การพัฒนาความรู้และทักษะของครูภาษาอังกฤษในเขตพื้นที่การศึกษา::ศน ภมร


โครงการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ
           สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ดำเนินการพัฒนาความรู้และทักษะของครูสอนภาษาอังกฤษ  โดยจัดให้มีโครงการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีงบประมาณ  2547-2549   ซึ่งได้จัดสรรงบประมาณให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและศูนย์พัฒนาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ (ERIC)   ดำเนินการพัฒนาครูสอนภาษาอังกฤษ  จัดค่ายภาษาอังกฤษสำหรับครูและนักเรียน  อบรมภาษาอังกฤษให้แก่ประชาชนและผู้สนใจ  รวมทั้งจัดงบประมาณส่งเสริมโรงเรียนต้นแบบการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในเขตพื้นที่การศึกษา  1  โรงเรียน  และศูนย์เครือข่ายพัฒนาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษระดับประถมศึกษาทุกอำเภอ  อำเภอละ  1 โรงเรียน  (ยกเว้นอำเภอที่ตั้งศูนย์ ERIC)
           การพัฒนาครูตามโครงการดังกล่าวเป็นการประสานความร่วมมือระหว่างผู้บริหารโครงการในเขตพื้นที่  ได้แก่ศึกษานิเทศก์ผู้รับผิดชอบกลุ่มสาระการเรียนรู้วิชาภาษาต่างประเทศ  และคณะกรรมการบริหารศูนย์พัฒนาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ
 การปฏิบัติงานของผู้บริหารโครงการได้นำเทคนิคมาใช้ในการปฏิบัติงานอย่างหลากหลาย  เช่น  เทคนิคการวางแผน   เทคนิคการฝึกอบรม  เทคนิคการบริหารโครงการ  เทคนิคการประเมินผลโครงการ  เทคนิคการประสานงาน  เป็นต้น  ซึ่งเทคนิควิธีการดังกล่าวอยู่ภายใต้แนวคิดการบริหารงานแบบ  PDCA  แนวคิดการมีส่วนร่วมในการปฏิบัติงาน  และแนวคิดของการพัฒนาบุคลากรและการฝึกอบรม   ได้มีการประชุมร่วมกันระหว่างผู้ปฏิบัติงาน/คณะกรรมการศูนย์ ERIC  /วิทยากร  และผู้บริหารโครงการตั้งแต่การวางแผนก่อนการดำเนินการ  ระหว่างดำเนินการ  และเมื่อสิ้นสุดโครงการ   การดำเนินงานทั้งในส่วนของศูนย์ ERIC    และเขตพื้นที่การศึกษาได้ดำเนินการไปตามแผนที่กำหนด  และมีการรายงานผลโครงการทั้งระหว่างการดำเนินการ  และเสร็จสิ้นโครงการ  ให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานทราบ  เป็นระยะในแต่ละปีงบประมาณ  ทั้งนี้ผู้บริหารโครงการได้ศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้องกับแนวคิด/เทคนิควิธีการข้างต้นจากเอกสารการกำกับงานและประเมินผลโครงการตามนโยบายและแผนสำนักนายกรัฐมนตรี  เอกสารการพัฒนาและฝึกอบรมบุคคล : ศึกษาเชิงพฤติกรรมของ อรุณ  รักธรรม  สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์  เอกสารการประเมินโครงการ : แนวทางสู่การปฏิบัติของ สุวิมล  ติรถานันท์  มหาวิทยาลัยรามคำแหง  เป็นต้น
           ข้อค้นพบในการปฏิบัติงาน  พบว่า  มีการฝึกอบรมค่อนข้างมาก  แต่การติดตามผลหลังการเรียนรู้/หลังการอบรมว่าผู้เข้าอบรมนำความรู้/ทักษะ ไปใช้ในการปฏิบัติงานมากน้อยเพียงใด  ทำได้ค่อนข้างน้อยหรือแทบจะไม่ได้ดำเนินการเลยก็ว่าได้  การประเมินผลโครงการจะจัดทำในระหว่างการอบรมโดยประเมินผลสัมฤทธิ์/ความรู้ ความเข้าใจในเนื้อหาการอบรม  ประเมินกระบวนการอบรม  และประเมินเจตคติของผู้เข้ารับการอบรมต่อการฝึกอบรม  เท่านั้น  ดังนั้นในการดำเนินการครั้งต่อไปผู้บริหารโครงการพยายามแก้ไขข้อบกพร่อง  โดยให้มีการประเมินด้านอื่น ๆ  ที่เกี่ยวข้องด้วย  เช่น  การประเมินประสิทธิภาพของโครงการ  การติดตามผลหลังการเรียนรู้
หมายเลขบันทึก: 55051เขียนเมื่อ 18 ตุลาคม 2006 16:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤษภาคม 2012 21:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท