ชีวิตที่พอเพียง : ๑๙๙๐. พิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์


 

วันที่ ๑๐ ส.. ๕๖ ผมไปร่วมพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์   ได้ไปเห็นพิธีอันงดงามตระการตา   และได้ความรู้หลายอย่าง   อย่างหนึ่งคือ พิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ใช้เวลาถึง ๕ วัน   ข้อนี้ได้ยินจากพระโอษฐ์ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ฯ เอง   ว่าช่วงนี้เป็นฤดูกาลของพิธีพระราชทานปริญญาบัตร   เพิ่งจะเสร็จของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ๕ วัน   ต่อไปก็จะเป็นของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ๓ วัน   ข้อมูลเกี่ยวกับพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยไทยอ่านได้ ที่นี่

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปีนี้บัณฑิตที่เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร ๘,๐๐๐ คน ใช้เวลา ๓ วัน   มหาวิทยาลัยมหิดลบัณฑิตที่เข้ารับ ๖,๐๐๐ คน ใช้เวลาวันเดียว   รวมเวลาในพิธี ๔ ชั่วโมง ตามที่ผมเคยบันทึกไว้ ที่นี่

เมื่อเข้าไปในห้องพิธี ที่หอประชุมใหญ่ อาคารไทยบุรี ผมก็ตลึงกับความอลังการของบรรยากาศ   ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณ ถึงกับอุทานว่างามจัง   โปรดดูรูป จะเห็นว่า สีครุยที่เป็นสีเดียวกันทั้งหมด คือสีแสด ให้ความอลังการอย่างไร   บรรยากาศแตกต่างกับห้องพิธีที่มีบัณฑิตสวมครุยหลากสี ที่ผมคุ้นเคย

บัณฑิตที่เรียนจบและเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรมีประมาณ ๑,๓๐๐ คน   ปริญญาเอก ๓ คน  โท ๗๒  ตรี ๑,๒๓๐  มีผู้เข้ารับพระราชทานปริญญาปรัชญาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ๕ คน คือ ศ. เกียรติคุณ ดร. ธีรยุทธ กลิ่นสุคนธ์ (สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ), นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ (สาขาไทยศึกษาบูรณาการ), รศ. ภิญโญ สุวรรณคีรี (สาขาสถาปัตยกรรม), . นพ. วิจารณ์ พานิช (สาขาการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศ), และ นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ (สาขาเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา)

นอกจากพระราชทานปริญญาบัตรแล้ว ยังพระราชทานโล่ประกาศเกียรติคุณอาจารย์ดีเด่น๒ ท่าน   โดยที่ผมคุ้นเคยทั้งสองท่าน คือ อ. ดร. ทิพวัลย์ สุทิน (ด้านการเป็นครูและ อ. ดร. เลิศชาย ศิริชัย (ด้านการวิจัย)   อาจารย์ทั้งสองท่านนี้ทำงานมาเกือบ ๒๐ ปี แต่ยังมีตำแหน่งอาจารย์เท่านั้นทั้งๆ ที่มีผลงานดีเด่น   เพราะไม่ขอตำแหน่งวิชาการให้แก่ตนเอง   และที่ได้รับยกย่องเป็นอาจารย์ดีเด่นครั้งนี้ ก็ไม่ได้เขียนขอให้แก่ตนเอง   มีหน่วยงานจัดการเขียนขอให้   ผมอยากเห็นวิธีการดำเนินการสรรหาอาจารย์ดีเด่น และวิธีการเข้าสู่ตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัยใช้วิธีการแบบนี้   คือมีหน่วยงานรับผิดชอบขอให้  ไม่ใช่ให้เจ้าตัวขอเอง  

นอกจากนั้น ยังมีการพระราชทานเหรียญรางวัล แก่บัณฑิตที่ได้รับเกียรตินิยมอันดับ ๑ และคะแนนเป็นที่ ๑ ของหลักสูตร จำนวน ๙ คน   และรางวัลศึกษิตแห่งปีที่วลัยลักษณ์ ๕ คน

เรื่องเหรียญรางวัลในการเรียนนี้ สมัยผมเรียนที่จุฬาฯ มีการพระราชทานเหรียญทองแดง แก่ผู้สอบได้คะแนนที่ ๑ ของชั้นปีแต่ละคณะ   และเหรียญทอง และเหรียญเงิน แก่ผู้สอบได้คะแนนสูงที่สุดตลอดหลักสูตร   ผมจึงเคยได้รับพระราชทานเหรียญทองแดง ในฐานะผู้สอบได้คะแนนสูงสุดของคณะวิทยาศาสตร์ชั้นปีที่ ๑   สมัยนั้นการรับพระราชทานต้องย่อตัวลงคุกเข่าด้านหนึ่ง รับจากพระเจ้าอยู่หัวในปี พ.. ๒๕๐๔     หลังจากได้รับเหรียญรางวัลเรียนดีเหรียญนั้นแล้ว ผมไม่เคยได้รับเหรียญรางวัลอีกเลย    ตอนเรียนที่ศิริราชรางวัลเรียนดีเป็นหนังสือหรือเงิน ไม่เป็นเหรียญ  และให้แก่ผู้ได้คะแนนสอบวิชานั้นๆ สูงสุด   ผมเคยได้รับสองสามวิชา เขาก็ยังคงเรียกในภาษาปากว่า นักเรียนเหรียญ”    แต่ตอนจบปริญญา ยังคงมีการพระราชทานเหรียญทองและเหรียญเงิน    ผมไม่ได้เหรียญใดๆ เลย   แต่ก็มักมีคนเข้าใจผิดว่าผมได้เหรียญทอง    ชื่อเสียงในอดีตช่วยให้คนเชื่อถือผิดๆ   ผู้ได้รับเหรียญทองรุ่นผมคือ พญ. วลี หฤษฎางกูร

 ผมถาม รศ. ภิญโญ สุวรรณคีรี ว่าปีที่ท่านรับปริญญาบัตรของจุฬาฯ นั้น ยังต่องย่อตัวคุกเข่าข้างหนึ่งรับพระราชทาน หรือไม่ (เข้าใจว่าท่านรับปี พ.. ๒๕๐๘)    ท่านบอกว่าปีที่ท่านรับเป็นปีแรกที่ยืนรับ

พิธีเริ่มด้วยขบวนเชิญตราสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัย   ซึ่งแตกต่างจากของมหาวิทยาลัยมหิดล  ที่นี่ให้นักศึกษาชายเป็นผู้อัญเชิญ มีนักศึกษาหญิงชายอีก ๑ คู่เดินตาม   ตามด้วยขบวนอาจารย์และกรรมการสภามหวิทยาลัย   คล้ายๆ นศ. ถือตรานำคณาจารย์และกรรมการสภาฯ มาในพิธี   เพราะเมื่อเดินเข้ามาในห้องประชุมแถวหน้า อาจารย์และกรรมการสภาฯ ก็เข้านั่งที่ที่นั่งของตน   แล้ว นศ. ๓ คน อัญเชิญตราขึ้นไปบนเวที และออกหลังเวทีไป   โดยที่บนเวทีมีตราอีกดวงหนึ่งประดิษฐานอยู่แล้ว

ส่วนพิธีอัญเชิญตราในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยมหิดล น่าจะมีเป้าหมายอัญเชิญตรามาร่วมในพิธีศักดิ์สิทธิ์   โดยมีรองอธิการบดีเป็นผู้อัญเชิญ   ตามด้วยนายกสภาฯ และอธิการบดี คู่กัน   และคณาจารย์เดินตามหลังเป็นคู่ๆ 

ผมถาม อ. ดร. ทิพวัลย์ ว่าการจัดดอกไม้ประดับเวทีจัดเหมือนกันทุกปีหรือไม่   ท่านตอบว่าแตกต่างกันไปในแต่ละปี   นี่ก็ต่างจากของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่เหมือนกันทุกปี อย่างมีความหมาย   และมีการอธิบายความหมายให้ผู้ร่วมพิธีทราบด้วย    ช่วยเพิ่มความศักดิ์สิทธิ์

เมื่อเสด็จมาถึง ก็เริ่มพิธีพระราชทาน   ใช้เวลาทั้งสิ้นไม่ถึง ๑ ชั่วโมงครึ่ง   พิธีเรียบร้อยงดงามมาก

คำปฏิญาณของผู้ได้รับพระราชทานปริญญาบัตรของแต่ละมหาวิทยาลัยไม่เหมือนกัน   แต่มีสาระคล้ายกัน คือปฏิญาณว่าจะเป็นคนดี มุ่งทำประโยชน์แก่ส่วนรวม   ระหว่างที่บัณฑิตกล่าวคำปฏิญาณอยู่นั้น ผมตั้งสมาธิแผ่เมตตา ให้กำลังใจให้บัณฑิตทุกคนมีความเข้มแข็ง ในการปฏิบัติตามคำปฏิญาณทั้ง ๔ ข้อนั้น ตลอดชีวิต

หลังพิธี เขาเชิญผู้รับพระราชทานปริญญาปรัชญาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ไปรอส่งเสด็จ   เมื่อเสด็จลงลิฟท์มาถึง อธิการบดีของมหาวิทยาลัย Kogakuin University, Tokyo ชื่อ Akisato Mizuno ถวายขลุ่ยญี่ปุ่น  และคหบดีหญิงท่านหนึ่งถวายลูกปัดโบราณ  ทรงรับสั่งถามว่า มีผีหรือเปล่า   แล้วทรงหยุดคุยอยู่นานกว่า ๑๕นาที    โดยมีคุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ เป็นคู่สนทนาโดยตรง    แต่ก็ทรงตรัสดังๆ ให้ทุกคนที่เฝ้ารอส่งเสด็จได้ยิน   ทรงเล่าการทำหน้าที่หมอดมยาสุนัข ให้หมอผ่าตัดทำการผ่าตัด   ทรงเล่าว่าบางวันคงจะโดนยาสลบเข้าไปด้วย ทำให้ง่วงเร็ว   ผมไม่ใกล้ชิดเจ้าฟ้าพระองค์นี้ จึงมีโอกาสสังเกตพระจริยาวัตร เปรียบเทียบกับสมเด็จพระเทพรัตน์ฯ

อธิการบดีพยายามกราบบังคมทูลเชิญไปสอนนักศึกษาที่มวลทรงพอพระทัยที่จะไปสอน แต่ที่ผ่านมาภารกิจมาก ยังหาเวลาไม่ได้   รับสั่งว่าจะหาเวลาไปสอน

ทรงรับสั่งชม ว่าจัดพิธีได้เรียบร้อยมาก   บัณฑิตเดินเข้าไปรับอย่างสม่ำเสมอเป็นจังหวะเท่าๆ กัน   ทำให้ทรงส่งปริญญาบัตรได้สะดวก   ไม่เหนื่อย

ผมกลับมาอ่านสูจิบัตรที่บ้าน และไตร่ตรองเรื่องพิธีพระราชทานปริญญาบัตร    มีความเห็นว่า เป็นพิธีที่ศักดิ์สิทธิ์   และให้ความรู้สึกที่ดีแก่ทุกคนที่เกี่ยวข้อง    หากรู้จักนำสิ่งดีๆ ที่สัมผัสในพิธีไปใช้ในการดำรงชีวิต ก็จะเป็นศิริมงคลมาก   ช่วยให้มีชีวิตที่ดี

 

 

วิจารณ์ พานิช

๑๑ ส.. ๕๖

โรงแรมทวินโลตัส นครศรีธรรมราช  

 

บรรยากาศภายในห้อง ถ่ายจากเวที ตอนผมไปซ้อมรับพระราชทาน

 

ถ่ายจากเวที ให้ติดตราสัญลักษณ์มหาวิทยาลัย

 

เวที 

 

เวที ก่อนพิธี

 

ดอกไม้ประดับ และอุบะ

 

ภาพบัณฑิตเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร

 

ตราสัญลัษณ์มหาวิทยาลัยตั้งเด่นเป็นสง่า

 

ผู้รับพระราชทานปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์

ถ่ายรูปกับท่านอธิการบดี ผู้บริหาร และคณาจารย์ ก่อนพิธี

 

ขอขอบคุณ ดร. วัลลา ตันตโยทัย ที่ส่งรูปนี้มาให้

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 547840เขียนเมื่อ 10 กันยายน 2013 10:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 กันยายน 2013 10:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

ขอแสดงกราบความยินดีกับท่านอาจารย์ด้วยครับ

งดงาม เรียบง่าย และศักดิ์สิทธิ์ครับ ;)...

ขอแสดงความยินดีกับอาจารย์ด้วยครับผม

ขอชื่นชมยินดีกับอาจารย์ด้วยความเคารพอย่างยิ่งครับผม

อ่านบันทึกของอาจารย์แล้ว รู้สึกภูมิใจ ในฐานะของคน มวล. ค่ะ

ขอบพระคุณอาจารย์ที่สื่อสารแนวคิดดีๆในงานพระราชพิธีแบบนี้ อยากให้บัณฑิตมีความทรงจำดีๆและรับเมตตาที่อาจารย์แผ่ไปถึงพวกเขานะคะ คุณค่าที่มากที่สุดในพิธีน่าจะอยู่ที่ความตระหนักถึงสิ่งที่บัณฑิตได้ให้สัตย์ปฏิญาณและรับพระราโชวาท พระโอวาท ตัวเองคิดเสมอเวลาอ่านพระบรมราโชวาท พระโอวาทที่มาจากพระราชวงศ์ทุกพระองค์ ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่เตือนใจให้บัณฑิตตระหนักในหน้าที่อันสมควรในสังคม ถ้าทุกคนยึดมั่นได้ตามนั้นอย่างจริงจัง บ้านเมืองเราคงเจริญก้าวหน้ามากจริงๆนะคะ 

- ขอแสดงความยินดีกับท่านอาจารย์  ด้วยค่ะ

- ขอบพระคุณอาจารย์  ที่นำเรื่องราว บรรยากาศ ที่ศักดิ์สิทธิ์ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร มาให้ได้รับทราบ

 - ปลื้มใจค่ะ

ขอกราบพระคุณอาจารย์มากค่ะ ที่ได้กล่าวชื่นชมพิธีฝึกพระราชทานปริญญาบัตรที่ผ่านมา
และเมื่อทราบว่าพระองค์ตรัสชมยิ่งรู้สึกชุ่มชื่นใจมากค่ะ
เราใช้เวลา 3 วัน
วันแรกปฐมนิเทศบัณฑิตครึ่งวันเช้า
ครึ่งวันบ่ายแยกซ้อมย่อยตามสำนักวิชา
วันที่สองซ้อมย่อยที่สำนักวิชา
ครึ่งวันบ่ายเข้าห้องประชุมใหญ่(บัณฑิตขึ้นเวทีจริงได้เพียงคนละครั้งเพราะเวลาจำกัด)
วันที่สามซ้อมใหญ่พิธีเหมือนรับจริง ตอนเช้าบัณฑิตถ่ายรูปหมู่
ตอนบ่ายเข้าห้องประชุมใหญ่ซ้อมเหมือนจริง
และวันที่ 4 เข้ารับพระราชทาน
ในส่วนของดอกไม้นั้น
วิทยาลัยอาชีวศึกษานครศรีธรรมราชเป็นผู้จัดทำค่ะ
จะมาตกแต่งประดับเวทีเย็นวันที่ 3 ค่ะ

และกราบขอแสดงความยินดีกับอาจารย์อีกรอบด้วยค่ะ
(หนูกราบอาจารย์ที่ด้านหลังหอประชุมก่อนเข้าห้องประชุมแล้ว ว่าพบอาจารย์เฉพาะในgotoknow!)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท