เรียนเชื่อ กับเรียนแย้ง


ผมสังเกตเห็นว่า วงการศึกษาไทยในปัจจุบัน มีลักษณะ ศรัทธานำ หรือเรียนแบบศิษย์เชื่อครู ตัวครูเองก็สอนให้ศิษย์เชื่อครู เชื่อตามที่ครูบอก ในขณะที่การศึกษาแห่งศตวรรษที่ ๒๑ เน้นการเรียนรู้แบบฝึก ให้เชื่อตัวเอง เชื่อผัสสะของตนเอง จากการที่ตนเองลงมือทำ ตามด้วยการไตร่ตรอง (reflection) แบบแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนๆ โดยมีครูเป็นโค้ช การศึกษาแห่งศตวรรษที่ ๒๑ จึงเน้น ผัสสะนำ ไม่ใช่ศรัทธานำ เป็นการศึกษาที่ตรงตามคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ กาลามสูตร

ในศตวรรษที่ ๒๑ โลกเต็มไปด้วยความซับซ้อน ไม่ชัดเจน ไม่แน่นอน การเรียนรู้ต้อง อยู่บนฐานความจริงนี้ การเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๑ จึงต้อง เรียนแย้ง ไม่ใช่ เรียนเชื่อ เพราะในโลกที่ซับซ้อนและไม่แน่นอนเช่นนี้ คนเราต้องฝึกมองหลายมุม ฝึกให้กล้ามีมุมมองของตนเอง

แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องฝึกรับฟังการตีความผัสสะของคนอื่นด้วย จากประสบการณ์เดียวกัน นั่นคือ ต้องเรียนรู้เพื่อทักษะในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากการปฏิบัติ แลกเปลี่ยนการตีความผัสสะของตัวเราต่อเพื่อน และรับฟังการตีความผัสสะของเพื่อน เพื่อนำมาเป็นข้อเรียนรู้ของเรา ให้ได้เห็นว่า คนเราตีความผัสสะ ไม่เหมือนกัน หรือแม้เหมือนกันก็ไม่เหมือนกันทั้งหมด

คือเรียนรู้ที่จะเคารพมุมมองของผู้อื่น นำมาเป็นข้อเรียนรู้เพิ่มเติมแก่ตนเอง

จริงๆ แล้ว ต้องทั้งเรียนแย้งและเรียนเชื่อในเวลาเดียวกัน

หากแย้งออกไปด้วยวาจา ก็แย้งอย่างเคารพความเห็นของผู้อื่น อย่างอ่อนน้อมถ่อมตน ว่าการตีความของตนอาจผิดก็ได้ แต่ตนรับรู้ผัสสะแล้วตีความอย่างนั้น

การกล้าแย้ง กล้าแตกต่าง เป็นคุณสมบัติของมนุษย์ที่ต้องการสำหรับการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ ๒๑ ภาษาอังกฤษว่า Dare to be different หรือเรียกว่าคุณสมบัติ differentiation

การศึกษาที่เน้นศรัทธานำ ไม่เหมาะต่อการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ ๒๑

กล่าวแล้วก็ต้องแย้งตนเองเสียหน่อย

การเรียนรู้ต้องมีส่วนศรัทธานำด้วย ในเรื่องเป้าหมายการเรียนรู้เพื่อพัฒนาไปสู่การทำหรือปฏิบัติ เพื่อคุณค่าที่ยิ่งใหญ่กว่าผลประโยชน์ของตนเอง ตีความได้ว่า เพื่อศรัทธาต่อพระเจ้า ก็ได้

วิจารณ์ พานิช

๑๖ ก.ย. ๕๖

หมายเลขบันทึก: 550195เขียนเมื่อ 4 ตุลาคม 2013 08:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 ตุลาคม 2013 08:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งค่ะ...

เห็นด้วยอย่างยิ่งค่ะ ควรกล้ามีความคิดแย้ง แต่ให้มีเหตุผล

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

ได้ศัพท์ใหม่จากอาจารย์ "เรียนเชื่อ กับเรียนแย้ง"

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท