สุภาวดี พุฒิหน่อย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุภาวดี พุฒิหน่อย

ผู้สูงอายุและกิจกรรมสำหรับผู้สูงอายุ


(เนื้อหาเขียนลง วารสารกิจกรรมบำบัด)  

       การเข้าสู่วัยผู้สูงอายุมีการเปลี่ยนแปลงในหลายๆระบบของร่างกาย กระบวนการของภาวะสูงอายุขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของบุคคลที่อยู่ในภาวะสูงอายุ ซึ่งเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ การเปลี่ยนแปลงในระยะแรกๆของวัยชราจะตรวจวัดได้ยากและมีความแตกต่างระหว่างบุคคลสูง อย่างไรก็ดีเมื่อผ่านไประยะหนึ่งลักษณะบางอย่างจะปรากฏ เช่น ความสูงลดลง ผมขาว ผิวหนังย่น สายตาเปลี่ยน การเคลื่อนไหวด้อยลง เป็นต้น ในขณะเดียวกันการเปลี่ยนแปลงหรือด้อยลงของประสิทธิภาพการทำงานอวัยวะต่างๆจะดำเนินไปภายหลังจากระยะสมบูรณ์สูงสุดในวัยเจริญพันธุ์ เช่น มวลกระดูกลดลง ประสิทธิภาพการทำงานของไตลดลง การเปลี่ยนแปลงเนื่องมาจากความชราเกิดขึ้นได้ทั้งกายวิภาคหรือการทำงาน แต่ไม่จำเป็นจะต้องเกิดกับทุกอวัยวะหรือระบบการทำงาน โดยมากแล้วการเปลี่ยนแปลงของการทำงานจะเป็นความเสื่อมถอยของความสามารถสำรอง ดังนั้นในคนสูงอายุที่ไม่เป็นโรคจะมีสุขภาพและความสามารถทั่วไปเป็นปกติแต่เพียงกำลังสำรองจะลดลงโรคที่เป็นปัญหาของประชากรสูงอายุ คือ กลุ่มโรคไม่ติดต่อและอุบัติเหตุ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรคเรื้อรัง อันได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง ภาวะคอเลสเตอรอลในเลือดสูง กลุ่มอาการสมองเสื่อม โรคข้อเสื่อมและการหกล้ม และโรคในช่องปาก เป็นต้น หากขาดการดำเนินงานที่เหมาะสม จะทำให้ปัญหาสุขภาพทั้งการเจ็บป่วยและทุพพลภาพขยายตัว (กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข, 2551)

1. ผู้สูงอายุ

ประชากรผู้สูงอายุจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆประกอบไปด้วยกลุ่มที่มีสุขภาพดีและไม่ดีมีและมีผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยที่ต้องการการดูแลทางสุขภาพและสังคม   สำหรับการกำหนดว่า ผู้สูงอายุเริ่มเมื่ออายุเท่าใดนั้น ขึ้นอยู่กับความแตกต่างกันในแต่ละสังคม สำหรับสังคมไทยจากพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 (กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, 2553) นั้นกำหนดว่า ผู้สูงอายุ หมายถึง บุคคลที่มีสัญชาติไทยและมีอายุตั้งแต่ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ทั้งนี้ผู้สูงอายุมิได้มีลักษณะเหมือนกันหมดแต่จะมีความแตกต่างกันไปตามช่วงอายุโดยแบ่งกลุ่มผู้สูงอายุได้ 3 กลุ่มคือ

1.       ผู้สูงอายุวัยต้น (อายุ 60-69 ปี)เป็นช่วงที่ยังมีพลังช่วยเหลือตนเองได้

2.      ผู้สูงอายุวัยกลาง (อายุ 70-79 ปี) เริ่มขึ้นสู่วันเสื่อมกล่าวคือ เริ่มมีอาการเจ็บป่วย ร่างกายเริ่มอ่อนแอ มีโรคประจำตัวหรือโรคเรื้อรัง

3.      ผู้สูงอายุวัยปลาย (อายุ 80 ปีขึ้นไป)เข้าสู่วัยเสื่อม เจ็บป่วยบ่อยขึ้น อวัยวะเสื่อมสภาพ อาจมีภาวะทุพพลภาพ

การแบ่งผู้สูงอายุเป็น 3 ช่วงดังกล่าว สำหรับในสังคมไทยยังมิได้มีข้อสรุปว่าจะมีการจัดประเภทของผู้สูงอายุในลักษณะใด  การจัดโดยใช้เกณฑ์อายุก็ยังมีข้อถกเถียงว่ายังไม่เหมาะสม  นักวิชาการบางท่านจึงใช้เกณฑ์ความสามารถของผู้สูงอายุแบ่งเป็น  3  กลุ่ม 

1. กลุ่มที่ช่วยเหลือตนเองได้ดี

2. กลุ่มที่ช่วยเหลือตนเองได้บ้าง

3. กลุ่มที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ เนื่องจากมีปัญหาสุขภาพ มีความพิการ

            การแบ่งประเภทของผู้สูงอายุอีกประเภทหนึ่งที่น่าสนใจ โดยนักชราวิทยาแบ่งช่วงสูงอายุ (ศรีเรือน แก้วกังวาล, 2540) ออกเป็น 4 ช่วงคือ

1.       ช่วงไม่ค่อยแก่ (the young-old)อายุประมาณ 60-69 ปีเป็นช่วงที่ต้องประสบกับความเปลี่ยนแปลงของชีวิตที่เป็นภาวะวิกฤตหลายด้าน เช่น การเกษียณอายุ การจากไปของมิตรสนิท คู่ครอง โดยทั่วไปยังเป็นคนที่แข็งแรงแต่อาจต้องพึ่งพิงผู้อื่นบ้าง สำหรับบุคคลที่มีการศึกษา รู้จักปรับตัวยังเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆทางสังคม ทั้งในครอบครัวและนอกครอบครัว

2.      ช่วงแก่ปานกลาง (the middle-aged old)อายุประมาณ 70-79 ปี เป็นช่วงที่คนเริ่มเจ็บป่วย เข้าร่วมกิจกรรมของสังคมน้อยลง

3.      ช่วงแก่จริง (the old-old)อายุประมาณ 80-90 ปี ความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมยากขึ้น เพราะสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับคนอายุขั้นนี้ต้องมีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น ผู้สูงอายุต้องการความช่วยเหลือจากผู้อื่นมมากกว่าวัยที่ผ่านมา เริ่มย้อนนึกถึงอดีตมากขึ้น

4.      ช่วงแก่จริงๆ (the very old-old)อายุประมาณ 90-99ปี ผู้ที่มีอายุยืนถึงขั้นนี้มีจำนวนค่อนข้างน้อย เป็นระยะที่มักมีปัญหาทางสุขภาพผู้สูงอายุในวัยนี้ควรทำกิจกรรมที่ไม่ต้องมีการแข่งขัน ควรทำกิจกรรมอะไรที่ตนเองมีความสนใจ และต้องการทำ

วัยผู้สูงอายุผลจากการเปลี่ยนแปลงไปทางเสื่อมที่เกิดขึ้นซึ่งจะมีปัญหาที่เกิดขึ้นและพบบ่อย (สุทธิชัย จิตะพันธ์กุล, 2542 และสุภาวดี พุฒิหน่อยและคณะ, 2547 ) โดยจำแนกออกเป็นด้านต่างๆดังตารางที่ 1 

ปัญหา

รายละเอียด

ด้านร่างกาย

- กำลังสำรองลดลง ระบบต่างๆของร่ายกายประสิทธิภาพลดลง

- สายตาเปลี่ยน

- ความกระฉับกระเฉงลดลง สูญเสียการทรงตัวได้ง่าย

- ความไวของการทำงานระบบประสาทลดลง

ด้านจิตใจ

- ขี้น้อยใจ หงุดหงิดง่าย ขี้กังวล จิตใจหดหู่ เดียวดาย จิตใจเศร้าหมองง่าย ซึม เหงาและว้าเหว่ และสิ้นหวัง

ด้านสังคม เศรษฐกิจ

- ขาดเพื่อนขาดความผูกพัน ที่เคยมีต่อสังคม

- ขาดรายได้ประจำ หรือรายได้ลดลงจากเดิม

- ขาดการยอมรับไม่ได้รับการยกย่องเหมือนวัยทำงาน ขาดความสำคัญไป

- ค่านิยมของครอบครัวที่เปลี่ยนแปลงไป คนรุ่นให้ความสำคัญเรื่องความกตัญญูลดลง

- ขาดการมีปฏิสัมพันธ์กับสังคม

ตารางที่ 1 แสดงปัญหาที่พบบ่อยในวัยผู้สูงอายุ

           

            จะเห็นได้ว่าปัญหาของผู้สูงอายุมีหลายมิติที่ซับซ้อนนอกจากนี้ยังรวมไปถึงปัญหาเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยที่เป็นปัจจัยการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐานของผู้สูงอายุ สภาพที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสม สิ่งแวดล้อมทางกายภาพไม่เอื้อต่อการดำรงชีวิตเช่น มีบันไดหลายขั้น มีทางต่างระดับ แสงสว่างไม่เพียงพอ ตลอดจนปัญหาทางด้านความรู้พื้นฐานในการดูแลสุขภาพของตนเอง ตลอดจนความรู้เรื่องสิทธิประโยชน์ต่างๆ รวมทั้งความรู้ทักษะทางด้านการใช้เทคโนโลยีต่างๆ เช่น คอมพิวเตอร์ เป็นต้น

             เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุรูปแบบการดำเนินชีวิตต้องเปลี่ยนแปลงไปตามลักษณะวิถีชีวิตของแต่ละคนหลังจากเกษียณอายุ  ผู้สูงอายุอาจมีข้อจำกัดต่อการทำกิจกรรมต่างๆ ทั้งการทำกิจกรรมในการดำเนินชีวิตประจำวัน สภาพจิตใจที่มีความวิตกกังวล เหงา การไม่มีภาระหน้าที่ สภาพสังคม การเงิน การเป็นที่ยอมรับย่อมส่งผลถึงความสุข การมีคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุเอง การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ผู้สูงอายุควรมีการพัฒนาระบบเอื้อหนุนส่งเสริมปัจจัยพื้นฐานให้ตัวผู้สูงอายุเองสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีได้ด้วยตนเอง ลดการพึ่งพาผู้อื่นลง โดยการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุก้าวไปสู่การเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ (Active aging) ซึ่งหมายถึงสามารถพึ่งพาตนเองได้ (Self-reliance) ดูแลตนเองได้ (Self-care) สามารถทำสิ่งต่างๆได้ตามศักยภาพของตนเอง (ศศิพัฒน์ ยอดเพชร, 2542) ดังนั้นควรมีระบบที่ช่วยสนับสนุนส่งเสริมให้ผู้สูงอายุสามารถช่วยเหลือตนเองได้และส่งเสริมให้ผู้สูงอายุได้ทำกิจกรรมที่เหมาะสมกับศักยภาพผู้สูงอายุ

            องค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์มีหลายมิติด้วยกันประกอบไปด้วย ร่างกาย จิตใจและสังคมโดยคำนึงถึงความต้องการเมื่อเข้าสู่วัยผู้สูงอายุมีดังนี้

 

ความต้องการ

รายละเอียด

ด้านร่างกาย

1. ต้องการมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง สมบูรณ์

2. ต้องการมีผู้ช่วยเหลือดูแลอย่างใกล้ชิด

3. ต้องการที่อยู่อาศัยที่สะอาด อากาศดี สิ่งแวดล้อมดี

4. ต้องการอาหารการกินที่ถูกสุขลักษณะตามวัย

5. ต้องการมีผู้ดูแลช่วยเหลือให้การพยาบาลอย่างใกล้ชิดเมื่อยามเจ็บป่วย

6. ต้องการได้รับการตรวจสุขภาพ และการรักษาพยาบาลที่สะดวก รวดเร็ว ทันท่วงที

7. ต้องการได้รับบริการรักษาพยาบาลแบบให้เปล่าจากรัฐ

8. ความต้องการได้พักผ่อน นอนหลับอย่างเพียงพอ

9. ความต้องการบำรุงรักษาร่างกาย และการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

10. ความต้องการสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ

ด้านจิตใจ

ต้องการการยอมรับ และเคารพยกย่องนับถือ และการแสดงออกถึงความมีคุณค่าของผู้สูงอายุ โดยสมาชิกในครอบครัว สังคมของผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุจะสนใจสิ่งแวดล้อม เฉพาะที่ทำให้เกิดความพึงพอใจ และตรงกับความสนใจ ของตนเองเท่านั้น

ด้านสังคม

1. ต้องการได้รับความสนใจจากผู้อื่น

2. ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว สังคมและหมู่คณะ

3. ต้องการช่วยเหลือสังคมและมีบทบาทในสังคมตามความถนัด

4. ต้องการการสนับสนุน ช่วยเหลือจากครอบครัว และสังคมทั้งทางด้านความเป็นอยู่รายได้บริการจากรัฐ

5. ต้องการมีชีวิตร่วมในชุมชน มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ของชุมชนและสังคม

6. ต้องการลดการพึ่งพาคนอื่นให้น้อยลง ไม่ต้องการความเมตตาสงสาร (ที่แสดงออกโดยตรง)

7. ต้องการการประกันรายได้ และประกันความชราภาพ

ตารางที่ 2 แสดงความต้องการเมื่อเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ

ที่มา (ดัดแปลง): อนามัยผู้สูงอายุ สำนักส่งเสริมสุข กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข, 2556.

             ความเข้าใจต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุและเข้าใจความต้องการของผู้สูงอายุ เพื่อนำมาพัฒนาให้ตัวผู้สูงอายุเองสามารถพึ่งพาช่วยเหลือจนเองได้ ทำสิ่งต่างได้ตามศักยภาพของตนเอง เป็นการสร้างและก่อให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีสำหรับตัวผู้สูงอายุเองอย่างยั่งยืน การที่ผู้สูงอายุมีสุขภาพดี จิตใจดี อยู่ในสังคมที่ดี จะทำให้ผู้สูงอายุเกิดความภูมิใจ ความพึงพอใจในตนเอง รู้จักความประมาณตน รักตนเอง รักผู้อื่น ไม่ละทิ้งความรู้ความความรู้ความสามารถเดิมที่ตนมีอยู่ ทำตนให้มีคุณค่า มีประโยชน์ต่อผู้อื่น รู้จักเข้าหาสังคม มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ทำกิจกรรมอย่างสม่ำเสมอ ไม่อยู่อย่างอ้างว้างและเหงาหงอยจะเป็นการตอบรับโจทย์ของการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างมีคุณภาพ

           ความสามารถในการทำสิ่งต่าง ๆ ดังที่ต้องการอย่างต่อเนื่องและความต้องการที่จะดำรงชีวิตอยู่อย่างอิสระ แข็งแรงกระฉับกระเฉงนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับผู้สูงอายุ สมรรถภาพทางกายที่สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการเคลื่อนไหวปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน จะช่วยทำให้ทราบว่าความสามารถดังกล่าวยังคงดีอยู่หรือลดลง และเป็นข้อมูลในการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาส่งเสริมสมรรถภาพแก่ผู้สูงอายุเหล่านั้น

กิจกรรมพื้นฐานของผู้สูงอายุดังนั้นการคำนึงถึงปัจจัยดังกล่าวร่วมกับการพิจารณาให้คำแนะนำความเหมาะสมของกิจกรรมประเภทต่างๆจึงเป็นสิ่งที่ควรคำนึงถึงเป็นอย่างยิ่ง กิจกรรมพื้นฐานในการดำเนินชีวิติของมนุษย์นั้นประกอบด้วย 3 องค์ประกอบใหญ่ๆ คือกิจกรรมการบำรุงรักษาตนเอง กิจกรรมที่ทำตามบทบาทตามวัยและสังคมวัฒนธรรม และกิจกรรมยามว่างหรือนันทนาการ ดังนั้นการที่ผู้สูงอายุได้ทำกิจกรรมต่างๆอย่างเหมาะสมส่งผลให้การมีการเคลื่อนไหวร่างกาย ได้ใช้สมอง ได้ใช้ทักษะและศักยภาพของตนเอง ตลอดจนตัวกิจกรรมเปิดโอกาสได้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ซึ่งการที่บุคคลได้ทำกิจกรรมที่มีศักยภาพเหมาะสมและการมีกิจกรรมที่พอเหมาะกับวัยของผู้สูงอายุเป็นสิ่งที่มีคุณค่าและจำเป็นจะช่วยส่งเสริมให้ผู้สูงอายุนั้นเกิดความภาคภูมิใจและเห็นคุณค่าในตนเอง

2.      ทฤษฎีการทำกิจกรรมของมนุษย์

        ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการทำกิจกรรมในมนุษย์ทางกิจกรรมบำบัดแบ่งออกเป็น 4 ปัจจัยต่อไปนี้    (สุภาวดี พุฒิหน่อย, 2553) คือ

1.        บุคคล (Person)

2.        สิ่งแวดล้อม (Environment)

3.        สุขภาพ (Health)

4.        กิจกรรม (Occupation)

          การที่มนุษย์จะทำกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างเต็มศักยภาพนั้นมักขึ้นอยู่กับปัจจัยส่วนบุคคลดังต่อไปนี้ คือ อายุ เพศ ความสนใจ ระดับการศึกษา บทบาททางสังคม ทักษะในการทำกิจกรรม แหล่งที่มาของรายได้และอื่นๆ ซึ่งจะมีผลต่อการทำกิจกรรมของมนุษย์ นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่ปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อมร่วมด้วย อาทิเช่นสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ สรีรวิทยา จิตวิทยา สังคม การเมือง การทำกิจกรรมที่มีเหมาะสมหรือมีศักยภาพย่อมทำให้เกิดผลดีต่อสุขภาพ เกิดทักษะ เกิดการเรียนรู้และพัฒนาความสามารถในต่างๆ ทั้งยังก่อให้เกิดความรู้สึกภาคภูมิใจในตนเอง มองเห็นคุณค่าของตนเอง  การลงมือในการทำกิจกรรม (Occupation) มีสิ่งสำคัญอยู่ที่ตัวกิจกรรมนั้นต้องอาศัยทักษะการทำ หรือลักษณะกิจกรรมมีความซับซ้อนมากน้อยเพียงใด กิจกรรมนั้นต้องอาศัยความรู้ หรือประสบการณ์หรือไม่ การได้ทำกิจกรรมเปิดโอกาสให้ตนเองได้แสดงออกหรือนำมาซึ่งการได้รับการยอมรับในสังคม

        สำหรับทฤษฎีพื้นฐานในการทำกิจกรรมของมนุษย์นั้นอาศัยทฤษฎีรูปแบบกิจกรรมของมนุษย์ (Model of human occupation) ซึ่งพัฒนาโดย Kielhofner (2002) อธิบายดังต่อไปนี้

        มนุษย์(Human) เชื่อว่ามีแรงขับมาตั้งแต่เกิดในการค้นพบและควบคุมสิ่งแวดล้อมรอบๆตัวของเขา มนุษย์ เป็น ระบบเปิด สิ่งแวดล้อมรอบๆตัวมีผลกระทบต่อพวกเขา เมื่อใดก็ตามที่มนุษย์ได้กระทำผ่านกิจกรรมจะส่งผลให้เกิดข้อมูลย้อนกลับมาปรับและพัฒนาศักยภาพของตนเองอย่างต่อเนื่อง

           กิจกรรม (Occupation) ภายใต้รูปแบบกิจกรรมของมนุษย์ คือสิ่งใดก็ตามที่มนุษย์กระทำออกมาเป็นกิจกรรม โดยอาจแบ่งประเภทกิจกรรมเป็น การบำรุงรักษาตนเอง งาน และงานยามว่าง/การเล่น การทำกิจกรรมดังกล่าวอย่างสมดุลนำมาซึ่งสุขภาพที่ดี (Wellness) โดยต้องทำกิจกรรมที่ใช้เวลาอย่างเหมาะสม  สามารถเติมเต็มบทบาทของชีวิต พัฒนาศักยภาพของตนเองช่วยให้เกิดการปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้อย่างดี

           องค์ประกอบที่เกี่ยวข้องในการทำกิจกรรมของมนุษย์ (Subsystem of human occupation) มีระบบที่เกี่ยวข้องภายในตัวของมนุษย์ กิจกรรมของมนุษย์เป็นสิ่งที่ซับซ้อน กล่าวคือบุคคลอาจจะสามารถหรือไม่สามารถลงมือทำกิจกรรมนั้นได้อย่างประสบผลสำเร็จ บางคนนั้นต้องพยายามแล้วพยายามอีกถ้ายังทำกิจกรรมดังกล่าวไม่ประสบผลสำเร็จ ในขณะที่บางคนทำกิจกรรมดังกล่าวได้อย่างง่ายดาย ทั้งนี้เมื่อพิจารณาแล้วปัจจัยที่เกี่ยวข้องจะประกอบไปด้วย 3 ระบบด้วยกัน

1)       เจตจำนง Volition

2)      อุปนิสัย Habituation

3)      การกระทำ Performance

หมายเลขบันทึก: 551126เขียนเมื่อ 17 ตุลาคม 2013 15:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 ตุลาคม 2013 08:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

กายเสื่อม แต่จิตเข้มแข็งสุขสงบด้วยพุทธวิถีนะคะ...ขอบคุณสาระดีๆเช่นนี้ค่ะ

สวัสดีค่ะ อาจารย์ สุพรรษา โอทีรุ่น 23 ค่ะ จะมาติดตามอ่านบันทึกของอาจารย์เรื่อยๆนะคะ ^^

ยินดีต้อนรับนะครับอาจารย์ ;)...

ขอบคุณคะ กำลังทดลองใช้อยู่คะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท