Space กับความอึดอัด


Space : ความอึดอัดเมื่ออยู่กรุงเทพฯ

เข้ากรุงเทพฯ ทีไร อึดอัดทุกที...


ที่ต้องอึดอัดทุกที เพราะว่าเรา “คนต่างจังหวัด” รู้สึกชินกับการอยู่ในพื้นที่ (Space) ที่กว้าง ๆ สบาย ๆ เมื่อต้องเดินทางเมืองกรุงทีไร การต้องอยู่ในพื้นที่ที่น้อยลง ใกล้ชิดกับคนอื่นมาก ๆ (มากกว่าปกติที่อยู่ต่างจังหวัด) ก็เป็นธรรมดาที่ต้องรู้สึกอึดอัด


เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา หลังจากที่ผมนั่งรถดิ่งลงมาจากเชียงใหม่ หลังจากที่ได้ลงรถที่รังสิต ผมก็มีนัดกับเพื่อนแถว ๆ สวนสยาม การเดินทางจากรังสิตมาสวนสยามที่ง่ายและประหยัดมากที่สุดก็คือ “การนั่งรถตู้”
วันนั้นเมื่อลงรถเสร็จผมก็เดินไปแถวคนคุมคิวรถว่าถ้าจะไปแถว ๆ แฟชั่น ไอซ์แลนด์ หรือแถว ๆ สวนสยามต้องนั่งรถตู้สายไหนไป คนคุมคิวรถก็เลยบอกว่าให้ขึ้นรถตู้คันที่มีป้าย “มีนบุรี” และชี้ให้ขึ้นคันที่แถวอยู่ตรงนั้นเลย


พอผมเดินไปถึงรถกำลังจะเปิดประตูขึ้น ผมก็ต้องถอยหลังมาตัดสินใจนิดนึงครับ เพราะว่าในรถดูแน่นมาก มีที่เหลืออยู่สองสามที่


ตามสัญชาตญาณของคนต่างจังหวัดแบบผม ถ้ารถมีที่ว่างแค่นั้นจะรู้สึกได้ทันทีว่า “รถเต็ม ขึ้นไม่ได้แล้ว” แต่พี่ที่คุมคิวรถอยู่บอกว่า “ขึ้นเลยน้อง ขึ้นเลย” ผมก็เลยต้องขึ้นไปบนรถคันนั้นครับ


พอขึ้นไปก็เจอที่นั่งบนรถตู้ที่มี 4 แถว แถวละ 3 ที่นั่ง พอนั่งไปก็รู้สึกอึดอัดนิดหน่อยครับ เพราะไม่เคยได้นั่งรถที่เบาะติดกันขนาดนี้ เพราะรถตู้ที่นั่งประจำตอนไปสอนที่วิทยาเขตน่าน่านทุกคันจะมี 3 แถว แถวละ 3 ที่นั่ง


รถตู้ที่นั่งไปสวนสยามวันนั้น ก็จะจุคนได้มากกว่าอีก 3 คนครับ สำหรับผมนั้นรู้สึกอึดอัด แต่ผมลองมองไปที่คนข้าง ๆ ไม่ว่าจะหญิงหรือชายเขาก็รู้สึกธรรมดา ๆ เหมือนกับไม่รู้สึกรู้สาอะไรเหมือนกับคนต่างจังหวัดอย่างผมครับ


โดยเฉพาะน้องผู้หญิงที่ต้องนั่งติดหรือชิดกับผู้ชายมาก ๆ บนรถตู้คันนั้น น้องเขาก็เฉย ๆ ต่างคนก็ต่างนั่งกันไป ไม่ได้มีการพูดจาเสวนาอะไรกัน พอถึงที่บอกคนขับให้จอดป้ายคนที่นั่งอยู่แถวฝั่งซ้าย (เก้าอี้ที่พับเบาะได้) ก็เบี่ยงตัวหรือลุกให้คนที่อยู่ข้างในลงเป็นอัตโนมัติ


สำหรับความเคยชินของคนต่างจังหวัดอย่างผมนั้นที่เคยอยู่กับพื้นที่กว้าง ๆ ก่อนขึ้นรถก็ถามกันแล้วถามกันอีกว่าใครจะลงที่ไหน ถ้าลงก่อนให้นั่งข้างนอก ลงข้างหลังก็เข้าไปข้างในถึงในสุด ก็จะรู้สึกแปลก ๆ และอึดอัดอยู่ทุกครั้งเมื่อเข้าสู่เมืองกรุงครับ


หรืออย่างเช่น การนั่งทานข้าวตามร้านอาหารที่โต๊ะอาหารที่คนนั่งอยู่แล้วแต่มีเก้าอี้ว่างอยู่ ถ้าเป็นต่างจังหวัด ผมก็จะเลยไปร้านอื่น ถือว่าโต๊ะเต็มครับนั่งกินร้านนั้นไม่ได้ แต่ในเมืองใหญ่ ๆ ถ้าโต๊ะสี่คน นั่งอยู่หนึ่งถึงสองคน ก็จะมีลูกค้าเข้าไปนั่งเพิ่มได้ครับ เพราะเป็นเรื่องปกติของคนเมืองใหญ่ที่จะไม่รู้สึกอึดอัด
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมากอย่างหนึ่งครับ สำหรับการทำวิจัยเชิงคุณภาพที่เรา (นักวิจัย) ต้องออกไปจัดเวที สัมภาษณ์ พูดคุยกับพี่น้องในชุมชนต่าง ๆ


เรา (นักวิจัย) จะต้องวิเคราะห์ด้วยครับว่า คน (กลุ่มเป้าหมาย) ที่เราไปคุยด้วยนั้น เขามีวิถีการดำเนินชีวิตกับการอยู่ที่พื้นที่ (Space) ที่กว้างหรือแคบ เพราะเราจะต้องจัดพื้นที่หรือระยะห่างและหว่างเรากับเขาให้เหมาะสมครับ


ถ้าเป็นคนต่างจังหวัดแบบผม ถ้านักวิจัยจะมานั่งคุยด้วยหรือจะมาสัมภาษณ์ ก็จะต้องนั่งห่างไปนิดนึงครับ เพราะถ้านั่งใกล้มาก ๆ ผม (ผู้ถูกสัมภาษณ์) จะรู้สึกอึดอัด การสนทนาก็จะไม่ราบรื่น ส่งผลให้การเสวนาหรือสัมภาษณ์นั้นอาจจะได้ข้อมูลไม่ครบถ้วนหรือไม่ตรงประเด็น เพราะคู่สนทนาเกิดความอึดอัด


ในทางกลับกัน ถ้าเป็นคนเมืองใหญ่ ๆ เราก็นั่งใกล้ได้นิดนึงครับ เพราะถ้าห่างไปก็อาจจะกลายเป็นความห่างเหินหรือขาดความจริงใจระหว่างคู่สนทนา โดยประเด็นระยะห่างนี้ก็จะต้องคำนึงถึงเรื่องเพศอีกนิดนึงครับ ถ้าเป็นเพศเดียวกันก็ใกล้กันได้มาก ถ้าคนละเพศก็ห่างกันหน่อยครับ ส่วนจะมากน้อยแค่ไหน ก็แล้วแต่วิจารณญาณหรือประสบการณ์ของนักวิจัยหรือผู้ไปสัมภาษณ์ครับ

ต้องใช้ความรู้สึกและพยายามจัดองค์ประกอบต่าง ๆ ให้เหมาะสมสำหรับการทำงาน การศึกษา การวิจัยนั้นให้เหมาะสมที่สุดเพื่อให้การทำงานนั้นเกิดประสิทธิภาพ (Efficiency) สูงสุด ซึ่งจะส่งผลให้เกิดประสิทธิผล (Effectiveness)  อย่างสูงตามมา ซึ่งนั้นก็จะทำให้เกิด ผลิตภาพหรือผลิตผล (Productivity) สำหรับงานวิจัยเชิงองค์รวมได้อย่างเอนกอนันต์ครับ

หมายเลขบันทึก: 54861เขียนเมื่อ 16 ตุลาคม 2006 23:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เมืองเล็ก คนเยอะทำให้ช่วงว่างอาจจะน้อย แต่คนเมืองยังคงต้องอยู่ ก็ต้องค้นหาที่ว่างที่เหมาะสำหรับตนกันต่อไปค่ะ

การผ่อนคลายอย่าให้จิตใจอึดอัดไปด้วย แวะไปหาธรรมชาติในยามว่าง คือวิธีพักผ่อนจิตใจค่ะ

ไปที่ไหนบ้างครับช่วงนี้.....

ผมพยายามโทรติดต่ออาจารย์อยู่ ...อาจารย์สุขสบายดีนะครับ

Space น้อยๆ แต่ขอให้สุขใจก็พอนะครับผม 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท