สอนเด็กให้เป็นคนดี : ๒. ฝึกจัดการอารมณ์ (๑)


 

บันทึก ๑๙ ตอนนี้ มาจากการตีความหนังสือ Teaching Kids to Be Good People : Progressive Parenting for the 21st Century เขียนโดย Annie Fox, M.Ed.   

ตอนที่ ๒นี้ ตีความจากบทที่ ๑How Do You Feel? No, Really. Learning to Manage Emotions   โดยที่ในบทที่ ๑ มี ๔ ตอน   ในบันทึกที่ ๒ นี้ จะตีความตอนที่ ๑ และ ๒   ส่วนตอนที่ ๓ และ ๔ จะอยู่ในบันทึกที่ ๓  

ผู้เขียนขึ้นต้นบทนี้ด้วยการยกคำของ Daniel Goleman ผู้เขียนหนังสือ Emotional Intelligenceอันลือลั่น  ว่า   อนาคตของคนเราแต่ละคนจะไปได้ไกลแค่ไหน ขึ้นอยู่กับความมีสติรู้เท่าทันอารมณ์ของตนเอง    รู้วิธีจัดการอารมณ์ที่บีบคั้น   มีความเห็นอกเห็นใจคนอื่นด้านอารมณ์   และมีปฏิสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน 

ทักษะอย่างหนึ่งที่ฝึกยากมาก คือการขับรถถอยหลังเข้าจอดชิดขอบทาง   แต่ทักษะที่ยากกว่า คือการควบคุมอารมณ์ให้สงบนิ่ง ยามเผชิญอารมณ์รุนแรงทำลายล้าง   ไม่ว่าอารมณ์นั้นจะเป็นของตนเอง หรือของผู้อื่น   คนเราทุกคนต้องได้ฝึกทักษะนี้   พ่อแม่และครูต้องช่วยฝึกทักษะนี้ แก่เด็ก

ตอนที่ ๑ ของบทที่ ๑ ผู้เขียน เล่าเรื่องความเข้าใจผิด และจัดการอารมณ์ผิดๆ ของตนเอง    จนอายุ ๔๐ ปี จึงเข้าใจ  

ความเข้าใจผิดนั้นคือ คิดว่า คนที่เป็นผู้ใหญ่ต้องเก็บงำหรือซ่อนอารมณ์ของตน   ซึ่งก็เป็นความเข้าใจผิดของตัวผมเอง จนได้อ่านหนังสือ Emotional Intelligence ของ Daniel Goleman เมื่อ ๒๐ ปีที่แล้ว    จึงเข้าใจว่า การมีอารมณ์หรือเกิดอารมณ์ เป็นธรรมชาติของมนุษย์   ไม่ใช่เรื่องชั่วหรือน่าอับอาย   แต่ถ้าจัดการอารมณ์ไม่เป็น   ปล่อยให้มันพลุ่งขึ้นมาทำร้ายคนอื่น หรือตนเอง    ก็เกิดความเสียหาย 

อารมณ์เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของมนุษย์   ถ้าเรารู้จักจัดการให้เกิดผลเชิงบวก ก็เป็นผลดี   และที่จริงแล้ว ผมคิดว่า นี่คือส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ตลอดชีวิต    หลายครั้งเราผิดพลาด หากเรารู้จักเรียนรู้จากความผิดพลาด เราก็จะไม่ทำผิดซ้ำ    และเราก็จะมีทักษะในการจัดการอารมณ์ เข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ    เราจะมีทักษะในความสัมพันธ์เชิงบวกกับคนในครอบครัว และคนรอบข้าง โดยผ่านความสัมพันธ์ทางอารมณ์

ในหนังสือ ให้บทเรียนในความสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยา  และระหว่างพ่อแม่ลูกอย่างดียิ่ง    นี่คือบทเรียนจากชีวิตจริง   ยิ่งตอนลูกเข้าสู่วัยรุ่น ซึ่งเป็นวันที่อารมณ์ผันผวนเพราะสาเหตุทางฮอร์โมน และทางสังคม ที่เข้าสู่วัยฝึกรับผิดชอบตนเอง    ยิ่งเป็นบทเรียนของการจัดการอารมณ์เพื่อความสัมพันธ์ที่ดี ระหว่างกัน

ทักษะที่สำคัญที่สุดของพ่อแม่และครูคือการฟัง หรือรับฟัง ฟังอย่างเห็นอกเห็นใจ   ฟังให้เข้าใจความรู้สึกของเด็ก   ไม่ใช่คอยสวนกลับ หรือสั่งสอน

ผู้เขียนถึงกับแนะนำพ่อแม่ให้ถามลูก ว่าพ่อแม่ควรจะปรับปรุงตัวเองอย่างไรบ้าง เพื่อเป็นที่พึ่งของลูกได้ดีกว่านี้ ยามลูกมีความทุกข์ใจ  

อ่านตอนที่ ๑ ทั้งหมดแล้ว ผมสรุปกับตนเองว่า ทักษะทางอารมณ์ต้องคู่กับทักษะในการเข้าใจ เห็นใจคนอื่น   เมื่อเราเข้าใจความรู้สึกและอารมณ์ของเขา เราก็จะมีสติในการหาวิธีตอบสนองเชิงบวก เชิงเห็นอกเห็นใจ แสดงความรักความห่วงใย   เรามีบทเรียนในชีวิตจริงให้ฝึกหัดเรียนรู้ตลอดชีวิต 

คำถามก็คือ คนเป็นพ่อแม่ หรือเป็นครู จะช่วยให้เด็กพัฒนาทักษะเชิงการจัดการอารมณ์ได้อย่างไร

ถามเช่นนี้แล้ว ผมก็นึกถึงตอนไปเยี่ยมโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา    และเข้าไปสังเกตการณ์ในชั้นอนุบาล   ว่าครูมีวิธีพูดคุยกับเด็กอย่างไร    ทางโรงเรียนมีกติกาให้ครูปฏิบัติต่อเด็กอย่างไร   ผมตีความว่า นั่นคือการฝึกทักษะเชิงอารมณ์ให้แก่นักเรียน   รวมทั้งกติกาและวิธีปฏิบัติต่อนักเรียนอีกหลายอย่าง น่าจะเป็นการฝึกทักษะเชิงอารมณ์ให้แก่นักเรียน

ผมจึงคิดว่า จริงๆ แล้ว ทุกขณะจิตของการเรียนรู้ในโรงเรียน (และที่บ้าน) เป็นการฝึกทักษะเชิงอารมณ์ บูรณาการอยู่กับการฝึกทักษะอื่นๆ ในชุดทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑

ในหนังสือไม่ได้กล่าวไว้    แต่ผมเชื่อว่า การฝึกทักษะทางอารมณ์ต้องบูรณาการอยู่กับการเรียนรู้ ทักษะอื่นๆ  

ตอนที่ ๒ ของบทที่ ๑ เป็นเรื่องการสวมหน้ากากเข้าหากัน   เพราะไม่กล้าเผชิญความจริง   นี่คือขั้นตอนหนึ่งของพัฒนาการทางอารมณ์ของคน   คนที่พัฒนาการทางอารมณ์ยังอยู่ครึ่งกลางๆ จะยังไม่กล้าแสดงตัวตนที่แท้จริงออกมา    ต้องแสดงตัวหลอกๆ ไม่ตรงกับความเป็นจริง  

ผู้เขียนสอบถามนักเรียนวัยรุ่น ว่าในการที่ตนเองปกปิดความรู้สึกที่แท้จริงในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง    ตนเองรู้สึกอย่างไร   คำตอบที่ได้คือรู้สึกผิด  รู้สึกโกรธตัวเอง    ตนต้องการสร้างความประทับใจให้เพื่อน และเมื่อทำเช่นนั้นก็รู้สึกไม่ดี    รู้สึกว่าตนเป็นคนหลอกลวง  เป็นต้น    เท่ากับเด็กวัยรุ่นมีชีวิตอยู่กับความปั่นป่วนทางอารมณ์    เพราะเสพติดการยอมรับจากเพื่อน (peer approval addict)    และพฤติกรรมของเพื่อนๆ หลายอย่างไม่ใช่สิ่งที่ควรทำ 

ผู้เขียนถามใหม่ ภายหลังคำถามแรก ๑ สัปดาห์ ว่า ชีวิตของ นศ. จะเปลี่ยนไปอย่างไร หากตนเองไม่ต้องกังวล ว่าคนอื่นจะคิดต่อเราอย่างไร   คำตอบที่ได้คือ ความวิตกกังวลจะหมดไป    รู้สึกโปร่งโล่งเบาสบาย เป็นอิสระ     

แล้วเราจะช่วยเด็กให้หลุดจากโซ่ตรวนทางอารมณ์ได้อย่างไร  

ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว    โดยบางครั้งก็ต้องฝืนใจ เช่นเมื่อเพื่อนมาหาที่บ้านในช่วงที่เราไม่สะดวก   เราก็ต้อนรับอย่างยิ้มแย้มแจ่มใส   การฟังนักพูดทางจิตวิทยาสำหรับวัยรุ่น    การอ่านเรื่องราวของคนมีชื่อเสียงที่คิดบวก    การชวนเด็กคุย ว่าหากตกไปอยู่ในบางสถานการณ์ ตนจะทำอย่างไร    การเสนอต่อเด็กว่า เมื่อไรที่เผชิญสถานการณ์ที่ไม่กล้าแสดงตัวตนที่แท้จริงออกไป ให้มาหา    การได้พูดคุยกับผู้ใหญ่ที่เขาไว้วางใจ อาจช่วยได้ 

คำถามของหนุ่ม ๑๓   ตนจะทำอย่างไรดี ที่เพื่อนสนิทที่เป็นผู้หญิงบอกว่าตนคงจะลองสูบกัญชา    เพราะใครๆ เขาก็สูบกันทั้งนั้น   ตนได้ห้ามปรามอยู่บ้าง โดยบอกว่าจะไม่ยอมมีประวัติสูบกัญชาเป็นอันขาด เพราะต้องการไปสมัครเป็นนักเรียนนายทหาร    ถามว่าตนจะทำอย่างไรกับเพื่อนผู้หญิงดี 

คำตอบของผู้เขียน   ชื่นชมที่ผู้ถามห่วงใยอนาคตของเพื่อน   นี่คือการทำความดี   แนะนำให้แสดงความห่วงใยอนาคตของเพื่อน   แสดงความรักและหวังดีในฐานะเพื่อน   แต่อย่าตั้งความหวังว่าตนจะห้ามปรามเพื่อนได้สำเร็จ   เพราะเป็นการตัดสินใจของเจ้าตัว    และต้องเข้าใจว่า คำว่า ใครๆ ก็สูบกันทั้งนั้นไม่จริง   เป็นเพียงคำแก้ตัว    โอกาสที่เพื่อนคนนี้จะเข้าไปมั่วสุมกับวงกัญชาจะมีสูง  

อ่านหนังสือมาถึงตอนนี้ ผมนึกถึง Maslow’s Heirarchy of Needs    ที่เด็กจะต้องพัฒนาอารมณ์ของตน จากระดับที่สาม ที่ต้องการความรัก ผ่านระดับที่สี่ ที่ต้องการแสดงความเก่ง ไปสู่ความมั่นใจสภาพความเป็นจริงของตน   ครูและพ่อแม่ต้องเรียนรู้เทคนิคช่วยให้เด็กพัฒนาอารมณ์ของตน ขึ้นสู่ยอดปิรามิดของ Maslow ให้ได้    โดยที่ยอดปิรามิดของแต่ละคนมีลักษณะจำเพาะ ไม่มีเหมือนกันเลย

 

 

วิจารณ์ พานิช

๑๐ มี.ค. ๕๖

บนเครื่องบินไปวอชิงตัน ดีซี

 

 

หมายเลขบันทึก: 547841เขียนเมื่อ 10 กันยายน 2013 10:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 กันยายน 2013 10:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เรียนรู้ได้จนสิ้นลมหายใจจริงๆนะคะ อาจารย์ รู้สึกว่ายิ่งนาน ยิ่งเห็น ยิ่งสังเกต ทั้งตัวเองและคนรอบข้าง เราก็จะยิ่งเรียนรู้ได้มากขึ้นมาสถานการณ์ไหนควรจะทำอย่างไร 

- อ่านบันทึกนี้ ไป 1 รอบ แล้วเื่มื่อวาน

- วันนี้  กลับมาอ่านอีกรอบ

ขอขอบคุณบันทึกแห่งการเรียนรู้  จริง ๆค่ะ

ขอบคุณครับ อาจารย์

ขอก็อบไว้อ่าน ตอนนี้ขอไปทำงานก่อนครับ

ผมเชื่อทฤษฏีรอให้ถึงอนุบาลก็สายเสียแล้ว สิ่งแวดล้อมในวัยตั้งแต่เกิดถึง 6 ขวบสำคัญที่สุด

ผมอ่านบันทึกนี้แล้วรู้สึกเห็นคุณค่าและภูมิใจที่เกิดในเมืองไทยเมืองพุทธอย่างยิ่ง ผู้เขียนหนังสือเล่มที่อาจารย์หมอตีความนี้ รู้สึกทึ่งมากที่ได้ทราบว่าเราเรียนรู้ที่จะจัดการอารมณ์ของตนเองได้ ถ้าสักวันข้างหน้าแกรู้ว่าเราบังคับ(จิต)มันไม่ได้จริง คงจะประทับใจมากกว่านี้ ...

ผมมั่นใจว่ามีคนไทยที่ประสบความสำเร็จแบบนี้แน่นอน แต่ทำไมไม่มีหนังสือแบบนี้ออกมาบ้าง แสดงชัดว่าเพราะสังคมเราไม่ได้จัดการความรู้...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท