"พี่หนาน"
นาย พรพจน์ พี่หนาน เรียงประพัฒน์

ลืมกำเมือง ๔


"...คนเมืองลูกหลาน บ่อหันก้าไว้ จักอู้จ๋าได้ ไผฟัง เอาเปิ่นเป็นเก๊า กำเฮาไว้หลัง พูดไทยชัดดัง ขึงขังกล่าวถ้อย..."

๒๑/๐๙/๒๕๕๖

**********

ลืมกำเมือง ๔

 

มาอู้กำเมืองกั๋นเต๊อะ...

       การเขียนบันทึก “ลืมกำเมือง” ก่อนหน้านี้อาจขาดๆ เกิน ๆ ในหลาย ๆ ประการ เนื่องจากเวลาเขียนบันทึกที่ขาดการสืบเนื่อง กระโดดไปกระโดดมาตามประสาของพ่อค้าที่ต้องขายของ ทำให้อ่านหรือทำความเข้าใจได้ยากไปบ้าง

       บันทึกนี้จึงมาเพื่อรณรงค์ให้ชาว “คนเมือง” ทั้งหลายหันมาทบทวนและใส่ใจในความเป็นคนเมืองที่ควรจะได้ช่วยกันอนุรักษ์วัฒนธรรมในหลาย ๆ ด้านของเราเอาไว้ โดยเฉพาะ “กำเมือง” หรือภาษาของคนไทยภาคเหนือ หรือบางท่านอาจจะเรียกว่าไทล้านนาก็ได้ ก็แล้วแต่จะเรียกขานกัน

       สิ่งที่ผมอยากจะฝากถึงท่านที่มีหน้าที่ในทางวัฒนธรรมหรือหน้าที่ในทางศาสนา หรือผู้นำหมู่บ้าน ผู้นำองค์กรท้องถิ่น หรือทางอำเภอจังหวัดก็แล้วแต่ ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ ขอให้ช่วยกันฟื้นฟูวัฒนธรรมของคนเมือง ให้โดดเด่น เป็นสง่า มีหน้ามีตา ในสังคมของท้องถิ่นกันอย่างจริงจังและจริงใจ ไม่ใช่นำเสนอกันเฉพาะเทศกาลงานลางกองเท่านั้น ควรให้มีโครงการอย่างสืบเนื่อง สนับสนุนภูมิปัญญาด้านต่าง ๆ อย่างเต็มที่

ประเด็นสำคัญที่อยากจะฝากให้มีการรณรงค์หรือกระตุ้นให้บังเกิดขึ้นในชุมชนประกอบด้วย

๑.   การใช้ชื่อหรือการตั้งชื่อแบบคนเมือง การเรียกขานตามยศศักดิ์ของคนเมืองเราแต่เดิมมาอยากถูกต้องเหมาะสม

๒.   การเขียนหรือการสืบทอดตัวหนังสือเมืองให้กับเยาวชนหรือผู้สนใจใฝ่เรียนกันให้เกิดการขยายวงกว้างกันอย่างแพร่หลาย

๓.   การส่งเสริมให้อู้กำเมือง ฟังกำเมือง เรียนกำเมืองกันอย่างถูกต้อง ให้รู้ว่าศัพท์ไหนคำไทย  ศัพท์ไหนคำเมือง

๔.  การปลูกฝังหรือถ่ายทอดการทำอาหารของคนเมือง หรืออาจจัดให้มีการทำหลักสูตรการทำกับข้าว หลักสูตรการถนอมอาหารแบบคนเมือง

๕.  การปลูกฝังในด้านการแต่งกาย โดยส่งเสริมการทอผ้าพื้นเมืองใส่กันอย่างกว้างขวาง และสร้างเป็นคลังของท้องถิ่นเอาไว้ใช้ในยามมีงานเทศกาลหรืองานโชว์ต่าง ๆ

๖.   การช่วยกันรักษาประเพณี วัฒนธรรมของคนเมืองในด้านต่าง ๆ เช่น ประเพณีเกี่ยวกับการเกิด ประเพณีเกี่ยวกับการแต่ง  ประเพณีเกี่ยวกับการเจ็บป่วย ประเพณีเกี่ยวกับการตาย และประเพณีในทางด้านศาสนา เป็นต้น

๗.  การส่งเสริมให้เกิดความรักความสามัคคีในชุมชน ไม่เห็นแก่พวกพ้องหรือประเภทมือใครยาวสาวได้สาวเอา หรือ การแบ่งแยกสีเสื้อเหมือนกับท้องถิ่นอื่น ๆ  การส่งเสริมให้เกิดความรักสงบ ให้เกียรติ ไม่ใส่ร้ายป้ายสีซึ่งกันและกัน เห็นแก่ชุมชนมากกว่าเห็นแก่การเมืองเรื่องของเครือญาติ

 

อาจจะเป็นการคาดหวังที่สูงเกินไปสำหรับผู้เขียน และดูว่าจะยากเกินกว่าที่เจ้าหน้าที่ตัวเล็ก ๆ คนหนึ่งจะทำได้  ถึงยังไงก็ต้องฝากให้เป็นการบ้านของผู้ทำหน้าที่ด้านวัฒนธรรม ผู้นำชุมชน และผู้นำด้านความมั่นคงทุกท่านก็แล้วกัน

 

       ท้ายนี้จึงอยากเชิญชวนด้วย “ค่าวมาอู้กำเมืองกั๋นเตอะ” แบบทางภาคเหนือที่แต่งโดย พี่หนานชาติ ใจแก้ว ซึ่งท่านได้แต่งออกอากาศในรายการคารวะล้านนา ๑๓ กันยายน ๒๕๔๕ นับอายุได้ ๑๑ ปีเต็มแล้ว  จากหนังสือ การแต่งค่าว(กวี) ล้านนาไทย แต่ยังคงความทันสมัย ไม่เปลี่ยนแปลงไปสักเท่าไหร่ กลับจะยิ่งดูชัดเจนขึ้นในปัจจุบันอีกด้วย ดังนี้...

 

ยกมือสา          วันทาปี่น้อง       ทั่วโขงเขตห้อง         เพื่อนพ้องไกล้ไกล๋

ผมมาวันนี้         ขอจี้จ๋าไข         ยังความเป็นไป          ในก๋ารกล่าวอู้

เรื่องของภาษา   ควรมาหลิ่งลู้      คนเมืองจ๋าดู             ม่วนนัก

กำอู้กำจ๋า         ยินมาน่าฮัก       เป็นหลักอ่อนอ้อย      วอนใย

เมื่อได้ยินแล้ว    จื่นแผ๋วหัวใจ๋      ขนาดคนไทย           เปิ่นยังกล่าวอ้าง

มีภาษาเขียน     หม่อนเพียรได้สร้าง    ส่องเป๋นแนวทาง แต่ไท้

คนเมืองลูกหลาน บ่อหันก้าไว้      จักอู้จ๋าได้               ไผฟัง

เอาเปิ่นเป็นเก๊า   กำเฮาไว้หลัง     พูดไทยชัดดัง           ขึงขังกล่าวถ้อย

อู้เมืองก็กลั๋ว      ว่าตั๋วต่ำต้อย      เป๋นกำดงดอย           บ่อคึ

สบประมาทตั๋ว    เมามัวแต๊หึ       สติตื่นเต้น               ลืมเอา

บ่อเมินแต๊ไซร้    จักได้จ้างเขา     มาสอนกำเฮา           กำเมืองว่าอี้

ครอบงำภาษา    หลบลาเลยจี้     จะเยียะใดดี              ปี้น้อง

มาลืมจาติตั๋ว     บ่อหนัวเกี่ยวก๊อง บ่อมาอ่วงข้อง           พงษ์พันธุ์

ปู่หม่อนสอนไว้   จะใดบ่อหัน       ลูกหลานตึงวัน          ป๋ากั๋นหนีถ้อย

กำเปิ่นของไกล๋  อู้ได้เป่งป้อย      กำเมืองอู้กอย           บ่อชัด

บางพ่องอู้เสียง   สำเนียงบ่อตั๊ด    อึดอัดใจ๋แต๊             ยามยิน

ตี่มากล่าวนี้       บ่อติตัดสิน        ใค่หื้อได้ยิน             ความจริงว่าอั้น

บ่อได้กล่าวหา   ภาษากีดกั้น      ภาษาใดมัน              เหนือจั๊น

ฮู้หลายภาษา     ดีมาทั้งนั้น        มันตึงบ่อกั้น(ไม่อดอยาก)    แต๊นา

รุ่งเรืองต่ำก๊อย    ย้อนรอยภาษา   เป๋นลักษณา             พงษ์พันธุ์เผ่าสร้าง

ไร้สิ้นภาษา       จักหาไหนอ้าง   มาเป๋นแนวทาง         สืบเก๊า(ต้นสาย)

ผมมาจ๋าไข       ด้วยใจ๋แต๊เล้า     หื้อทุกท่านเฝ้า          จ้วยกอย(มองดู)

กำเมืองเฮานี้     บ่อดีสูญถอย     หื้อเป๋นฮีตฮอย          สืบไว้ไปหน้า

ภูมิใจ๋เตอะครับ   ปรับใจ๋หื้อกล้า    จาติเจื้อล้านนา         เฮานี้

ด้วยความห่วงใย จิ่งได้กล่าวจี้      มีมาเต่าอี้                ก่อนนา

เขียนค่าวมา      เวลาไล่จี้          เต้านี้ลวดวางลง         ก่อนแหล่นายเหย

 

***************

 

 

ขอได้รับความขอบคุณจากผู้เขียน และขอขอบคุณผู้อ่านทุกท่านที่ติดตาม และที่จะลืมไม่ได้คือ ขอบคุณโกทูโนว์ สื่อสาระดีที่ควรค่าแก่การบันทึกและติดตามอ่านเป็นอย่างมากครับผม.

หมายเลขบันทึก: 548902เขียนเมื่อ 21 กันยายน 2013 18:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 กันยายน 2013 18:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

"มาอู้กำเมืองกั๋นเตอะ" ..... ขอบคุณค่ะ

มาอยู่ล้านนานานแล้ว ฟังคำเมืองพอเข้าใจอาจเป็นเพราะเขาพูดคำเมืองปนไทยกลางก็ได้ ถ้าเจอคำเมืองแท้ ๆเปอร์เซ็นต์ความเข้าใจอาจลดลง  แต่ก็รู้สึกชอบที่ได้ฟังได้เห็นคนเมืองใช้คำเมืองกัน จึงสนับสนุนเต็มที่ทีลูกหลานคนเมืองควรที่จะอนุรักษ์ภาษาของตนยิ่งขึ้น รวมทั้งวัฒนธรรมการแต่งกาย และอื่น ๆ แต่ที่กลัวก็คือความรู้สึกที่เป็นไทยจะจางลงไป กลายเป็นแบ่งแยก รังเกียจเดียดฉันท์คนต่างเผ่าพันธุ์ หวังว่าคงไม่เป็นเช่นนั้น

คนเมืองเป็นคนไทยมีเชื้อชาติไทย สัญชาติไทย ก็ควรแตกฉานทั้งภาษาถิ่นและภาษาไทย และโรงเรียนควรเป็นสถานที่สอนตัวเมือง

(แต่อาจจะหาครูยาก)

อู้บ่เป็น แต่ก็ชอบฟังภาษากำเมืองเด๊อจ้าาา ขอบคุณจ้ะ

อาจารย์GD ครับ คนเมืองมีพื้นนิสัยรักสงบ ไม่รุกรานรังแกใครก่อน อีกอย่างทุกวันนี้ความเจริญเข้าถึงทำให้สื่อถึงกันได้ง่าย ความขัดแย้งอาจจะมีบ้างในกลุ่มแต่ไม่ลามไปถึงข้างนอกสักเท่าไหร่  ผมก็มองดูหรือสังเกตอยู่เหมือนกัน ความแตกแยกส่วนใหญ่จะมาจากการเมือง มีการเลือกตั้งครั้งใด ไม่ว่าจะเป็น นอกหมู่บ้านหรือในหมู่บ้าน นำมาซึ่งความขัดแย้งแตกความสามัคคี เลือกตั้งเสร็จแล้วดูจะดีขึ้นมาหน่อย พอมีการเลือกตั้งอีก เห็นแววแตกแยกอีกแล้ว แต่ก็ไม่ถึงกับรุนแรงมากหรอกครับ

ผู้สืบทอดด้านภาษากับผู้นำไม่ประสานกัน ก็ยากที่จะถ่ายทอดให้แก่เยาวชนได้  และอีกอย่างค่านิยมด้านความรักความผูกพันในภาษาเขียนไม่มีสิ่งเร้าให้เกิดการอยากเรียนรู้ เรียนแล้วไม่รู้ว่าจะเอาไปใช้ยังไง ตรงไหน เหมือนกับภาษาอังกฤษที่ใช้กันได้ทั่วโลก ทำให้เด็กอยากเรียนมากกว่า  

ขอบคุณอาจารย์อีกครั้งนะครับที่สนใจอยากเรียนรู้ ผมจะนำคำศัพท์ที่หมู่บ้านของผมและหมู่บ้านของแม่ยายใช้กันมาเขียนเป็นบันทึกต่อๆ ไป อาจจะมีหลายตอนหน่อย เพราะต้องเขียนตัวอย่างการใช้ พร้อมคำแปลประกอบกันไปด้วย อย่าลืมติดตามอ่านกันนะครับ

ขอบคุณครู คุณมะเดื่อ อีกท่านนะครับที่ให้ความสนใจ มาให้กำลังใจและเรียนรู้ไปด้วยกัน ต่อไปถ้าผมเขียนบ่อย ๆ คุณครูอาจจะร้องอ๋อเลยก็ได้ ง่ายกว่าภาษาญี่ปุ่นอีกครับ...รับรอง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท