ลำดับเหตุการณ์ตามหาข้อเท็จจริงชาวซาไกเผ่ามานิ ; ครอบครัวนายไข่ [ส่วนของข้อเท็จจริง]


ลำดับเหตุการณ์ตามหาข้อเท็จจริงชาวซาไกเผ่ามานิ

ลำดับเหตุการณ์ตามหาข้อเท็จจริงชาวซาไกเผ่ามานิ

------------------------------------------------------------

ลำดับเหตุการณ์ตามหาข้อเท็จจริงชาวซาไกเผ่ามานิ ; ครอบครัวนายไข่

โดย ทนายไร้ตั๋ว คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ

 

-------------------------------------------------------------------------------

ข้อเท็จจริงและบทสัมภาษณ์จากการลงพื้นที่ภาคสนาม 2 ทับของชนเผ่ามานิ

-------------------------------------------------------------------------------------

วันที่ 5 กันยายน 2556 เวลาประมาณ 12.03 นาฬิกาทีมงานทนายไร้ตั๋วลงสัมภาษณ์ ณ [1]ทับมานิ บ้านทุ่งไหม้ ต.น้ำผุด อ.ละงู จ.สตูล ปรากฏข้อเท็จจริงว่าไม่พบร่องรอยของกลุ่มมานิอาศัย อยู่ แต่อย่างไรก็ดีจากการลงสำรวจพื้นที่ภาคสนามบริเวณดังกล่าวพบบริเวณที่ตั้งของที่อยู่ของมานิตั้งรกรากบริเวณเบื้องหน้าเป็นสวนยางพาราและบริเวณเบื้องหลังเป็นป่าทึบ(ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นบริเวณพื้นที่ของชาวบ้าน) ซึ่งการลงพื้นที่สำรวจและสัมภาษณ์ภาคสนามเก็บข้อมูลได้มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ชื่อ คุณเจิน จันทะโร หัวหน้าสาธารณสุข บ้านทุ่งไหม้ ได้ให้ความเห็นในบริบทของกลุ่มมานิไว้ดังนี้

ประการแรก ซาไกเผ่ามานิ ไม่สนใจในเรื่องการศึกษา สนใจเพียงแค่เรื่องการมีที่กิน ที่อยู่ไปวันๆ พวกเขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าการเรียนหนังสือคืออะไร จากการลงสำรวจพื้นที่ทับแรก มีชาวซาไกอาศัยอยู่ประมาณ 29 คน มีเพียง 2-3 คนเท่านั้นที่เรียนหนังสือและได้แสดงภาพยนตร์เรื่องซาไกยูไนเต็ด แต่ได้เรียนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่3 เท่านั้น หรือมองในอีกมุมหนึ่งที่เขาไม่ศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น อาจมีปัญหาในเรื่องของการจากบ้านไปเรียนในที่ไกลๆ ซึ่งโดยปกติของซาไก่เผ่ามานิแล้ว จะย้ายที่อยู่ไปเรื่อย ส่งผลให้ยากลำบากต่อการเรียน

เราควรทำให้คุณภาพชีวิตของเขาดีขึ้นพร้อมที่จะเรียนด้วย ไม่ใช่เพียงแค่ซาไกเผ่ามานิได้เรียนหนังสือ แต่ก็ยังคงเร่ร่อนเหมือนเดิม อาทิเช่น จัดให้มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง

ประการที่สอง ซาไก่เผ่ามานิมีปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน หากมีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่งก็จะสามารถช่วยแก้ปัญหาได้ในหลายด้าน เห็นควรว่ารัฐจะต้องมาจัดสรรพื้นที่ส่วนหนึ่งให้คนกลุ่มนี้สามารถใช้ประโยชน์ได้ รวมทั้งฝึกฝนอาชีพ แต่ไม่จำต้องถึงขั้นช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ในรูปแบบการท่องเที่ยวมากนักเพราะเขาไม่คุ้นชินกับสิ่งนี้ เพียงแค่ให้เขาใช้ชีวิตแบบเดิมเหมือนอย่างที่เคยปฏิบัติมา แต่มาพัฒนาสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้น โดยไม่จำต้องให้วิถีชีวิตเปลี่ยนไปเหมือนคนเมือง ให้รักษาไว้ซึ่งเอกลักษณ์ชนเผ่าตนเองแต่ก็ต้องพร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลงไปด้วย[2]

 

ในเชิงข้อมูลเรื่องความสำคัญของการได้มาของบัตรประชาชนของซาไก่เผ่ามานิ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข คุณเจินได้ให้ความเห็นว่า

ซาไกเผ่ามานินั้นซึมซับวิถีชีวิตคนเมืองได้ แต่ซึมซับความเป็นกฎหมายไทยไม่ได้ อาทิเช่นการออกบัตรประชาชนให้เขาเปรียบเสมือนดาบสองคม เมื่อคนเหล่านี้มีบัตรประชาชนเขาต้องอยู่ภายใต้กฎหมายไทย คือ 1. ต้องได้รับการศึกษา 2. หน้าที่ในการเกณฑ์ทหาร 3. ซาไกเผ่ามานิมีการสืบทอดเผ่าพันธุ์กันองในสายเครือญาติสนิท สามารถนำญาติพี่น้องหรือบุตรของตนมาเป็นภรรยา ซึ่งผิดต่อผิดต่อกฎหมาย ลักษณะครอบครัวไทย แต่ ณ ตอนนี้พวกเขามีวิถีชีวิตที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ หากเรานำความเป็นคนไทยให้เขามากเกินไป เขาก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายไทย ซึ่งประเด็นนี้เห็นว่าการออกบัตรประชาชนให้เขาได้เป็นคนไทยอย่างสมบูรณ์นั้น หากมองโดยสภาพไม่ใช่เรื่องง่ายเลยทีเดียว ไม่เพียงแต่ได้มาซึ่งสิทธิ มองในอีกแง่มุมหนึ่งหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติก็ต้องถือตามกฎหมายไทยด้วย อาทิเช่น หน้าที่ในการเลือกตั้ง เขาจะต้องมีที่อยู่เป็นหลักแหล่งเพื่อให้สามารถออกสิทธิได้ตามบ้านเลขที่ ในส่วนตรงนี้คนซาไกเผ่ามานิสามารถรับได้หรือไม่กับการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่นี้ เราจึงต้องดูบริบทของสังคมไทยในพื้นที่อื่นมาเปรียบเทียบ เช่นหากซาไกในพื้นที่อื่นมีบัตรประชาชนแล้วพบเจอปัญหา ในอีกหลายพื้นที่อื่นก็อาจพบเจอปัญหาเช่นกัน

          ข้อคิดเห็นเพิ่มเติม อาจเปลี่ยนวิธีในการใช้บัตรประชาชนเพื่อแสดงตนในฐานะความเป็นคนไทยมาเป็นการออกบัตรอื่นที่แสดงว่าเขาเกิดในประเทศไทย เพื่อเป็นการอุดช่องว่างในส่วนนี้ เพื่อให้สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ อาทิเช่น การรักษาพยาบาล

 

วันที่ 5 กันยายน 2556 เวลาประมาณ 13.30 นาฬิกาณ ทับที่ 2อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล เมื่อทีมงานและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขลงพื้นที่ดังกล่าว พบเพียงแค่เด็กเล็ก 4 คน ชื่อ บิว เบลล์ เสี๊ยบ แสตมป์ และเด็กวัยรุ่นอีก 2 คน ชื่อ สบู่ และ ส๊ะ โดยคาดว่าซาไกคนอื่นอาจรับรู้ได้โดยสัญชาติญาณว่ามีคนกำลังบุกรุกเข้ามายังถิ่นของเขา จึงพากันหนีหมดเหลือไว้เพียงเด็กเล็กซึ่งอาจยากแก่การพาหนีไปด้วย

            จากการที่ทีมงานได้สอบถามมีเพียง นายสบู่เท่านั้นที่ยอมพูดคุยกับทีมงาน ส่วนเด็กคนอื่นยังมีความเขินอายหรือกลัวทีมงานอยู่

            แยกประเด็นการลงพื้นที่ภาคสนามทับที่ 2 ดังนี้

ประเด็นแรก : ความต้องการในการศึกษา

            ทีมงานนำได้ถามถึงความต้องการในการศึกษาว่ามีความต้องการหรือไม่ โดยนายสบู่พูดเพียงว่าเรียนที่พัทลุง และไม่ได้พูดอะไรต่อ

            ทีมงานได้นำบัตรประชาชนให้ดูเป็นตัวอย่าง และถามถึงความต้องการของบัตรประชาชน รวมถึงสิทธิในการได้รับการรักษาพยาบาล สบู่ และ ส๊ะเพียงแค่พยักหน้าเท่านั้น หรือนี่อาจเป็นเพียงแค่ความไม่เข้าใจในคำถามของทีมงานจากการสอบถามในครั้งนี้ เมื่อทีมงานถามอะไรไปก็จะไม่ได้รับคำตอบหรือเพียงแค่พยักหน้าหรือตอบคำถามสั้นๆเท่านั้น

ประเด็นที่สอง : มีคนซาไกเผ่ามานิในทับนี้ประมาณเท่าไร

            ทีมงานได้ถามต่ออีกว่ามีญาติพี่น้องทั้งหมดกี่คน สบู่ และ ส๊ะ เงียบไม่ได้ตอบคำถามทีมงานแต่อย่างใด หรือตอบเพียงคำสั้นๆบางครั้งเท่านั้น มีเพียงเจ้าหน้าที่สาธารณสุขตอบแทนว่ามีพี่สาวและครอบครัวข้างเคียง ประมาณ 3-4 ครอบครัวอยู่ในพื้นที่เดียวกัน[3]

 

วันที่ 5 กันยายน 2556 เวลาประมาณ 15.20 นาฬิกา ทีมงานทนายไร้ตั๋วบางกลุ่มได้เดินทางไปที่ว่าการอำเภอ สัมภาษณ์เพิ่มเติมกรณีชาวมอร์แกนเพื่อใช้เป็นกรณีศึกษาเพิ่มเติม ข้อเท็จจริงจากการสัมภาษณ์ นายปิติพัฒน์  นวลเปียน ปลัดอำเภอละงู, นายธานี  สิงหโรทัย ผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบันของ หมู่ที่ 3 ปากน้ำ (หมู่บ้านชาวเล), และสัสดีอำเภอละงู จังหวัดสตูล

อำเภอละงู จังหวัดสตูล มีหมู่เกาะประมาณ 3 หมู่เกาะ ได้แก่ หมู่เกาะบุโหลน หมู่เกาะสุไหงงูโซ๊ะ และหมู่เกาะหลีเป๊ะ โดยมีลักษณะเป็นเกาะเล็ก ๆ มียอดประชากรชาวเลซึ่งอาศัยอยู่บริเวณนั้น 2 หมู่เกาะ ประมาณ 500 กว่าคน การเดินทางจะต้องเดินทางโดยเรือเท่านั้น ยกเว้นหมู่เกาะสุไหงงูซ๊ะที่เพิ่งมีสะพานใช้เมื่อไม่นานมานี้

นายธานี  สิงหโรทัย ผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบันของหมู่บ้านชาวเลเล่าว่า เดิมทีนั้น เมื่อครั้งอดีตได้มีชาวเล 2 ครอบครัว อพยพย้านถิ่นฐานจากหมู่เกาะอินโด ประเทศอินโดนีเซีย เข้ามาอาศัยอยู่บริเวณหมู่เกาะบุโหลน จากนั้นก็มีลูกหลานตามมาอยู่ด้วย ต่อมามีครอบครัวหนึ่งในสองครอบครัวดังกล่าวนั้นได้ย้ายไปอยู่บริเวณหมู่เกาะหลีเป๊ะด้วย ภายหลังเมื่อทางราชการทราบว่ามีชาวบ้านอาศัยอยู่จำนวนหนึ่งก็ได้เข้าไปตรวจสอบ มีการกำหนดเขตเป็น หมู่ที่ 3 ชื่อ หมู่บ้านปากน้ำ และมีการแต่งตั้งผู้ใหญ่บ้านคนแรก คือ นายดาเมะ ดะโต๊ะ ศรีสวัง ส่วนนายธานีนั้น เพิ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านได้ 2 ปี โดยก่อนหน้านี้เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านอยู่ และเป็นผู้ใหญ่บ้านคนที่ 7 ของหมู่บ้านชาวเล

ประการแรก:ปัญหาเรื่องบัตรประชาชน/สถานะบุคคลทางทะเบียนราษฎร์

          นายปิติพัฒน์  นวลเปียน ปลัดอำเภอละงู กล่าวว่า ขณะนี้ชาวเลกลุ่มนี้มีสถานะบุคคลได้รับการรับรองว่ามีชื่อในทะเบียนราษฎร์ มีบัตรประชาชนเรียบร้อยหมดแล้ว เหลือเพียงแค่ 1 คนเท่านั้นซึ่งกำลังอยู่ในระบบขั้นตอนการดำเนินการ จึงไม่มีปัญหาเรื่องนี้แล้ว

ประเด็นการได้มาซึ่งบัตรประชาชนและการพิสูจน์ตัวตนนั้น เนื่องจากชาวเล/มอร์แกนมีถิ่นที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่งและชัดเจน มีวิถีชีวิตความเป็นอยู่เหมือนคนไทยทั่วไป โดยประกอบอาชีพประมง ออกหาปลา การขึ้นทะเบียนนั้นกระทำโดยเพิ่มชื่อและแจ้งเกิดแบบปกติทั่วไป แต่ในกรณีที่ไม่มีเอกสารหลักฐานรับรองก็ทำการเพิ่มชื่อและพิสูจน์รับรองตัวตนโดยอาศัยพยานหลักฐานแวดล้อม เช่นบุคคลที่น่าเชื่อถือ คือ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นต้น อีกทั้งพื้นที่ดังกล่าวมีโรงเรียนตั้งอยู่ด้วย จึงมีหลักฐานการศึกษาจากโรงเรียนมาใช้ในการอ้างอิงการมีตัวตนของบุคคล

ประการที่สอง:เรื่องสิทธิและหน้าที่ที่พึงมีและต้องปฏิบัติ

แน่นอนว่าการได้มาซึ่งสถานะทางบุคคลโดยบัตรประชาชนนั้น ย่อมต้องได้รับมาทั้งสิทธิและหน้าที่ กล่าวคือ สิทธิขั้นพื้นฐาน อาทิ เช่น สิทธิในการได้รับการศึกษา การได้รับการรักษาพยาบาล และการที่มีถิ่นที่อยู่อาศัย เป็นต้น ในขณะเดียวกันก็มีหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตามภายใต้กฏหมายของรัฐซึ่งตนมีชื่อในทะเบียนราษฎร์ อาทิ เช่น หน้าที่ในการไปเลือกตั้ง หน้าที่ในการเสียภาษี หรือหน้าที่ในการรับเลือกเข้ารับราชการทหาร เป็นต้น

นายธานี  สิงหโรทัย ผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบันของหมู่บ้านชาวเล กล่าวว่า ปัจจุบัน ชาวเล/มอร์แกนได้เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานดังกล่าวมานั้นหมดแล้ว ส่วนเรื่องหน้าที่พวกเขาก็ปฏิบัติเช่นเดียวกันหมด ยกเว้นเรื่องการรับเลือกเข้ารับราชการทหาร ซึ่งครั้งหนึ่ง “สมเด็จย่า” หรือ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้เคยทรงเสด็จมายังหมู่เกาะบุโหลนและหมู่เกาะหลีเป๊ะ ได้ทรงทราบว่าชาวเลในหมู่เกาะดังกล่าวมีความลำบากมากและมีปัญหาในการสื่อสารการใช้ภาษา จึงทรงโปรดให้มีการประกาศยกเว้นการเกณฑ์ทหารของชาวเลในหมู่เกาะดังกล่าว (ช่วงประมาณ พ.ศ.2475) พวกเขาจึงไม่ต้องไปขึ้นทะเบียนทหารกองเกิน ไม่ต้องเข้าเลือกรับราชการทหาร แต่หากใครสมัครใจเข้ารับราชการทหารก็ย่อมได้ โดยกลุ่มชาวเลที่ได้รับการยกเว้นดังกล่าวนั้น ได้แก่ คนที่มีนามสกุล “หาญทะเล” “ทะเลลึก” เป็นต้น หรือที่มีคำว่า ทะเล และต้องมีคุณสมบัติประการหนึ่ง คือ เป็นชนพื้นเมืองในพื้นที่นั้น เกิดในหมู่เกาะดังกล่าว

             จากการศึกษา กรณีของชาวเล/มอร์แกน ถึงหน้าที่การรับราชการทหารภายหลังที่ได้รับการรับรองสถานะทางทะเบียนแล้ว  ได้มีการออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 45 (พ.ศ.2518) โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 13 (3) ที่ได้ยกเว้นให้บุคคลซึ่งไม่มีคุณวุฒิที่จะเป็นทหารได้เฉพาะบางท้องที่ตามที่กำหนด โดยได้กำหนดให้ชาวเล/มอร์แกนที่อาศัยอยู่บนเกาะบุโหลน  ได้รับยกเว้นไม่ต้องรับราชการทหาร รายละเอียดปรากฎตามเอกสารแนบหมายเลข 2 ซึ่งเมื่อนำข้อเท็จจริงในลักษณะความเป็นอยู่ของชาวเล/มอร์แกนในขณะนั้น กับ ชาวมานิในปัจจุบัน มาเปรียบเทียบแล้ว  เห็นได้ว่ามีลักษณะที่คล้ายกัน  เช่นการศึกษา ที่ไม่ได้รับการพัฒนาให้เทียบเท่ากับบุคคลปกติ  การใช้ภาษาที่มีเอกลักษณ์เฉพาะกลุ่ม  เรื่องถิ่นที่อยู่อาศัย ที่ไม่มีความแน่นอน โดยมีการย้ายที่อยู่ตามทรัพยากรที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำรงชีพ ฉะนั้นจึงสามารถนำกรณีของชาวเล/มอร์แกน มาใช้กับชาวมานิได้เช่นกัน

สัสดีอำเภอละงู กล่าวว่า ในระยะหลังมานี้ บุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการพยายามหารือกันเพื่อจะยกเลิกประกาศดังกล่าว เนื่องจากปัจจัยหลายๆอย่าง เช่น ความเจริญมากขึ้น ผู้คนมีการศึกษา มีการพัฒนาเท่าเทียมกับภายนอก และดูเหมือนว่ากลุ่มชาวเลดังกล่าวจะได้รับสิทธิพิเศษมากกว่า จึงควรยกเลิกเพื่อให้ทุกคนเท่าเทียมกัน แต่ปัจจุบันก็ยังไม่มีการยกเลิกแต่อย่างใด พวกเขายังไม่ต้องไปขึ้นทะเบียนทหารกองเกิน ไม่ต้องเข้าเลือกรับราชการทหารเหมือนเดิม

ในปัจจุบันหมู่บ้านชาวเลมีความเจริญมากขึ้น มีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นมาก ได้รับสิทธิพิเศษหลายด้านด้วยกัน ได้รับการบริการจากภาครัฐค่อนข้างพิเศษกว่าชาวบ้านทั่วไป เนื่องจากการเดินทางยังต้องเดินทางโดยเรือเท่านั้น ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงและมีบางคนที่ออกไปทำงานนอกเกาะ แต่ในพื้นที่ดังกล่าวมีโรงเรียน ผู้คนในพื้นที่นั้นจึงได้รับการศึกษา ระดับการศึกษาสูงสุดคือระดับชั้นมัธยมตอนต้น หากจะเรียนต่อต้องเข้าไปเรียนต่อในตัวเมือง และพบว่ามีชาวเลบางคนเรียนถึงระดับอุดมศึกษาด้วย ในเรื่องภาษานั้น มีการใช้ภาษาไทย และภาษามลายู เนื่องจากชาวบ้านส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งในพื้นที่นั้นมีมัสยิดถึง 511 แห่ง ด้วยกัน[4]

 

--------------------------------------------

วันที่ 6 สิงหาคม 2556 เวลาประมาณ 9.30 นาฬิกา ทีมงานทนายไร้ตั๋วได้ลงสัมภาษณ์และนัดสัมภาษณ์ปลัดอำเภอมะนัง คุณสุวิรุณ เยาว์นุ่น (บอย) ณ อ.มะนัง จ.สตูล เพื่อร่วมพูดคุยกับปัญหาการได้มาซึ่งบัตรประชาชนแก่ซาไกเผ่ามานิ ปรากฏว่าคุณสุวิรุณ เยาว์นุ่น (บอย) ปลัดอำเภอมะนังไม่ทราบข้อมูลใดๆ เลยเกี่ยวกับซาไกเผ่ามานิ เนื่องจากเพิ่งย้ายเข้ามารับราชการ แต่อย่างไรก็ดีทีมงานทนายไร้ตั๋วได้สัมภาษณ์คุณประภาษ ขุนพิทักษ์ ปลัดอำเภออาวุโส ได้ข้อมูลว่า

            การที่จะนำชื่อซาไกเข้าในระบบทะเบียนราษฎร์ได้นั้น จะต้องมีระเบียบของทางปกครองเข้ามารองรับ และเจ้าตัวจะต้องยินยอมสมัครใจที่จะเข้าระบบทะเบียนราษฎร์ ซึ่งมีขั้นตอนการดำเนินงานค่อนข้างยากเพราะพวกเขาเหล่านั้นเร่ร่อนไปเรื่อยๆ ไม่อยู่เป็นหลักแหล่ง ยากแก่การซักประวัติเก็บข้อมูล การพูดจาสื่อสารกันยากลำบาก วัน เดือน ปีเกิดไม่ทราบแน่ชัด ไม่รู้อายุที่แน่นอน แต่ทางอำเภอก็พยายามดำเนินการให้

          กรณีของครอบครัวนายไข่ การดำเนินการค่อนข้างง่าย เพราะมีผู้ประกอบการท่องเที่ยวคือป๋านึงเป็นผู้ช่วยประสานและดำเนินการ ซี่งซาไกกลุ่มนี้เป็นคนในพื้นที่แต่ดั้งเดิม การบันทึกข้อมูลในทะเบียนราษฎร์นั้นที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือต้องไม่บันทึกข้อมูลซ้ำซ้อนกับที่อื่น ทางอำเภอเองก็พยายามให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านเข้าไปช่วยเหลือดูแล ซึ่งพวกอนุรักษ์นิยมได้ให้ความเห็นว่า การที่เราไปทำกับพวกเขาแบบนั้น จะเป็นการไปทำร้ายเขาหรือเปล่า เพราะอาจทำให้วิถีชีวิตของพวกเขาเปลี่ยนไป ซึ่งอาจไปเป็นการทำให้วัฒนธรรมและวิถีชีวิตเหล่านั้นสูญหายไป แต่บางทีพวกกำนันผู้ใหญ่บ้านยังเห็นเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมดา ไม่ผลักดันให้พวกเขาได้รับสิทธิต่างๆ เขาจะมองว่าการใช้ชีวิตแบบธรรมดาของซาไกก็ดีอยู่แล้ว ไม่ไปรบกวน ไม่ไปนัดแนะให้เขาทำอะไรต่างๆ

          การทำบัตรประชาชนให้เหล่าซาไกเปรียบเสมือนดาบสองคม คือเมื่อเขาได้รับบัตรแล้ว เขาก็ต้องทำตามหน้าที่ ตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้ เช่นเกณฑ์ทหาร เลือกตั้ง ฯลฯ ซึ่งเรื่องนี้ก็ได้มีการพูดคุยกันบ้างแล้ว ว่าควรให้มีการอนุโลมให้เหมือนกับพวกชาวเลที่เกาะบุโหลนที่มีการยกเว้นไม่ต้องให้เกณฑ์ทหาร โดยออกกฎกระทรวงยกเว้นซึ่งอาจนำมาเปรียบเทียบกับกลุ่มซาไกเหล่านี้ได้

          มีหนังสือหารือจากกระทรวงซึ่งมีใจความสำคัญว่า “นายทะเบียนสามารถเพิ่มชื่อบุคคลซึ่งไร้ฐานะทางทะเบียนได้ โดยใช้ดุลยพินิจ” ซึ่งหากนายทะเบียนคิดว่ามีพยานหลักฐานยืนยันสภาพบุคคลพอสมควร ก็สามมารถเพิ่มชื่อได้[5]

 

วันที่ 6 กันยายน 2556 เวลาประมาณ 11.30 นาฬิกา ณ ป๋านึง ล่องแก่งวังสายทอง อ.ละงู จ.สตูล ทีมงานทนายไร้ตั๋วได้ลงสัมภาษณ์นายคะนึง ซึ่งเป็นเจ้าของผู้ประกอบการรีสอร์ท ได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องของครอบครัวนายไข่ ซึ่งเป็นซาไกเผ่ามานิ อันเป็นจุดประสงค์ที่ทางทีมงานให้ทำการหาข้อมูลเพื่อที่จะท่านจะมาจัดห้องเรียน Hanns seidel ให้กับทางองค์กรต่างๆ ในพื้นที่ ซึ่งปรากฏว่าครอบครัวของนายไข่นั้นไม่อยู่ในพื้นที่ อีกทั้งบริวารในกลุ่มของตนก็ไปพร้อมกับตน เพื่อไปหาของป่าตามชนิดหนึ่ง มีลักษณะคล้ายลูกขนุนสัญชาตญาณ อาจจะกลับมาเมื่อไหร่นั้นไม่ทราบเป็นที่แน่นอนตามที่นายคะนึงได้บอกกล่าวไว้

ประเด็นที่ได้รับมอบหมายในครั้งนี้เกี่ยวกับครอบครัวนายไข่ คือ

1.      Family tree ของนายไข่ที่ถูกต้อง

จากคำบอกเล่าของนายคะนึงได้ความว่า ครอบครัวของนายไข่นั้น ได้มีทางอ.มะนัง เข้ามาเก็บสำมะโนประชากรไว้เรียบร้อยแล้ว อีกทั้งครอบครัวนายไข่ยังมีสำเนาทะเบียนบ้าน ทร.14[6] เก็บไว้กับนายคะนึง ส่วนทะเบียนสมรสนั้นนายไข่ให้การว่า ทางสำนักข่าวได้ขอไปแล้วไม่ได้ส่งให้ตนคืน และตอนนั้นที่ได้ปรากฏการมีทะเบียนสมรสของซาไก่เผ่ามานิ เนื่องด้วยจากการโปรโมทการท่องเที่ยว เพื่อแสดงให้เห็นว่าซาไกยังมีอยู่

 

2.      การได้มาซึ่งบัตรประชาชนของนายไข่

นายไข่และภรรยาของตนได้บัตรประชาชนหมายเลข 5 และเก็บไว้กับตน โดยการริเริ่มมีบัตรประชาชนนั้น นายคะนึงเล่าว่า เป็นข้อเสนอของนายอำเภอศักดิ์ดา ได้สอบถามทั้งกลุ่มผู้ที่ดูแลกลุ่มซาไกและพวกซาไกที่อยู่ในความดูแล หากใครต้องการทำบัตรประชาชนให้หรือซาไกต้องการบัตรประชาชนก็สามารถเข้ามายื่นคำร้องขอทำบัตรประชาชนได้ และปัจจุบันมีเพียงซาไก่เผ่ามานิ 6 คน เท่านั้นในกลุ่มของนายไข่ ส่วนลูกคนล่าสุดของนายไข่ได้มีใบเกิดตาม พรบ. ทะเบียนราษฎ์ พ.ศ. 2534 ตามมาตรา 23

 

ประมวลภาพการลงพื้นที่

           

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 547843เขียนเมื่อ 10 กันยายน 2013 10:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 กันยายน 2013 12:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ขอชื่นชมการทำงานของรุ่นน้องที่มหาวิทยาลัยเก่าครับ

มาเขียนบ่อยๆนะครับ

จากพี่ มศว สงขลาครับ

แอบตามอาจารย์ขจิตมาครับ ;)...

ถ้าอยากดูซาไกดั้งเดิมก้อต้องที่ตรังไงครับ

มี 4   กลุ่ม

ค่ะๆๆๆ...ที่บริเวณปะเหลียนใช่รึเปล่าค่ะ...

 

 

-สวัสดีครับ..

-ตามมาให้กำลังใจและติดตามชีวิตซาไก....

-ขอบคุณสำหรับข้อมูลครับ...

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท