การศึกษาปฐมวัยแบบเตรียมความพร้อมโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น


ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2551 กำหนดให้เด็กปฐมวัย ได้รับการพัฒนาอย่างมีคุณภาพตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยมุ่งเน้นให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู ผู้ดูแลเด็ก และผู้ที่เกี่ยวข้องกับเด็กปฐมวัยมีความรู้ ความเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของการเลี้ยงดู การสร้างประสบการณ์ การส่งเสริมและสนับสนุนให้เด็กปฐมวัยเกิดการเรียนรู้และพัฒนาได้เต็มตามศักยภาพ

ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเป็นสถานศึกษาที่ให้การอบรมเลี้ยงดูจัดประสบการณ์และส่งเสริมพัฒนาการเรียนรู้ให้เด็กเล็กได้รับการพัฒนา ทั้งด้านร่างกาย อารมณ์-จิตใจ สังคม และสติปัญญาที่เหมาะสมตามวัยตามศักยภาพของเด็กแต่ละคน ดังนั้น ระยะเวลาการจัดการเรียนรู้และแนวทางการจัดการเรียนรู้ของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจึงต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องและเหมาะสมเพื่อให้เด็กเล็กได้รับการศึกษาและพัฒนาเป็นไปตามวัยแต่ละช่วงอายุ สอดคล้องกับสังคม วัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น และหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย ให้เด็กเล็กพร้อมที่จะเข้ารับการศึกษาในระดับที่สูงขึ้นต่อไป

การจัดการศึกษาปฐมวัยแบบเตรียมความพร้อม เป็นลักษณะของการจัดการศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัยที่ยึดหลักการตอบสนองความต้องการของผู้เรียน โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมพัฒนาการทุกด้านของเด็กอย่างเหมาะสมและเต็มตามศักยภาพของแต่ละคน ครูปฐมวัยจึงเป็นบุคคลสำคัญในการพัฒนาเด็ก  และหากมีความเชื่อในการจัดการศึกษาแบบเตรียมความพร้อม  นอกเหนือจากการมีความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติของเด็กตามพัฒนาการแต่ละด้านแล้ว  ต้องนำความรู้ดังกล่าวสู่การปฏิบัติที่สอดคล้องกับความเชื่อในเรื่องของการเตรียมความพร้อม ดังนี้

การส่งเสริมพัฒนาการทางด้านร่างกาย

1. การจัดสภาพแวดล้อมที่ถูกสุขลักษณะและปลอดภัย ถือได้ว่าเป็นสิ่งสำคัญลำดับแรกในการส่งเสริมพัฒนาการด้านร่างกายของเด็ก ทั้งนี้เด็กจะต้องได้รับการเลี้ยงดูในสถานที่สะอาด มีสุขอนามัยที่ดี ปราศจากสิ่งรบกวนที่จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพทั้งทางกายและจิตใจ มีความปลอดภัยทั้งจากสิ่งที่อันเป็นเหตุให้เกิดความไม่ปลอดภัยทางกาย และการคุกคามทางจิตใจ

2. การจัดตารางเวลาในกิจวัตรประจำวันที่เหมาะสมและตอบสนองความต้องการทางกายของเด็กคือ ความต้องการที่เป็นความต้องการพื้นฐานทางกาย เด็กต้องการเวลาในการรับประทาน การพักผ่อน การเข้าห้องน้ำเพื่อขับถ่าย ต้องการอากาศบริสุทธิ์ แสงแดดอ่อน และความต้องการในการเคลื่อนไหว ดังนั้นในแต่ละวันจะต้องจัดช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับให้เด็กได้รับการตอบสนองความต้องการพื้นฐานดังกล่าว โดยเฉพาะการจัดเวลาที่ได้สัดส่วนกันระหว่าง กิจกรรมที่ให้ได้เคลื่อนไหวกับกิจกรรมที่สงบ หรือทำงานเงียบ ๆ

3. การจัดกิจกรรมที่ได้สัดส่วนที่พอเหมาะในส่วนที่เป็นกิจกรรมกลางแจ้งกับกิจกรรมในร่ม ทั้งนี้เพราะเด็ก ๆ ต้องการการเคลื่อนไหวอย่างอิสระในการใช้กำลังกายในการเล่นและเคลื่อนไหว การทำกิจกรรมกลางแจ้งไม่ว่าจะเป็นการเล่นเครื่องเล่นสนาม การเล่นเกม การเล่นอิสระ  และการทำกิจกรรมอื่น เช่น การทำสวน  การดูแลสัตว์เลี้ยง การเล่นบ่อทราย จะเป็นกิจกรรมที่ทำให้เด็กได้พัฒนาอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย การทำงานประสานสัมพันธ์กันของกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ รวมทั้งการได้รับอากาศบริสุทธิ์และสงแดด ขณะเดียวกันการให้เด็กได้ทำ กิจกรรมในร่ม เด็กจะได้ทำกิจกรรมที่ลดการใช้กำลังลง เป็นการทำกิจกรรมที่ใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก อวัยวะ รับสัมผัสอื่น ๆ รวมทั้งการทำกิจกรรมที่ใช้ความตั้งใจ สมาธิ ซึ่งในกิจกรรมทั้ง 2 ประเภท เด็กควรได้ทำในสัดส่วนที่พอเหมาะ

4. การให้ได้รับอาหารและน้ำดื่มอย่างเพียงพอ เนื่องจากเด็กจะใช้เวลาอยู่ในสถานศึกษาทั้งวัน จึงต้องจัดอาหารให้เด็กตามเวลาที่ร่างกายของเด็กต้องการ เช่น  อาหารว่างเช้า - บ่าย และอาหารกลางวัน ทั้งนี้อาหารที่จัดให้ควรเน้นอาหารที่มีคุณค่า สะอาด และสร้างนิสัยการบริโภคที่ดี ไม่เลือกอาหาร ลดอาหารที่ไม่เป็นประโยชน์ การจัดอาหารที่มีคุณค่าให้แก่เด็ก  นอกจากจะมุ่งคุณค่าทางด้านภาวะโภชนาการแล้ว  ยังเป็นการสร้างนิสัยการบริโภค ที่เป็นพื้นฐานของสุขภาพที่ดีในวัยผู้ใหญ่ ขณะเดียวกันต้องให้เด็กได้ดื่มน้ำสะอาดที่เพียงพอ  ทั้งนี้การวิจัยใหม่ ๆ ได้มีข้อค้นพบว่า นอกจากน้ำจะเป็นสิ่งสำคัญต่อชีวิตแล้ว การดื่มน้ำสะอาดในปริมาณที่พอเหมาะจะช่วยสนับสนุนการทำงานของเซลสมองให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นด้วย

5. การจัดพื้นที่ในห้องเรียนให้มีความสะดวกต่อการทำกิจกรรมที่เคลื่อนไหวและมีที่ทำงานส่วนตัว หรือการทำงานตามลำพัง ทั้งนี้เด็กเล็ก ๆ จะมีธรรมชาติของการเรียนรู้จากการสืบค้น ทดลอง ลองผิดลองถูก  ทำให้เด็ก ๆ มีการเคลื่อนไหวในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่สนใจ ครูจึงต้องออกแบบกิจกรรมให้เด็กได้ใช้อวัยวะรับสัมผัสต่าง ๆ ในการเรียนรู้จากสภาพแวดล้อม  ซึ่งต้องมีพื้นที่ในการทำกิจกรรมเหล่านั้น  แต่ขณะเดียวกันเด็กยังต้องการความสงบในการทำงานที่ต้องใช้สมาธิและความตั้งใจที่จะเรียนรู้จากกิจกรรมที่ไม่ต้องเคลื่อนไหวหรือใช้พื้นที่มากนัก เช่น การเล่นเกมการศึกษา การอ่านหนังสือ การทดลองทำสิ่งต่าง ๆ หรืองานประดิษฐ์ตามความคิดของตนเอง ดังนั้นพื้นที่ที่สำหรับให้เด็กทำงานเงียบ ๆ จึงต้องจัดไว้ให้ด้วย

6. การจัดพื้นที่สำหรับการเคลื่อนไหวและการรับประสบการณ์ที่เกี่ยวกับดนตรี เพลง และจังหวะ เด็กปฐมวัยกับเสียงเพลงเป็นสิ่งที่แยกกันไม่ได้ จะสังเกตเห็นว่าแม้เด็กเล็ก ๆ ถ้าได้ยินเสียงเพลงหรือเสียงดนตรีที่สนุกสนาน เด็กจะรับรู้และแสดงออกด้วยการทำกิริยาท่าทางไปตามเสียงเพลงที่ได้ยิน ดังนั้นในชั้นเรียนระดับปฐมวัย นอกเหนือจากการจัดมุมดนตรี แล้วต้องจัดให้มีพื้นที่ให้เด็กได้ทำกิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะ เพื่อการเต้น การร่ายรำ การแสดงท่าทาง และการแสดงออกทางดนตรี เพลงนาฏศิลป์ และลีลาท่าทาง

7. การรับรู้และดูแลช่วยเหลือเมื่อเด็กเจ็บป่วย หรือเหน็ดเหนื่อยจากการทำกิจกรรม โดยธรรมชาติแล้วเด็ก ๆ จะเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลาเพื่อทำกิจกรรมที่สนใจ แต่ครูต้องคอยสังเกตเมื่อเด็กมีความอ่อนล้าจากการทำกิจกรรมที่ออกแรงมากเกินไป ถ้ารู้สึกว่าเด็กเหน็ดเหนื่อยหรืออ่อนล้า ควรให้เด็กหยุดพักหรือทำกิจกรรมเงียบ ๆ ผ่อนคลายทั้งร่างกายและจิตใจ และขณะเดียวกันหากสังเกตเห็นเด็กมีอาการที่แสดงว่าไม่สบายหรือเจ็บป่วย ครูต้องไวที่จะเข้าไปช่วยเหลือดูแลทันที

การส่งเสริมพัฒนาการทางด้านร่างกายของเด็กจึงให้ความสำคัญต่อการจัดสภาพแวดล้อมทางกายภาพที่ตอบสนองธรรมชาติด้านการเคลื่อนไหว  ความต้องการทางกาย  การดูแลสุขอนามัย  การฝึกฝนสุขนิสัยและภาวะโภชนาการ  รวมทั้งการดูแลตอบสนองทางจิตภาพของเด็กด้วย  เพราะจิตใจที่มีความสุขย่อมส่งผลต่อสุขภาพกายที่แข็งแรง  และมีผลต่อความสามารถในการเรียนรู้อันเป็นเป้าหมายสำคัญของการจัดการศึกษา

การส่งเสริมพัฒนาการด้านสังคม

1. ให้เด็กแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการแสดงพฤติกรรมของเด็กที่ทำให้เด็กอยู่ร่วมกับคนอื่นได้ ทั้งนี้เนื่องจากเด็กปฐมวัยจะมีธรรมชาติของการยึดตนเองเป็นศูนย์กลางทั้งการคิดและการกระทำอันเป็นอุปสรรคต่อการเข้าสังคมกับผู้อื่น การให้เด็กแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับพฤติกรรมที่ทำให้ผู้อื่นยอมรับ ชื่นชอบ และยินดีที่จะทำกิจกรรมร่วมด้วย จะทำให้เด็กเข้าใจถึงวิธีปรับตัวและแสดงพฤติกรรมที่เป็นที่ยอมรับทางสังคม

2. การสนทนาพูดคุยกับเด็กเกี่ยวกับพฤติกรรมที่สังคมไม่ยอมรับ นอกเหนือจากการให้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับพฤติกรรมทางบวกแล้ว การพูดคุยกับเด็กถึงพฤติกรรมสังคมในทางลบ ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบให้เด็ก ๆ เห็นว่ามีพฤติกรรมใดบ้างที่เด็กแสดงแล้วเพื่อน ๆ ไม่ชอบ หรือ ผู้อื่นบอกว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่ดี รวมทั้งความรู้สึกของเด็กถ้ามีผู้แสดงพฤติกรรมทางลบเด็ก ๆ จะรู้สึกอย่างไร

3. จัดทำแผนภาพหรือรูปแบบพฤติกรรมทางสังคมที่ดีกับพฤติกรรมทางสังคมที่ไม่ดีที่ได้แสดงความคิดเห็นไว้ ให้เด็ก ๆ ได้เห็นโดยแสดงเป็นภาพหรือสัญลักษณ์ที่เด็กเข้าใจได้ ติดแสดงไว้เพื่อเป็นสิ่งเตือนใจ หรือจัดทำเป็นข้อตกลงของห้องเรียน

4. จัดประสบการณ์ให้เด็กได้เข้าใจทรรศนะหรือมุมมองของคนอื่น การที่รับรู้ถึงความรู้สึก ความคิดเห็นของผู้อื่น รวมทั้งการเข้าใจพฤติกรรมที่แสดงออกของผู้อื่นที่เด็กปฏิสัมพันธ์ด้วย จะช่วยพัฒนาการสร้างสัมพันธภาพของเด็กกับสังคม การเข้าใจมุมมองของคนอื่น และยอมรับความเห็นที่ต่างออกไป จะเป็นการฝึกฝนให้เด็กได้รู้จักการคิดเชิงเหตุผล ซึ่งจะช่วยสนับสนุนความสามารถทางสติปัญญาของเด็กให้เติบโตไปพร้อม ๆ กับการพัฒนาด้านสังคม

5. เมื่อเด็กใช้เวลาปรับตัวกับการปฏิบัติตนตามกติกา ข้อตกลง กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ในชั้นเรียนในการอยู่ร่วมกันได้แล้ว และสังเกตเห็นว่าเด็กมีประสบการณ์มากพอในการเล่นและทำงานร่วมกับผู้อื่น ครูควรลองให้โอกาสให้เด็กได้ฝึกฝนการแก้ปัญหาในการสร้างสัมพันธภาพและการอยู่ร่วมกับผู้อื่นด้วยตนเองเสียก่อน และหากว่ายังดำเนินการไปไม่ได้อย่างดีครูจึงตัดสินใจเข้าไปช่วยเหลือ

6. การจัดประสบการณ์ให้เด็กได้เล่นหรือทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มเล็ก ๆ จะทำให้เด็กได้ฝึกฝนการสร้างสัมพันธภาพกับผู้อื่น เรียนรู้ถึงพฤติกรรมที่ทำเป็นที่ยอมรับหรือไม่ยอมรับจากผู้อื่น รวมทั้งได้ฝึกการรับรู้ความคิด มุมมองของผู้อื่นด้วย การจัดกิจกรรมกลุ่มเล็ก ๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญในการจัดกิจกรรมในชั้นเรียน

7. การเข้าไปร่วมทำกิจกรรมต่าง ๆ กับเด็ก และคอยสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้น ทั้งนี้หลักการหนึ่งของวิธีการจัดประสบการณ์ระดับการศึกษาปฐมวัย คือการเรียนรู้ร่วมกัน การจัดกิจกรรมแล้วครูลงไปร่วมทำกิจกรรมด้วย จะทำให้มีโอกาสสังเกตพฤติกรรมของเด็ก ๆ ได้อย่างใกล้ชิดและได้เห็นลักษณะการสร้างสัมพันธภาพระหว่างกันของเด็ก

8. การให้ความช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหาพฤติกรรมทางสังคม หรือการสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่น การช่วยเหลือมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เด็กสามารถปรับตัวเข้ากับผู้อื่นได้ รวมทั้งการเข้าไปแทรกแซงเพื่อให้สถานการณ์ดีขึ้น เช่นกรณีเด็กทะเลาะหรือต่อสู้กัน การเข้าไปแทรกแซงของครู เช่น   การหันเหความสนใจเด็กไปสู่กิจกรรมอื่น   จะทำให้เด็กหยุดการทะเลาะกัน หรือผ่อนคลายความตึงเครียดลง

การส่งเสริมพัฒนาการทางสังคมของเด็กจึงเป็นการให้เด็กได้ทำงานเป็นกลุ่ม   เพื่อฝึกฝนการรับรู้ความรู้สึก ความคิดเห็นของผู้อื่นและเข้าใจถึงพฤติกรรมที่เป็นที่ยอมรับกับพฤติกรรมที่สังคมไม่ยอมรับ  อันจะเป็นหนทางที่นำเด็กไปสู่การอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุขในอนาคต

 

 

การส่งเสริมพัฒนาการด้านอารมณ์

1.  การเข้าใจถึงสภาพทางอารมณ์ของเด็กและยอมรับว่าเป็นลักษณะของพัฒนาการทางอารมณ์ตามปกติของเด็ก ซึ่งได้แก่อารมณ์รัก โกรธ กลัว ดีใจ เสียใจ อิจฉา เครียด วิตกกังวลและคับข้องใจ และต้องเข้าใจว่าอารมณ์ของเด็กเกิดจากสถานการณ์ที่มากระทบหรือแวดล้อมตัวเด็ก ดังนั้นจำเป็นที่ครูจะต้องจัดสถานการณ์ที่สนับสนุนอารมณ์ทางบวกและพยายามลดสิ่งที่จะทำให้เกิดสถานการณ์ที่ส่งผลต่ออารมณ์ทางลบหรือที่ไม่พึงประสงค์

2.  ครูต้องเข้าใจและรับรู้ถึงการแสดงออกทางอารมณ์ของเด็กบางคนที่อาจจะแตกต่างไปจากเด็กคนอื่น   เนื่องจากเด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกัน รวมทั้งประสบการณ์ที่เด็กได้รับมาย่อมแตกต่างกัน การรับรู้ถึงพฤติกรรมทางอารมณ์ที่ต่างไปจากคนอื่น จะทำให้นำไปสู่การช่วยเหลือและแก้ไขได้อย่างทันท่วงทีและเหมาะสม หากพฤติกรรมนั้นแสดงถึงแนวโน้มที่อาจจะเป็นปัญหา

3.  การสอนให้เด็กรับรู้และเข้าใจถึงอารมณ์ ความรู้สึกและพฤติกรรมของคนปกติทั่วไปที่มีอารมณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน และเข้าใจถึงลักษณะการแสดงออกทางอารมณ์ที่ต่างไปจากปกติ หรือสภาพความผิดปกติทางอารมณ์ การเข้าใจถึงอารมณ์ที่ปกติกับผิดปกติ จะทำให้เด็กสามารถใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น และดูแลตัวเองในสถานการณ์ต่าง ๆ ได้

4.  สอนให้รู้จักคำศัพท์ที่แสดงถึงสภาวะทางอารมณ์ต่าง ๆ ที่ตรงกับความจริง  เช่น  โกรธกับกลัว  เกลียดกับโกรธ  เป็นต้น

5.  ฝึกฝนให้เด็กได้เข้าใจถึงการแสดงออกทางอารมณ์ที่ผู้อื่นไม่ชอบ หรือไม่ยอมรับ

6.  การพูดคุยกับเด็กถึงการแสดงพฤติกรรมทางอารมณ์ที่ไม่เหมาะสม ซึ่งคนอื่นไม่ชอบ หากเด็กมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมจะทำให้ได้การยอมรับจากคนอื่น

7.  สนทนาพูดคุยให้เด็กเข้าใจถึงความรู้สึกของคนอื่น ๆ ที่มีต่อการแสดงพฤติกรรมทางอารมณ์ทั้งในทางบวกและทางลบ ซึ่งจะเป็นการช่วยให้เด็กเข้าใจถึงการใช้ชีวิตในสังคม

8.  ครูต้องไวต่อการรับรู้ถึงอารมณ์ที่เป็นสภาพปัญหาของเด็กและเข้าไปช่วยเหลืออย่างเหมาะสม

ดังนั้นการส่งเสริมพัฒนาการทางอารมณ์ของเด็กปฐมวัยจึงเกี่ยวข้องกับการสอนให้เด็กเข้าใจถึงอารมณ์ ความรู้สึกทั้งของตนเองและผู้อื่น  การแสดงออกทางอารมณ์อย่างเหมาะสมต่อสถานการณ์ต่าง ๆ และการรับรู้  ตลอดจนการช่วยเหลือเด็กที่ปัญหาทางอารมณ์  เพื่อให้เด็กสามารถปรับพฤติกรรมการแสดงออกทางอารมณ์ให้เป็นที่ยอมรับของผู้อื่น  อันจะช่วยให้เด็กอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข

การส่งเริมพัฒนาการทางสติปัญญา

1.  การยอมรับและเข้าใจว่าเด็กทุกคนมีความสามารถที่จะเรียนรู้  และมีวิธีการเรียนรู้เป็นของตนเอง  ทั้งนี้เด็ก ๆ จะเรียนรู้จากการใช้ประสาทสัมผัส  การได้รับประสบการณ์ตรงจะทำให้เด็กเข้าใจถึงสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัว  และนำข้อมูลไปสู่การปรับขยายความรู้ในโครงสร้างทางสติปัญญาเดิม   ทำให้เกิดความรู้ใหม่  พร้อมที่จะขยายประสบการณ์ให้กว้างขวางต่อไป  กระบวนการเรียนรู้ดังกล่าวนี้เด็กแต่ละคนจะมีวิธีการของตนเอง  ดังนั้นนอกจากครูจะเข้าใจถึงลักษณะวิธีการเรียนรู้ของเด็กแล้วจะต้องยอมรับความสามารถในการเรียนรู้ของเด็กว่า  มีความสามารถที่แตกต่างกัน  การจัดประสบการณ์ให้เด็กเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ จึงต้องให้เวลาที่พอเพียงกับเด็กแต่ละคน  มีกิจกรรมที่หลากหลายตามความสนใจและพอเหมาะกับประสบการณ์เดิมและความสามารถของเด็กและให้อิสระแก่เด็กที่จะใช้วิธีการที่เหมาะกับตัวเขา

2.  การเรียนรู้และแบ่งปันความรู้ร่วมกับเด็กไปพร้อม ๆ กัน  ทั้งนี้ตามแนวทางการปฏิรูปการศึกษาที่ระบุถึงการจัดการเรียนรู้ว่าให้จัดการเรียนรู้ที่ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ  ครูและเด็กเรียนรู้จากการทำกิจกรรมร่วมกัน  ในระหว่างการทำกิจกรรมครูจะสังเกตพฤติกรรมที่แสดงถึงพัฒนาการในทุกด้านของเด็ก  รวมทั้งเป็นโอกาสที่จะให้ความรู้และเรียนรู้ในเรื่องที่เด็กปฏิบัติ   เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน  ทำให้ทราบถึงความรู้ของเด็กที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมนั้น ๆ และสามารถนำไปสู่การกระตุ้นให้เด็กได้ขยายประสบการณ์ให้กว้างขวางออกไปด้วยแนวคิดของตนเอง

3.  การวางแผนกิจกรรมที่จะให้เด็กเข้าใจสิ่งต่างโดยรอบ  รวมทั้งการเข้าใจสิ่งต่าง ๆ  ที่กว้างขวางกว่าเดิม    ทั้งนี้ครูสามารถวางแผนกิจกรรมที่สนับสนุนให้เด็กเกิดการเรียนรู้ทั้งเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตนเอง  สิ่งต่าง ๆ รอบตัว  และธรรมชาติรอบตัว  ซึ่งเป็นการเรียนรู้เพื่อเข้าใจธรรมชาติของสิ่งเหล่านั้น  หลังจากการเรียนรู้สาระความรู้แล้ว  การที่ครูเข้าไปร่วมทำกิจกรรมกับเด็กมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน  เป็นสิ่งที่ทำให้ครูเข้าใจถึงประสบการณ์และมโนภาพของเด็ก  จากนั้นครูจึงนำความเข้าใจเหล่านี้ไปสู่การวางแผนกิจกรรมเพื่อขยายประสบการณ์ของเด็กให้กว้างขวางยิ่งขึ้น  ทั้งด้านความรู้  และด้านความสัมพันธ์ระหว่างตัวเด็กกับความรู้

4.  การเปิดโอกาสให้เด็กได้เลือกเรื่องที่จะเรียนรู้ตามความสนใจของตนเอง ทั้งนี้การให้เด็กได้เลือกเรื่องที่จะเรียนรู้ที่เกิดจากความสนใจ จะส่งผลต่อประสิทธิผลของการเรียนรู้ เนื่องจากการที่ได้เรียนในสิ่งที่ต้องการทำให้เด็กเกิดแรงจูงใจภายในในการเรียนรู้สิ่งนั้น ๆ ทำให้การเรียนเป็นไปอย่างมีความสุข ผู้เรียนมีความพึงพอใจที่ได้เรียน และจะเชื่อมโยงไปสู่ความรักในการเรียนรู้ มีเจตคติที่ดีต่อการเรียน

5.  ให้เด็กทำกิจกรรมโดยการฝึกให้มีการวางแผนจัดทำเป็นโครงการของตนเอง โดยมีครูเป็นผู้ช่วย จากการทำโครงการ เด็กจะเรียนรู้เรื่องการวางแผน การจัดลำดับขั้นของการทำงาน การสืบค้นข้อมูล การลงมือปฏิบัติตามแผน การสรุปผลการทำงานและผลที่ได้รับ

6.  การจัดกิจกรรมให้เด็กได้เรียนรู้จากการฝึกทักษะที่ส่งเสริมสติปัญญาของเด็ก เช่น การสังเกต การแก้ปัญหา การสืบค้น การเสาะหาความรู้

7.  การประเมินผลการเรียนรู้ตามที่กำหนดไว้ในวัตถุประสงค์ของหลักสูตรและรายงานผลการเรียนรู้ให้ผู้ปกครองทราบ

การส่งเสริมพัฒนาการทางสติปัญญา  จึงเป็นการจัดกิจกรรมที่ให้เด็กได้ฝึกฝนการเสาะหา  แสวงหา  สืบค้น  ความรู้ที่ตนสนใจ  ด้วยวิธีการที่หลากหลาย  และนำไปสู่การสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง  ทั้งนี้ผลจากการจัดกิจกรรมที่ให้เด็กปฏิบัติเพื่อสร้างความรู้ด้วยตนเองนั้น  นอกจากจะเกิดผลต่อการเรียนรู้ในสิ่งนั้น ๆ แล้ว  ยังเป็นการสร้างพื้นฐานการเป็นผู้ที่มีความใฝ่รู้ใฝ่เรียนให้กับเด็กอีกทางหนึ่งด้วย

การส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์

นอกเหนือจากการจัดประสบการณ์เพื่อส่งเสริมพัฒนาการทั้ง 4 ด้านดังกล่าวแล้ว  การจัดการศึกษาปฐมวัยแบบเตรียมความพร้อม  ยังสนับสนุนเรื่องการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของเด็กด้วย  โดยมีแนวทางการจัดประสบการณ์ดังนี้

1.  การจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ที่หลากหลายเพื่อให้เด็กได้แสดงซึ่งความคิดและจินตนาการที่เด็กแต่ละคนมี

2.  ให้อิสระแก่เด็กในการแสดงซึ่งความคิดสร้างสรรค์ในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งการคิด การกระทำ ผลงาน

3.  จัดให้มีเวทีที่แสดงถึงผลแห่งการสร้างสรรค์ของเด็ก เช่นที่แสดงผลงาน เวทีการแสดง มุมจัดแสดง หรือป้ายแสดงผลงาน

4.  สนับสนุนการแสดงออกซึ่งความคิดสร้างสรรค์ในหลาย ๆ รูปแบบ เช่น  การทำกิจกรรมศิลปะ การร้องเพลง การแสดง การเต้น การฟ้อนรำ และด้านภาษา

5.  สนับสนุน ชมเชย ยกย่อง ผลงานที่แสดงถึงความคิดสร้างสรรค์ของเด็ก รวมทั้งการแสดงพฤติกรรมถึงการแก้ปัญหา หรือการกระทำที่สร้างสรรค์ที่แตกต่างไปจากการคิด/การกระทำของผู้อื่น

คำสำคัญ (Tags): #การศึกษา#ปฐมวัย
หมายเลขบันทึก: 549424เขียนเมื่อ 27 กันยายน 2013 13:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 กันยายน 2013 13:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

...ทั้งหลายทั้งปวงต้องนำสู่การปฏิบัตินะคะ...ทั้งผู้บริหาร ครู และผู้ปกครองจึงต้องมีความเข้าใจที่ตรงกันนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท