ลำดับเหตุการณ์ตามหาข้อเท็จจริงชาวซาไกเผ่ามานิ ; ครอบครัวนายไข่ [ส่วนของข้อกฎหมาย]


----------------------

ประเด็นข้อกฎหมาย

---------------------

ประเด็นข้อกฎหมายเรื่องการทะเบียนราษฎร

เมื่อมีการจัดทำทะเบียนบ้านให้กับชาวมานิที่ยังไม่มีสัญชาติไทยแต่มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร ตามมาตรา 36 พ.ร.บ. การทะเบียนราษฎร 2534[1] แล้ว ทะเบียนบ้านก็จะเป็นหลักฐานสำคัญที่ใช้ในการร้องขอทำบัตรประจำตัวประชาชนของพวกเขา ตามมาตรา 8 พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526[2] ซึ่งจะส่งผลให้การได้รับบริการสาธารณะจากรัฐสมบูรณ์ตามที่รับรองไว้ในเรื่องต่างๆ เช่น การรักษาพยาบาล การศึกษาเล่าเรียน

            ซึ่งกรณีนี้หากชาวมานิที่สตูลคนใดมีความประสงค์ที่อยากจะมีบัตรประจำตัวประชาชน เจ้าหน้าที่ก็จะต้องดำเนินการให้ตามหนังสือกรมการปกครอง ที่ มท. 0309.1/9339 เรื่อง ชี้แจงกรณีการดำเนินการกำหนดสถานะบุคคลตามกฎหมายกับกลุ่มชนเผ่าซาไก รายละเอียดตามเอกสารแนบหมายเลข 1

            แต่อย่างไรก็ตามการดำเนินการจัดทำบัตรประชาชนให้กับชาวมานิดังกล่าวนั้นก็ยังมีปัญหาอยู่ที่ว่า จะต้องมีหลักฐานมาประกอบการพิจารณาของเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการให้ ซึ่งเป็นพยานบุคคลที่สามารถยืนยันเกี่ยวกับตัวมานิที่ขอทำบัตรฯ หรือพยานวัตถุอย่างอื่นๆ และปัญหาที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การเดินทางไปยังที่ทำการอำเภอ เพื่อดำเนินการดังกล่าว เนื่องด้วยระยะทาง และยานพาหนะ ประกอบกับลักษณะการดำรงชีวิตของชาวมันนิมีลักษณะร่อนเรส่งผลให้ยากที่จะสืบหาพยานหลักฐานโดยเฉพาะอย่างยิ่งพยานบุคคล

            อย่างไรก็ดี ณ ตอนนี้มีมานิจำนวน 6 คน ได้รับบัตรประชาชนเรียนร้อยแล้ว

 

ประเด็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับการศึกษา

            -ในประเด็นเรื่องการได้รับการศึกษาของชาวซาไกนี้ จะพบว่าจากการที่ได้ลงพื้นที่ไปสัมภาษณ์ค้นหาข้อเท็จจริง ปรากฏว่าประเด็นเรื่องการศึกษานี้ถือเป็นประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งที่ชาวซาไกประสบอยู่ โดยถึงแม้ว่าในทางข้อเท็จจริงแล้วชาวซาไกหรือมานิ จะมิได้มีการถูกระบุสถานะบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรก็ตาม แต่ในทางข้อกฎหมายแล้ว ชาวซาไก ถือได้ว่าเป็นบุคคลสัญญาติไทยตามหลักสายโลหิตและดินแดน และแม้จะมิได้บันทึกความมีสถานมีสถานะบุคคล แต่เมื่อพิจารณาจากถ้อยคำใน มาตรา 49 ของคำว่า บุคคล ก็จะสามารถตีความได้ว่า บุคคลทุกคนมีสิทธิได้รับการศึกษา ซึ่งจากหลักดังกล่าวส่งผลให้ชาวซาไก มีสิทธิที่จะได้รับการบริการการศึกษาอันเป็นบริการจากภาครัฐ ตามที่ รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 49 ได้ระบุว่ารัฐจะจัดให้ประชาชนได้รับการศึกษาไม่น้อยกว่าสิบสองปี อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ประกอบกับ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 6 อันกล่าวถึงว่ารัฐจะต้องให้การบริการการศึกษาแก่ประชาชน ทั้งในด้าน ร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้และคุณธรรม เพื่อพัฒนาบุคคลให้กลายเป็นบุคคลากรที่มีคุณภาพ มาพัฒนาสังคมต่อไป ซึ่งสำหรับชาวซาไกแล้ว การศึกษาถือเป็นประเด็นปัญหาหลักและควรได้รับการแก้ไขเป็นอันดับแรก ก่อนที่จะผลักดันในเรื่องสิทธิหรือให้ความรู้ในเรื่องใดๆ   ต่อมาในประเด็นการศึกษาในส่วนของเด็กหรือผู้เยาว์นี้ ซึ่งจากข้อเท็จจริงที่ได้ลงไปพบเจอมานั้น จะเห็นได้ว่า เด็กๆชาวมานิหรือซาไกนี้ จะได้รับเพียงแค่การเลี้ยงดูจากพ่อแม่ การได้รับประทานอาหารประทังการอยู่รอดไปวันต่อวัน ประเด็นเรื่องการได้รับการเรียนรู้ หรือถ่ายทอดความรู้ในทางการศึกษาจึงแทบจะไม่มีเลย อันเนื่องมาจากตัวพ่อแม่ที่เป็นชาวซาไกเอง ตัวของเขาเองก็ไม่มีความรู้ที่จะถ่ายทอดไปยังลูกๆ    คงมี  เพียงแต่ทักษะในด้านการดำรงชีวิตในป่าและทักษะในการล่าสัตว์ที่สืบทอดตามวิธีชีวิตเพียงเท่านั้นที่จะถ่ายทอดไปยังลูกๆของพวกเขาได้ โดยตามกฎหมายแล้ว ทางภาครัฐก็ได้มีประกาศของกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยหลักฐานในการรับนักเรียนนักศึกษาเข้าเรียนในสถานศึกษา พ.ศ.2548 ข้อ 5 ซึ่งเป็นการที่กฎหมายระบุหน้าที่ของผู้อำนวยการสถานศึกษา ต้องรับเด็กอันอยู่ในวัยศึกษาเข้าเรียนในสถานศึกษา อันเป็นช่องทางหนึ่งที่ทางภาครัฐเปิดช่องทางให้กับชาวซาไก/มานิสามารถส่งลูกหลานของตนไปเข้าเรียนยังสถานศึกษาได้ ซึ่งหากปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้อำนวยการสถานศึกษานั้น จงใจละเว้น ไม่รับลูกหลานชาวซาไกเข้าศึกษาตามกฎหมายดังกล่าวแล้ว อาจมีความผิดฐาน ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ได้ หรือในกรณีของนายไข่และนางย๊ะ ซึ่งเป็นชาวซาไก/มานิที่ได้รับการดำเนินการเพิ่มชื่อทางทะเบียนราษฎรและได้รับบัตรประชาชนแล้ว หากปรากฎข้อเท็จริงสมมติว่าลูกของพวกเขา ต้องการจะเรียนหนังสือ แต่ได้ความว่าทางนายไข่และนางย๊ะซึ่งเป็นบิดามารดานี้ ไม่ยินยอมให้ลูกของตน เข้ารับการบริการการศึกษาจากภาครัฐ ในทางกฎหมายแล้ว ทางภาครัฐก็สามารถนำกฎหมาย พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มาปรับใช้เพื่อเป็นเครื่องมือในการคุ้มครองสิทธิของเด็กเหล่านั้น เกี่ยวกับเรื่องของการให้บริการทางการศึกษา และการฝึกทักษะอาชีพต่างๆ เพื่อให้เด็กชาวซาไกเหล่านี้ สามารถมีทักษะที่พิเศษ มากกว่าทักษะการใช้ชีวิตในป่าเขา เพื่อจะได้มีการพัฒนาในด้าน การดำรงชีพให้สอดคล้องกับสภาพธรรมชาติแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป และสภาพสังคมเมืองที่กำลังรุกหน้าบุกรุกเข้าสู่ป่าผืนใหญ่ อีกทั้งยังเป็นทางออกทางหนึ่งแก่เด็กๆชาวซาไกที่ต้องการที่จะได้รับการศึกษาแต่ทางบิดามารดาไม่ยินยอม อันเป็นสิทธิที่พึงมีพึงได้ของตน

 

ประเด็นข้อกฎหมายเรื่องสิทธิการรักษาพยาบาล

            -ข้อสังเกต เห็นได้จากชาวมานิ มิได้มีความมุ่งหมายที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิต แต่ชีวิตจะดำเนินไปด้วยความจำเป็นเพื่อความอยู่รอดอันเป็นลักษณะดั้งเดิมของชนเผ่ามานิ ดังนั้นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ชาวมานิต้องการจะเข้าถึงจะเป็นไปในแนวทางที่มีความจำเป็นต่อการดำเนินชีวิตเสียเป็นส่วนใหญ่ เช่นการรักษาพยาบาล การจัดสรรที่ดินเพื่อการเกษตร (เพาะปลูกกินเอง)

            สิทธิในการได้รับการบริการด้านสาธารณะสุขและการรักษาพยาบาลนั้นเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่บุคคลทุกคนได้รับ โดยรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 51,มาตรา52 ได้รับรองไว้ แต่ทั้งนี้ปัญหาการเข้าถึงบริการที่เกิดขึ้นกับชาวมานิ เนื่องจากชาวมานิส่วนใหญ่เป็นบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน ไร้ซึ่งเอกสารที่จะสืบทราบถึงตัวบุคคลใดๆ ซึ่งตาม พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ มาตรา 5 ได้บัญญัติว่าบุคคลทุกคนย่อมเข้าถึงสิทธินี้ได้ แต่ขณะเดียวกันหลักเกณฑ์ที่จะเข้าถึงสิทธิ ตามมาตรา 5 บุคคลนั้นจะต้องยื่นคำขอลงทะเบียนต่อสำนักงานหรือหน่วยงานที่สํานักงานกำหนด เพื่อเลือกหน่วยบริการเป็นหน่วยบริการประจํา (มาตรา 6) ซึ่งชาวมานิส่วนใหญ่มีปัญหาในเรื่องเอกสารสืบทราบตัวบุคคลเพื่อเป็นหลักฐานที่จะลงทะเบียนนั้นเอง จึงจำเป็นที่จะต้องมีการดำเนินการให้บุคคลเล่านี้มีสถานะทางทะเบียนเป็นขั้นแรก

- คุณประภาษ ขุนพิทักษ์ ปลัดอำเภออาวุโส ได้ข้อมูลว่า

            การที่จะนำชื่อซาไกเข้าในระบบทะเบียนราษฎร์ได้นั้น จะต้องมีระเบียบของทางปกครองเข้ามารองรับ และเจ้าตัวจะต้องยินยอมสมัครใจที่จะเข้าระบบทะเบียนราษฎร์ ซึ่งมีขั้นตอนการดำเนินงานค่อนข้างยากเพราะพวกเขาเหล่านั้นเร่ร่อนไปเรื่อยๆ ไม่อยู่เป็นหลักแหล่ง ยากแก่การซักประวัติเก็บข้อมูล การพูดจาสื่อสารกันยากลำบาก วัน เดือน ปีเกิดไม่ทราบแน่ชัด ไม่รู้อายุที่แน่นอน แต่ทางอำเภอก็พยายามดำเนินการให้

          จากคำให้สัมภาษณ์ของคุณประภาษ ย่อมสันนิษฐานได้ว่าการระบุสถานะบุคคลของชนชาวมานิต้องใช้เวลานานในการรวบรวมพยานหลักฐาน ในระหว่างนี้เอง การให้การบริการด้านสาธารณะสุขก็เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องกระทำอย่างต่อเนื่อง เสมอภาค และไม่เลือกปฏิบัติ ตามกฎหมายที่กล่าวมา  แต่จากข้อเท็จจริงที่ได้จากการให้สัมภาษณ์ของ ป๋านึง ที่คอยให้ความช่วยเหลือ ชาวมานิส่วนหนึ่ง ในยามที่     ชาวมานิต้องการการรักษาพยาบาล ว่า เจ้าหน้าที่ในบางสถานพยาบาลมีการเลือกปฏิบัติต่อชนชาวมานิ

 

ประเด็นข้อกฎหมายเรื่องสิทธิในที่ดิน

การถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ตาม ประมวลกฎหมายที่ดิน ม. 86 ที่ระบุว่า บุคคลที่จะถือครองที่ดินได้จะต้องเป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น บุคคลต่างด้าวไม่มีสิทธิที่จะถือครองที่ดินได้ แต่กรณีมานินั้นเห็นได้ว่า มิใช่เป็นคนต่างด้าวแต่อย่างใด เพราะเป็นบุคคลที่เกิดในประเทศไทย จึงมีสัญชาติไทยตามหลีกสายโลหิตจึงไม่มีประเด็นที่จะต้องพิจารณาว่ามานิจะมีสิทธิในที่ดินได้หรือไม่

                จากข้อเท็จจริงที่ได้ลงพื้นที่สัมภาษณ์พบว่าซาไกหรือชาวมานิในจังหวัดสตูลนั้น ยังมีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมแบบดั้งเดิม ซึ่งเห็นได้จาการอพยพย้ายถิ่นฐานอยู่บ่อยครั้ง เพราะซาไกกลุ่มนี้ยังไม่รู้จักวิธีการเพาะปลูก เมื่อไม่มีอาหารจึงจำเป็นที่จะต้องอพยพไปหาอาหารรวมทั้งปัจจัยอื่นในการดำรงชีวิตของเขา ทั้งนี้ดังที่กล่าวข้างต้น ทำให้เห็นว่าชาวมานิยังคงมีวิถีชีวิตซึ่งยังคงมีความแตกต่างจากคนในสังคม อันเนื่องมากจากการไม่ได้รับการศึกษา ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่จะทำให้วิถีชีวิตหรือกระบวนการใช้ชีวิตพัฒนาขึ้นอย่างคนในสังคม

            ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มชาวซาไก อำเภอธารโต จังหวัดยะลา ที่ปัจจุบันได้รับการศึกษา ได้รับการพัฒนาในด้านต่างๆ มีความเป็นสังคมเมืองมากขึ้น จึงมีความรู้ความสามารถในการทำการงาน ไม่ต้องอพยพย้ายถิ่นฐานไปที่อื่นอีก อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากรัฐในการให้ความรู้เกี่ยวกับการเพาะปลูกพืชผักผลไม้ จนสามารถเลี้ยงชีพตนเองได้ ทำให้ปัญหาการอพยพย้ายถิ่นฐานหมดไป และทำให้เกิดรายได้อีกด้วย

            แนวทางที่จะแก้ปัญหาข้างต้นให้กับชาวมานินั้น อาจทำได้โดยการให้ความรู้แก่พวกเขาในเรื่องการเพาะปลูก การทำเกษตร การสร้างที่อยู่อาศัยที่มั่นคงแข็งแรง หลังจากนั้นก็อาจจัดสรรที่ดินทำประโยชน์ให้แก่พวกเขา ซึ่งอาจอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ. ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 ม.16 ที่กำหนดบุคคลเข้าทำประโยชน์ หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติได้ โดยได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมป่าไม้

 

ประเด็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง

          -การเลือกตั้งตามกฎหมายแล้ว รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 100 ได้กำหนดถือเป็นหน้าที่ของชนชาวไทยที่จะต้องออกไปใช้สิทธิใช้เสียงเลือกผู้แทนของตน เพื่อมอบอำนาจอธิปไตย โดยการเลือกผู้แทนไปทำหน้าที่ในการปกป้องผลประโยชน์และดูแลทุกข์สุขของประชาชน รวมทั้งบริหารงบประมาณของประเทศชาติ ซึ่งประเด็นข้อกฎหมายนี้ ประกอบกับข้อเท็จจริงที่ลงพื้นที่มาแล้ว จะพบได้ว่าหากการผลักดันให้ชาวซาไก/มานินี้ ได้รับสิทธิในการถูกระบุสถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรสำเร็จ ซึ่งจะยังผลให้สามารถร้องขอและมีบัตรประจำตัวประชาชนเพื่อจะได้เข้าถึงสิทธิตามกฎหมายและการรับบริการจากภาครัฐอย่างเต็มที่ แต่อย่างไรก็ตามเมื่อได้รับสิทธิแล้วก็ย่อมมีหน้าที่ตามกฎหมายตามมาด้วย กล่าวคือ หน้าที่ในการออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง แต่เมื่อพิจารณาในทางปฏิบัติแล้วจะพบว่า จะทำให้ชาวซาไก/มานิประสบปัญหาในการออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง อันเนื่องมาจากปัญหาหลายๆด้านอาทิเช่น ปัญหาในการรับรู้ข่าวสาร ปัญหาเรื่องการเข้าใจและทราบถึงวัตถุประสงค์ของการเลือกตั้งและวิธีการเลือกตั้ง ปัญหาในการเดินทางมาใช้สิทธิ ซึ่งปัญหาเหล่านี้อาจมีผลอย่างมากในการออกเสียงคะแนน เนื่องจากในการพิจารณากาบัตรลงคะแนนแก่ผู้สมัครคนใด ก็ย่อมต้องพิจารณาจากคุณวุฒิและวัยวุฒิ อีกทั้งคุณสมบัติในหลายๆด้าน ซึ่งในด้านต่างๆนี้ต้องยอมรับว่าชาวซาไก/มานิ ก็ยังไม่มีความรู้ความเข้าใจถึงระบบการเลือกตั้งตามกฎหมายไทยแต่อย่างใด อีกทั้งอาจถูกกลุ่มหัวคะแนนหรือนักการเมืองบางกลุ่ม หลอกลวง หรือ อาศัยความไม่รู้กฎหมายของคนซาไก/มานิโดยการซื้อเสียง ชักจูงชาวซาไก/มานิมาลงคะแนนเสียงแก่ฝ่ายตน อันนำไปสู่การตกเป็นเครื่องมือของคนเมืองมากยิ่งขึ้น โดยในข้อปัญหาดังกล่าวนี้ ทางภาครัฐอาจสามารถหาทางออกโดยการอาศัยอำนาจตาม พระราชบัญญัติ การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2545 มาตรา 34 อันเป็นเรื่องว่าด้วยบุคคลที่ต้องห้ามมิต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้งในสนามการเมืองท้องถิ่น โดยแก้ปัญหาดังกล่าวโดยการนำ มาตรา 34(5) กล่าวคือ ทางภาครัฐคือองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นๆ ออกประกาศกำหนดให้ชาวซาไก/มานิเป็นบุคคลอื่นที่ทางราชการกำหนดยกเว้นไม่ต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยไม่กระทบถึงสิทธิใดๆ แต่เมื่อพิจารณาในส่วนของการเมืองการเลือกตั้งท้องถิ่นแล้ว ในส่วนของการเลือกตั้งที่สำคัญระดับประเทศอีกสนามหนึ่งคือการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา โดยในที่นี้ไม่มีกฎหมายที่จะยกเว้นหรือร่างหลักเกณฑ์ยกเว้นให้ชาวซาไก/มานิ ได้รับยกเว้นไม่ต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้งเนื่องจากถือเป็นหน้าที่ที่สำคัญของประชาชนชาวไทยทุกคน เพราะฉะนั้นภาครัฐอาจแก้ไขปัญหาได้โดยการจัดทีมงานคณะกรรมการการเลือกตั้งลงไปเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการเลือกตั้ง วิธีการเลือกตั้ง และอาจจะจัดรถบริการเป็นการพิเศษแก่ชาวซาไก/มานิที่ประสงค์จะเดินทางไปใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกผู้แทนของตน

 

ประเด็นข้อกฎหมายเรื่องหน้าที่การเกณฑ์ทหาร

เมื่อชนชาวมานิได้รับ การจดทะเบียนเพื่อรับรองสถานะบุคคล และมีสถานะทางทะเบียนแล้ว สิ่งที่จะส่งผลตามมาคือ ทำให้บุคคลเหล่านี้(ชนชาวมานิ) ต้องปฏิบัติหน้าที่พลเมืองตามที่กฎหมายกำหนด ณ ที่นี้จะกล่าวถึงหน้าที่ การรับราชการทหาร ที่มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 73

            ตาม พระราชบัญญัติรับราชการทหาร มาตรา 47 กำหนดให้  ชายที่มีสัญชาติเป็นไทยตามกฎหมาย มีหน้าที่รับราชการทหารด้วยตนเองทุกคนแต่ถึงอย่างไร มาตรา 13 แห่ง พระราชบัญญัติรับราชการทหาร ได้ยกเว้นบุคคลบางประเภท ที่ไม่ต้องรับราชการทหารกองประจำการ

            จากการศึกษา กรณีของชาวเล/มอร์แกน ถึงหน้าที่การรับราชการทหารภายหลังที่ได้รับการรับรองสถานะทางทะเบียนแล้ว  ได้มีการออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 45 (พ.ศ.2518) โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 13 (3) ที่ได้ยกเว้นให้บุคคลซึ่งไม่มีคุณวุฒิที่จะเป็นทหารได้เฉพาะบางท้องที่ตามที่กำหนด โดยได้กำหนดให้ชาวเล/มอร์แกนที่อาศัยอยู่บนเกาะบุโหลน  ได้รับยกเว้นไม่ต้องรับราชการทหาร ซึ่งเมื่อนำข้อเท็จจริงในลักษณะความเป็นอยู่ของชาวเล/มอร์แกนในขณะนั้น กับ ชาวมานิในปัจจุบัน มาเปรียบเทียบแล้ว  เห็นได้ว่ามีลักษณะที่คล้ายกัน  เช่นการศึกษา ที่ไม่ได้รับการพัฒนาให้เทียบเท่ากับบุคคลปกติ  การใช้ภาษาที่มีเอกลักษณ์เฉพาะกลุ่ม  เรื่องถิ่นที่อยู่อาศัย ที่ไม่มีความแน่นอน โดยมีการย้ายที่อยู่ตามทรัพยากรที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำรงชีพ ฉะนั้นจึงสามารถนำกรณีของชาวเล/มอร์แกน มาใช้กับชาวมานิได้เช่นกัน

 

------------------

ข้อสังเกต 

-----------------

1.      ประเด็นการได้มาซึ่งสิทธิและหน้าที่ที่จะเกิดขึ้น เมื่อมีบัตรประชาชน

1.1  การเกณฑ์ทหาร เปรียบเทียบกับที่ให้มอร์แกนได้รับการยกเว้น

1.2  การเข้าถึงสิทธิรักษาพยาบาล

1.3  การมีที่ดินทำกินโดยให้รัฐจัดสรร เทียบเคียงกรณีของอาม่าหุ้ยหยง

2.      ประเด็นเรื่องมรดกและการสืบทายาท อันขัดต่อหลักกฎหมายลักษณะครอบครัวไทย

3.      ประเด็นเรื่องข้อกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

4.      ประเด็นหากว่าซาไกเผ่ามานิดังกล่าวอยู่ในระหว่างสถานภาพคนสองรัฐ คือได้ทั้งสิทธิตามราชอาณาจักรไทยและมาเลเซียเป็นอย่างไร

5.      ประเด็นหากซาไกเผ่ามานิไม่มีบัตรประชาชนมีรายได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษี เห็นว่าควรเป็นในทิศทางใด

----------------------------

หมายเหตุ :

----------------------------

ข้อมูลข้อเท็จจริงครั้งนี้ได้จากบทสัมภาษณ์จากบุคคลที่สาม ทั้งเจ้าหน้าของรัฐที่เกี่ยวข้องกับภาคเอกชนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากด้วยสัญชาตญาณของซาไกเผ่ามานิกลุ่มนี้มีนิสัยไม่ไว้ใจใคร และไม่สามารถกำหนดนัดให้การสัมภาษณ์ได้ เพราะไม่รู้วัน เดือน ปี ตามปฏิทิน รู้เพียงเวลาอาทิตย์ขึ้น อาทิตย์ตกดิน จึงเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งในการได้มาซึ่งบทสัมภาษณ์จากการให้ปากคำจากซาไกเผ่ามานิ อีกทั้งการสัมภาษณ์บุคคลเหล่านี้ต้องทำให้พวกเขาเชื่อใจ ด้วยวิธีสร้างความสัมพันธ์เพื่อให้พวกเขาเชื่อว่าเราเป็นมิตรต่อกัน

---------------------------------

อาจารย์เสาวณีย์ แก้วจุลกาญจน์ ที่ปรึกษา

สุทธิมาศ  สังข์อ๋อง, จิราภรณ์ หวันยี ประสานงาน

ธีรวัฒน์ ปัญญาวัน  เรียบเรียง

โอฬาร แก้วบริสุทธิ์ ถ่ายภาพ

 

ฝ่ายวิเคราะห์ข้อเท็จจริง

อารีน่า               ยีสา     

กัญญารัตน์         วิชัยดิษฐ์   

สุรเชษฐ์              พรหมทองแก้ว

รัชณพล             พรหมกำเนิด

 

ฝ่ายวิเคราะห์ข้อกฎหมาย

พีรภัทร  รัตนมุณี  

บัสรี        นิโลง              

ฟูรกอน  บอเถาะ                                   

เกษมพงศ์  ติรณานนท์    

จิราภรณ์    หวันหยี        

 



[1]   วรรค 1 ให้นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นจัดทำทะเบียนบ้านไว้ทุกบ้านสำหรับผู้มีสัญชาติและคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยแต่มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร

[2]  วรรค 1 การขอมีบัตร การขอมีบัตรใหม่ การขอเปลี่ยนบัตร  การออกบัตร และการออกใบรับและการออกใบแทนใบรับให้เป็นไปตามแบบหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

หมายเลขบันทึก: 547845เขียนเมื่อ 10 กันยายน 2013 11:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 กันยายน 2013 12:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

อยากตั้งคำถามในประการแรก ก็คือ คนมานิ/ซาไกจะมีสิทธิในสัญชาติไทยหรือไม่นั้น ใช้กฎหมายหรือนโยบายกำหนดคะ ?

คำว่า "ถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร" ในมาตรา ๓๖ แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ ซึ่งถูกแก้ไขแะเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๑ มีความหมายตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ ค่ะ ลองไปดูหมวด ๕  การเข้ามามีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร นะคะ โดยปกติประเพณีทางปกครอง จะเรียกคนที่มี "ถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร" นี้ว่า "คนที่มีสิทธิอาศัยถาวร" เอกสารที่แสดงสิทธินี้ ก็คือ ใบถิ่นที่อยู่ตามกฎหมายคนเข้าเมืองค่ะ 

ในกรณีของคนมานิ/ซาไกย่อมไม่มีใบถิ่นที่อยู่อย่างแน่นอน ดังนั้น จะอาศัยสถานะนี้เพื่อเพิ่มชื่อใน ท.ร.๑๔ ก็คงไม่ถูกค่ะ 

ดังนั้น ในเรื่องของมานิ/ซาไกนั้น หน้าที่ของอำเภอละงูที่จะต้องเพิ่มชื่อของพวกเขาใน ท.ร.๑๔ จึงมาจากสิทธิในสัญชาติไทยที่พวกเขามีอยู่ตาม พ.ร.บ.สัญชาติค่ะ

ลองอ่านเอกสารนี้ดูหน่อยไหมคะ

           คนซาไกหรือมานิในประเทศไทย  : ปัญหาสถานะบุคคลตามกฎหมายและแนวคิดในการจัดการ,  งานเขียนเพื่อเสนอเป็นรายงานการศึกษาเพื่อคณะอนุกรรมการด้านสิทธิและสถานะบุคคลของผู้ไร้สัญชาติ ไทยพลัดถิ่น ผู้อพยพ และชนพื้นเมือง ตามคำสั่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่ ๔๖/๒๕๕๒  และกรมการปกครอง ในการประชุมสัมมนาการแก้ไขปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคลให้แก่ชนเผ่าซาไก  ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ ๒๗ ๒๘ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๓ ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ กทม.

 

       https://docs.google.com/file/d/0B7ummaGfFLZSR3RyeGViQ2h5ZW8/edit?usp=sharing

ยังมีประเด็นกฎหมายอีกหลายประเด็นที่ต้องแลกเปลี่ยนนะคะ 

ขอทำเท่าที่มีเวลานะคะ

อยากเสนอให้เขียนบันทึกหลายบันทึกด้วยประเด็นที่หลากหลายค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท