ชีวิตที่พอเพียง : ๑๙๘๐. ภาษาปักษ์ใต้ นานๆ คำ (๒)



          ผมเคยเขียนเรื่องภาษาปักษ์ใต้แบบที่ใช้กันสมัยผมเป็นเด็ก เข้าใจว่าเด็กท้องถิ่นปักษ์ใต้เองในปัจจุบัน ก็คงจะไม่ค่อยใช้กันแล้ว ที่นี่

          สองสามวันนี้ นึกขึ้นได้อีก คำแรก คือ “แท่ง” (ออกเสียงเป็นภาษากลางว่า แถง) ผมนึกขึ้นเมื่อมือถือแก้วน้ำอยู่ แล้วสาวน้อยเอาศอกมาโดนโดยเธอยืนหันหลังให้และกำลังเปิดประตูตู้เย็น ศอกจึงมาโดนมือของผมที่ถือแก้วน้ำอยู่ อาจทำให้น้ำกระฉอกหก หากเหตุการณ์นี้เกิดตอนผมอายุสัก ๑๔ ขวบ และยังพูดภษากลางไม่เป็น ผมก็จะพูดว่า “อย่าแถงต้ะ” (อย่ากระทบกระทั่งซี)

          อีกคำหนึ่งคือ “พุก” (ออกเสียงในภษากลางว่า “ผุก”) แปลว่าผุ เช่น “ไหม่ผุก” แปลว่า ไม้ผุ

          คำที่แถวบ้านผมที่ชุมพรไม่ใช้ แต่จังหวัดใต้ลงไปอีกใช้ คือคำว่า “วาร” (อ่านว่าวาน สำเนียงเหมือคนกรุงเทพ) ย่อมาจากคำว่าทวาร แปลว่าก้น จึงมีคำล้อกันเล่นเมื่อเพื่อนชาวปักษ์ใต้พูดโดยใช้คำภาษากลาง ดังนี้

          “มาเหมือไร้” (มาเมื่อไร)
          “มาเย่นวาน” (มาเมื่อเย็นวาน)

          “ซู่หนังหม่าบ่นหน่ำแค้งรื้อ ทึ้งได๊เหย็นวาร” (สูนั่งมาบนน้ำแข็งหรือ จึงได้เย็นทวาร) เป็นคำสัพยอกเพื่อนคนใต้ ที่พูดภาษาใต้ติดสำเนียงภาคกลาง หากพูดด้วยสำเนียงภาคใต้แท้ต้องพูดว่า “มาแต้วา” (มาเมื่อวาน) คนใต้จะพูดไม่ค่อยมีตัวสะกด “เมื่อวาน” กลายเป็น “แต่วา” “วา” ในภาษาใต้ คือ “วาน” ในภาษากลาง คนใต้ที่พูดติดสำเนียงภาคกลางจะโดนเพื่อนล้อเลียน

          เรื่อง วาร นี้ ผมฟังมาจาก ฯพณฯ ชวน หลีกภัย ตอนท่านไปร่วมอภิปรายเรื่องการใช้ภาษาไทย ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ราวๆ ปี ๒๕๒๖

          สมัยผมเป็นเด็กอยู่ในสังคมชาวบ้าน ที่เป็นบ้านนอกแท้ๆ เวลาคนทะเลาะกันจะด่าโต้ตอบกันด้วยถ้อยคำรุนแรง ตะโกนด่าโต้ตอบกันเสียงดังได้ยินกันไปทั่ว บางทีก็มีคนมามุงดู คล้ายๆ เป็นมหรสพ บางคู่ปะหน้ากันก็จะรี่เข้าตบตีด่าทอกัน เป็นประจำ คือเป็นคู่อริกัน คำที่ใช้เป็นคำที่หยาบโลนโลดโผนเกินกว่าจะนำมาเขียน คือเป็นคำที่เกี่ยวกับอวัยวะเพศ และการร่วมเพศ มีอยู่คู่หนึ่ง เป็นพี่น้องคลานตามกันมา ทะเลาะกันแถวหน้าบ้านผมเป็นประจำ เพราะเป็นทางเดินไปตลาดนัด พ่อแม่ผมบอกว่า เขาโกรธกันเพราะแย่งสมบัติ

          มีผู้หญิงอายุสัก ๔๐ - ๕๐ สองสามคน ที่คนมักจี้เอวเล่น เพราะแกบ้าจี้ เมื่อจี้แล้วแกจะปล่อยคำหยาบโลนออกมาเป็นชุด และถ้าจี้เป็นครั้งที่สอง คำชุดเดิมก็จะออกมาอีก เหมือนเดิมไม่ผิดเพี้ยน โดยที่ตามปกติแกเป็นคนสุภาพเรียบร้อย คนที่สนิทกันจึงคล้ายใช้แกเป็น tape recorder จี้ฟังคำหยาบเล่นเป็นของสนุก คำเหล่านี้ฟังแล้วเห็นภาพพจน์ทีเดียว

          ศ. ดร. ธีระพันธ์ เหลืองทองคำ พูดถึงเพื่อนที่เรียนอักษรจุฬาฯ ด้วยกันคนหนึ่ง ที่เป็นหลานท่านพุทธทาส และเป็นลูกพี่ลูกน้องกับผมว่า เป็นคนที่ไม่เคยถูกเลย เพราะชื่อ “ผิด” ชื่อจริงคือ เพ็ญพิชญ์ (เหมะกุล) เจริญ เพ็ญพิชญ์จะเรียกตัวเองเป็นสำเนียงปักษ์ใต้ ที่คนกรุงได้ยินว่า “ผิด”

          ดร. ธีระพันธ์ เคยพูดถึงชื่อตนเอง เวลาท่านมีอารมณ์ขันว่า ห้ามพูดตัว ร ไม่ชัดเป็นอันขาด คือห้ามพูดเป็น ทีละพัน
ผมขออภัยคนที่ชื่อธีระพันธ์ทุกคนนะครับ หากจะเอาเรื่องขอให้ไปจัดการที่ต้นตอ ผมฟังเอามาเล่าเท่านั้น

 

วิจารณ์ พานิช
๒๓ ก.ค. ๕๖

หมายเลขบันทึก: 546754เขียนเมื่อ 27 สิงหาคม 2013 11:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 สิงหาคม 2013 11:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

อ่านแล้วได้ความรู้ดีครับอาจารย์หมอ

แต่นึกขึ้นมาได้มีอีกคำที่จังหวัดชุมพร ชาวบ้านที่บ้านท่าตะเภาเหนือ

 

ใช้คำว่า ซ่าคราย แปลว่า ค่อยยังชั่ว-มีอาการดีขึ้น หรือสบายๆ ใช่ไหมครับ.

ใช่ครับ แต่ คลาย ล ลิงครับ ซ่าคลาย แปลว่าค่อยยังชั่ว

ซ่าหวา (สาว่า) แปลว่า เข้าใจว่า

คนชุมพรไม่นิยมคำว่า “แหลงใต้” ได้ฟังคนรุ่นปู่-ย่า-ตา-ยาย  พูด คำว่า “พูดนอก”และ “พูดใน

ใครเป็นคนพูดคนแรกคงเดายากครับ และไม่มีในพจนานุกรมด้วย

 

อาจารย์หมอ กรุณาช่วยบรรยายเป็นวิทยาทาน ให้กับเด็กรุ่นใหม่ๆ ด้วยครับ.

ชอบคำว่า "หมดกินมด"ค่ะ อาจารย์ ฟังสำนวนถ้อยคำต่างๆมานานจนเข้าใจและชอบ แต่แหลงเองยังออกเสียงไม่ถูกที่เลยค่ะ ยากกว่าภาษาอังกฤษอีก ภาษาใต้เรานี่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท