ชีวิตที่พอเพียง : ๒๐๐๔. ภาษาปักษ์ใต้นานๆ คำ : พูดนอก - พูดใน


อนุสนธิจาก บันทึกนี้ คุณนก ถามคำว่า พูดนอก และ พูดใน พร้อมทั้งขอให้ช่วยสันนิษฐานที่มาที่ไป

จริงตามที่คุณนกว่า ที่บ้านผมที่ชุมพร เวลาคุยกันด้วยภาษาปักษ์ใต้ เราไม่ได้บอกว่าพูดภาษาปักษ์ใต้ แต่เราบอกว่าเรากำลัง พูดนอก ผมสันนิษฐานว่า น่าจะกร่อนมาจาก พูดภาษาบ้านนอก หรือ พูดภาษาของคนบ้านนอก

สมัยผมเป็นเด็ก มีคนจากแม่กลอง อัมพวา เพชรบุรี อพยพไปทำมาหากินแถวบ้านผมมาก ตามที่เคยเล่าไว้ ที่นี่ เราเรียกคนเหล่านี้ว่า คนใน และเขา พูดใน สันนิษฐานว่า มาจาก คนในกรุง

คำว่า พูดนอก พูดใน นี้ เมื่อวันที่ ๓๐ ส.. ๕๖ ผมถาม ศ. นพ. จรัส สุวรรณเวลา ซึ่งเป็นคนจังหวัดตรัง ว่าที่จังหวัดตรังที่ท่านเกิด มีการใช้คำนี้ไหม ท่านบอกว่าไม่มี ทำให้ผมสันนิษฐานต่อว่า จังหวัดชุมพรอยู่ชายทะเลฝั่งตะวันออกด้านอ่าวไทย ชายทะเลติดต่อไปยังชายฝั่งทะเลด้านตะวันตก ของอ่าว คือถัดขึ้นไปเป็นจังหวัด ประจวบฯ เพชรบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร คนในจังหวัดเหล่านี้แล่นเรือหาปลา และค้าขายติดต่อกันมาช้านานตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ จึงมีการกำหนดจำแนกคนเป็น คนนอก คนใน เกิดขึ้น และมีคำเรียก พูดนอก พูดใน

ที่บ้านผม มีแม่ ที่พูดใน เพราะเป็นคนที่เกิดและโตที่เพชรบุรี แต่พวกเรา (หมายถึงผมและน้องๆ) เกิดและโตที่บ้านนอก เราจึงติดการพูดนอกกัน และเวลาพูดกับแม่ก็พูดนอก เมื่อพ่อยังมีชีวิตอยู่พ่อก็พูดนอกกับแม่ และแม่พูดในกับพ่อ และกับพวกลูกๆ

แม่ชวนหลาน ที่เป็นลูกพี่สาว ซึ่งอยู่ที่เพชรบุรีมาอยู่ที่บ้านผมและช่วยงานบ้านหลายคน และบางคนก็มาแต่งงานอยู่ที่ ต. ท่ายาง อ. เมือง จ. ชุมพร เช่น เจ๊ไร ซึ่งชื่อจริงคืออุไร แซ่โซว เป็นลูกของพี่สาวคนโตของแม่ ชื่อ อี๊อ๋า

เมื่อมาอยู่ที่บ้านผมใหม่ๆ เจ๊ไร คงจะอายุ ๑๕ - ๑๖ และผมน่าจะยังไม่ถึง ๑๐ ขวบ จำได้ว่าเจ๊ไรเอาภาษาท้องถิ่นเมืองเพชร มาพูดกับเรา ต้องแปลความกัน เช่นเรามีของบางอย่างจะให้เจ๊ไร เราถามว่า เอาไหม เจ๊ไรไม่เอา เธอจะตอบว่า เอ๊า ซึ่งย่อมาจาก หาเอาไม่หรอก ถามว่ากินไหม ตอบว่า กิ๊น แปลว่า หากินไม่หรอก ตอนนี้เจ๊ไรยังมีชีวิตอยู่และลืมภาษาแบบนี้ไปหมดแล้ว ขอเอามาจารึกไว้เป็นความรู้โบราณเกี่ยวกับภาษา

ดังที่คุณนกเขียนไว้ ที่ชุมพรไม่พูดคำว่าแหลง (กร่อนมาจากแถลง) คำว่า แหลงข้าหลวง ที่แปลว่า พูดใน ไม่มีใช้กันที่บ้านผม เข้าใจว่าเป็นภาษาของคนเมืองคอน ผมได้ยินครั้งแรกจากเวคิน นพนิตย์ (. ดร. เวคิน นพนิตย์) ตอนเรียน ม. ๖ ด้วยกันที่ รร. ปานะพันธุ์วิทยา เวคินมาจาก อ. ฉวาง จ. นครศรีธรรมราช

ราวๆ ปี พ.. ๒๕๑๘ - ๒๕๑๙ ผมทำหน้าที่รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผมคุยกับเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่นด้วยภาษาปักษ์ใต้สำเนียงชุมพรและใช้ศัพท์ชุมพร เจ้าหน้าที่คุยด้วยสำเนียงและศัพท์สงขลา สื่อสารกันได้ดี และผมได้ใจพนักงานเหล่านี้มาก เพราะเขาคิดว่าผมพูดภาษาใต้ด้วยสำเนียงและศัพท์ของคนกรุงเทพ เขายังไม่รู้ว่าผมเป็นคนใต้

มีอยู่คำหนึ่งที่ผมงงอยู่นาน คือคำว่า นาย เขาหมายถึงตำรวจ คนสงขลาเรียกตำรวจว่า นาย ที่บ้านผมเรียกตำรวจว่า ต่ำร้วจ คือใช้ศัทพ์ปกติ พูดด้วยสำเนียงใต้

วิจารณ์ พานิช

๓๐ ส.ค. ๕๖

หมายเลขบันทึก: 549786เขียนเมื่อ 30 กันยายน 2013 08:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 กันยายน 2013 08:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ผมจำได้ว่า ตอนอยู่สงขลา พัทลุง เพื่อนๆบอกว่า ไม่รบกับนายไม่หายจน 555

ขอบคุณมากครับ

    สวัสดีค่ะท่านอาจารย์  ต้องขอบคุณที่ทำให้นึกถึงภาษาของคนเมืองเพชรค่ะ  คนเมืองเพชรต่างอำเภอกันก็พูดคนละสำเนียงค่ะ คนบ้านแหลมจะพูดสำเนียงต่างจากบ้านลาด ท่ายางค่ะ เด็ก ๆฟังคนแก่พูดบางทีก็ไม่ค่อยรู้เรื่องกันค่ะ ต้องถามซ้ำ อะไรนะ หลายครั้งจนถูกผู้ใหญ่ไล่ไปไกล ๆ ภาษาของ เจ๊ไรที่อาจารย์ยกตัวอย่างดังข้างล่าง เคยได้ยินแบบนี้ด้วยค่ะ

                          เอ๊าไม่  เอ๊าไม่หร้อก

                          กิ๊นไม่   กิ๊นไม่หร้อก

              แต่ออกเสียงท้าย คือ ไม่ แบบไม่เต็มเสียงนักค่ะ

  

    เราถามว่า เอาไหม เจ๊ไรไม่เอา เธอจะตอบว่า เอ๊า ซึ่งย่อมาจาก หาเอาไม่หรอก ถามว่ากินไหม ตอบว่า กิ๊น แปลว่า หากินไม่หรอก 

      

ขอขอบคุณอาจารย์ที่ แสดงการค้นคว้าและตอบเป็นวิทยาทานครับ

มีอีกคำที่เพื่อคนใต้ที่อยู่จังหวัดล่างๆชุมพรลงไป ชอบพูดคำว่า “หลบบ้าน

 

เพราะคำนี้ที่บ้านผมเขาไม่พูดกัน  ผมได้ยินคำนี้ครั้งแรกๆก็งงไปหลายตลบเลยครับ.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท