สถานการณ์ที่ 8 : ความช่วยเหลือของบุคลากรด้านสาธารณสุขในพื้นที่สีนามิในการขจัดปัญหาสถานะและสิทธิ


มีความช่วยเหลืออย่างดีจากบุคลากรด้านสาธารณสุขหลายคนในพื้นที่สึนามิ ในการออกเอกสารรับรองเด็กที่เกิดในสถานพยาบาล หรือช่วยในการพิสูจน์สถานะ เพื่อการเข้าถึงสิทธิมนุษยชนพื้นฐานด้านต่างๆ ของเด็ก เยาวชน และครอบครัว

                จากการติดตามให้ความช่วยเหลือกรณีศึกษาในงานวิจัยครั้งนี้ พบว่าบุคลากรด้านสาธารณสุขในส่วนต่างๆ หลายท่านให้ความสนใจและเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยให้เด็ก เยาวชน และครอบครัว สามารถเข้าสู่สิทธิในการมีเอกสารพิสูจน์ตนหรือเอกสารรับรองการเกิด รวมทั้งสิทธิในสถานะบุคคลได้  อาทิ กรณีเด็กชายสมชาย หรือบิ๊ก (กรณีศึกษาที่ ๔) ซึ่งแม้เป็นบุตรแรงงานต่างด้าวซึ่งยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนแรงงานในขณะที่เด็กเกิด ทำให้มีปัญหาในเรื่องชื่อของบิดามารดาที่ปรากฏในทะเบียนหนังสือรับรองการเกิดที่โรงพยาบาล อีกทั้งยังไม่ปรากฏชื่อเด็กในเอกสารด้วย แต่ด้วยความเข้าใจถึงความสำคัญของการมีเอกสารรับรองการเกิดของเด็ก ทำให้คุณพรรณี  นุ้ยสินธุ์เจ้าหน้าที่ประจำโรงพยาบาลตะกั่วป่า พยายามช่วยสืบค้นทะเบียนเก่าของทางโรงพยาบาล และดำเนินการจนกระทั่งออกหนังสือรับรองการเกิดย้อนหลัง รวมทั้งทำหนังสือส่งตัวจากโรงพยาบาลถึงนายอำเภอตะกั่วป่าเพื่อให้รับแจ้งการเกิดและออกสูติบัตรให้เด็ก

                นอกจากนี้ คณะนักวิจัยยังได้มีโอกาสรับทราบปัญหาของเด็กหญิงเบล (กรณีศึกษาที่ ๑) จากคุณเสาวดี สังข์ทอง เจ้าหน้าที่สาธารณสุขอำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา ซึ่งนอกจากพยายามประสานความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม กรณีเด็กกำพร้าจากเหตุการณ์คลื่นสึนามิแล้ว ยังช่วยติดตามดำเนินเรื่องการแจ้งเกิดที่อำเภอท้ายเหมืองให้เด็กหญิงเบล รวมทั้งยินดีที่จะเป็นพยานบุคคลเพื่อยืนยันความเป็นลูกคนสัญชาติไทยต่อปลัดอำเภอด้วย

                ไม่เพียงเท่านี้ คณะนักวิจัยยังได้พบกับนางสีดา หมันการ และนางแลฮ่า กรีชัย ผดุงครรภ์โบราณที่ผ่านการอบรมแล้ว ที่ทำคลอดเด็กที่คลอดในบ้าน และมีชื่อเป็นผู้ทำคลอดในหนังสือรับรองการเกิด (ท.ร.๑/๑) ให้เด็กในจังหวัดระนองจำนวนมาก ซึ่งได้แสดงความเป็นห่วงเด็กอีกจำนวนไม่น้อยที่ได้ทำคลอดให้ด้วยตนเอง แต่ไม่มีโอกาสได้รับเอกสารรับรองการเกิด

 

สถานการณ์อันมีผลกระทบต่อเด็ก เยาวชน และครอบครัว

                จากพื้นฐานทัศนคติที่ดีต่อเด็ก และเยาวชน ของเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุข อันมีส่วนสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาสถานะและสิทธิได้ โดยเฉพาะในการออกเอกสารรับรองการเกิดแก่เด็กทั้งที่เกิดในและนอกสถานพยาบาล ดังนั้น หากได้รับการส่งเสริมให้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการรับผิดชอบดำเนินการเรื่องนี้โดยตรง หรือร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบแล้ว น่าจะช่วยให้สถานการณ์ปัญหาสถานะและสิทธิของเด็ก เยาวชน และครอบครัว ลดน้อยลงได้อย่างมาก

 
หมายเลขบันทึก: 54823เขียนเมื่อ 16 ตุลาคม 2006 17:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤษภาคม 2012 17:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท