีดังนี้

1. ไม่ดูแคลนในหัวข้อธรรมว่าง่ายเกินไป

2. ไม่ดูแคลนในความรู้ความสามารถของผู้แสดงธรรม

3. ไม่ดูแคลนในตัวเองว่าโง่ ไม่สามารถเข้าใจได้

4. มีความตั้งใจในการฟังธรรม และนำไปพิจารณา

5. นำเอาธรรมนั้น ๆไปปฏิบัติให้เกิดผล

27. มีความอดทน

ท่านว่าลักษณะของความอดทนนั้นสามารถจำแนกออกได้เป็นดังต่อไปนี้

1. ความอดทนต่อความลำบาก คือ ความลำบากที่ต้องประสพตามธรรมชาติ ซึ่งอาจมาจากสภาพแวดล้อม เป็นต้น

2. ความอดทนต่อทุกขเวทนา คือ ทุกข์ที่เกิดจากสังขารของเราเอง เช่นความไม่สบายกาย เป็นต้น

3. ความอดทนต่อความเจ็บใจ คือ การที่คนอื่นทำให้เราต้องผิดหวัง หรือพูดจาให้เจ็บช้ำใจ ไม่เป็นอย่างที่หวัง เป็นต้น

4. ความอดทนต่ออำนาจกิเลส คือ สิ่งยั่วยวนทั้งหลายถือเป็นกิเลสทั้งทางใจและทางกาย เช่น ความนึกโลภอยากได้ของเขา หรือการพ่ายแพ้ต่ออำนาจเงิน เป็นต้น

วิธีทำให้มีความอดทนคือ มีหิริโอตัปปะ

1. หิริ ได้แก่การมีความละอายต่อบาป การที่รู้ว่าเป็นบาปแล้วยังทำอีกก็ถือว่าไม่มีความละอายเลย

2. โอตตัปปะ ได้แก่การมีความเกรงกลัวในผลของบาปนั้นๆ

28. เป็นผู้ว่าง่าย

ท่านว่าผู้ว่าง่ายนั้นมีลักษณะที่สังเกตได้ดังนี้

1. ไม่พูดกลบเกลื่อนเมื่อได้รับการว่ากล่าวตักเตือน คือ การรับฟังด้วยดี ไม่ใช่แก้ตัวแล้วปิดประตูความคิดไม่รับฟัง

2. ไม่นิ่งเฉยเมื่อได้รับการเตือน คือ การนำคำตักเตือนนั้นมาพิจารณาและแก้ไขข้อบกพร่องนั้นๆ

3. ไม่จับผิดผู้ว่ากล่าวสั่งสอน คือ การที่ผู้สอนอาจจะมีความผิดพลาด เนื่องจากความประมาท เราควรให้อภัยต่อผู้สอน เพราะการจับผิดทำให้ผู้สอนต้องอับอายขายหน้าได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ดีงาม

4. เคารพต่อคำสอนและผู้สอน คือการรู้จักสัมมาคารวะต่อผู้ทำให้คำสอน และเคารพในสิ่งที่ผู้สอนได้นำมาแนะนำ

5. มีความอ่อนน้อมถ่อมตน คือ ไม่แสดงความยโส ถือตัวว่าอยู่เหนือผู้อื่นเพราะสิ่งที่ตัวเองเป็นตัวเองมี

6. มีความยินดีต่อคำสอนนั้น คือ ยอมรับในคำสอนนั้น ๆ ด้วยความยินดีเช่นการไม่แสดงความเบื่อหน่ายเพราะเคยฟังมาแล้ว เป็นต้น

7. ไม่ดื้อรั้น คือ การไม่อวดดี คิดว่าของตัวเองนั้นผิดแต่ก็ยังดันทุรังทำต่อไปเพราะกลัวเสียชื่อ เสียฟอร์ม

8. ไม่ข้ดแย้ง เพราะว่าการว่ากล่าวตักเตือนหรือสั่งสอนนั้นก็คือ สิ่งที่ตรงข้ามกับที่เราทำอยู่แล้ว เราควรต้องเปิดใจให้กว้างไม่ขัดแย้งต่อคำสอน คำวิจารณ์นั้น ๆ

9. ยินดีให้ตักเตือนได้ทุกเวลา คือ การยินดีให้มีการแสดงความคิดเห็นตักเตือนได้โดยไม่มีข้อยกเว้นเรื่องเวลา

10. มีความอดทนต่อการเป็นผู้ถูกสั่งสอน คือ การไม่เอาความขัดแย้งในความเห็นเป็นอารมณ์ แต่ให้เข้าใจเจตนาที่แท้จริงของผู้สอนนั้น

การทำให้เป็นคนว่าง่ายนั้นทำได้ ดังนี้

1. ลดมานะของตัว คือ การไม่ถือดี ไม่ถือตัว ความไม่สำคัญตัวเองว่าเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ เช่น ถือตัวว่าการศึกษาดีกว่า เป็นต้น

2. ละอุปาทาน คือ การไม่ยึดถือในสิ่งที่เรามี เราเป็น หรือถือมั่นในอำนาจกิเลสต่าง ๆ

3. มีสัมมาทิฏฐิ คือ มีปัญญาที่เห็นชอบ การเห็นถูกเห็นควรตามหลักอริยสัจ 4 เชื่อเรื่องความไม่เที่ยง เชื่อในเรื่องบุญเรื่องบาป เป็นต้น

29. การได้เห็นสมณะ

คำว่าสมณะแปลตรงตัวได้ว่า ผู้สงบ (หมายถึงผู้อยู่ในสมณเพศ) ท่านว่าคุณสมบัติของสมณะต้องประกอบไปด้วย 3 อย่าง คือ

1. ต้องสงบกาย คือ มีความสำรวมในการกระทำทุกอย่าง รวมถึงกิริยา มรรยาท ตามหลักศีลธรรม

2. ต้องสงบวาจา คือ การพูดจาให้อยู่ในกรอบของความพอดี มีความสุภาพสงบเสงี่ยมในคำพูดและภาษาที่ใช้ เป็นไปตามข้อปฏิบัติ ประเพณี

3. ต้องสงบใจ คือการทำใจให้สงบปราศจากกิเลสครอบงำ ไม่ว่าจะเป็น โลภ โกรธ หลง หรือความพยาบาทใด ๆ ตั้งมั่นอยู่ในสมาธิภาวนา

การได้เห็นสมณะมีอยู่ดังนี้ คือ

1. เห็นด้วยตา ความหมายก็ตรงตัวคือการเห็นจากการสัมผัสด้วยสายตาของตนเอง แล้วมีความประทับใจในความสำรวมในกาย

2. เห็นด้วยใจ เนื่อ งจากความสำรวมกาย วาจา ใจของสมณะจะช่วยโนัมน้าวจิตใจของเราให้โอนอ่อนผ่อนตาม และรับฟังหลักคำสอนด้วยใจที่ยินดี ซึ่งนั่นก็หมายถึงการเปิดใจเราให้สมณะได้ชี้นำนั่นเอง

3. เห็นด้วยปัญญา หมาย ความถึงการรู้โดยการใช้ปัญญาใคร่ครวญ พิจารณาในการสัมผัสและเข้าถึงและรับรู้ถึงคำสอนของสมณะผู้นั้น และรู้ว่าท่านเป็นผู้ตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรมอย่างแท้จริง

เมื่อเห็นแล้วก็ต้องทำอย่างนี้ คือ

1. ต้องเข้าไปหา คือ เข้าไปขอคำแนะนำ ชี้แนะจากท่าน หรือให้ความเคารพท่าน

2. ต้องเข้าไปบำรุงช่วยเหลือ คือ การช่วยเหลือท่านในโอกาสอันควร เพื่อแบ่งเบาภาระของท่าน

3. ต้องเข้าไปฟัง คือ การรับฟังคุณธรรม หลักคำสอนของท่านมาไว้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาชีวิต

4. หมั่นระลึกถึงท่าน คือ การระลึกถึงความดีที่ท่านมีแล้วนำมาเป็นตัวอย่างกับตัวเราเอง

5. รับฟังรับปฏิบัติ คือ การรับคำแนะนำของท่านมาปฏิบัติทำตามเพื่อให้เกิดผล ครั้นเมื่อติดขัดก็ใคร่แก้ไขเพื่อให้รู้จริงเห็นจริงตามนั้น

30. การสนทนาธรรมตามกาล

การ ได้สนทนากันเรื่องธรรม ทำให้ขยายขอบเขตการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนความรู้ และได้รู้ในสิ่งใหม่ ๆ ที่เราอาจนึกไม่ถึง หรือเป็นการเผื่อแผ่ความรู้ที่เรามีให้แก่ผู้อื่นได้ทราบด้วย

ก่อนที่เราจะสนทนาธรรม ควรต้องพิจารณาและคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้ คือ

1. ต้องรู้เรื่องที่จะพูดดี

2. ต้องพูดเรื่องจริง มีประโยชน์

3. ต้องเป็นคำพูดที่ไพเราะ

4. ต้องพูดด้วยความเมตตา

5. ต้องพูดจาโอ้อวด ยกตนข่มท่าน

ข้อปฏิบัติเมื่อมีการสนทนาธรรม

1. มีศีลธรรม คือ การเป็นผู้ที่รักษาศีล 5 หรือศีล 8 เป็นนิจศีลอยู่แล้ว การเป็นผู้ปฏิบัติถือเป็นหน้าที่ขั้นต้นในการเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี

2. มีสมาธิดี คือ การมีจิตใจจดจ่ออยู่กับเรื่องที่สนทนา ไม่ว่อกแวก พร้อมทั้งเป็นผู้ที่หมั่นเจริญสมาธิภาวนาด้วย

3. แต่งการสุภาพ คือ การแต่งตัวให้เหมาะสมกับยุคสมัย อยู่ในกรอบประเพณีของสังคมแวดล้อม ณ ที่นั้น ๆ ถูกกาลเทศะ

4. มีกิริยาสุภาพ คือ มีความสุภาพในท่วงท่าไม่ว่าจะเดิน นั่ง ยืน หรือการกระทำใดๆ การที่มีกิริยางดงาม สุภาพย่อมโน้มน้าวจิดใจผู้พบเห็นให้เกิดความประทับใจที่ดี

5. ใช้วาจาสุภาพ คือ การใช้ถ้อยคำที่สุภาพในการสนทนา ไม่ใช้คำหยาบคาย หรือก้าวร้าว

6. ไม่กล่าวค้านพระพุทธพจน์ คือ การไม่นำเอาคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามาเป็นข้อสงสัย หรือกล่าวค้าน เพราะสิ่งที่กล่าวไว้ในพระพุทธพจน์ย่อมเป็นความจริงตลอดกาล

7. ไม่ออกนอกประเด็นที่ตั้งไว้ คือ การพูดให้อยู่ในหัวข้อที่ตั้งไว้ ไม่พูดแบบน้ำท่วมทุ่งผักบุ้งโหรงเหรง

8. ไม่พูดนานจนน่าเบื่อ คือ การเลือกเวลาที่เหมาะสมตามสถานการณ์ เนื่องจากเรื่องบางเรื่องอาจไม่จำเป็นต้องขยายความมากเกินไป

31. การบำเพ็ญตบะ

ตบะ โดยความหมายแปลว่า ทำให้ร้อน ไม่ว่าด้วยวิธีใด การบำเพ็ญตบะหมายความถึงการทำให้กิเลส ความรุ่มร้อนต่าง ๆ หมดไป หรือเบาบางลง ลักษณะการบำเพ็ญตบะมีดังนี้

1. การมีใจสำรวมในอินทรีย์ทั้ง 6 (อายตนะภายใน 6 อย่าง) ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ไม่ให้หลงติดอยู่กับสัมผัสภายนอกมากเกินไป ไม่ให้กิเลสครอบงำใจเวลาที่รับรู้อารมณ์ผ่านอินทรีย์ทั้ง 6 (อินทรีย์สังวร)

2. การประพฤติรักษาพรหมจรรย์ เว้นจากการร่วมประเวณี หรือกามกิจทั้งปวง

3. การปฏิบัติธรรม คือการรู้และเข้าใจในหลักธรรมเช่นอริยสัจ เป็นต้น ปฏิบัติตนให้อยู่ในศีล และถึงพร้อมด้วยสมาธิ และปัญญา โดยมีจุดหมายสูงสุดที่พระนิพพาน กำจัดกิเลส ละวางทุกสิ่งได้หมดสิ้นด้วยปัญญา

32. การประพฤติพรหมจรรย์

คำ ว่าพรหมจรรย์ หมายความถึง การบวชซึ่งละเว้นเมถุน การครองชีวิตที่ปราศจากเมถุน การประพฤติธรรมอันประเสริฐ ท่านว่าลักษณะของธรรมที่ถือว่าเป็นการประพฤติพรหมจรรย์นั้น (ไม่ใช่ว่าต้องบวชเป็นพระ) มีอยู่ดังนี้

1. ให้ทาน บริจาคทานไม่ว่าจะเป็นทรัพย์ สิ่งของ เงินทอง หรือปัญญา

2. ช่วยเหลือผู้อื่นในกิจการงานที่ชอบ ที่ถูกที่ควร (เวยยาวัจจมัย)

3. รักษาศีล 5 คือไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักขโมย ไม่ทำผิดในกาม ไม่พูดปด ไม่ดื่มน้ำเมา (เบญจศีล)

4. มีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขากับคนที่เราต้องพบปะด้วยทุกคน (อัปปมัญญา)

5. งดเว้นจากการเสพกาม (เมถุนวิรัติ)

6. ยินดีในคู่ของตน คือการมีสามีหรือภรรยาคนเดียว (สทารสันโดษ)

7. เพียรพยายามที่จะละความชั่ว ไม่ท้อถอยในความบากบั่น (วิริยะ)

8. รักษาซึ่งศีล 8 คือ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักขโมย ไม่ร่วมประเวณี ไม่พูดปด ไม่ดื่มน้ำเมา ไม่บริโภคอาหารตั้งแต่เที่ยงวันเป็นต้นไป ไม่ฟ้อนรำ ขับร้อง บรรเลงดนตรี ดูการละเล่น ใช้ของหอมหรือเครื่องประดับ ไม่นอนบนที่สูงใหญ่ หรูหรา (อุโบสถ)

9. ใช้ปัญญาเห็นแจ้งใน ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค (อริยธรรม)

10. ศึกษาปฏิบัติในศีล สมาธิ ปัญญา ให้รู้แจ้งเห็นจริง (สิกขา)

*ขออธิบายเพิ่มเติมว่าข้อ 5 ที่บอกว่าให้งดเว้นการเสพกาม แต่ข้อ 6 ให้ยินดีในคู่ของตนนั้น เพราะว่าการประพฤติพรหมจรรย์ในที่นี้หมายถึง บุคคลทั่วไปที่อาจมีครอบครัวแล้ว ก็ประพฤติพรหมจรรย์ได้โดยการงดเว้นการร่วมประเวณี เช่นในวันสำคัญๆเป็นต้น

33. การเห็นอริยสัจ

อริยสัจ หมายถึงความจริงอันประเสริฐ หลักแห่งอริยสัจมีอยู่ 4 ประการตามที่ท่านได้สั่งสอนไว้ มีดังนี้

1. ทุกข์ คือ ความไม่สบายกายไม่สบายใจ ความเป็นจริงของสัตว์โลกทุกผู้ทุกนามต้องมีทุกข์ ๓ ประการคือ การเกิด ความแก่ ความตาย นอกจากนี้ก็มีความทุกข์ที่เป็นอาการ หรือเกิดจากสภาพแวดล้อมสรุปได้ดังนี้ คือ

-ความโศกเศร้า (โสกะ)

-ความรำพันด้วยความเสียใจ (ปริเทวะ)

-ความเจ็บไข้ได้ป่วย (ทุกขะ)

-ความเสียใจ (โทมนัสสะ)

-ความท้อแท้ สิ้นหวัง คับแค้นใจ (อุปายาสะ)

-การตรอมใจ ผิดหวังจากสิ่งที่ไม่รัก (อัปปิเยหิ สัมปโยคะ)

-การพลัดพรากจากสิ่งที่รัก (ปิเยหิ วิปปโยคะ)

-ความหม่นหมองเมื่อปรารถนาแล้วไม่ได้สิ่งนั้น (ยัมปิจฉัง นลภติ)

2. สมุทัย คือ เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ นอกจากเหตุแห่งทุกข์ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ต้นตอของทุกข์ก็อยู่ที่ใจของเราด้วยนั่นก็คือความอยาก ท่านว่าเป็นตัณหา 3 อย่าง ซึ่งแบ่งออกได้เป็นดังนี้ 

-ความอยากได้ หมายรวมถึงอยากทุกอย่างที่นำมาสนองสัมผัสทั้ง 5 และกามารมณ์ (กามตัณหา)

-ความอยากเป็น คือความอยากเป็นโน่นเป็นนี่ (ภวตัณหา)

-ความไม่อยากเป็น คือความไม่พอใจในสิ่งที่ตัวเองเป็นอยู่ (วิภวตัณหา)

3. นิโรธ คือ ความดับทุกข์ ภาวะที่ตัณหาดับสิ้นไป ความหลุดพ้น หรือหมายถึงภาวะของพระนิพพานนั่นเอง

4. มรรค คือ ข้อปฏิบัติ หรือหนทางที่นำไปสู่การดับทุกข์ การเดินทางสายกลางเพื่อไปให้ถึงการดับทุกข์ คือ มรรคมี 8 ประการ คือ

- ความเห็นชอบ เช่นความศรัทธาในเบื้องต้นต่อหลักธรรม คำสอน เช่นการเชื่อว่ากรรมดีกรรมชั่วมีจริงเป็นต้น (สัมมาทิฏฐิ)

- ความดำริชอบ หรือความคิดชอบ มีความคิดที่ถูกต้องตามหลักธรรม เช่นการใช้ปัญญาพิจารณาความไม่เที่ยงของสังขาร หรือการไม่คิดอยากได้ของเขามาเป็นของเราเป็นต้น (สัมมาสังกัปปะ)

- เจรจาชอบ คือ การปฏิบัติตามหลักธรรม ไม่พูดโกหก ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อเป็นต้น (สัมมาวาจา)

- ทำการชอบ หรือการมีการกระทำที่ไม่ผิดหลักศีลธรรม เช่นไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์เป็นต้น (สัมมากัมมันตะ)

- เลี้ยงชีพชอบ คือ การทำมาหากินในทางที่ถูก ไม่เบียดเบียนหรือทำความเดือดร้อนให้กับสัตว์หรือผู้อื่น อยู่ในหลักธรรมที่กำหนด เช่น ไม่มีอาชีพค้ามนุษย์ หรืออาชีพค้าอาวุธเป็นต้น (สัมมาอาชีวะ)

- ความเพียรชอบ คือ การหมั่นทำนุบำรุงในสิ่งที่ถูกต้อง อาทิเช่นการพยายามละกิเลสออกจากใจ หรือการพยายามสำรวม กาย วาจา ใจให้ดำเนินตามหลักธรรมของท่านเป็นต้น (สัมมาวายามะ)

- ความระลึกชอบ คือ มีสติตั้งมั่นในสิ่งที่ถูกต้องตามหลักธรรม เช่นการพึงระลึกถึงความตายที่ต้องเกิดกับทุกคนเป็นต้น (สัมมาสติ)

- จิตตั้งมั่นชอบ คือ มีจิตที่มีสมาธิ ไม่ว่อกแวกหรือคิดฟุ้งซ่าน และการทำสมาธิภาวนาตามหลักการที่ท่านได้บัญญัติแนะนำเอาไว้ (สัมมาสมาธิ)

34. การทำให้แจ้งในพระนิพพาน

นิพพาน คือ ภาวะของจิตที่ดับกิเลสได้หมดสิ้น หลุดจากอำนาจกรรม และไม่ต้องวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏอีก ซึ่งก็คือพ้นจากทุกข์นั่นเอง

ท่านว่าลักษณะของนิพพานมีอยู่ 2 ระดับดังนี้คือ

1. การดับกิเลสขณะที่ยังมีเบญจขันธ์เหลืออยู่ หรือการเข้าถึงนิพพานขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ -อุปาทิเสสนิพพาน

2. การดับกิเลสที่ไม่มีเบญจขันธ์เหลืออยู่เลย คือการที่ร่างกายเราแตกดับแล้วไปเสวยสุขอันเป็นอมตะในพระนิพพาน (ตรงนี้ไม่สามารถอธิบายให้กระจ่างมากไปกว่านี้ได้) -อนุปาทิเสสนิพพาน

การที่จะเข้าถึงพระนิพพานได้ ก็ต้องปฏิบัติธรรมและเจริญสมาธิภาวนาจนถึงขั้นสูงสุด

35. มีจิตไม่หวั่นไหวในโลกธรรม

คำ ว่า โลกธรรม มีความหมายถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นอยู่เป็นประจำบนโลกนี้ ซึ่งเราไม่ควรมีจิดหวั่นไหวต่อสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ท่านว่าลักษณะของโลกธรรมมี ๔ ประการ คือ

1. การได้ลาภ เมื่อมีลาภผลก็ย่อมมีความเสื่อมเป็นธรรมดา มีแล้วก็ย่อมหมดไปได้ เป็นแค่ความสุขชั่วคราวเท่านั้น

2. การได้ยศ ยศฐาบรรดาศักดิ์ล้วนเป็นสิ่งสมมุติขึ้นมาทั้งนั้น เป็นสิ่งที่คนยอมรับกันว่าเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ พอหมดยศก็หมดบารมี

3. การได้รับการสรรเสริญ ที่ใดมีคนนิยมชมชอบ ที่นั่นก็ย่อมต้องมีคนเกลียดชังเป็นเรื่องธรรมดา การถูกนินทาจึงไม่ใช่เรื่องผิดปกติ

4. การได้รับความสุข ที่ใดมีสุขที่นั่นก็จะมีทุกข์ด้วย มีความสุขแล้วก็อย่าหลงระเริงไปจนลืมนึกถึงความทุกข์ที่แฝงมาด้วย

การทำให้จิตไม่หวั่นไหวในโลกธรรม มีวิธีดังนี้

1. ใช้ปัญญาพิจารณา โดยตั้งอยู่ในหลักธรรมของพระพุทธศาสนา พิจารณาอยู่เนืองๆ ถึงหลักธรรมต่าง ๆ

2. เจริญสมาธิภาวนา ใช้กรรมฐานพิจารณาถึงความเป็นไปในความไม่เที่ยงในสรรพสิ่งทั้งหลายในโลก และสังขาร

36. มีจิตไม่โศกเศร้า

ท่านว่ามีเหตุอยู่ 2 ประการที่ทำให้จิตเราต้องโศกเศร้า คือ

1. ความโศกเศร้าที่เกิดเนื่องมาจากความรัก รวมถึงรักสิ่งของ ทรัพย์สินเงินทองด้วย

2. ความโศกเศร้าที่เกิดจากความใคร่

การทำให้จิตใจไม่โศกเศร้านั้น มีข้อแนะนำดังนี้

1. ใช้ปัญญาพิจารณาอยู่เนือง ๆ ถึงความไม่เที่ยงในสิ่งของทั้งหลาย และร่างกายของเรา

2. ไม่ยึดมั่นในตัวตน หรือความจีรังยั่งยืน ในคนหรือสิ่งของว่าเป็นของเรา

3. ทุกอย่างในโลกล้วนเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกขณะ แม้ร่างกายเราก็ใช้เป็นที่อาศัยชั่วคราวเท่านั้น

4. คิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างล้วนไม่เที่ยงด้วยกันทั้งนั้น

37. มีจิตปราศจากกิเลส

กิเลส ก็คือสิ่งที่ทำให้เกิดความเศร้าหมอง ซึ่งได้แก่ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ท่านได้แบ่งประเภทของกิเลสออกเป็นดังนี้ 

1. ราคะ สามารถแบ่งย่อยออกได้เป็น

- ความโลภอย่างแรงจนแสดงออกมา เช่น การลักขโมย ปล้น จี้ ข่มขืนกระทำชำเรา เป็นต้น (อภิชฌาวิสมโลภะ)

- ความเพ่งเล็งจะเอาของคนอื่นมาเป็นของตัว มีใจอยากได้ของคนอื่นแต่ยังไม่ถึงกับแสดงออก (อภิชฌา)

- ความอยากได้ในทางไม่ชอบ เช่น การยอมรับสินบน การทุจริตเพื่อแลกกับการมีทรัพย์เป็นต้น (ปาปิจฉา)

- ความมักมากเห็นแก่ได้ ด้วยการเอามาเป็นของตนจนเกินพอดี เอาประโยชน์ใส่ตัวโดยไม่คำนึงถึงคนอื่น (มหิจฉา)

- ความยินดีในกาม ก็คือยังไม่สามารถละกิจกรรมทางเพศได้ ยังมีความรู้สึก มีแรงกระตุ้น มีความพอใจในเรื่องเพศ (กามระคะ)

- ความยินดีในรูปธรรมอันปราณีต ก็คือติดอยู่ในอารมณ์ของรูปฌาณ ปรารถนาในรูปของภพเมื่อทำสมาธิขั้นสูงขึ้นไป (รูปราคะ)

- ความยินดีในอรูปฌาณ ก็คือติดอยู่ในอารมณ์ของอรูปฌาณเมื่อทำสมาธิถึงภพของอรูปพรหม (อรูปราคะ)

2. โทสะ สามารถแบ่งย่อยออกได้เป็น

- พยาบาท คือการผูกใจอาฆาต มีใจที่ไม่หวังดี การจองเวร

- โทสะ คือการคิดประทุษร้าย เนื่องด้วยมีใจพยาบาทแล้วก็มีใจคิดหมายทำร้าย

- โกธะ คือความโกรธ ความเดือดร้อนใจ ซึ่งล้วนเป็นเหมือนไฟที่เผาตัวเอง

- ปฏิฆะ คือความขัดใจ ความไม่พอใจอันทำให้อารมณ์หงุดหงิด

3. โมหะ สามารถแบ่งย่อยออกได้เป็น

- ความเห็นผิดเป็นชอบ เช่น การไม่เชื่อในเรื่องบาป เรื่องบุญเป็นต้น (มิจฉาทิฐิ)

- ความหลงผิด ไม่รู้ตามความเป็นจริง (โมหะ)

- การเห็นว่ามีตัวตน เช่น การเชื่อในสิ่งที่มองเห็นด้วยตาเปล่าเท่านั้น (สังกายทิฏฐิ)

- ความสงสัย คือ สงสัยในพระธรรม คำสั่งสอนในเรื่องการปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ (วิจิกิจฉา)

- การยึดถืออย่างงมงาย เช่น การไปกราบไหว้สัมพเวสีที่อยู่ตามต้นไม้ ขอลาภเป็นต้น (สีลัพพตปรามาส)

- ความถือตัว คือ การสำคัญตัวเองผิดว่าเป็นอย่างโน้นเป็นอย่างนี้ (มานะ)

- ความฟุ้งซ่าน คือ การที่จิตใจว่อกแวก คิดไม่เป็นสาระ ไม่อยู่กับร่องกับรอย ไม่มีสมาธิ หรือการทำสมาธิไม่นิ่ง (อุทธัจจะ)

- ความไม่รู้จริง คือ การที่รู้แค่ผิวเผิน หรือการทึกทักเอาเอง ไม่ปฏิบัติตามหลักพระธรรม ยังไม่เกิดปัญญา (อวิชชา)

โทษของการมีกิเลสดังกล่าวข้างต้นพอสรุปได้สั้น ๆ ดังนี้คือ

1. ราคะ มีโทษน้อย แต่คลายช้า

2. โทสะ มีโทษมาก แต่คลายเร็ว

3. โมหะ มีโทษมาก แต่คลายช้า

38. มีจิตเกษม

เกษม หมายถึงมีความสุข สบาย หรือสภาพที่มีจิตใจที่เป็นสุข มีจิดเกษมก็คือว่ามีจิตที่เป็นสุขในที่นี้หมายถึงการละแล้วซึ่งกิเลส ที่ท่านว่าไว้ว่าเป็นเครื่องผูกอยู่ 4 ประการ คือ

1. การละกามโยคะ คือ การละความยินดีในวัตถุ สิ่งมีชีวิตทั้งหลายเรียกว่ากามคุณซึ่งประกอบด้วย รูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส

2. การละภวโยคะ คือ การละความยินดีในภพ โดยให้เห็นว่าสิ่งใดๆในโลกล้วนไม่เที่ยงแท้ หรือคงอยู่ตลอดไป

3. การละทิฏฐิโยคะ คือ การละความยินดีในความเห็นผิดเป็นชอบ โดยให้ดำเนินตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าที่กล่าวมาแล้ว

4. การละอวิชชาโยคะ คือ การละความยินดีในอวิชชาทั้งหลาย ความไม่รู้ทั้งหลาย โดยให้มุ่งปฏิบัติเพื่อปัญญาที่รู้แจ้งเห็นจริง

 

หมายเลขบันทึก: 551920เขียนเมื่อ 28 ตุลาคม 2013 16:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 ตุลาคม 2013 16:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

อ่าน อยู่เป็นประจำค่ะ ขอบคุณ ที่เตือนสติค่ะ บางครั้งมีเรื่องไม่สบายใจ ก็จะนำมาอ่าน ทำใหัได้สติขึ้นมานะคะ

ความหมายดี กระชับ การจัดหัวข้อและย่อหน้ายังงงอยู่มากครับ ปรับอีกสักนิดก็จะดีไม่น้อย...ขอบคุณมากครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท