ชีวิตที่พอเพียง : ๒๐๐๕. เศรษฐศาสตร์การเมืองเรื่องการศึกษา ๑


 

ศูนย์เศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงาน เศรษฐศาสตร์การเมืองในวัฒนธรรมชุมชน เพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสที่ ศ. กิตติคุณ ดร. ฉัตรทิพย์ นาถสุภา และ อาจารย์ ดร. ปรีชา เปี่ยมพงศ์สานต์ มีอายุครบ ๗๒ ปี และให้เกียรติเชิญผมไปเป็นองค์ปาฐกในงาน โดยพูดเรื่อง เศรษฐศาสตร์การเมือง เรื่องการเรียนรู้ เพื่อชาติ เพื่อชุมชน จึงนำมาเผยแพร่ต่อ

 

เศรษฐศาสตร์การเมืองเรื่องการเรียนรู้ เพื่อชาติ เพื่อชุมชน[1]

 

วิจารณ์ พานิช

๓๑ สิงหาคม ๒๕๕๖

..

 

 

ท่านศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ท่านอาจารย์ ดร. ปรีชา เปี่ยมพงศ์สานต์ และแขกผู้มีเกียรติที่เคารพทุกท่าน

กระผมรู้สึกว่าได้รับเกียรติและความไว้วางใจอย่างสูงยิ่ง ที่ได้รับเชิญให้เป็นผู้กล่าวปาฐกถาเกียรติยศ เนื่องในวาระที่มิตรสหายและศิษย์มาร่วมกันเฉลิมฉลองโอกาสที่สองปราชญ์ไทย มีอายุครบ ๖ รอบนักษัตร ในลักษณะของกิจกรรมทางปัญญา อย่างน้อย ๓ ด้าน คือการจัดพิมพ์หนังสือที่ระลึก จำนวนถึง ๙ เล่ม การแสดงละคร เรื่อง เพื่อชาติ เพื่อมนุษยชาติเพื่อรำลึกถึงคุณงามความดีของคุณจำกัด พลางกูร และการแสดงปาฐกถาพิเศษ เรื่อง เศรษฐศาสตร์การเมืองเรื่องการเรียนรู้ เพื่อชาติ เพื่อชุมชน นี้ โดยกระผมได้พยายามค้นคว้าทำความเข้าใจมานำเสนอต่อท่านที่เคารพทั้งหลายในเวลาประมาณ ๑ ชั่วโมง

กระผมขอกราบขอบพระคุณท่านอาจารย์ฉัตรทิพย์ ท่านอาจารย์ปรีชา และคณะผู้จัดงาน ที่กรุณาให้เกียรติผมมากล่าวปาฐกถานี้ ความรู้สึกว่าได้รับเกียรติและได้รับโอกาสมากล่าวต่อที่ชุมนุมของปราชญ์ แห่งแผ่นดินจำนวนมาก และความรู้สึกรักและเคารพอาจารย์ฉัตรทิพย์และอาจารย์ปรีชา ทำให้กระผมไม่ปฏิเสธคำเชิญ แต่เมื่อรับแล้ว ก็เกิดความวิตกกังวล ว่าอาจทำไม่ได้ดี เพราะเรื่องการเรียนรู้ หรือการศึกษาในสังคมไทย โดยเฉพาะเมื่อมองจากมุมของเศรษฐศาสตร์การเมือง เป็นเรื่องซับซ้อนมาก มีความจริงกึ่งมายา รวมทั้งความจริงทั้งที่เป็นศักยภาพ และที่เป็นจุดอ่อนที่ซ่อนเร้น หรือซุกซ่อนอยู่อีกมากมาย เกินกำลังสติปัญญาของกระผม จะเข้าใจแจ้งแทงตลอดได้ จึงขออนุญาตนำเสนอแบบเน้นตั้งคำถาม มีเป้าหมายเพื่อยั่วยุให้เหล่ามิตรสหาย และศิษย์ของท่านอาจารย์ทั้งสอง นำไปเป็นโจทย์วิจัย เพื่อแก้ปัญหา อันยุ่งเหยิงของบ้านเมืองของเรา

หวังว่า เมื่อจบปาฐกถานี้แล้ว ท่านจะได้คำถามจำนวนมาก ที่เป็นคำถามเพื่อชาติ เพื่อชุมชนของเรา สำหรับให้ท่านที่เคารพทั้งหลายนำไปทำงานวิชาการต่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การตอบโจทย์ด้านเศรษฐศาสตร์ การเมืองเรื่องการศึกษา เพื่อลดปัจจัยลบ และนำศักยภาพที่ซ่อนเร้น ออกทำคุณประโยชน์ แก่บ้านเมืองของเรา

กระผมจะกล่าวต่อท่านทั้งหลายเพียง ๒ เรื่อง คือเรื่องการศึกษาในระบบ กับเรื่องการเรียนรู้ของชุมชน

 

การศึกษาในระบบ

ความจริงที่รู้กันมากว่า ๑๐ ปี รู้กันทั่ว ไม่มีอะไรซ่อนเร้น คือผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเด็กไทย ในภาพรวมตกต่ำลง และตกต่ำลงเรื่อยๆ ในช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมา สะท้อนความล้มเหลวของการบริหารการศึกษา ของประเทศไทย ผลการทดสอบเปรียบเทียบระหว่างประเทศ ที่เรียกว่า PISA (Programme for International Student Assessment) ซึ่งทดสอบเด็กอายุ ๑๕ ปี ในทักษะ ๓ ด้าน คือ การอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ทดสอบทุกๆ ๓ ปี เริ่มจัดทำปี ค.. 2000 พบว่าคะแนนเฉลี่ยของเด็กไทยอยู่ในกลุ่มต่ำที่สุดของโลก และมีแนวโน้มคงที่หรือลดลง ในทั้ง ๓ ด้าน กระผมขอยกตัวอย่างด้านเดียว คือทักษะการอ่าน คะแนนเฉลี่ยของเด็กไทยในปี ค.. 2009 เท่ากับ ๔๒๑ เป็นอันดับที่ ๕๓ จาก ๖๕ ประเทศ โดยประเทศที่ได้อันดับ ๑ คือนครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน คะแนน ๕๕๖ คะแนนเฉลี่ยของเด็กไทย ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยมาตรฐานของกลุ่มประเทศ OECD ซึ่งเท่ากับ ๔๙๓ คะแนนเฉลี่ยด้านการอ่านของเด็กไทย ในปี ค.. 2006, 2003, และ 2000 เท่ากับ ๔๑๗, ๔๒๑ และ ๔๓๑ ตามลำดับ

คะแนนเฉลี่ยของปี ค.. 2006 เท่ากับ ๔๑๗ ของปี ค.. 2009 เท่ากับ ๔๒๑ น่าจะใจชื้นว่าคะแนนทำท่าจะดีขึ้น แต่เมื่อวิเคราะห์เจาะลึก ดูร้อยละของเด็กที่มีทักษะการอ่าน ต่ำกว่าเกณฑ์ระดับพื้นฐาน ในปี ค.. 2006 ร้อยละ ๓๗ ในปี ค.. 2009 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ ๔๓

การที่คะแนนเฉลี่ยของผลการสอบ PISA ของเด็กไทย ต่ำกว่ามาตรฐานโลกอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา ๑๐ ปี เป็นเรื่องที่น่าตกใจ แต่ยังไม่น่าตกใจเท่าข้อมูลวิเคราะห์แยกแยะรายละเอียดของผลสอบตามกลุ่มโรงเรียน และตามรายภาค คะแนนเฉลี่ยของกลุ่มโรงเรียนสาธิตสูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศ OECD คือคะแนนเฉลี่ยด้านการอ่านใน PISA 2009 เท่ากับ ๕๒๕ ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของประเทศ OECD เท่ากับ ๔๙๓ (ของไทย ๔๒๑) แต่ค่าเฉลี่ยของกลุ่มโรงเรียนกลุ่มโรงเรียนขยายโอกาส ในสังกัด สพฐ. เท่ากับ ๓๘๑

นอกจากนั้น ผลการทดสอบ TIMSS (Trends in International Mathematics and Science Study) และผลการทดสอบ O-NET ของไทย เมื่อจำแนกแจกแจงคะแนนผลการสอบตามรายภูมิภาค พบว่าคะแนนของนักเรียนในภูมิภาคต่ำกว่าคะแนนของนักเรียนในกรุงเทพอย่างมากมาย ข้อมูลเหล่านี้ค้นหาได้ไม่ยากทาง อินเทอร์เน็ต

กระผมตกใจมากจากข้อมูลนี้ เพราะมันสะท้อนภาพความไม่เป็นธรรมในสังคมไทยด้านการศึกษา อย่างรุนแรง กระผมเรียนรู้มาจากหนังสือ ความคิดและความใฝ่ฝันของนักคิดไทย ๖๐ ปี ปรีชา เปี่ยมพงศ์สานต์ (กนกศักดิ์ แก้วเทพ บรรณาธิการ, ๒๕๔๔) ว่า วิชาเศรษฐศาสตร์การเมือง เน้นที่ความเป็นธรรมในสังคม และเข้าข้างผลประโยชน์ของกลุ่มที่ด้อยโอกาส กระผมจึงถือเป็นโอกาส ที่ได้มาพูดในที่ชุมนุมนี้ ว่าวงการเศรษฐศาสตร์การเมืองไม่ควรเพิกเฉยต่อความไม่เป็นธรรมอย่างรุนแรง ด้านการศึกษาของสังคมไทย

หากท่านอ่านบทความเรื่อง มนุษยมิติและความเป็นชุมชนในศตวรรษที่ ๒๑ ที่กระผมเขียน และอยู่ในหนังสือเล่มที่ ๓ ที่พิมพ์ในโอกาสนี้ ท่านจะยิ่งตกใจ ที่การศึกษาไทยเราเดินทางผิดมาเป็นเวลานาน เป็นการเดินทางผิดในด้านเทคนิควิธีการจัดการเรียนรู้ และวิธีการบริหารการศึกษา

สาเหตุของความเพลี่ยงพล้ำทางการศึกษาของสังคมไทย ในความเห็นของกระผม มี ๒ มิติ คือมิติทางวิชาการ (หรือทางเทคนิค) กับมิติทางการเมือง (หรือเศรษฐศาสตร์การเมือง)

ในช่วงเวลา ๒ - ๓ ปีที่ผ่านมา มีการศึกษาและนำเสนอต่อสังคมไทยในมิติทางวิชาการจำนวนไม่น้อย แต่ไม่มีการศึกษาในมิติทางเศรษฐศาสตร์การเมืองเลย ในส่วนที่เกี่ยวกับความตกต่ำของระบบการศึกษาไทย

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้ทำการวิจัยปัญหาการศึกษา และนำเสนอในการประชุมประจำปี เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ เรื่อง ยกเครื่องการศึกษาไทย : สู่การศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง (ซึ่งสามารถ ดาวโหลด เอกสารประกอบการประชุมได้ที่ http://tdri.or.th/seminars/ye2011/) ชี้ให้เห็นว่าสาเหตุที่ทำให้คุณภาพการศึกษาไทยตกต่ำ เพราะระบบการบริหารขาดการรับผิดรับชอบ ขาดความเชื่อมโยงกับตลาดแรงงาน และอื่นๆ อีกมากมาย

หลังจากนั้น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ว่าจ้างให้ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ทำการวิจัยเพื่อเสนอแนวทางแก้ปัญหาดังกล่าว เรื่อง โครงการวิจัยยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อสร้างความรับผิดชอบ กระผมทราบว่า ทีดีอาร์ไอ ได้ส่งผลการวิจัยให้แก่ สพฐ. แล้ว แต่การแก้ไขอย่างเป็นระบบยังไม่เกิดขึ้น สพฐ. เองอ่อนแอเกินไป จนไม่สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาคุณภาพการศึกษาของชาติ ที่มีปัญหาใหญ่หลวงได้ เพราะมิติทางการเมือง ในระบบบริหารการศึกษาไทย มีพลังด้านลบครอบงำอยู่ อย่างแน่นหนาซึมลึก และอย่างที่รู้กันทั่ว แต่ไม่มีการดำเนินการแก้ไขปัญหา อย่างจริงจัง ไม่มีการแก้ปัญหาที่รากเหง้า

ถึงเวลาแล้ว ที่วงการวิจัยเศรษฐศาสตร์การเมืองไทย จะออกมาทำงานวิจัย ศึกษาปัญหาทาง เศรษฐศาสตร์การเมือง ของระบบการศึกษาไทย นำเสนอต่อสาธารณชน เพื่อกระตุ้นเตือนให้มีการปรับตัว แก้ไขลดละปัจจัยลบในระบบการเมืองของวงการศึกษา และหาทางเพิ่มปัจจัยบวก ทั้งนี้ เพื่อความวัฒนาถาวร ของสังคมไทยในระยะยาว

ตัวอย่างหนึ่งของปัจจัยด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองในระบบการศึกษาคือบทบาทของคุรุสภา และสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา และกลไกอื่นๆ ตามกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพครู น่าจะได้มีการศึกษาทำความเข้าใจว่า ในทางปฏิบัติ กลไกเหล่านี้ทำหน้าที่อย่างไร ก่อผลบวกและผลลบต่อคุณภาพการศึกษา ของประเทศอย่างไร

-ต่อบันทึกที่ ๒-นอกจากนั้น มีคนในวงการการศึกษาเอง......................

 

- บันทึกที่ ๓ - และ บันทึกที่ ๔ (จบ)

 

ป้ายบนเวที ผมนั่งพูดที่โต๊ะ

 

ศ. กิตติคุณ ดร. ผาสุก พงษ์ไพจิตร กล่าวแนะนำองค์ปาฐก (คือผมนั่นแหละ)

 

ศ. กิตติคุณ ดร. ฉัตรทิพย์ นาถสุภา คุณจรรยา ภรรยา และ พญ. ช่อทิพย์ บุตรสาว

 

มีการจัดพิมพ์เผยแพร่บทความวิชาการที่เขียนโดยศิษย์

และมิตร ของ ศ. ดร. ฉัตรทิพย์ถึง ๙ เล่ม ๑๑๗ เรื่อง

 

อธิการบดีจุฬาฯ ศ. นพ. ภิรมย์ กมลรัตนกุล มอบของที่ระลึก

 

ศ. ดร. วิชัย บุญแสง หนึ่งในคณะสี่สหาย ไปร่วมงาน

 

รศ. ดร. ชโยดม สรรพศรี คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ กล่าวเปิดงาน

หมายเลขบันทึก: 549926เขียนเมื่อ 1 ตุลาคม 2013 09:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 ธันวาคม 2013 10:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท