๓๕๓.การศึกษาวิเคราะห์แนวคิดธรรมราชาตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา


บทคัดย่อ

          การศึกษาวิเคราะห์แนวคิดธรรมราชาตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา  มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิเคราะห์แนวคิดธรรมราชาตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา  และเปรียบเทียบแนวความคิดเกี่ยวกับธรรมราชาของปราชญ์ทางพระพุทธศาสนากับผู้นำทางสังคม ผู้นำทางการเมืองและผู้นำชุมชน  งานวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงเอกสารและเชิงคุณภาพ โดยเน้นค้นคว้าในคัมภีร์พระไตรปิฎก และการสัมภาษณ์เชิงลึก โดยนำมาวิเคราะห์และเรียบเรียงในเชิงพรรณนาวิเคราะห์

          ผลการวิจัยพบว่า  ธรรมราชาตามแนวคิดทางพระพุทธศาสนา  แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ ธรรมราชาในทางศาสนาหรือทางธรรม และในทางโลก  ธรรมราชาในทางศาสนาหรือทางธรรม หมายถึง พระพุทธเจ้าเพราะทรงเพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติที่ดีงามครบถ้วน ส่วนธรรมราชาในทางโลก หมายถึง ผู้นำหรือผู้ปกครองบ้านเมืองที่ดี มีคุณธรรมประจำใจซึ่งในคัมภีร์พระไตรปิฎกระบุถึงพระเจ้าทัลหเนมิ ผู้เป็นกษัตริย์ที่พิชิตเขตแดนโดยไม่ต้องใช้ศาสตราวุธ หากเผยแพร่แสนยานุภาพทางธรรมให้แพร่หลาย  ทรงบริบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ อันเป็นองค์ประกอบของธรรมราชาทางโลก  ผลการวิจัยยังพบอีกว่า นอกจากธรรมราชาจะต้องดำรงตนอยู่ในคุณธรรมเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไปแล้ว ยังต้องบำเพ็ญหลักของผู้นำหรือผู้ปกครองที่ดีอีก ๔ หลักด้วยกัน กล่าวคือ  จักรวรรดิวัตร ๕, ทศพิธราชธรรม ๑๐, ราชสังคหวัตถุ ๔, และละเว้นจากอคติ ๔

          ผลจากการเปรียบเทียบแนวคิดธรรมราชาของปราชญ์ทางพระพุทธศาสนากับผู้นำทางสังคม ผู้นำทางการเมืองและผู้นำชุมชน พบว่า ความเห็นของปราชญ์ทางพระพุทธศาสนา ผู้นำทางสังคม ผู้นำทางการเมืองและผู้นำชุมชน มีทั้งที่เหมือนและแตกต่างกัน โดยแยกออกได้ ดังนี้

          ๑) ด้านแนวคิดเกี่ยวกับธรรมราชา  มีความเหมือนกันเกี่ยวกับ คุณสมบัติของตัวผู้นำและความสามารถนำหลักธรรมราชาไปประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการ ส่วนความแตกต่างอยู่ที่การให้ความหมายของธรรมราชา

          ๒) ด้านภาวะผู้นำกับความเป็นธรรมราชา  ในส่วนที่เหมือน คือ การที่ต้องใช้หลักธรรมในการบริหารจัดการเป็นสำคัญ ส่วนความแตกต่างอยู่ที่กรอบแนวคิดการทำงานต้องเป็นไปตามลำดับ กฎหมายต้องส่งเสริมสนับสนุนความเข้มแข็งให้กับชุมชน

          ๓) ด้านประสบการณ์ธรรมราชาที่ผ่านมา  ที่มีความเหมือนกัน คือ การยอมรับซึ่งกันและกันก่อน โดยมุ่งที่ประโยชน์ที่จะพึงได้ร่วมกัน  ไม่มีคำว่าแพ้-ชนะ บางกรณีมีการปรับใช้ภูมิปัญญาแทนกฎหมาย  ส่วนความแตกต่างไม่มีในประเด็นนี้

          ๔) ด้านต้นแบบธรรมราชา  มีความเหมือนกัน กล่าวคือ  เห็นว่าพระศาสดาทุกศาสนา เป็นแบบอย่างธรรมราชาในทางธรรม  และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงเป็นต้นแบบแห่งธรรมราชาในทางโลก ส่วนความแตกต่างอยู่ที่การนำหลักการไปประยุกต์ใช้

          ๕) ด้านความเชื่อมั่นต่อธรรมราชา  มีความเห็นที่สอดคล้องกันว่า ธรรมะเป็นเรื่องของคนทุกคน  ส่วนความแตกต่างอยู่ที่การให้ความหมายของศัพท์เชิงภาษา

          ๖) ด้านการสื่อสารแนวคิดธรรมราชาต่อสาธารณะ  มีความเหมือนกันเกี่ยวกับการใช้สื่อทุกช่องทางเพื่อสร้างกระแสธรรมราชา  ส่วนความแตกต่าง อยู่ที่วิธีการนำเสนอให้คนเข้าถึงความเป็นธรรมราชา

เกี่ยวกับการประยุกต์แนวคิดธรรมราชาในการปกครองบ้านเมือง  ผลการวิจัยที่พบสามารถแยกประเด็นได้ ดังนี้ เช่น

          ๑) ด้านแนวคิดธรรมราชากับการปกครองบ้านเมือง  มุ่งประยุกต์โดยเน้นใน ๓ ระดับ คือ (๑) ระดับต้น ต้องมีคุณสมบัติของการเป็นผู้นำที่ดี (๒) ระดับกลาง จะต้องอาศัยธรรมเป็นหลักในการปกครอง  (๓ ) ระดับสูง  สร้างบุคคลให้มีธรรมราชาในจิตใจ 

         ๒) ด้านภาวะผู้นำทางการเมืองกับความเป็นธรรมราชา  มุ่งเน้นพัฒนาภาวะผู้นำทางการเมืองอีก ๓ ด้าน  คือ (๑) พัฒนาตน คือ พัฒนาตัวของผู้นำเอง โดยใช้หลักแห่งความเข้าใจ และการมีฐานแห่งความเป็นธรรมที่สถิตอยู่ในใจ เป็นต้น (๒) มุ่งพัฒนาผู้ใต้การปกครอง ใน ๓ ระดับ คือ ด้านพฤติกรรม ด้านจิตใจ และด้านสติปัญญา  (๓)  พัฒนาองค์รวมของสังคม โดยยึดกรอบศีลธรรมเป็นหลัก  ในขณะเดียวกันก็กำหนดกฎหมายเป็นเครื่องส่งเสริมสนับสนุนศีลธรรมเพื่อให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน  นอกจากนั้น ควรมีการผสมผสานโดยการประยุกต์ภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อให้ทุกคนสามารถเคารพตนเองได้

          ๓) ประสบการณ์ธรรมราชากับผู้นำทางการเมือง  สามารถนำมาประยุกต์ในการปกครองบ้านเมือง คือ (๑) มุ่งเน้นหลักการ โดยอาศัยหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเป็นแนวคิดหลักในการปกครองบ้านเมือง (๒) มุ่งเน้นหลักปฏิบัติ โดยนำหลักธรรมดังกล่าวลงสู่การปฏิบัติ   (๓) มุ่งเน้นกระบวนการ โดยอาศัยกระบวนการทางกฎหมาย และหรือกรอบขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงาม หลักของศีลธรรม เป็นต้น

          ๔) ธรรมราชากับคุณสมบัติของผู้นำทางการเมือง ประกอบด้วย (๑)  ด้านบุคคล โดยการศึกษาแบบอย่างจากบุคคลที่เป็นธรรมราชาเพื่อเป็นต้นแบบในการปฏิบัติตน                    (๒) ด้านคุณสมบัติ  บุคคลที่จะเป็นธรรมราชาต้องมีคุณสมบัติที่ดีงามพร้อม (๓) ด้านวิธีคิด บุคคลที่จะเป็นธรรมราชาจะต้องศึกษาแบบอย่างของบุคคลที่เป็นธรรมราชายุคก่อน

          ๕) ความเชื่อมั่นธรรมราชากับผู้นำทางการเมือง  คนที่จะเป็นผู้นำทางการเมืองจะต้องมีความเชื่อมั่นว่าสามารถสร้างธรรมราชาให้เกิดขึ้นในจิตใจได้  เชื่อมั่นในความมุ่งหมายของความเป็นธรรมราชา และสามารถนำหลักธรรมราชาไปประพฤติปฏิบัติได้ในทุกระดับ

         ๖) แนวทางเผยแพร่หลักธรรมราชา มี ๓ ระดับ คือ  การสร้างองค์ความรู้ การนำไปใช้ และสร้างการตระหนักรู้  ร่วมกัน

หมายเลขบันทึก: 551728เขียนเมื่อ 25 ตุลาคม 2013 15:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 ตุลาคม 2013 21:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

นมัสการท่าน

หายไปนานมากๆ

เข้าใจว่างานยุ่งนะครับ

สบายดีไหมครับ

ท่านอาจารย์ขจิต…เนินนานพอสมควร…ด้วยภาระกิจด้านบริหารกิจการคณะสงฆ์ที่รับผิดชอบอยู่ บวกกับการเรียนการสอนในมหาจุฬาฯที่มี งานด้านบริการวิชาการแก่สังคม ตลอดจนถึงงานวิชาการที่กำลังทำอยู่(วิจัย-เอกสารคำสอน-งานสร้างสรรค์). ที่ยุ่งอิรุงตุงนัง……จึงทำให้หายไปนาน นี้เป็นเหตุผลข้อที่ 1 ส่วนข้อที่ 2 เป็นทั้งเหตุผล(ข้ออ้าง) และเป็นคำถามไปพร้อมกันคือระบบgotoknow.org ทำไมเข้ายากขึ้น…ข้อสงสัยเบื้องต้นคือ 1)ระบบเปลี่ยน 2)เครื่องมือของอาตมาล้าสมัย….เนื่องจากพยายามหลายครั้งแล้วเครื่องไม่ตอบสนอง…ไม่บันทึก….แปลกมาก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท