ทำไมต้องเขียน...จะส่งเสริมให้คนเขียนกันมากขึ้นได้อย่างไร


คำตอบคงเหมือนกันกับ...ทำยังไงคนจะอ่านหนังสือมากขึ้น

ไม่มีคำตอบหรอกค่ะ เพราะตอบไม่ได้...เชื่อว่าคงหาคนตอบให้ตรงใจใครๆได้แสนยาก แต่เรามาช่วยกันคิดได้ว่า ทำไม...เผื่อใครจะหาหนทางช่วยคนที่เขามีหน้าที่ส่งเสริมให้คนเขียน คนอ่านกันมากขึ้นได้

อ่านบันทึกคุณเมตตา ที่พยายามจะหาคำตอบว่า อบรมคนไปตั้งเป็นหลายร้อย มีคนเขียนบล็อกอยู่ไม่เท่าไหร่ แถมคนที่เขียนๆอยู่ก็ไม่ใช่คนกลุ่มที่ไปเข้าร่วมอบรมอีกต่างหาก ทำให้อยากเขียนบันทึกนี้ค่ะ

สำหรับตัวเองในฐานะคนถูกเชิญให้ไปอบรมคนอื่น ก็เริ่มวิเคราะห์หาสาเหตุเหมือนกันค่ะ จากสถิติที่พยายามเก็บ บอกได้ว่า มีหลายสาเหตุค่ะ ไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่ อย่างเช่น ธรรมดาก็ไม่ช่างเขียนอยู่แล้ว อ่านก็ไม่อยากอ่านเท่าไหร่ เขียนไปแล้วใครจะอ่าน ไม่มีเวลา ฯลฯ 

เราคงไม่มีทางแก้ปัญหานี้ได้ หากไม่คิดถึงธรรมชาติของวัฒนธรรมพื้นฐานที่เรามี เราเป็น แล้วไปคาดหวังมากเกินไป รู้สึกว่าเรารณรงค์กันมาแต่ไหนแต่ไรให้ คนไทยรักการอ่าน เรียกได้ว่าเป็นหลายสิบปี แต่ก็ไม่ได้มีคนรักการอ่านเพิ่มมากขึ้นสักเท่าไหร่ เพราะฉะนั้น เรื่องการเขียนก็คงไม่ต่างกัน อาจจะยิ่งยากกว่าหลายเท่านัก โดยเฉพาะให้เขียนอะไรที่ไม่มีแนวทางชัดเจน ไม่มีแรงจูงใจมากพอ

สรุปว่า ต้องใจเย็นๆสำหรับคนที่มีหน้าที่ชักชวน หาแรงจูงใจให้อ่านเสียก่อน หาลู่ทางที่เหมาะสมและง่ายๆให้เริ่มเขียน (พูดง่ายแต่ทำยากมาก..กกกกก) เปิดวงเล็กๆ ผู้บริหารต้องลงมือด้วยอย่างจริงใจและสม่ำเสมอ เป็นตัวอย่างให้เห็นว่า การเขียนคือสิ่งที่ควรทำ เขียนแล้วมีประโยชน์ อำนวยความสะดวกด้านอุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือ ด่านพวกนี้หากผ่านไม่ได้ ก็คงยากที่จะคาดหวังมากไปถึงขั้นที่จะให้คนอยากเขียนเองค่ะ

ถึงแม้จะยังไม่มีคำตอบ แต่ก็ยืนยันว่าจะไม่ท้อที่จะชักชวน ส่งเสริม ทำเป็นตัวอย่าง ประชาสัมพันธ์เท่าที่จะทำได้ และยังคงเชื่อมั่นว่า ของดี สิ่งที่ดี การปฏิบัติที่ดีจะมีช่องทางเพิ่มสมาชิกเสมอค่ะ เราต้องจับจังหวะ เวลาและโอกาสให้ดีๆและใจเย็นๆเท่านั้นเองค่ะ  

 

หมายเลขบันทึก: 54858เขียนเมื่อ 16 ตุลาคม 2006 22:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

 

เข้าใจค่ะพี่โอ๋ แล้วก็เหนื่อยใจเหมือนกัน

ขนาดที่วอร์ด อุตส่าห์ทำเวบไซต์ของวอร์ดไว้ให้ มีกระดานข่าว ที่คลิกเข้าไปพิมพ์อะไรง่ายๆ ใช้งานสะดวกๆ เพื่อที่จะได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และสื่อสารกัน แม้จะอยู่ไกลแค่ไหน ต่างจังหวัด ก็สามารถเข้ามาในเวบ เพื่ออ่านข่าวคราวเรื่องแจ้ง กันได้

บางทีก็อุตส่าห์หาอะไรดีๆโพสต์ให้อ่าน  บางทีก็ถึงขั้นขอร้อง..เข้าใจว่าอยู่บนวอร์ดอาจจะไม่มีเวลาเปิด  จึงขอว่าถ้าหากอยู่บ้าน ถ้ามีช่วงไหนที่เข้าเนต ก็ช่วยคลิกเข้ามาดูข่าวที่เวบของวอร์ดบ้าง

ยังได้คำตอบมาว่า "ต่อให้เข้าเนต แต่จะเข้าเวบไหน มาบังคับจิตใจกันไม่ได้หรอก "  เฮ่อ..กลายเป็นงั้นไป

ทีมงานก็เลยใช้วิธีหาอะไรน่าสนใจ ข่าวอัปเดทใหม่ๆมาโพสต์ แต่กลับได้รับคำพูดมาว่า

"ไม่อยากเข้าอ่านในเนต ถ้ามีข่าวอะไรสำคัญ ขอให้พิมพ์หรือพริ้นต์มาแปะไว้บนบอร์ดแจ้งข่าวในห้องกินข้าวดีกว่า "   เฮ่อ..นี่ถ้าเป็นอาหาร ก็ประมาณว่า ขอให้ตักใส่จานมาวางแล้วขอให้ป้อนให้ด้วยเลย

แล้วอย่างนี้ กับเรื่องให้มาเขียนบล็อก ..เห็นทีจะยากจริงๆค่ะ

บางที..เราคงต้องหาแรงจูงใจ อะไรมากกว่านี้เสียแล้วล่ะค่ะพี่   -___-'

 

คุณโอ๋คะ

  • เคยคิดอยู่หลายครั้งเหมือนกันว่า ...คนเราชอบอ่าน..(เพราะได้รู้ความคิดของผู้อื่น)...มากกว่าที่จะเขียน(เพื่อให้ให้ผู้อื่นมารู้ความคิดของเรา)...(ในกรณีที่ไม่ใช่นักวิชาการนะคะ)
  • ก็เหมือนตัวเอง เป็นคนที่ชอบเขียน(ให้ตัวเองอ่านมากกว่า)  จึงไม่ค่อยได้บันทึกอย่างเช่นท่านอื่น ๆ
  • ก็พยายามอยู่เหมือนกัน เหมือนตอนแรก ๆ ของเวบ G2K จะมีคนเข้ามาเขียนไม่มากเพราะเป็นเชิงวิชาการ
  • แต่เดี๋ยวนี้มีความหลากหลายเพิ่มขึ้น  ก็จะเห็นว่ามีผู้ที่เข้ามาเขียนเพิ่มมากขึ้น
  • แรก ๆ ก็ไม่ค่อยชิน ก็ปรับอยู่พักหนึ่งเหมือนกัน
  • มีความเห็นว่า ถ้าเราเริ่มเขียนจากอะไรที่ง่าย ๆ จะทำให้เรากล้าที่จะเขียนในสิ่งที่อยู่ข้างใน(ที่เราเก็บมันไว้) มากขึ้น
  • ต้องให้โอกาสและประชาสัมพันธ์มากหน่อย(ห้ามแกมบังคับนะคะ) เพราะคนเราไม่ชอบบังคับ  การที่จะทำสิ่งใดก็ตาม ถึงแม้จะมีความตั้งใจอยู่(ลึก ๆ )แต่ถ้าโดนอะไรที่กระตุ้นในทางลบ มันก็จะยิ่งเก็บไว้ (และต่อต้านอยู่ในใจค่ะ)

 

  • สถิติของคนไทยที่อ่านหนังสือต่อวันน้อยมากเลยค่ะ
  • การรักการอ่านและรักการเขียนของแต่ละคนมีไม่เท่ากัน  บางคนแม้จะหาสิ่งจูงใจยังไง ก็ยังไม่สำเร็จ 
  • บางที คนที่รักการอ่าน หรือรักการเขียนนั้นได้รับการฝึกฝนมาตั้งแต่ยังเด็กค่ะ

 

สิ่งที่ผมได้จากการเขียน

ช่วยจัดลำดับความคิดของเราเองให้เป็นระบบมากขึ้น  เขียนมากจะเข้าใจมาก   รู้สึกได้ถึงการเปลี่ยนแปลงในตัวเอง

เราเคยถูกสอนในโรงเรียน  ให้เราเชื่อคนที่เรียนสูงๆ  คนที่เป็นนักวิชาการ  เพราะเขาเหล่านั้นเป็นคนเขียนความรู้ขึ้นมา     ทำให้กดทับความกล้าที่จะแสดงความคิด  แม้แต่กับตัวเองก็ด้อยลงไป  เป็นการบดบังศักยภาพของตัวเองโดยไม่รู้ตัว   

คนจึงถนัดแต่การเขียนคัดลอกความรู้   มากกว่าที่จะเขียนความรู้ที่ดิ้นได้    เพราะเราไม่ค่อยได้ถูกฝึกทักษะเหล่านี้กันเท่าใดนัก   ในตอนที่ร่ำเรียนมา  แต่การฝึกตอนนี้ก็ไม่ได้สายเลยที่จะเรียนรู้กับมัน 

ไม่เขียน  ไม่มีวันเข้าใจมันจริงๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท