กลวิธีการโน้มน้าวใจ


กลวิธีการโน้มน้าวใจ


ความหมายของการโน้มน้าวใจ

คือ การใช้ความพยายามที่จะเปลี่ยนความเชื่อ ทัศนคติ ค่านิยม และการกระทำของบุคคลอื่นด้วยกลวิธีที่เหมาะสม  ให้มีผลกระทบใจบุคคลนั้นจนเกิดการยอมรับและยอมเปลี่ยนตามที่ผู้โน้มน้าวใจต้องการ

กลวิธีการโน้มน้าวใจ

1.  การแสดงให้เห็นถึงความน่าเชื่อถือของบุคคลผู้โน้มน้าวใจ  ต้องประกอบด้วยคุณลักษณะที่สำคัญ คือ มีความรู้จริง มีคุณธรรมและมีความปรารถนาดีต่อผู้อื่น

2.  การแสดงให้เห็นความหนักแน่นของเหตุผล  ผู้โน้มน้าวจะต้องแสดงให้ประจักษ์ว่าเรื่องที่ตนกำลังโน้มน้าวมีเหตุผลหนักแน่น  และมีค่าควรแก่การยอมรับอย่างแท้จริง

3.  การแสดงให้ประจักษ์ถึงความรู้สึกหรืออารมณ์ร่วมกัน  ย่อมทำให้เกิดความคล้อยตามกันได้ง่ายกว่าบุคคลที่มีความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน

4.  การแสดงให้เห็นทางเลือกทั้งด้านดีและด้านเสีย  เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ที่ตนโน้มน้าวใจได้ใช้วิจารณญาณของตนเองเปรียบเทียบจนเห็นประจักษ์ว่าทางที่ชี้แนะนั้นมีด้านดีมากกว่าด่านเสีย  ดังนั้นการโน้มน้าวใจก็สัมฤทธิผล

5.  การเร้าให้เกิดอารมณ์อย่างแรงกล้า  ไม่ว่าจะเป็นความดีใจ เสียใจ โกรธแค้น กังวล หวาดกลัว ฯลฯ จะทำให้มนุษย์ขาดเหตุผล  ขาดการพิจารณาอย่างรอบคอบ  ยอมคล้อยตามผู้โน้มน้าวใจได้ง่าย

6.  การสร้างความหรรษาแก่ผู้รับสาร  การโน้มน้าวใจเพื่อให้เกิดความหรรษา ผู้โน้มน้าวใจอาจใช้วิธีการพูดทีเล่นทีจริงบ้าง เพื่อผ่อนคลายบรรยากาศที่ตึงเครียด  ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับโอกาส สถานที่ และอัธยาศัยของบุคคลประกอบกันจึงจะทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์

ตัวอย่างการพูดโน้มน้าวใจที่สัมฤทธิผล

มหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์กุมาร  ตอนที่ชูชกจะเข้าไปขอสองกุมารจากพระเวสสันดร  ชูชกใช้กลวิธีพูดโน้าน้าวใจดังนี้

" ...เมื่อจะทูลขอสองดรุณราชกุมาร  เฒ่าก็พูดหว่านล้อมด้วยคำยอ  ชักเอาแม่น้ำทั้งห้าเข้ามาล่อ  อุปมาถวายเสียก่อน  แล้วจึ่งหวนย้อนขอต่อเมื่อภายหลังว่าพระพุทธเจ้าข้า  อันว่าแม่น้ำทั้งห้าห้วงกระแสสายชลชลาไหลมาจากห้วงคงคาเป็นห้าแถว  นองไปด้วยน้ำแนวเต็มติรติรานามชื่อว่า คงคา ยมุนา อจีรวดี สรภูนที มหิมหาสาคเรศ จึ่งแตกเป็นกุนนทีน้อยๆ ประมาณห้าร้อยโดยสังขยา  ไหลหลั่งถั่งมา ล้นลบกระทบกระทั่งฟากฝั่งฟุ้งเป็นฝอยฝน  บ้างก็เป็นวังวนวุ้งชะวากเวิ้ง  บ้างก็เป็นกระพักกระเพิงกระพังพุ  บ้างก็เป็นดะดุดะดันดั้นกระเด็นดาษดั่งดวงแก้ว  ตามทางแถวแนวท่อธาร  ไหลสะๆ ซ่านสะเซาะโซม  เสียงระๆ ระโรมโครมครื้นครั่น  พิลึกลั่นบันลือหือฤๅหรรษ์  บ่าไปสู่บ่อบึงบางน้อยใหญ่นับอเนกอนันต์  เป็นคลื่นมหันต์มไหไหลฟุ้งซ่านสุดที่จะพรรณนา  ย่อมเป็นที่อาศัยทั่วไปแก่ฝูงปลานานาสรรพสัตว์ในภูมิพื้นจังหวัดมงคลทวีป  ฝูงชนได้เลี้ยงชีพก็ชุ่มชื่น  ถึงจะวิดวักตักตวงทุกค่ำคืนทิวาวัน  ถึงจะทดท่อระหัดหันเข้าทุ่งนาป่าและดง  น้ำในสาครจะน้อยลงก็หามิได้  เสมือนหนึ่งน้ำพระทัยทูลกระหม่อมแก้ว อันยาจกมาถึงแล้วไม่เลือกหน้า  ตามแต่จะปรารถนาทุกยวดยาน  กาญจนอลงกตรถรัตนอัศวสรรพสารพัดพิพิธโภไคย  จนกระทั่งถึงภายในปัญจมหาบริจาค  อันเป็นยอดยากยิ่งทานไม่ท้อถอย  ด้วยพระองค์หมายมั่นพระสร้อยสรรเพชญญาณ พระคุณเจ้าเอ่ย ข้าพระสมภารนี่เป็นคนจนทุพพลภาพสุดเข็ญ จะหาเช้าได้กินเย็นก็ทั้งยาก  ครั้งนี้อุตส่าห์บ่ายบากบุกป่าฝ่าพงพนัสแสนกันดาร  หวังจะรับพระราชทานพระชาลีกัณหาไปเป็นทาสาทาสทาสี  ขอพระองค์จงทรงยกยอดปิยบุตรทานบารมีให้แก่ข้าธชีนี้เถิด...

ชูชกใช้กลวิธีโน้มน้าวใจตามข้อที่ 6 คือพยายามพูดสรรเสริญเยินยอให้พระเวสสันดรปลาบปลื้มใจแล้วจึงขอบริจาคสองกุมารจากพระเวสสันดร

สามก๊ก ตอนเตียวเลี้ยวอาสาไปเกลี้ยกล่อมกวนอูให้ยอมไปอยู่กับโจโฉ

     เตียวเลี้ยวได้ฟังดังนั้นก็หัวเราะแล้วตอบว่า  ซึ่งท่านว่าทั้งนี้โทษมีอยู่กับตัวท่านถึงสามประการ  คนทั้งปวงจะล่วงครหานินทาท่านได้  กวนอูจึงว่า ตัวเราถือความสัตย์มั่นคงอยู่ว่า ถึงตัวจะตายก็มิได้เข้ากับผู้ใด  ซึ่งท่านว่ามีโทษสามประการนั้นด้วยเหตุสิ่งใดบ้าง  เตียวเลี้ยวจึงว่า  เดิมท่านกับเล่าปี่ เตียวหุยได้สาบานไว้ต่อกันว่า เป็นพี่น้องร่วมสุขแลทุกข์เป็นชีวิตอันเดียวกัน  ถ้าผู้ใดตายก็จะตายด้วย  ครั้งนี้เล่าปีี่่กับเตียวหุยแตกไป ท่านก็ไม่รู้ว่าเป็นหรือตาย แลบัดนี้ทหารก็น้อยนัก ซึ่งจะยกลงไปรบนั้น ถ้าท่านเป็นอันตรายถึงสิ้นชีวิต ฝ่ายเล่าปี่ เตียวหุยยีงมีชีวิตอยู่จะเที่ยวตามหาท่าน  หวังจะช่วยกันคิดการต่อไป เมื่อท่านตายเสียแล้ว เล่าปี่ เตียวหุยก็จะตายด้วย ซึ่งท่านสาบานไว้ต่อหน้ากันก็จะมิเสียความสัตย์ไปหรือ คนทั้งปวงก็จะล่วงนินทาว่าความคิดท่านน้อย

     ประการหนึ่ง  เล่าปี่ก็มอบครอบครัวไว้ให้ท่านรักษา  ถ้าท่านตายเสียภรรยาเล่าปี่ทั้งสองนั้นจะพึ่งผู้ใดเล่า  อันตรายก็จะมีต่างๆ การซึ่งเล่าปี่ปลงใจไว้แก่ท่านนั้นก็จะไม่เสียไปหรือ ข้าพเจ้าเห็นไม่ชอบเป็นสองประการ

    อีกประการหนึ่งนั้น ท่านก็มีฝีมือกล้าหาญ แล้วแจ้งใจในขนบธรรมเนีนมโบราณมาเป็นอันมาก  เหตุใดท่านจึงไม่รักษาชีวิตไว้คอยท่าเล่าปี่ จะได้ช่วยกันคิดการทำนุบำรุงแผ่นดินให้อยู่เย็นเป็นสุข  ถึงมาตรว่าท่านจะได้ความลำบากก็อุปมาเหมือนหนึ่งลุยเพลิงอันลุกแลข้ามพระมหาสมุทรอันกว้างใหญ่  ก็จะลือชาปรากฏชื่อเสียงท่านไปภายหน้า  ว่าเป็นชาติทหารมีใจสัตย์ซื่อกตัญญูต่อแผ่นดิน  ซึ่งท่านจะมานะลงไปรบพุ่งกับโจโฉ  ถ้าชีวิตท่านตายเสียครั้งนี้ก็จะไม่มีชื่อปรากฏไป  ข้าพเจ้าเห็นโทษสามประการฉะนี้  ข้าพเจ้าจึงว่า...

เตียวเลี้ยวใช้กลวิธีโน้มน้าวใจตามข้อที่ 4 แสดงให้กวนอูเห็นทั้งข้อดีและข้อเสีย  แล้วให้กวนอูใช้วิจารณญาณตัดสินใจด้วยตนเอง

ได้เวลาทดสอบ

1.                สยามเป็นบ้านเกิด                      เมืองนอน

         ดุจบิดามารดร                                    เปรียบได้

         ยามสุขสโมสร                                   ทุกเมื่อ

         ยามศึกทุกข์ยากไร้                              ปลาตเร้นฤๅควร

ข้อความข้างต้นนี้ผู้เขียนใช้กลวิธีใดในการโน้มน้าวงใจ

        ก.  การเร้าให้เกิดอารมณ์อย่างแรงกล้า

        ข.  การแสดงให้เห็นทั้งทางเลือกทั้งด้านดีและด้านเสีย

        ค.  การแสดงให้ประจักษ์ตามกระบวนการของเหตุผล

        ง.  การแสดงให้ประจักษ์ถึงความน่าเชื่อถือของบุคคลผู้โน้มน้าวใจ

เฉลย  คำตอบที่ถูก คือ ข้อ ค. แสดงให้ประจักษ์ตามกระบวนการของเหตุผล  กล่าวถึงประเทศไทยเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของพวกเรา  เราอยู่กันอย่างมีความสุข  เมื่อถึงคราวศึกสงครามเราได้รับความยากลำบากก็ต้องช่วยเหลือกัน  ไม่ควรจะหลีกหนีไป


หมายเลขบันทึก: 547847เขียนเมื่อ 10 กันยายน 2013 11:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 ตุลาคม 2013 12:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท