ความยากในการรักษาดุลยภาพระหว่าง “การเป็นหมอรักษาโรค กับการเป็นหมอรักษาคน”


ความยากในการรักษาดุลยภาพระหว่าง “การเป็นหมอรักษาโรค กับการเป็นหมอรักษาคน”

 

การเป็นหมอรักษาโรค นั้นหมายถึง หมอที่รักษาโรคที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ให้หาย ส่วนการเป็นหมอรักษาคน นั้นหมายถึง หมอที่รักษาคนให้หายจากโรคที่เขาเป็นอยู่  แล้วมันต่างยังไงกันครับ

 

การรักษาโรค หมอจะมุ่งเน้นไปที่ตัวโรคโดยตรง คิดหาทุกวิธีที่จะสู้กับโรคร้ายแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งมิได้มองไปที่มิติอื่นของคนที่ป่วยอยู่ว่ายังมีอยู่อีกมากมาย เช่น อารมณ์ ความรู้สึก ความเชื่อ วัฒนธรรม ศาสนา ประเพณี การศึกษา เศรษฐานะ สังคม ครอบครัว ... ฯลฯ ซึ่งมิติดังกล่าวนี้มีความแตกต่างกันไปในแต่ละปัจเจกชน อีกทั้งเป็นเหตุเป็นผลและเงื่อนไขของการรักษาโรคนั้นๆด้วย

 

แต่ถ้าเป็นการรักษาคนแล้ว หมอจะต้องคำนึงถึงมิติอื่นของผู้ป่วยด้วย มองผู้ป่วยเป็นองค์รวมที่มี ร่างกาย จิตอารมณ์ จิตวิญญาน รวมทั้งสังคมที่แวดล้อมเขาด้วย

 

พูดถึงตอนนี้ดูเหมือนว่าการรักษาคนนั้นเป็นคำตอบที่ถูกต้องที่สุด แต่ในชีวิตความเป็นจริงของแพทย์แล้ว มันมีความยากมากกว่านั้น ลองมาดูเคสตัวอย่างง่ายๆของนักเรียนแพทย์ลูกสาวที่เพิ่งเล่าให้ผมฟังดูซิครับ แล้วจะเห็นภาพและเข้าใจมันง่ายขึ้น

 

เช้าวันหนึ่งณห้องตรวจผู้ป่วยนอกระบบทางเดินอาหารของรพ. St’s Vincent นักเรียนแพทย์ลูกสาวได้ออกตรวจคนไข้ร่วมกับอาจารย์แพทย์  และก็ได้รับมอบหมายให้ซักประวัติตรวจร่ายกายผู้ป่วยโรคกระเพาะอักเสบรายหนึ่ง เมื่อเสร็จแล้วก็ต้องนำเสนอต่ออาจารย์ 

 

ก่อนตรวจคนไข้ อาจารย์ได้แนะนำนักเรียนแพทย์ลูกสาวแก่คนไข้ว่า นี่คือ “หมอน้อย Junior doctor” แทนที่จะใช้คำว่า “นักเรียนแพทย์ Medical student” ทำให้เกิดความรู้สึกที่ดีทั้งคนไข้และหมอน้อยด้วย 

 

การที่ได้รับเกียรติแนะนำว่าเป็นแพทย์ รวมทั้งให้โอกาสได้ตรวจและบันทึกประวัติคนไข้ด้วยตัวเอง ทำให้นักเรียนแพทย์ลูกสาวตั้งใจอย่างมาก  ตั้งใจที่จะซักประวัติข้อมูลของคนไข้ที่เป็นประโยชน์มากที่สุด  ตั้งใจคิดที่จะพูดอธิบายอย่างเข้าใจง่ายและดีที่สุด แก่คนไข้ ตลอดจนบันทึกข้อมูลอย่างละเอียดเพื่อให้อาจารย์ได้ทราบอย่างครบถ้วน

 

แต่ในขณะที่ทำกิจต่างๆเหล่านั้น พลันก็รู้สึกได้ว่าตัวเองมองหน้าและสบตาคนไข้น้อยลง หลายครั้งที่คนไข้ดูเหมือนยังพูดไม่จบ แต่ก็พูดแทรกถามข้อมูลที่จำเป็นขึ้นมาก่อน รู้สึกว่าฟังน้อยลง เพราะมัวแต่คิดว่าจะถามข้อมูลอะไรเพิ่ม และก็จดบันทึกสิ่งที่ตัวเองต้องการ เร่งรีบมากจนมิได้ถามเรื่องราวบางส่วนของชีวิตเขา ซึ่งอาจจะนำมาซึ่งสาเหตุของการเป็นโรคในครั้งนี้ และน้ำเสียงก็ดูเหมือนจะเป็นการซักไซ้ มากกว่าที่จะเป็นการพูดคุยกัน

 

นักเรียนแพทย์ลูกสาวเริ่มรู้สึกตัวว่ากำลังเข้าสู่ “โหมดของการรักษาโรค มากกว่าการรักษาคน”  ทำให้ต้องรีบรักษาสมดุลระหว่างโหมดทั้งสองนี้ ซึ่งเป็นการยากมากจริงๆสำหรับนักเรียนแพทย์มือใหม่อย่างเขา

 

เมื่อผมฟังจบ ก็ได้บอกกับลูกสาวไปว่า มันเป็นเรื่องของ “สติ”  คือเราต้องระลึกเสมอว่ากำลังทำอะไรอยู่ เห็นได้ชัดๆเลยว่าทั้งที่รู้ว่าอะไรถูกอะไรควร แต่เมื่อยามใดขาดสติแล้ว สิ่งดีๆที่เคยรู้มาทั้งหมดนั้นก็แทบใช้งานไม่ได้เลย นี่ไงที่เขาเรียกว่า “สติมา ปัญญาเกิด” ความรู้ใครๆก็มี แต่ปัญญาไม่ได้มีกันทุกคน

 

เพื่อนๆครับ การเตือนตนเองเสมอๆด้วย “สติ” ของเรา สามารถช่วยให้เราทำสิ่งที่ถูกที่ควรได้ ดังนั้นขอให้เราหมั่นระลึกรู้ตัวอยู่เสมอนะครับว่า เรากำลังทำอะไรอยู่ และเมื่อนั้นแหละตัวปัญญาจะขึ้นมาช่วยเราให้ดำเนินการกระทำต่อไปได้อย่างถูกต้อง

 

“อาตาปี สัมปชาโน สติมา” ขอให้โชคดีทุกท่านนะครับ 

 

หมายเลขบันทึก: 548520เขียนเมื่อ 17 กันยายน 2013 11:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 กันยายน 2013 11:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

 

       การเตือนตนเองเสมอๆด้วย “สติ” ของเรา สามารถช่วยให้เรา...ทำสิ่งที่ถูกที่ควรได้ 

 

ขอบคุณบันทึกดีดีนี้ค่ะ

บางครั้งการเป็นหมอรักษาคนมีคุณค่า ทางจิตใจมากกว่ารักษาโรค

โรคหายโดยพลันเมื่อเจอหมอที่พูด ถูกใจ น่ารัก

คุณหมอทำให้คิดถึงบรรยากาศการทำงานของพวกเราในห้องแล็บด้วยค่ะ เวลางานมากๆเราก็จะเผลอลืมตัวไปว่าหลอดเลือดแต่ละหลอดเป็นของคนไข้ มันจะกลายเป็นหลอดเลือดที่ต้องตรวจให้เสร็จภายในเวลาอันรวดเร็ว รีบๆทำหรือทำไปเรื่อยๆ ถ้าเรามีสติทำ เราก็จะทำกับหลอดเลือดทุกหลอดเหมือนเป็นของญาตืพี่น้องของเราเองค่ะ 

คิดถึงคุณหมอน้อยคนนี้ต้องเป็นคุณหมอที่ละเอียดอ่อนมากเลยนะคะ ช่างเล่าช่างคิดดีจริงๆ

ขอบคุณค่ะ สตินี้มีคุณจริง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท