จากบันทึกภาคสนาม เรื่อง เกษตรยั่งยืนของลุงบ่าว


"ถ้าตัวเองพึ่งพาอะไรจากตัวเองได้ มั่นคงในตัวเอง ก็จะโทษสังคมน้อยลง เมื่อโทษคนอื่นน้อยลง ความสันติในตัวเองก็มีได้" ลุงบ่าว จรัญ สุทธิแป้น 15 ก.ย. 2556
เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ไปนั่งคุยกับ "ลุงบ่าว" ที่อำเภอจะนะ
ลุงบ่าวเป็นคนสวนโรงพยาบาลจะนะ รายได้พอมีพอกิน อยู่ได้ แต่ถ้ามีปัญหาชีวิตก็ลำบากหน่อย

เมื่อสัก 5-6 ปีที่แล้ว ลุงบ่าวมีปัญหาเรื่องบ้าน
เพราะที่ดินรอบ ๆ บ้านลุงบ่าวล้วนถมดินยกพื้นที่ให้สูงขึ้น
ใครสร้างบ้านทีหลัง ก็จะยิ่งถมที่ดินให้สูงกว่าบ้านอื่น เพื่อหนีน้ำท่วมที่อาจเข...้าบ้านตัวเองได้

แต่บ้านลุงบ่าวสร้างมานานแล้ว แม้เป็นบ้านยกใต้ถุน แต่ถ้าคิดจะถมที่แข่งกับเขา ก็ต้องดีดบ้านพร้อมถมที่ ซึ่งใช้เงินรวม ๆ หลายแสนอยู่ ซึ่งเงินจำนวนนี้ ลุงบ่าวมีเองอยู่นิดเดียวและต้องกู้มาเพิ่มเยอะกว่า

ลุงบ่าวไตร่ตรองอยู่สักพัก ก็คิดว่า ไม่สู้ด้วยการถมที่แล้วต้องเป็นหนี้ล่ะ แต่จะสู้ด้วยการปรับที่ดินเอาแล้วกัน ลุงบ่าวเปลี่ยนจากการถมที่ เป็นปรับที่ตามสภาพ ตรงไหนเป็นที่ลุ่มลึกก็ขุดลงอีกเล็กน้อยให้เป็นสระน้ำ ตรงไหนเป็นที่ดอน ก็เอาดินที่ขุดนั่นแหละ มาถมให้สูงขึ้นอีกนิด

ลุงเลยเสียแต่แรง แต่ไม่เสียตังค์

และด้วยการที่มีอาชีพเป็นคนสวนผู้มีรายได้น้อย
เมื่อหันมมองพื้นที่บ้านตัวเองที่ถูกปล่อยให้รก ๆ ร้าง ๆ ลุงบ่าวจึงลงมือปลูกพืชที่ทุกอย่างที่ตัวเองจะกินได้ แล้วก็ปลูกงอกงามดีเพราะดินนั้นเป็นดินเดิม ๆ มีหน้าดินที่มีธาตุอาหารอยู่ ปลูกไปปลูกมา ต้นไหนงอกงามมาก ก็เก็บไว้ ต้นไหนไม่ผลิผลเท่าไหร่ ก็เลือกทิ้งบ้าง สุดท้าย พื้นที่ 2 งานครึ่งของลุงบ่าว ก็เต็มไปด้วยต้นไม้ที่สร้างรายได้ให้ลุงบ่าว ทั้งพืชผักที่ขายสด ทั้งดอกบัว เตยหอม ที่เอาไปพับขายเป็นดอกไม้ไหว้พระ ทั้งกระเจี๊ยบ เก็กฮวย ที่เอาไปทำน้ำสมุนไพร ปีหน้าแก้วมังกร มะนาว ก็จะเริ่มออกผล และตอนนี้ลุงก็ทำปุ๋ยอินทรีย์เพิ่มอีกอย่าง ซึ่งตอนแรกก็ทำแค่เพียงพอบำรุงต้นไม้ในสวน แต่คนเห็นต้นไม้ลุงงามดี ก็เลยสั่งซื้อบ้าง เป็นรายได้อีกก้อนหนึ่งไปทันที

แค่เปลี่ยนวิธีคิด จากการถมดิน มาเป็นปรับพื้นที่
จากต้องกู้เงินแล้วจ่ายต้นจ่ายดอก ก็กลายเป็นได้รับเบี้ยหัวแตกที่ค่อย ๆ เพิ่มขึ้นกลายเป็นเงินก้อนใหญ่ขึ้นทีละนิด ๆ

ปัจจุบัน เมื่อถึงหน้าน้ำหลาก น้ำก็ยังท่วมบ้านลุงบ่าวอยู่ ท่วมอยู่สักปีละ 4-5 วัน
แต่ลุงบ่าวไม่เดือดร้อน บ้านลุงไม่ได้ดีดบ้านขึ้น แต่ก็ทำคานคอนกรีตเสริมความแข็งแรงแทนคานไม้ที่แช่น้ำตากลมแล้วจะผุเอาง่าย ๆ เรื่องรายได้ก็ไม่ขาด เงินเดือนคนสวนก็มีอยู่ แถมช่วงน้ำท่วมแป๊บ ๆ นั่น ดอกบัวก็ยังขายได้เหมือนเดิม น้ำแล้งต้นไม้เดิมที่ปลูกไว้ก็ไม่ได้ตายไปไหน แถวน้ำที่ท่วม ยังช่วยพาพัดพาดินตะกอนเล็ก ๆ มาบำรุงดินของลุงอีกต่างหาก

สุดท้ายเราคุยกันเรื่องความยั่งยืนในชีวิต
ลุงบอกว่า เกษตรกรอย่างลุงเป็นเกษตรยั่งยืนและพอเพียง และลุงก็ไม่ได้คิดเองทำเอง ลุงมีเพื่อน มีเครือยข่ายคนที่ทำอะไรแบบนี้ทั้งที่เป็นคนและเป็นกลุ่ม ลุงออกหาความรู้ตลอดตามโอกาสที่มี และตั้งแต่ที่เริ่มทำสวนแบบนี้ลุงก็ไม่ต้องห่วงเรื่องกิน จนถึงทุกวันนี้ก็ไม่ต้องห่วงเรื่องรายได้น้อย เพราะรายจ่ายน้อยส่วนรายได้มากขึ้น อะไรอย่างอื่นก็มั่นคงพออยู่แล้ว เลยแลกเปลี่ยนกันว่า ถ้าคนมีความยั่งยืน มั่นคง สันติภาพมันจะเกิดได้หรือเปล่า ลุงก็ว่า มันน่าจะเกี่ยวกัน เพราะถ้าตัวเองพึ่งพาอะไรจากตัวเองได้ มั่นคงในตัวเอง ก็จะโทษสังคมน้อยลง เมื่อโทษคนอื่นน้อยลง ความสันติในตัวเองก็มีได้

คำสอนที่ของครูที่มีอาชีพเป็นคนสวน สร้างความยินดีให้ศิษย์ที่เพิ่งเรียนจบโทยิ่งนัก
ข้อดีของการลงพื้นที่หาข้อมูลด้วยตนเองเสมอ ๆ คือ เราได้ครูเพิ่มทุกครั้งที่เราฟังคนทุกคนพูด
 
ข้อมูลการลงพื้นที่
สนทนากับลุงบ่าว จรัญ สุทธิแป้น ที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เมื่อ 15 กันยายน 2556
วัตถุประสงค์ในการสนทนา เนื่องจากลุงบ่าวอยากได้ความเห็นเรื่องการถ่ายทอดความรู้เรื่องการพลิกพื้นที่รกร้างให้ทำการเกษตรได้ เพื่อเผยแพร่บอกเล่าให้กับคนอื่น ๆ เป็นการทั่วไปครับ
หมายเลขบันทึก: 548863เขียนเมื่อ 21 กันยายน 2013 10:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 กันยายน 2013 12:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท