To live in reality and with ideology


To live in reality and with ideology

เป้าหมายหนึ่งของการศึกษา ร่ำเรียน คือการใช้ชีวิตอยู่รอด อยู่ร่วม และอยู่อย่างมีความหมาย ซึ่งอาจจะแปลออกมาเป็นนัยยะว่าคือ "การอยู่ได้ในโลกแห่งความเป็นจริง และยังคงมีสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ มีอุดมคติความหมายของชีวิตด้วย" การหา หรือการสร้างสมดุลระหว่างทั้งสองประการ คือการใช้ชีวิต และการตั้งคำถามของความหมายชีวิต จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของการค้นพบว่า "เราคือใคร เรากำลังทำอะไร"

ตั้งแต่เข้าวัยรุ่น เมื่อเราสามารถ "จับต้อง" ความคิดที่เป็นนามธรรมได้มากขึ้น ความบริสุทธิ์ของความคิดเหล่านี้ที่ปรากฏเป็นครั้งแรก เป็นสิ่งที่มีค่า และทำให้ชีวิตตื่นเต้น ตื่นเพริดกับ "ความเป็นไปได้" หากอุดมคติเหล่านั้นเป็นความจรืง ชีวิตของคนที่หลากหลาย เหตุปัจจัยที่มากมาย ทำให้แต่ละปัจเจกบุคคล "เข้าใกล้" ความคิดอุดมคติเหล่านี้ได้ไม่เท่ากัน ประสบการณ์ตรงของแต่ละคนก็ทำให้ตำแหน่งแห่งที่การเดินทางของแต่ละคนไปถึงจุดที่แตกต่างกัน

หากกรณีข้างต้นเป็นความจริง เราคงเห็นแล้วว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายมากสำหรับสถานให้การศึกษา รวมทั้งผู้ที่มีบทบาทจัดระบบการศึกษา จะสรรค์สร้างเวทีแห่งการเรียนรู้ที่เหมาะสำหรับคนทุกคนที่นำพาเอาความแตกต่างมากมายเกินจินตนาการ

ท้าทาย แต่ก็สำคัญ

เป็นเรื่องที่ดี ที่คนเราจะมีอุดมคติของตนเอง แต่ในขณะเดียวกัน เมื่ออุดมคตินั้นๆขยายตัว ขยายพื้นที่การทำงาน ทักษะในการดูแลพื้นที่อุดมคติของแต่้ละปัจเจกบุคคลที่จะเริ่มไปมีปฏิสัมพันธ์กับพื้นที่อุดมคติของคนอื่นๆ จะเริ่มเข้ามามีบทบาทอีกบทบาทหนึ่ง คือการผสมผสานหาจุดสมดุลของทั้งสองอุดมคตินั้นๆ

ทักษะของการ "คิดเผื่อใจเขา" นอกเหนือจากการเดินทางมาจาก "ใจเรา" เพียงฝ่ายเดียว

ทักษะนี้ต้องเป็น mutual คือเกิดจากทุกฝ่าย ในการต่อรองนั้นอาจจะมีผลัดกันเสนอ ผลัดกันสนอง ไม่ใช่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเรียกฝ่ายเดียว ฝ่ายหนึ่งสนองฝ่ายเดียว ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นสำคัญน้อยกว่า "กระบวนการหาความสมดุล" เสียอีก เพราะในเวลาไม่นาน ก็จะมีคนใหม่ ความคิดใหม่ ผุดปรากฏขึ้นตลอดเวลา (เป็นเรื่องที่น่าสนใจอีกประการ เพราะที่บอกว่า "ประชาพิจารณ์" อะไรกันนั้น เป็นการกระทำแบบ cross-sectional นั่นคือเฉพาะเวลานั้นๆ มีส่วนเกี่ยวข้องเฉพาะคนในเวลานั้นๆ ในทันทีทันใดที่ทำเสร็จ สามารถเกิดความคิดใหม่ คนรุ่นใหม่ และอีกหลายๆคนที่ "ยังไม่ได้พิจารณ์" และยังไม่มีใครทราบว่า เราต้องทำ "ประชาพิจารณ์" กี่รอบ กี่ครั้ง จึงจะเกิด "ความอิ่มตัว" ที่แท้จริง)

ทุกวันนี้ ความเสี่ยงก็คือ การที่ทุกๆฝ่ายนำพาเอา "อุดมคติ"​ ของตนเองมา และในการจะทำให้ใช้การได้ ก็เริ่มต้นจากการบอกให้คนอื่นทำแบบของตนเอง คำถามที่ตามมาทันทีก็คือ "ใครควรจะทำตามใคร?" กระบวนการที่จะได้คำตอบนี้สำคัญมาก

สมมติว่ามี Aliens เดินทางมาจากอวกาศ และมาถึงก็บอกให้โลกมนุษย์เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต ไปตามอุดมคติของ Aliens นั้นๆ คิดว่าจะลงเอยอย่างไร? ถ้าเป็นภาพยนต์ Hollywood ก็จะดำเนินเรื่องไปแบบสงครามอวกาศ เพราะ "วิถีชีวิต" นั้น สำคัญพอๆกับการมีชีวิตอยู่ การจะเปลี่ยนแปลงลำหักลำโค่น ก็จะทนไม่ได้ เรื่องนี้ก็เกิดขึ้นไม่ใช่เฉพาะ Aliens บุกโลก หากแต่คนรุกรานคน ประเทศรุกรานประเทศ ฯลฯ

การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่แน่นอนก็จริง แต่มีการเปลี่ยนแปลงได้หลายวิธี แต่ละวิธีมีความรุนแรง ความประนีประนอม และผลลัพธ์ของการเปลี่ยนแปลงไม่เหมือนกัน บางครั้ง หากใช้วิธีแบบหนึ่ง อาจจะลงเอยที่ไม่มีใครได้สิ่งที่ต้องการเลย มีแต่ผู้แพ้ ตรงกันข้ามหากใช้อีกวิธี ทุกๆฝ่ายแม้ว่าจะไม่ได้สิ่งที่ต้องการทั้งหมด แต่ทุกฝ่ายก็ได้สิ่งที่ตนเองปราถนา ฝ่ายละนิด ฝ่ายละหน่อย และอีกเช่นกัน ผลลัพธ์ อาจจะไม่สำคัญเท่ากับ "ที่มาของผลลัพธ์" นั้นๆ เพราะการกระทำเช่นนี้ ยังคงต้องทำอีก ทำอีก ทำอีก ทำอีก ไปต่อไปเรื่อยๆ ไม่ได้สำคัญว่าครั้งนี้จะลงเอยอย่างไร

เมื่อวัยรุ่นพกพาพลังงานอันบริสุทธิ์ อุดมคติของตนเองมา จุดที่จะเริ่มเป็นการ "เติบโต maturation" แท้จริง คือการค้นพบ การหล่อเลี้ยงความสามารถ ในการที่จะนำเอาอุดมคตินั้นๆ เป็นพื้นหลัง และระบายภาพชีวิตจริงที่มีปฏิสัมพันธ์กับทุกคนที่มารายล้อมตัวเราตลอดเวลาหลังจากนั้นได้

เราจำเป็นต้องทำเช่นนี้อยู่ตลอดเวลา ไม่เคยหยุด บางทีอุดมคติที่แท้จริง อาจจะไม่ใช่เป้าหมายปลายทาง แต่อยู่ที่การเดินทางระหว่างนั้นมากกว่า

๑๐ กันยายน ๒๕๕๖
เขียนที่หน่วยชีวันตาภิบาล (หน่วยสู่สุคติ) รพ.สงขลานครินทร์

หมายเลขบันทึก: 547837เขียนเมื่อ 10 กันยายน 2013 09:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 กันยายน 2013 09:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อ่านบทความอาจารย์ ได้ความนิ่ง และได้การคิดใคร่ครวญ ได้สำรวจตรวจสอบหาความลึกซึ้งบนสิ่งต่างๆที่มักถูกมองข้ามไป เสมอๆ

การศึกษาต้องให้นิสิตนักศึกษาได้อยู่กับความจริงของสังคมและชุมชน

ขอบคุณบทความดีๆจากอาจารย์ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท