คนดีวันละคน : ๑๕๘. ศ. ดร. ธีระพันธ์ เหลืองทองคำ


 

          ศ. ดร. ธีระพันธ์ เหลืองทองคำเป็นนักวิจัยด้านภาษาศาสตร์ชั้นยอดคนหนึ่งของประเทศไทย    ที่น่าสนใจคือท่านเกิดมาเป็นคล้ายๆ สาวไฮโซ   แต่เป็นนักวิจัยภาคสนามที่ไม่กลัวความยากลำบาก   ผมเคยไปลุยแขวงเซกอง สปป. ลาวกับท่านเมื่อเกือบ ๑๐ ปีมาแล้ว    ซึ้งในความทรหดของท่านเป็นอย่างยิ่ง  

          วันที่ ๕ ก.ย. ๕๑ มีการประชุมวิชาการระดับชาติ เรื่อง “ความหลากหลายทางภาษาในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้” ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ   เพื่อฉลองโอกาสที่ศ. ดร. ธีระพันธ์ เหลืองทองคำ มีอายุครบ ๖๐ ปี   โชคดีที่ผมได้รับเชิญไปร่วมด้วย   จึงได้มีโอกาสฟัง ศ. ดร. ธีระพันธ์ เหลืองทองคำ เล่าชีวิตการเป็นนักวิจัยด้านภาษาของท่าน   โดยเน้นเล่าเฉพาะโครงการที่แสดงพัฒนาการด้านการวิจัยของท่าน   จึงจดเอามาเผยแพร่ดังต่อไปนี้

๑. ภาษาพื้นเมืองในประเทศไทย ๒๕๑๙-๒๓   ตอนนั้นเป็นอาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มธ.   ผลงานทำให้ Jimmy Harris, Ford Fdn  ช่วยหาทุนไปทำปริญญาเอกที่สหราชอาณาจักร   และเป็นพื้นฐานการวิจัยภาษาในเวลาต่อมา   โดย Peter Geithner ได้แนะนำให้ Toyota Foundation รู้จัก   และได้ทุนจาก Toyota Foundation
๒. ภาษายากูร์ หรือคนดง  ๒๕๒๔-๒๗   ทุน Toyota Fdn  รายงานค้านทฤษฎี tongue root expression (ด้วย X-Rays CT ในคนดงอายุ ๗๕) ว่าด้วยการเกิดวรรณยุกต์
๓. สัทอักษรไทยสำหรับบันทึกภาษาไทยถิ่นและภาษาชนกลุ่มน้อย ๒๕๒๖  ทุนฝ่ายวิจัยจุฬา ชุดโครงการฉลองลายสือไทยครบ ๗๐๐ ปี
๔. ลักษณะน้ำเสียงในภาษามอญ กูย (ส่วย) ชอง : การวิเคราะทางกลสัทศาสตร์ ๒๕๒๘-๓๐  ทุน Unit Cell ฝ่ายวิจัย จุฬาฯ   สมัย ศ. นพ. จร้ส สุวรรณเวลา เป็นรองอธิการบดีฝ่ายวิจัย   ศ. ดร. ธีระพันธ์ เหลืองทองคำ เป็นหัวหน้า Unit Cell นี้
๕. บรรณานุกรมภาษาชนกลุ่มน้อยในประเทศไทย  ๒๕๓๑   ทุน ฝ่ายวิจัย คณะอักษรฯ
๖. วรรณยุกต์ในภาษาเย้า ๒๕๓๒   ทุนรัชดาภิเษกสมโภช ฝ่ายวิจัย จุฬาฯ  ออกภาคสนาม ลำบาก  ทำเพราะต้องการเรียนรู้ภษาเย้า   สำหรับเป็นความรู้เอาไปทำโครงการที่ ๗ ซึ่งเป็นโครงการใหญ่มาก
๗. เปรียบเทียบเย้าไทย เย้ากวางสี ๒๕๓๒-๓๕  ทุนโตโยต้า    ท่านเล่าวิธีเอาใจนักวิจัยจีนที่มาทำวิจัยในประเทศไทย   ถึงเวลาทีมไทยไปทำวิจัยในประเทศจีน (สมัยยังปิดประเทศ) จึงได้รับการต้อนรับแบบเจ้าหญิง   เป็นการสร้างความสัมพันธ์ไทย-จีน   ท่านเล่าว่าได้เรียนรู้วิธีจัดการงานวิจัยจาก Ford Foundation
๘. พจนานุกรมไทย-ไทย : อดีต-ปัจจุบัน  ๒๓๘๙-๒๕๓๓  ปี ๒๕๓๓   ทุนเฉลิมฉลองสมเด็จพระเทพฯ เจริญพระชนมพรรษาครบ 36  ฝ่ายวิจัย จุฬาฯ  ใช้วิธีประมวลและสังเคราะห์
๙. ภาษาและเตรื่องแต่งกายสตรีชนเผ่าไท-กะได ๒๕๓๔-๓๗  ฉลองพระนางเจ้าฯ พระชนมายุ ๖๐ พรรษา   ทุน บ. ไทยออยล์,  กองทุนสมเด็จพระเทพฯ,  ธ. กรุงเทพ  และมูลนิธิอายิโนะโมะโต๊ะ
๑๐. ภาษาและวัฒนธรรมของชนเผ่าในแขวงเซกอง สปป. ลาว เพื่อเปนพื้นฐานในการวางแผนวิจัยและพัฒนา ๒๕๔๐-๔๔  ทุนสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
๑๑. พจนานุกรม ไทย-ฮังกาเรียน  ฮังกาเรียน-ไทย  ๒๕๔๕-๔๖  ทุน สกว.
๑๒. ศัพทานุกรม อาหารริมทางย่านเยาวราช ๒๕๔๖-๔๗   ทุนฝ่ายวิจัยคณะอักษรฯ
๑๓. ความหลากหลายทางภาษาในจังหวัดน่าน : ความรู้พื้นฐานเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยว ๒๕๔๗-๕๐  ทุน สกว.
๑๔. ผู้ประสานงานชุดโครงการวิจัย สกว.
๑๕. ทุน คปก. ๓ ทุน

 

          รายการที่ ๑๔ นี่เป็นนวัตกรรมในการจัดการทุนวิจัยเชียวนะครับ   โดยมีผมในฐานะรักษาการ ผอ. ฝ่าย ๑ ของ สกว. (และเป็น ผอ. สกว.) เป็นผู้ชักชวน    ท่านได้เล่าวิธีตื๊อขอให้ท่านมาทำงานกับ สกว. (ของผม) ให้ที่ประชุมฟังด้วย   และหลังจากได้รู้จัก สกว. ก็ได้รับทุนมาตลอด ดังมีผลงานอยู่ใน e-library ของ สกว. ๕ รายการ 


          ผลงานทำให้ท่านได้รับรางวัลมากมาย   ค้นได้จาก Google   ขณะนี้ท่านดำรง ตำแหน่งคณบดีคณะอักษรศาสตร์


          รายละเอียดอยู่ในหนังสือ “เรื่องเล่าจากภาคสนาม” โดย “อาจารย์เฒ่า” ดังได้เอารูปปกมาลงไว้แล้ว   ผมอ่านหนังสือเล่มนี้แล้วรู้สึกเสียดายที่ในช่วงที่ผมเป็น ผอ. สกว. (๒๕๓๖ – ๒๕๔๔) ไม่มีคนเขียนหนังสือแบบนี้ไว้   ถ้ามี ผมคงจะได้ความรู้สำหรับเอามาใช้ในการจัดการงานวิจัยภาคสนามได้ดีขึ้นแยะ   หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือแนะนำสำหรับนักวิจัยภาคสนาม และนักจัดการงานวิจัย  และควรมีไว้ในห้องสมุดให้นักวิจัยรุ่นใหม่ได้อ่าน    อ่านเรื่องเล่าใหนังสือเล่มนี้แล้ว ผมบอกตัวเองว่า ที่ผมไปพบตอนไปเซกอง – ดากจึง สปป. ลาว กับท่าน ยังเป็นบททดสอบอย่างอ่อนเท่านั้น  
 

วิจารณ์ พานิช
๖ ก.ย. ๕๑

ศ. ดร. ธีระพันธ์ เหลืองทองคำ กำลังบรรยาย  ดอกไม้ในพานได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตน์ฯ

 

หน้าปกหนังสือ เรื่องเล่าจากภาคสนาม

 

 

งานวิจัยภาคสนามทำให้ท่านสะสมผ้าพื้นเมืองอันสวยงาม

ไว้มากมาย

ผลงานวิทยานิพนธ์ของลูกศิษย์วางเป็นแถวยาว

 

ผลงานที่เผยแพร่เป็นภาษาอังกฤษ

 

ผลงานที่เผยแพร่เป็นภาษาไทย

ส่วนหนึ่งของรางวัล

           
                                         
           
หมายเลขบันทึก: 207499เขียนเมื่อ 10 กันยายน 2008 14:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 10:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

- ศ.ดร.ธีระพันธ์ เหลืองทองคำ เป็นอาจารย์ที่น่ารักมาก ๆ ไม่ถือตัว อัธยาศัยดีมาก

และเป็นนักวิจัยภาคสนามที่แท้จริง เพราะอาจารย์เคยมาบรรยายเกี่ยวกับทุน คปก.(ร่วมกับศ.ดร.นักสิทธิ์ คูวัฒนาชัย) ของสกว. ที่มหาวิทยาลัยนเรศวร เมื่อเดือนมิถุนายน 2552 ขอ Confirm ค่ะ

ด้วยความเคารพค่ะ

จรินทร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท