ชีวิตที่พอเพียง : ๑๙๘๒. เรียนรู้เรื่องการถักทอฝ่ายต่างๆ ในพื้นที่


 

บ่ายวันที่ ๒๔ ก.ค. ๕๖ ผมไปร่วมประชุมคณะกรรมการกำกับทิศทาง โครงการถักทอเครือข่ายในพื้นที่ เพื่อยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ของจังหวัด    ที่ สสค.   โครงการนี้เราเรียกกันในภาษาปาก ที่ตั้งโดย อ. หมอประเวศ ว่า โครงการสามดรุณี

การประชุมวันนี้ สืบเนื่องมาจากบันทึกที่ผมส่งให้แก่คณะกรรมการกำกับทิศฯ ดังนี้

 

ความเห็นเกี่ยวกับโครงการถักทอเครือข่ายในพื้นที่ เพื่อยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ของจังหวัด

วิจารณ์ พานิช

๒ ก.. ๕๖

…………………….

 

             จากการฟังเรื่องราวของ จังหวัดกระบี่และแม่ฮ่องสอน ในช่วงเที่ยงและบ่ายวันนี้   ผมมีความเห็นว่า ทีม ๓ ดรุณี น่าจะต้องนิยามคำ ๒ คำ ในลักษณะ นิยามเพื่อการทำงาน (operative definition) คือ

 

๑.        การถักทอเครือข่ายในพื้นที่  หมายความว่าอย่างไร   ต้องมีการถักทอแนวดิ่งและแนวราบอย่างไร    ถักทอแบบไหนจึงจะเหมาะสม แบบไหนไม่เหมาะสม   ภาคีมีภาคส่วนไหนบ้างจึงจะถือว่าครบถ้วน   หากไม่ครบถ้วนต้องมีภาคีใดบ้างที่ขาดไม่ได้    ผมคิดว่า ข้อนี้สำคัญต่อการ coach ทีมงานของจังหวัดในการทำงานระยะที่ ๑  

 

 

๒.        ยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ของจังหวัด”   หมายความว่าอย่างไร  วัดด้วยอะไร    จะยกระดับด้วยเครื่องมืออะไรเป็นเครื่องมือหลัก   ดำเนินการอย่างไร   ใครทำอะไร    ถักทอกันอย่างไร    ผมคิดว่าข้อนี้สำคัญต่อการ coach ทีมงานของจังหวัดในส่วนท้ายของ ระยะที่ ๑  ต่อเนื่องไปตลอดระยะที่ ๒    และทำเองต่อเนื่องไปเองไม่จบสิ้น    ในข้อ 2 นี้ ผมเกรงว่า ทีมจังหวัดจะยังคิดยกระดับคุณภาพด้วยวิธีการเดิมๆ (ศตววรษที่ ๒๐)    ซึ่งจะได้ผลไม่คุ้มกับการลงทุนลงแรง    และ สสค. ก็จะเสียชื่อ เมื่อพิสูจน์ในภายหลังว่า เรา coach จังหวัดผิดทาง

 

 

            ผมคิดว่า เราต้องประชุมคณะกรรมการกำกับทิศฯ อีกครั้งหนึ่ง    วันนี้ไม่ได้ประชุม   เพราะกลายเป็นการสนทนากับคณะแกนนำของจังหวัดมากกว่า

.............................

 

การประชุมในวันที่ ๒๔ ก.ค. ๕๖ นี้ ช่วยเปิดกระโหลกผมเป็นอย่างมาก    ช่วยให้ผมเกิดการเรียนรู้หลายอย่าง   ได้แก่

๑.               กิจกรรม ถักทอเครือข่ายฯนี้   เป็นกิจกรรมทางสังคม   สังคมคล้ายเป็นสิ่งที่มีชีวิต   กระบวนการดำเนินการถักทอ จึงต้องเป็นการเชื่อมโยงชีวิต   ไม่เหมือนการทอผ้า ที่เป็นการ ถักทอวัตถุไม่ใช่ ถักทอชีวิต”   สังคมก็คือปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์    การถักทอปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ มีธรรมชาติซับซ้อนอย่างยิ่ง    ต้องใช้หลักการ charodic   หรือ complex adaptive system   ต้องมองการถักทอเป็นทั้ง means และ end   และจริงๆ แล้ว ต้องเป็นกระบวนการที่ดำเนินต่อเนื่อง ไม่มีจุดจบ

 

 

๒.               กิจกรรม ถักทอต้องดำเนินการ หรือเกิดขึ้น โดยผู้ลงมือถักทอ ๒ กลุ่ม   คือ () ผู้ถักทอจาก สสค.   คือทีมสามดรุณี  ทีมคณะทำงานจาก สสค.   และทีมคณะกรรมการกำกับทิศทาง   กับ () ผู้ถักทอกันภายในพื้นที่ ซึ่งในที่นี้คือ จังหวัดที่ได้รับคัดเลือกเข้าโครงการ  

 

๓.               เราพบว่า สภาพสังคม ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้/การศึกษา ในแต่ละจังหวัดแตกต่างกันมาก    บางจังหวัดมีผู้ใหญ่ที่เป็นที่เคารพนับถือเอาใจใส่ ถึงกับออกเงินส่วนตัวสนับสนุนหลายล้านบาท   และการดำเนินการก็เห็นผลดีแล้วส่วนหนึ่ง    แต่อีกหลายฝ่ายไม่เอาด้วย   เป็นความท้าทายต่อการถักทอให้เกิดความร่วมมือครบฝ่ายในพื้นที่    บางจังหวัด ทีมที่มาเป็นแกนนำเป็นอดีตข้าราชการ วิธีคิดติดกรอบราชการ   ความคิดอ่อนยวบ   แต่แนะนำอะไรเอาหมด    การถักทอฝ่ายอื่นเข้ามาน่าจะง่าย

 

 

๔.               เป้าหมาย ยกระดับคุณภาพการเรียนรู้”   ในความเข้าใจของคนทั่วไป น่าจะหมายถึงผลสอบดีขึ้น   ซึ่งผมคิดว่าเป็นวิธีมองแห่งศตวรรษที่ ๑๙ และ ๒๐   ไม่ใช่คุณภาพการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๑   ที่เด็กต้องเรียนแบบ active learning   หรือแบบฝึกฝน จนเกิดทักษะที่ซับซ้อนชุดหนึ่ง   เรียกว่าทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑   ดังนั้น ทีมจาก สสค. จึงต้องทำหน้าที่ ถักทอเอาแนวคิดการเรียนรู้แนวใหม่    และหลักการคุณภาพการเรียนรู้ยุคใหม่ เข้าไปด้วย  

 

 

วิจารณ์ พานิช

๒๕ ก.ค. ๕๖

 

 

  

หมายเลขบันทึก: 546944เขียนเมื่อ 29 สิงหาคม 2013 16:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 ธันวาคม 2013 14:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

การยกระดับการเรียนเรื่องสิ่งถักทอก็เป็นสิ่งดี แต่อีกเรื่องน่าจะยกระดับบ้างคือการรู้เรื่องการเมืองการปกครอง เพื่อทำให้รู้ว่า เมื่อฝ่ายค้านมีจำนวนน้อยเราจะแก้กฎหมายไปทำไมเสียเวลาเปล่า แพ้ตั้งแต่อยู่ในมุ้งแล้ว ควรแก้ไขกฎหมายนี้ใหม่ให้รัฐบาลมีเสียงพอ ๆ กับฝ่ายค้าน นักการเมืองต้องยอมที่จะเป็นฝ่ายค้านเพื่อทำให้มีความเสมอภาคไม่แบ่งแยก และลดจำนวน สว.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท