๑๕๖.การร่วมสร้างความมีตัวตนส่วนรวมที่ใหญ่ขึ้น


 

การเรียนรู้
เพื่อหยั่งถึงความมีพื้นฐานชีวิตร่วมกัน

.................

ความร่วมทุกข์สุข
และความรู้สึกถึงความมีชะตากรรมร่วมกัน
เป็นสิ่งที่ต้องเกิดจากการเรียนรู้ที่ดี
และการมีความสามารถกำหนดรู้
ด้วยการพัฒนาตนเองของมนุษย์
เป็นทักษะการเรียนรู้ที่จำเป็น
ต่อการสร้างพลวัตรแก่สุขภาวะสังคม
ให้สามารถพัฒนาการไปกับ
ความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงต่างๆ
ได้อย่างเหมาะสมอยู่เสมอ

ในบทแผ่เมตตานั้น
มีความตอนหนึ่งโดยสรุปว่า
สัตว์ทั้งหลายนั้นล้วนมีความเป็นเพื่อนกันอยู่โดยพื้นฐาน
โดยมีความทุกข์สุข ความเกิดแก่เจ็บตาย
เป็นพลวัตรปัจจัยแห่งชีวิตเสมอกัน
เป็นรากของความมีชะตากรรมร่วมกันของผู้คน
ในทุกสังคมวัฒนธรรม ทุกชาติทุกภาษา
แต่ความเป็นเพื่อนกันอยู่โดยพื้นฐานนี้
หาเข้าถึงได้เพียงนำมาสวดและท่องบ่นถึง
เราอาจจะสวดและท่องจำได้
แต่จะให้รู้สึกที่เกิดออกมาจากใจนั้น
คงจะยาก

บนความแยกส่วน
เสมือนเป็นอิสระ
มีความเป็นเอกเทศต่อกันของเรากับผู้อื่น
ปัจเจกกับสังคม
มนุษย์กับสัตว์และสรรพชีวิตอื่น
ทั้งหลายเหล่านี้นั้น
เราก็มักสร้างความรู้และตบแต่งวิธีคิด
มาบำบัดจิตใจตนเองให้อิสระจากการร่วมทุกข์สุขกัน
รวมทั้งให้รู้สึกอิสระ สบายใจ
ต่อการที่จะต้องเพิกเฉย
และละเลยต่อการพัฒนาความสามารถมีส่วนร่วม
ในการสร้างสังคมส่วนรวม และดูแลผู้อื่น สิ่งอื่น
ไปด้วยกำลังและความมีเหตุปัจจัยเอื้อให้ทำได้ของเรา
โดยสร้างการอธิบายว่า
ความทุกข์ของผู้อื่นเกิดจากกรรมของผู้คนนั้นๆเอง
รวมทั้งเรื่องราวของสังคม
ก็เป็นเรื่องไกลตัวและนอกตัว

อีกทั้งมักกล่าวตามกันว่า
ต้องดูแลตนเองให้ได้ก่อน
จึงจะสามารถไปดูแลผู้อื่น
และใส่ใจเรื่องสังคมนอกตัวได้
ทุกข์สุขอยู่ในใจและตัวเราเอง
ทำตนเองให้มีความสุขและเป็นคนดี
สังคมก็จะดีเอง
ดังนี้เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้กระมัง
ในขณะที่สังคมก็ยิ่งขยายใหญ่ขึ้น
ซับซ้อนยิ่งๆขึ้น
ผู้คนก็เลยกลับยิ่งตัวเล็กลง อ่อนแรง
แม้รวมกันเป็นสังคมของผู้คนที่มีจำนวนมากกว่าเดิม
ความรู้ วิทยาการ และเทคโนโลยี ทุกอย่างก็ดีกว่าในอดีตมาก
ชีวิตความเป็นส่วนรวมหลายอย่าง ก็กลับอ่อนแอมากกว่าเดิม
ผู้คนพึ่งการปฏิบัติตนเองเพื่อเข้าถึงสิ่งที่ต้องการได้ยากขึ้น
มีสิ่งต่างๆทางวัตถุที่ดีและทันสมัยมากขึ้น
แต่กลับสามารถสนองตอบ
ต่อความเพียงพอได้น้อยลง

การเรียนรู้ทางสังคม
การปฏิบัติศึกษาและเรียนรู้จากสิ่งโดยรอบ
ไปบนรายทางของการดำเนินชีวิต
เพื่อเห็นถึงการมีพื้นฐานชีวิตร่วมกัน
หยั่งลึกสู่สิ่งสามัญที่มีอยู่ร่วมกันให้มากที่สุด
คือความเป็นเพื่อนร่วมทุกข์สุข
และความมีชะตากรรม
บนธรรมชาติของความเกิดแก่เจ็บตายร่วมกัน
จึงเป็นหนทางหนึ่ง
ของการพัฒนาการอยู่ร่วมกัน
ให้เกิดสุขภาวะสังคม

บนความเป็นเพื่อนพี่น้องกัน
ของมนุษย์ สรรพชีวิต
และสรรพสิ่ง.

 

ภาพถ่าย : ภาพจากมุมสูง พื้นที่ราบลุ่มรองรับน้ำ สองฝั่งลำน้ำชี ลำน้ำมูล
ถ่ายภาพ : วิรัตน์ คำศรีจันทร์

หมายเลขบันทึก: 549370เขียนเมื่อ 26 กันยายน 2013 16:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 ตุลาคม 2013 07:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

ชอบข้อความ มนุษย์ทุกๆคนเป็นพี่น้องกันครับ

ไม่มีเขามีเรา

ทุกๆๆคนอยู่ร่วมกัน 

ภาพบนสวยมากๆๆ

ชอบจังเลย

เอารูปมาอวด ชวนดูภาพถ่าย บอกเล่าและถ่ายทอดเรื่องราว
แล้วก็ชวนแบ่งปันความคิด เหมือนได้นั่งภาวนาและใคร่ครวญตนเองไปกับการชมศิลปะภาพถ่ายน่ะครับอาจารย์ขจิตครับ

 

ดูเวิ้งว้าง จังเลยนะครับอาจารย์

บันทึกนี้อาจารย์สนทนากับตัวเอง  ผ่านสังคม   ด้วยห้วงคิดที่ลุ่มลึกมากเลยนะครับ

 

 

 

 

สวัสดีครับคุณแสงแห่งความดี
ดูเจิ่งนองกินอาณาบริเวณกว้างมากอยู่เหมือนกัน ขุ่นคลั่กเชียว เป็นภาพถ่ายทางอากาศ พื้นที่ภาคอีสาน น่าจะแถวๆบริเวณอุบลราชธานีกับจังหวัดใกล้เคียงน่ะครับ

 

สังคมก็ยิ่งขยายใหญ่ขึ้น...ซับซ้อนยิ่งๆ ขึ้น... เป็นความจริงๆ ...จริงๆๆ ค่ะ

สวัสดีครับ Dr.Ple ครับ
การขยายมิติจิตใจ การรู้ และความรู้ความเข้าใจ ตลอดจนวิถีทรรศนะต่างๆ ก็เลยต้องให้มีความทัดเทียมกันไปด้วย อย่างนั้นใช่ไหมครับ

สวัสดีค่ะ อาจารย์วิรัีตน์

 "ความรู้สึกถึงการมีชะตากรรมร่วมกัน"....."ยิ่งใหญ่"  เหนือ คำบรรรยาย ค่ะอาจารย์....

สวัสดีครับ Dr.Joy ครับ ขอบพระคุณที่มาเยือนและมาแบ่งปันทรรศนะให้กันครับ
เหมือนเป็นทั้งการถ่ายทอดและบันทึกการเดินทางด้านในอย่างหนึ่ง แล้วก็เป็นการศึกษาทำศิลปะสื่อและวิธีการสำหรับสื่อ เพื่อถ่ายทอดบางสิ่งที่เป็นสภาวะ ซึ่งการใช้วิธีบรรยายเชิงพรรณาความมิติเดียว อาจจะมีข้อจำกัดและไม่มีพลังพอที่จะทำให้เข้าถึงสภาวะที่ว่านั้นได้ 

ขอขอบพระคุณทุกท่านที่แวะมาเยือนครับ มีความสุขความเบิกบานใจทุกท่านครับผม

 เครื่องหมาย ? คำถามเดี่ยว  ขจิต ฝอยทอง  Wasawat Deemarn  Joy  Dr. Ple  Tawandin  ดร. พจนา แย้มนัยนา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท