ปัญหาน้ำนมไม่พอ หรือ ลูกติดจุกกันแน่??


สวัสดีผู้อ่านทุกท่านค่ะ

ปัญหาติดจุก (NIPPLE CONFUSION)

การที่ลูกปฏิเสธนมแม่ แต่ยอมกินจากขวดผ่านจุกนมยาง คืออาการสับสนระหว่างจุกนมแม่และจุกนมปลอม (NIPPLE CONFUSION) ซึ่งปัญหานี้นี่เองที่สาเหตุหลักที่ทำให้แม่เข้าใจผิดว่าตนเองไม่มีน้ำนม หันไปชงนมผงใส่ขวดให้ลูกดูดกิน ทั้งที่เต้านมอาจคัดแข็งและเต็มไปด้วยน้ำนมก็ตาม 

ปัญหานี้เกิดจากความเข้าใจผิดๆ ว่า การกินนมจากเต้าแม่ก็เหมือนกับการกินนมจากขวด ทารกที่กินนมจากขวดตั้งแต่อายุน้อยมากๆ จะมีปัญหาในการดูดนมแม่ เพราะนมแม่และขวดวิธีดูดที่แตกต่างกัน 

การดูดนมแม่ 

ลูกต้องใช้ลิ้นและขยับกรามล่างเพื่อ “รีด” น้ำนมออกจากกระเปาะน้ำนม 

- เมื่อลูกกินนมแม่ ลูกต้องอ้าปากกว้างและอมหัวนมแม่ไปถึงลานนม หัวนมแม่จะยืดไปถึงด้านในปากของลูก 

- ลิ้นของลูกจะห่อลานนมที่ยืดและกดให้แนบไปกับเพดานปาก 

- เมื่อลูกขยับลิ้นและกราม น้ำนมจะถูกรีดออกมาตามจังหวะที่ลูกขยับกราม 

- หากลูกดูดตามวิธีดังกล่าว หัวนมจะอยู่ด้านในสุดของช่องปาก ทำให้แม่ไม่รู้สึกเจ็บหัวนม 

การดูดนมขวด (จุกนมยาง) 

น้ำนมจะไหลผ่านรูที่จุกนมยาง โดยอาศัยแรงโน้มถ่วง ดังนั้นลูกไม่ต้องออกแรงในการกินนม 

- ลูกไม่ต้องอ้าปากกว้าง แต่จะห่อริมฝีปากให้เล็กและแน่น 

- จุกนมยางไม่ยืดถึงส่วนในสุดของช่องปาก ลูกไม่ต้องใช้ลิ้นรีดเพื่อเอาน้ำนมออกจากจุกนมยาง 

- ลูกจะดูดแผ่วๆ และงับกัดจุกนมยางเพื่อให้น้ำนมไหลออกจากขวด 

- เมื่อน้ำนมไหลเร็วเกินไป ลูกจะใช้ลิ้นดุนขึ้นเพื่อชะลอการไหลของนม 

- น้ำนมไหลไม่หยุดและเอ่อล้นอยู่ในปาก ไม่ว่าลูกจะดูดหรือไม่ดูดก็ตาม 

เมื่อลูกเคยชินกับการกินนมจากขวด ซึ่งง่ายกว่าการกินนมแม่ จะทำให้ลูกปฏิเสธเต้าแม่ และถึงแม้ว่าลูกจะยอมกินนมแม่ก็ตาม ลูกจะกัดนมแม่ ด้วยเหตุที่เคยชินกับการกัดงับให้น้ำนมไหลเข้าปากนั่นเอง 

อาการติดจุก สังเกตุได้ดังนี้ 

- ทารกที่กินนมขวดตั้งแต่แรกเกิดจะเอาลิ้นดุนนมแม่ออกจากปาก 

- ทารกไม่อ้าปากกว้า และจะดูด/งับที่หัว

นมแม่ (ไม่อมถึงลานนม) แม่จะเจ็บหัวนมและลูกจะไม่ได้รับน้ำนมมากพอเพราะกลไกดูดที่ผิดนี้ไม่สามารถรีดน้ำนมออกจากเต้าแม่ได้ - ทารกที่กินจากจุกนมยางจะเคยชินกับน้ำนมที่ไหลออกทันทีที่มีจุกนมเข้าปาก จะไม่รอจนน้ำนมพุ่ง (Milk Ejection Reflex หรือความรู้สึกจี๊ดที่เต้า) ที่จะเกิดขึ้นประมาณ 1-2 นาทีหลังจากเริ่มดูด 

หลายคนอาจด่วนสรุปว่าให้กินจากขวดไปเลย เพราะง่ายกว่า แต่มีการศึกษาเปรียบเทียบแล้วว่าทารกที่กินนมแม่จะมีความเครียดน้อยกกว่าทารกที่กินนมขวด เพราะ 

- การหายใจและอัตราการเต้นของหัวใจสม่ำเสมอกว่า 

- ทารกสามารถควบคุมปริมาณการไหลของน้ำนมแม่ได้ ตามจังหวะ ดูด กลืน หยุด 

- การกินนมจากเต้าเป็นธรรมชาติกว่า ใช้พลังงานน้อยกว่า 

วิธีป้องกันปัญหาติดจุก 

- เพราะทารกต้องฝึกฝนทักษะการดูดกินนมจากเต้าแม่ในช่วง 1 เดือนแรก จึงไม่ควรให้ทารกกินนมจากจุกนมยางในช่วงอายุน้อยกว่า 1-2 เดือน (รวมถึงจุกนมหลอก หรือ pacifier ด้วย) 

แม่หลายคนที่ต้องกลับไปทำงานอาจกังวลเรื่องลูกติดเต้า ไม่ยอมกินนมจากขวดระหว่างแม่ไปทำงาน จึงต้องการฝึกให้ลูกยอมรับขวดตั้งแต่วัยเพียงไม่กี่สัปดาห์ แต่วิธีนี้อาจก่อให้เกิดปัญหาติดจุกได้ เพราะเมื่อลูกติดจุกและไม่ยอมดูดจากเต้า ปัญหาอื่นๆ อาจจะหนักกว่ากับการอดทนฝึกให้ลูกกินจากขวดหรือวิธีอื่นๆ (แก้ว/ ช้อน/ หลอด) ตอนลูกอายุ 2-3 เดือน 

วิธีแก้อาการติดจุก ทำอย่างไรให้หายสับสน 

• งดขวด จุกนมยาง จุกนมหลอก (ต้องใจแข็งค่ะ) 

• ป้อนนมลูกด้วยวิธีอื่น (แก้ว/ ช้อน/ หลอด) 

• อุ้มลูกบ่อยๆ ให้ลูกเคยชินกับไออุ่นจากอกแม่ 

• ให้ลูกกินนมจากอกเมื่อลูกอารมณ์ดี ไม่หงุดหงิด อย่ารอให้ลูกหิวจัด 

• เช็คดูว่าลูกกินนมถูกวิธีหรือไม่ อ้าปากกว้างก่อนงับ และอมถึงลานนมหรือไม่ 

• ปั๊มนมหรือกระตุ้นให้น้ำนมพุ่งก่อนให้ลูกดูด ทารกที่ติดจุกจะพอใจเมื่อดูดปุ๊บ น้ำนมไหลปั๊บ จะยอมรับเต้านมแม่ง่ายขึ้น 

• ใช้ดรอปเปอร์หรือไซริงค์หยอดน้ำนมที่มุมปากของลูกทันทีเมื่อลูกเข้าเต้า ก่อนที่ลูกจะหงุดหงิดไม่ยอมรับเต้าแม่ 

• ปรึกษาคลินิคนมแม่ หรือแม่อาสา 

ทารกที่ติดจุกจะทำหน้างงงวยเมื่อต้องกินนมแม่แทนนมขวด ปัญหานี้แก้ไม่ยากถ้าแม่เข้มแข็งและแน่วแน่และแม่จะต้องอดทนกับเสียงร้องของลูกเพียงไม่กี่วันเท่านั้น อย่าลืมให้กำลังใจกับลูกเมื่อลูกยอมดูด แม้จะเป็นเพียงชั่วครู่ก็ตาม 

อย่าลืมว่าการป้องกันปัญหาติดจุกง่ายกว่าการแก้นะคะ ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดคืออย่าเริ่มให้ลูกกินนมจากขวดเร็วเกินไป ให้ใช้แก้ว ช้อน หรือหลอดป้อน จะสามารถป้องกันมิให้ลูกเกิดความสับสนระหว่างนมแม่และจุกนมยางได้ค่ะ

บทความโดย แม่อาสา มูลินิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย

หมายเลขบันทึก: 550636เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2013 13:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 ตุลาคม 2013 13:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท