เก็บตกการเป็นวิทยากร (2) : ว่าด้วยเรื่องเอกลักษณ์, อัตลักษณ์ และการปลุกพลังชีวิตผ่านเรื่องเล่าความดี


เป้าหมายของการพัฒนาศักยภาพนิสิตของมหาวิทยาลัยมหาสารคามนั้น มีธงอันเป็นจุดหมายปลายฝันที่แจ่มชัด นั่นก็คือ ...การเป็นที่พึ่งของสังคมและชุมชน (เอกลักษณ์มหาวิทยาลัย) และการเป็นผู้ช่วยเหลือสังคมและชุมชน (เอกลักษณ์นิสิต)
ในเวทีกระบวนการของการเป็นวิทยากรครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2556  เป็นกระบวนการภายใต้ชื่อโครงการ “สัมมนาพัฒนาศักยภาพผู้นำนิสิต”  ที่ขับเคลื่อนโดยกลุ่มงานกิจกรรมนิสิต  กองกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งจัดขึ้น ณ ภูวนาลีรีสอร์ท อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา

 

ผมเลือกการเปิดตัวด้วยกระบวนการ “เข้าเงียบ” หรือทำสมาธิ (Meditation)  แบบง่ายๆ 
         เชิญชวนให้นิสิตนั่งล้อมวงตามกลุ่มองค์กร   
         เปิดเพลงเบาๆ สร้างบรรยากาศ    โดยให้นิสิตแต่ละคนนั่งหลับตาทำสมาธิในราวๆ
10 นาที 

 

ครั้นเสร็จสิ้นการ “เข้าเงียบ”  จึงชวนให้นิสิตได้ลุกขึ้นมาบอกเล่าความรู้สึกที่เกิดขึ้นในช่วงของการ “เข้าเงียบ”   อาทิ  การคิดคำนึงถึงเรื่องราวใดบ้าง  เพื่อชั่งวัดถึงสภาวะทางจิตใจของแต่ละคน  ว่ายังผูกยึดอยู่กับเรื่องราวใด  และเรื่องราวที่ว่านั้นเป็นสุข หรือทุกข์  หรือแม้แต่การสร้างสภาวะให้แต่ละคนได้รู้สึกผ่อนคลาย  เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ที่กำลังจะเกิดขึ้นร่วมกัน

 

 


ครับ- นั่นคือกระบวนการเตรียมความพร้อมของการเข้าสู่กระบวนการแห่งการเรียนรู้อันง่ายงามที่ใครๆ ก็สามารถสร้างสรรค์ปันแต่งขึ้นได้ 
         ขึ้นอยู่กับว่า  แต่ละคน  จะมีวิธีการอันประณีตมากน้อยแค่ไหน
         และผู้เข้าร่วมกระบวนการ จะจริงใจ หรือให้ความสำคัญกับกิจกรรม “เข้าเงียบ” นั้นหรือไม่เท่านั้นเอง
 

 

ถัดจากนั้น  ผมก็ดำเนินงานตามกระบวนการที่แพลนไว้ล่วงหน้า  หากแต่เฝ้าประเมินสถานการณ์ตลอดเวลาว่าต้องปรับแต่งกระบวนยุทธเช่นใด  มิใช่ไหลเลยโดยไม่คิดคำนึงถึงสภาวะ หรือสถานการณ์ของผู้คนที่อยู่ตรงหน้าว่า  “พร้อม หรือไม่พร้อม”  
          หรือตัวเราเองก็เถอะ “เวิร์ค หรือไม่เวิร์ค”

 

 

 

 

 

 

ถามผู้นำนิสิต : แผนงานกับความเชื่อมโยงสู่เอกลักษณ์มหาวิทยาลัยและอัตลักษณ์นิสิต

 

ครับ-  ในห้วงหนึ่งผมยิงคำถามเพื่อประเมินทักษะการเรียนรู้  หรือองค์ความรู้ของผู้นำนิสิตว่ารู้จัก “เอกลักษณ์มหาวิทยาลัย”  และ “อัตลักษณ์ของนิสิต”  หรือไม่   

        แน่นอนครับ-  เหตุผลที่ต้องถามทักเช่นนั้น  เพราะต้องการชวน “ผู้นำนิสิต”  วิเคราะห์ว่า “แผนงาน” ขององค์กรนิสิตที่มีอยู่ว่า  มีความ “เชื่อมโยงกับทิศทาง”  อันเป็น “นโยบายการพัฒนานิสิต” ของมหาวิทยาลัยฯ  อย่างไร 
        มันเป็นไปในทิศทางเดียวกัน  
        หรือต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างทำ ต่างเป้าหมาย  และไร้ทิศไร้ทาง  
        ซึ่งก็เป็นที่น่าตกใจอยู่ไม่น้อย  เนื่องจากผู้นำนิสิตในเวทีดังกล่าว   ส่วนใหญ่ยังรับรู้ หรือยังตระหนักเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวอย่างผิวเผิน แผ่วเบา

 

 

 

ด้วยเหตุนี้  ผมจึงพลิกสถานการณ์ใหม่  แทนที่จะบรรยายและจัดกระบวนการอื่นๆ ตามแผนที่วางไว้  นั่นก็คือการหันกลับมาเปิดสื่อวีดีทัศน์สร้างสรรค์เกี่ยวกับประเด็น “การให้” (จิตอาสา) ให้นิสิตดู 
          พอดูเสร็จ ก็ถามทักกลับไปว่า “ใครเคยดูบ้างแล้ว” 
          ซึ่งเกือบกึ่งหนึ่งตอบกลับมาว่า “ยังไม่เคยได้ดู”

          ครับ-  ผมไม่ได้เฉลยตรงๆ ว่าวีดีทัศน์ที่ให้ดูนั้น  สะท้อนแนวคิดที่ยึดโยงกับเอกลักษณ์มหาวิทยาลัย (เป็นที่พึ่งของสังคมและชุมชน)  และอัตลักษณ์นิสิต (เป็นผู้ช่วยเหลือสังคมและชุมชน) 
          หากแต่สะกิดให้นิสิต “โส่เหล่” ว่าเรื่องที่ดูนั้น  สะท้อนแนวคิดอะไร และเกี่ยวโยงมายังเอกลักษณ์และอัตลักษณ์อย่างไร –
  
          หรือแม้แต่แผนงานที่มีอยู่  เมื่อทำแล้ว เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงสร้างสรรค์ต่อตัวเอง องค์กร และสังคม อย่างไรบ้าง

 

 

 

 

 

ชวนเชิญนิสิต : ปลุกพลังชีวิตผ่านเรื่องเล่าความดีของตัวเอง

 

หรือแม้แต่ท้ายที่สุด  ผมได้ขยับกระบวนการต่อเนื่อง  ด้วยการให้นิสิตแต่ละกลุ่มได้เขียนเรื่องเล่า “ความดีงาม”  ของตนเองอย่างสั้นๆ พอสังเขป  เพื่อ “ทบทวนชีวิต”  ฝึกความกล้าแสดงออก ฝึกการคิดสังเคราะห์  ฝึกการถ่ายทอดประสบการณ์และความคิดผ่านลายลักษณ์  และถ่ายทอดผ่านการเล่าเรื่องให้เพื่อนๆ ได้ฟัง -

          ก่อนจะปิดท้ายกระบวนการนี้   ด้วยการสรุปในทำนองให้รู้ว่าเป้าหมายของการพัฒนาศักยภาพนิสิตของมหาวิทยาลัยมหาสารคามนั้น  มีธงอันเป็นจุดหมายปลายฝันที่แจ่มชัด นั่นก็คือ ...การเป็นที่พึ่งของสังคมและชุมชน (เอกลักษณ์มหาวิทยาลัย) และการเป็นผู้ช่วยเหลือสังคมและชุมชน (เอกลักษณ์นิสิต)
         ซึ่งผู้นำนิสิตต้องเชื่อมโยงกิจกรรม หรือแผนงานต่างๆ เข้าสู่ธงอันเป็นจุดหมายปลายฝันที่ว่านั้นให้จงได้
  ไม่ใช่ต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างทำ ไปคนละทิศละทาง เสมือนการทำงานที่ไร้ยุทธศาสตร์ -

 

 

 

และเหนือสิ่งอื่นใดในตอนท้ายของช่วงนี้   ผมไม่ลืมที่จะให้นิสิตได้ดูชมวีดีทัศน์ (หนังสั้น) อีกเรื่อง  เพื่อปิดประเด็นแก่นคิดว่า

             “...  การปลุกเร้าพลังให้กับตัวเองนั้น  เราล้วนต้องแสวงหาวิธีการของตนเองให้ได้เร็วที่สุด  มิเช่นนั้นอาจต้องจ่อมจมอยู่กับความเหนื่อยล้า เศร้าโศกไปนานและนาน   ซึ่งอีกหนึ่งวิธีการของการปลุกพลังให้กับตัวเอง  คงหนีไม่พ้นการคิดคำนึงถึงเรื่องราวความดีงามที่ตัวเองได้กระทำ หรือได้ผ่านพบมาในโอกาสต่างๆ  ...นี่คือการมองมุมบวกที่จะช่วยให้ชีวิตมีทัศนคติที่ดีต่อการใช้ชีวิต.....”

 

 

ครับ-  ผมพูดและย้ำในทำนองนี้จริงๆ  (นะครับ)

 

หมายเหตุ : ภาพจากช่างภาพนิสิตจิตอาสา

 

หมายเลขบันทึก: 551133เขียนเมื่อ 17 ตุลาคม 2013 16:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 ตุลาคม 2013 13:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ชอบการเล่าเร้าพลังดีๆอย่างนี้ค่ะ...

นึกถึงตอนเรียน ป.โท ก่อนเข้าเนื้อหา อาจารย์ให้นักศึกษานั่งสมาธิกับพื้น ครึ่ง ชม. (คงเห็น

ว่า นักศึกษาทั้งหมดอายุขึ้นเลข 4 เกือบทั้งหมดมั้ง ) พอหมดเวลา ปรากฏว่า...หลาย ๆ คน

(รวมทั้งคุณมะเดื่อ) ลุกขึ้นไม่ได้อ่ะ...! ต้องฉุดกระชากลากถูกันยุ่งไปหมด เส้นยึดอ่ะ อิ อิ..

ขอให้ กระบวนการพัฒนานิสิต ของมหาวิทยาลัย นี้  ตอบโจทย์ได้ตามวัตถุประสงค์  ที่กำหนดไว้นะคะ

ที่สำคัญ ... รุ่นพี่ พี่...ที่ บ่มเพราะ ต้นกล้า "แห่งความเป็นผู้ช่วยเหลือชุมชนและสังคม"  ไว้วันนี้...ก่อนที่ท่านจบเป็นบัณฑิต ไปแล้ว....อย่าลืม  หากลยุทธ์ วาดลวดลาย ถ่ายทอดกระบวนการ บ่มเพราะ  ...ไว้ ให้รุ่นน้อง ๆ ที่จะเข้ามาเป็น ส่วนหนึ่ง ในการขับเคลื่อนงานนี้ด้วยนะคะ

สวัสดีครับ คุณมะเดื่อ

เดิมที ผมเกรงใจนิสิต  เพราะกลัวเมื่อย และอีกอย่าง นิสิตมีจำนวน 130 คน ซึ่งถือว่าเยอะมากในการจัดกระบวนการเรียนรู้  พื้นที่ก็จำกัดไม่ใช่ย่อย   แต่พอเกริ่นว่าอยากให้นั่งพื้นเท่านั้นแหละครับ นิสิตพร้อมใจกันเลย  เพราะเข้าใจว่า จะได้ "นอน" ไปในตัว...

555 (ซึ่งก็จริง ตามนั้น) 

 

ครับ อ.Joy

ปัญหาหลักของการสร้างองค์กร สร้างผู้นำที่สัมผัสตอนนี้ คือการ "สอนงาน สร้างทีม"  ซึ่งถือว่าเบาบางลงมากจนน่าตกใจ  ความรู้ ไม่ได้ส่งผ่าน ถ่ายทอดไปยังรุ่นสู่รุ่น มันหายไปกับรุ่นพี่  ใครทำ ใครได้ ... ทั้งๆ ที่อาศัยพื้นที่ โอกาส หรือทรัพยากรต่างๆ จากสังคมล้วนๆ

ก็ยังต้องพยายามครับกับการ "สอนงาน สร้างทีม"....มิใช่ ต้องเริ่มใหม่ในเรื่องเดิมๆ จนไม่สามารถต่อยอด หรือบุกเบิก ริเริ่มสิ่ใดได้

ขอบพระคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท