อัตตา


มีพุทธพจน์ตรัสไว้ในอนัตตลักขณสูตรดังนี้รูปญฺจ หิทํ ภิกฺขเว อตฺตา อภวิสฺส นยิทํ รูปํ อาพาธาย สงฺวตฺเตยฺย แปลว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้ารูปนี้เป็นอัตตาแล้ว รูปนี้ก็ไม่เป็นไปเพื่อความเจ็บไข้ได้ป่วย พุทธพจน์ข้อนี้ได้แสดงไว้อย่างชัดเจนรวม ๒ นัย คือสิ่งใดที่เป็นไปเพื่อความเจ็บไข้ได้ป่วย ทรงจัดว่าเป็น อนัตตา อันได้แก่ รูป(ทั้งนี้ทรงสอนรวมทั้ง เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ด้วย) นัยหนึ่ง และสิ่งใดที่ไม่เป็นไปเพื่อความเจ็บไข้ได้ป่วย ทรงจัดว่าเป็น อัตตา อันได้แก่ จิตผู้รู้ชั้นพุทโธ ซึ่งไม่พลอยหวั่นไหวไปตามอารมณ์ที่เข้ามากระทบ

อีกนัยหนึ่ง ในตอนท้ายพระสูตรดังกล่าว ได้สรุปความลงว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคย์ตรัสเรื่องราวนี้จบลง จิตของพระปัญจวัคคีย์ ก็หลุดพ้นจากอุปาทานที่ทำให้เข้าไปยึดถือขันธ์ ๕ ทั้งนี้แสดงว่า บุคคลที่เข้าไปยึดถือขันธ์ ๕ และปล่อยวางขันธ์ ๕ เสียได้ในที่สุดนั้น ก็คือ จิต นั่นเอง ซึ่งย่อมเห็นได้ชัดเจนที่สุดว่า จิต กับ ขันธ์ ๕ นั้นเป็นคนละอย่างกัน ไม่ใช่อย่างเดียวกัน อุปมาดัง คน ที่เข้าไปยึดถืออาศัย บ้าน อยู่ คนย่อมไม่ใช่บ้าน และบ้านย่อมไม่ใช่คน ข้อนี้ฉันใด จิต กับ ขันธ์ ๕ ก็ฉันนั้น ดังนั้น จึงแยกกล่าวให้ละเอียดได้ว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่ใช่จิต แต่จิตเป็นผู้รู้ว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มาเกิดขึ้นที่จิต แล้วก็ดับไปจากจิต (อ.ไชยทรง จันทรอารีย์ อัตตาและอนัตตา ผู้เรียบเรียงธรรมประทีป ๙ http://dhamaprateep.wordpress.com/)

น่าสังเกตว่าคนที่มีอัตตาสูงและพยายามแสดงอัตตาของตนล้วนเป็นคนเก่ง..แต่ยิ่งเก่งบางทียิ่งทุกข์ เข้าทำนองเก่งมากก็ทุกข์มาก เพราะอัตตาที่เขาหรือเธอแสดงออกมาไปกดข่มอัตตาของคนอื่นเข้านั่นเอง ขึ้นชื่อว่ามนุษย์ไม่มีใครอยากเห็นตนเป็นคนต่ำต้อย ทุกคนอยากได้รับการยอมรับกันทั้งนั้น พอมีคนเก่งเกินหน้าเกินอัตตาของตน ก็เลยถูกหมั่นไส้ชิงชังเป็นธรรมดา..ทางโลกเห็นว่าการมีอัตตาเป็นของดี..เพราะมันบอกอยู่ในทีว่าเขาเป็นคนสำคัญ..แต่ทางธรรมท่านสอนให้ปล่อยวางอัตตา เพราะอัตตาคือที่มาของความทุกข์พื้นฐานทั้งหมดในจิตใจมนุษย์ (วานิสา,2556)

ในทางพุทธศาสนาท่านว่า อัตตาเป็นรากฐานที่ทำให้เกิดทุกข์ทั้งปวง เพราะเราไปยึดมั่นถือมั่นกับมันมากเกินไปนั่นเอง เคยสังเกตุไม๊ว่า คนเก่งๆ บางคนก็อีโก้จัด บางคนก็ไม่มีอีโก้เลย ทำตัวน่ารัก ยิ่งทำให้คนมองอย่างชื่นชม แต่ก็ต้องยอมรับว่า ค่านิยมทั่วไปของสังคมกลายเป็นว่า ถ้าเป็นคนเก่งแล้ว แพคเกจที่มาพร้อมกันคืออีโก้แรง ใครว่าอะไรหรือเถียงอะไร หรือเห็นต่างนิดนึงก็ไม่ได้ พลอยจะเครื่องรวน ซวนเซ ระบบภายในไม่เสถียรขึ้น(อนิสา,2556)

ทีนี้ ถ้าเราหันมาใช้วิธีที่ไม่เป็นการบังคับ เช่นวิธีศึกษาอบรมกันทั่วไป ให้เข้าใจถูกในเรื่องความดับแห่ง "อัตตา" ก็ขอยืนยันว่าเมื่อดับ "อัตตา" ได้มากเท่าไร คนก็จะไม่มีความเห็นแก่ตัวจัด เพราะมีสติปัญญา หรือเหตุผลได้มากขึ้น ตามหลักพุทธศาสนา ย่อมจะกล่าวได้ว่า ศีลธรรมก็ดี สัจธรรมที่สูงขึ้นไปก็ดี หรือ โลกุตตรธรรมข้อใดก็ดี ล้วนแต่มีความมุ่งหมายที่จะเข่นฆ่าสิ่งที่เรียกว่า "อัตตา" ให้ดับไป ให้เหลือแต่สติปัญญาควบคุมชีวิตนี้ ให้ดำเนินไปถึงจุดหมายที่แท้จริงที่มนุษย์ควรจะได้ ส่วนจริยธรรมที่มีชื่อไพเราะต่างๆ นานา เช่นความซื่อสัตย์ ความเห็นแก่ผู้อื่น ความรักใคร่เมตตากรุณา การสารภาพความผิด ฯลฯ โดยมากก็เป็นเพียงสักว่าชื่อตามป้ายหรือตามฉลากที่ปิดไว้ตามที่ต่างๆ หรือสมาคมต่างๆ ไม่สามารถจะปราบอธรรมได้ เพราะว่า "อัตตา" ของมนุษย์ในโลกทุกวันนี้ได้หนาแน่นยิ่งขึ้น และรุนแรงถึงกับเดือดพล่านนั่นเอง ฉะนั้นถ้าเราหวังที่จะมีจริยธรรมมาเป็นที่พึ่งของชาวโลกแล้ว จะต้องสนใจในเรื่องความดับไปแห่ง "อัตตา" ให้มากเป็นพิเศษ สมตามที่หลักแห่งพุทธศาสนายืนยันว่า มันเป็นเพียงสิ่งเดียว ซึ่งเป็นต้นเหตุแห่งความทุกข์ทั้งปวง(ตัวกู-ของกู พุทธทาสภิกขุ ฉบับย่อ , ย่อโดย คุณปุ่น จงประเสริฐ)

จากที่กล่าวมา อัตตามีในทุกคน เราจะบริหารอัตตาให้เกิดประโยชน์ เกิดความสุขต่อสังคมและตนเอง ด้วยการบริหารจิต คิด พิจารณา และทำความเข้าใจในสภาพแวดล้อมรอบตัวเราอย่างมีสติ ด้วยเบญจธรรม

หมายเลขบันทึก: 549785เขียนเมื่อ 30 กันยายน 2013 08:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 กันยายน 2013 08:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท