ย้อนรอยเส้นทาง PhD ของโอ๋-อโณ (33): การเตรียมการเที่ยวชมดอกไม้ป่า


เขียนเล่าเรื่องราวสมัยที่อยู่เพิร์ธลงในวารสารสายใยพยาธิฯเมื่อนานมาแล้ว และเอามาลงใน GotoKnow อยู่พักหนึ่ง แล้วก็หยุดไป จำไม่ได้ว่าทำไม แต่ช่วงนี้เอาไปเก็บใส่ไว้ในเว็บไซต์ของบุคลากรมอ.Share.psu แล้วเลยเอามาเผื่อแผ่ตรงนี้ไปด้วยให้จบค่ะ ดีใจที่ได้เขียนไว้จริงๆ เพราะตอนนี้ให้เขียนก็คงไม่ได้รายละเอียดขนาดนี้แน่ๆ

เตรียมการเป็นทีม

ในกลุ่มนักเรียนไทยที่มีต่อเนื่องกันมาที่เพิร์ธนั้น เราก็จะมีกิจกรรมการจัดเดินทางท่องเที่ยวต่างเมืองกันเป็นครั้งคราว โดยแบ่งหน้าที่กันไป มีทั้งแผนกหาข้อมูล แผนกจองที่พัก แผนกวางแผนจัดการโปรแกรมและอาหารการกิน

สำหรับการไปดูดอกไม้ป่า เราจะมีข้อมูลที่สามารถติดตามดูได้จากเว็บไซต์ของทางการท่องเที่ยวของออสเตรเลียตะวันตกเองว่าปีนี้ เมืองไหนมีดอกไม้ป่ามากที่ไหน ช่วงไหน เพราะแต่ละปีก็จะมีปริมาณต่างๆกันไป ขึ้นกับสภาวะของฝนก่อนหน้าฤดูใบไม้ผลิ เราต้องวางแผนการเดินทางให้สามารถแวะเที่ยวสถานที่น่าเที่ยวตามเมืองต่างๆ ที่ระหว่างทางผ่านแต่ละเมืองนั้นมีทุ่งดอกไม้ป่า และให้ระยะทางเหมาะสมกับการเดินทาง มีเวลาเพียงพอกับการแวะลงถ่ายรูปตลอดรายทาง นอกจากนั้นยังมีดอกไม้ป่าเฉพาะที่เราตั้งใจจะไปดู และไม่ได้อยู่บนทางหลวงสายหลัก ที่เขาเรียกกันว่า Wreath flowers หรือดอกพวงหรีดนี่แหละค่ะ เป็นสิ่งมหัศจรรย์อย่างหนึ่งทีเดียว เพราะไม่ใช่ดอกไม้ที่จะเอาไปปลูกที่ไหนก็ได้ เขาจะขึ้นของเขาเองในพื้นทราย เป็นรูปวงกลมบ้าง วงรีบ้างแต่เป็นวง ตอนอ่อนๆก็จะเป็นใบเขียวๆ แต่พอดอกบานก็จะมีแต่ดอกสีชมพู ส้ม ไม่เหลือสีเขียว เหมือนเป็นพวงหรีดวางอยู่ระเกะระกะบนพื้นทราย สวยมหัศจรรย์จริงๆค่ะ ตรงที่เป็นดงของเขานั้น ละลานตาเป็นยิ่งนัก ถ้าเราไปถูกที่ ถูกเวลาจึงจะได้เห็น พวกเราโชคดีที่ใน 2 ปีที่เราไปนั้น ปีแรกคือปีที่เราได้เจอสวยสุดๆครั้งหนึ่ง เพราะรู้ทีหลังว่าบางปีมีแค่ไม่กี่หย่อม และบางคนก็ไปช้าหรือเร็วกว่าเวลาที่เขาบาน

ครัวไทยไปด้วยกัน

เวลาเดินทางท่องเที่ยวแบบนี้ เราจะซื้อผักผลไม้ ไข่ ข้าวสารเตรียมไปทำอาหารกันเอง เตรียมหม้อหุงข้าว กะทะ ตะหลิว หอมกระเทียม น้ำปลา น้ำมัน ฯลฯ และหาที่พักแบบที่มีครัวให้เราด้วย นอกจากจะเพราะอาหารการกินเป็นแบบที่เราไม่คุ้นเคยแล้ว ก็ยังไม่อิ่ม ไม่อร่อยและสนุกเหมือนเราทำกันเองอีกด้วย ในขบวนของเราก็จะมีคนทำอาหารได้เก่งต่างๆเมนูกันไป ใครทำไม่ได้ก็เป็นลูกมือบ้าง เป็นคนเก็บล้างบ้าง ทำให้พวกเรานักเรียนไทยที่เคยไปเที่ยวกันเป็นกลุ่มๆแบบนี้จะสนิทสนมกันค่อนข้างมาก

สำหรับการเที่ยวชมดอกไม้ป่านั้น เราจะไม่มีเป้าหมายแน่นอนเหมือนเวลาไปเที่ยวแบบอื่นๆ เราจะวางแผนการเดินทางแบบวนเป็นวงกลมไม่ซ้ำทางเดิม ทำให้ได้เที่ยวหลายที่ ได้เห็นดอกไม้ป่าหลายๆหย่อม ส่วนใหญ่จะใช้เวลาเป็นเกณฑ์ เพราะทุ่งดอกไม้ต่างๆจะมีเป็นช่วงๆตลอดรายทาง พวกเราทั้งขบวนก็จะใช้วิธีตัดสินใจเอาตามความงาม ความหนาแน่น ความหลากชนิดของดอกไม้ที่เห็น จึงจะมีการหยุดรถเพื่อลงไปกลิ้งเกลือกถ่ายรูปในดงดอกไม้ป่ากันเป็นระยะๆ มีใครบางคนคอยรับหน้าที่จับเวลากะเวลา ร้องเรียกกันให้ไปต่อ เป็นความทรงจำดีๆสำหรับพวกเราทุกคนอย่างไม่มีวันลืมกันเลย ภาพของทุ่งดอกไม้ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นชนิดเดียวในแต่ละหย่อม บางหย่อมก็เป็นพรมสุดลูกหูลูกตาน่าอัศจรรย์ ใครอยากเห็นภาพสีสวยๆ รอสักพักจะเอามาแปะไว้ให้ชม แต่หาดูได้ไม่ยากจากเว็บต่างๆที่ไม่มีใครไม่ติดใจ ใครเคยเห็นภาพเหล่านี้คงจะประทับใจไม่มีวันลืมเลยค่ะ 

ของปีนี้ (2013) เขามีไฟล์แนะนำไว้ที่นี่ค่ะ

Large_wildflowers2013

ต่อมาจาก series นี้ค่ะย้อนรอย PhD

หมายเลขบันทึก: 550766เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2013 19:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 สิงหาคม 2014 20:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

แบบนี้ล่ะ ใช่เลยค่ะ ดร.โอ๋

เข้าป่า ผ่าฝืน ปีนเขา ชมดอกไม้ กล้วยไม้ป่า

ชอบมากค่ะ  วางแผนดีๆ ช่วยให้ทริปสนุกค่ะ

ชอบครับ... ครัวไทยไปด้วยกัน...

ตาลอย ฝันตามค่ะ

ขอแค่ เขาใหญ่สักสามวันเถ้อะ :)

ยิ้มม...ช่วงเกลือกกลิ้งถ่ายรูปดงดอกไม้ค่ะ สุขใจ ลืมเวลาเลยเชียว

อ่านแล้วก็คิดถึงความพร้อมและความสุขของทีมพี่น้องอดีตนักเรียนไทยที่ Perth รักและคิดถึงทุกท่านครับ ขอบคุณมากครับพี่โอ๋ที่รัก

โห!....สวยๆทั้งนั้นเลย

ขอบคุณค่ะ 

ตามมาอ่านแล้วชอบมาก

แต่งง รูปอาจารย์หมอ JJ 

ทำไมมาอยู่หัวบันทึกได้ครับ

เอารูปมาใส่เพิ่มเติม หลังจบ series นี้ค่ะ ขอบคุณทุกท่านสำหรับความเห็นและดอกไม้ เป็นความสุขเล็กๆที่ได้ทบทวนอดีตค่ะ

มีรูปอ.JJ ในหน้าแรกเท่านั้นนะคะ แต่พอคลิกเข้ามาในบันทึกก็ไม่มี แปลกดีจริงๆค่ะ แต่ก็เท่ไปอีกแบบนะคะ

เข้ามาทักทายด้วยความระลึกถึงค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท